วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

กฎ 10,000 ชั่วโมง

มัลลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) เป็นคนหนึ่งที่ได้ดีจากความช่างสงสัย เขาเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร เดอะนิวยอร์กเกอร์ และมีงานเขียนห้าเล่ม คือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference (2000),  Blink: The Power of Thinking without Thinking (2005), Outliers: The Story of Success (2008), What the Dog Saw: And Other Adventures (2009) หนังสือรวบรวมบทความ, และ David and Goliath: Underdogs, Misfits, and the Art of Battling Giants (2013) ซึ่งทั้งหมดล้วนขายดีติดอันดับ The New York Times Best Seller นอกจากนี้เขายังมีพอดแคสชื่อว่า Revisionist History อีกด้วย กฎ 10,000 ชั่วโมง


ในปี 2005 นิตยสารไทม์ยกย่องมัลคอล์มให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลร้อยคนแรกของโลก

กฎ 10,000 ชั่วโมง


มัลคอล์มเล่าว่า จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้มาจากความสงสัยของเขาเอง เขาอยากรู้ว่าทำไมคนบางคนถึงได้ประสบความสำเร็จเหนือกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เขาจึงหาคำตอบด้วยการศึกษาชีวประวัติของเหล่าคนดังอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว สถานที่เกิด วันเกิด และเหตุการณ์พลิกผันต่างๆ

เมื่อศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ มัลคอล์มก็พบข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เช่น นักกฎหมายที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในนิวยอร์กมักจะมีภูมิหลังที่ใกล้เคียงกันอย่างเหลือเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนล้วนเกิดในช่วงกลางทศวรรษ 1930

มัลคอล์มเล่าว่า เหตุผลของความเหลือเชื่อเหล่านั้นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เขาอธิบายว่า ทศวรรษ 1930 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับเป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดต่ำ ทำให้มีจำนวนนักเรียนน้อย ครูจึงมีเวลาเหลือเฟือในการดูแลเด็กๆ และเมื่อถึงคราวที่เด็กๆ เหล่านั้นต้องก้าวเข้าสู่สังคมการทำงาน พวกเขาก็จะเจอคู่แข่งในวัยเดียวกันค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกัน บริษัทจึงทุ่มเทให้พนักงานแต่ละคนได้มากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้คนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1930 จึงได้เปรียบกว่าคนทั่วไป

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการมีภูมิหลังที่ได้เปรียบจะเป็นเครื่องรับประกันความสำเร็จ เพราะมัลคอล์มพบว่า “ไอคิว” หรือความฉลาดทางปัญญานั้นแทบจะไม่มีผลต่อการประสบความสำเร็จเลย เห็นได้จากการที่ ไอน์สไตน์ มีไอคิวเพียง 150 เท่านั้น ซึ่งคนที่มีไอคิวระดับนี้มีอยู่มากมายดาษดื่น อันที่จริงแล้ว “อีคิว” หรือความฉลาดทางอารมณ์ต่างหากที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินโชคชะตาของคนแต่ละคน เพราะความสำเร็จมักจะต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัวและการสร้างมนุษยสัมพันธ์ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากคนรอบข้าง

อีกสิ่งหนึ่งที่มัลคอล์มค้นพบซึ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ แม้คุณจะเลือกปีเกิดหรือเพิ่มไอคิวให้ตัวเองไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้เท่าเทียมกันก็คือ การลงมือทำอย่างต่อเนื่องให้ได้นาน 10,000 ชั่วโมง

ผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็น ไทเกอร์ วู้ดส์, บิล เกตส์ หรือวงดนตรี เดอะบีเทิลส์ นั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านการลงมือทำตามกฎนี้มาแล้วทั้งสิ้น

ไทเกอร์ลงสนามซ้อมตีกอล์ฟกับบิดาวันละหลายชั่วโมงตั้งแต่สองขวบ บิลหมกมุ่นอยู่กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 13 ส่วนหนุ่มๆ แห่งวงสี่เต่าทองก็ตะลุยแสดงคอนเสิร์ตในประเทศเยอรมนีมากกว่า 1,000 รอบ ก่อนจะกลับมาบันทึกแผ่นเสียงที่อังกฤษและโด่งดังไปทั่วโลก

นอกจากการทุ่มเทอย่างยาวนานแล้ว ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่ามหัศจรรย์มักจะคิดเสมอว่า “วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวานและชั่วโมงนี้ต้องดีกว่าชั่วโมงที่ผ่านมา” ดังที่ เอ็ดสเกอร์ ไวบ์ ดิจก์สตรา (Edsger Wybe Dijkstra) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเนเธอร์แลนด์เคยกล่าวไว้ว่า “พยายามตั้งมาตรฐานของตัวเองให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการผลาญเวลาไปกับการแก้ปัญหาเก่าๆ และตั้งใจทำงานให้มากที่สุดเท่าที่ขีดความสามารถของคุณจะอำนวย”

“จงทำตามนี้ เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่จะได้รู้ว่า คุณจะสามารถขยายขีดความสามารถของตัวเองออกไปได้มากแค่ไหน”

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร และไม่ว่าความฝันของคุณจะเป็นอะไร อย่าได้กล่าวคำว่า “ทำไม่ได้” หากยังไม่ได้ลงมือทำสิ่งนั้นครบ 10,000 ชั่วโมง

Source: Secret Magazine (Thailand)