by Admin
17-02-2017
ไม่ใช่แค่ช้อปออนไลน์ในประเทศเท่านั้น แต่ตัวเลขคนไทยช้อปออนไลน์ข้ามประเทศ ที่ PayPal ผู้ให้บริการชำระเงิน ทำร่วมกับอิปซอสส์ ร่วมกันทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคกว่า 28,000 คนใน 32 ประเทศ รวมทั้งผู้บริโภคคนไทย 800 คน สะท้อนว่า การช้อปออนไลน์ข้ามประเทศของคนไทยก็กำลังเติบโต
ผลสำรวจพบว่า ยอดใช้จ่ายออนไลน์ของนักช้อปชาวไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 16% จากปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 325,614 ล้านบาท คาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 376,753 ล้านบาท และในปี 2561 จะเพิ่มขึ้น 13% หรือคิดเป็นมูลค่า 426,655 ล้านบาท
คนไทยนิยมใช้จ่ายผ่านมือถือ
ผลสำรวจยังพบว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีคนไทย 71% ที่ช้อปออนไลน์ผ่านทั้งเว็บไซต์ช้อปิ้งออนไลน์จ แอปพลิเคชั่น และช่องทางโซเชียลมีเดีย
ที่น่าสนใจ ประเทศจีนและประเทศไทยเป็นนักช้อปข้ามประเทศที่นิยมซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถือมากที่สุด ราว 50 ของนักช้อปชาวจีน และไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศเลือกช้อปผ่านแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน
ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด โดยเฉลี่ยจะมีนักช้อปข้ามประเทศที่ซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถืออยู่ที่ 37% ซื่งเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 27 เปอร์เซ็นต์
เป็นที่สังเกตได้ว่า ยอดการซื้อขายออนไลน์ผ่านมือถือ (mobile-commerce) ของคนไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2558 มียอดใช้จ่าย 98,642 ล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มเป็น 141,731 ล้านบาท เติบโตถึง 44% คาดว่าปี 2560 จะเติบโต 19 % หรือคิดเป็นมูลค่า 206,077 ล้านบาท
เพิ่มเป็นจาก 141.7 พันล้านบาทในปี 2559 เป็น 173.6 พันล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนอุปกรณ์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจทั้งสำหรับผู้ซื้อและผู้ค้าออนไลน์
จับตาช้อปข้ามประเทศมาแรง
นอกจากนี้ ยอดการช้อปออนไลน์ข้ามประเทศของคนไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อประเมินจากจำนวนผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซในไทยจะมีอยู่ราว 7.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านราย เคยซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามประเทศ คิดเป็นมูลค่าราว 6.03 หมื่นล้านบาท และในปี 2560 คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตถึง 84% เนื่องจากมีการทำสำรวจต่อว่า ในปีนี้จะมีการซื้อของจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดย 55% ซื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน 23% ซื้อเท่าเดิม6% ซื้อลดลง
โดยที่คนไทยมียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของการซื้อของต่างประเทศอยู่ที่ 30,892 บาท/คน/ปี จากยอดอีคอมเมิร์ซต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 41,215 บาท
5 ปัจจัยหนุนช้อปออนไลน์
ผลจากการสำรวจพบว่านักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยจำนวน 55% มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 เนื่องจาก 82% เห็นว่า ความสะดวกสบายของการช้อปออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาหันมาช้อปด้วยวิธีนี้มากขึ้น
ในขณะที่ 37% มองว่าการส่งของที่รวดเร็วเป็นอีกปัจจัยหลัก และ 35% คิดว่าทำให้ประหยัดเงินได้มากกว่า 30% คาดว่าการจัดส่งสินค้าจะถูกลง 27% มาจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
ช้อปของใช้ครัวเรือนนิยมแซงหน้าสินค้าแฟชั่น
ในส่วนของประเภทสินค้าที่นิยมช้อปออนไลน์ข้ามประเทศ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่จะนิยมซื้อเสื้อผ้ารองเท้าสินค้าแฟชั่นเครื่องสำอางท่องเที่ยวสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดิจิตอลคอนเทนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนในปี 2560 คาดว่า ผู้บริโภคชาวไทยจะหันมาซื้อสินค้าที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยสินค้า 3 ประเภทที่คาดว่าจะมีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 ได้แก่ ของใช้ในครัวเรือน (เติบโต 24%) สินค้าบริโภค (เติบโต 20%) และสินค้าสำหรับเด็ก (เติบโต 16%)
สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย มอว่า นี่คือโอกาสของธุรกิจไทยในการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก โดยผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงเหมือนกับการขยายสาขาแบบดั้งเดิม
ค่าขนส่ง-ภาษี ข้อจำกัด
แม้โอกาสจะมีอยู่มาก แต่อุปสรรคที่ทำให้คนไทยไม่กล้าช้อปออนไลน์ ยังกังวลค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้า และการเสียภาษี และกลัวว่าไม่ได้รับสินค้า
โดย 45% ของผู้สำรวจยังมองว่า ค่าขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำไม่สามารถซื้อของข้ามประเทศได้บ่อยครั้งเท่าที่ควร ปัจจัยรองลงมาคือ การจ่ายค่าภาษีศุลกากร 44% และความชัดเจนของอัตราภาษีศุลกากร 42%
โอกาสของ PayPal
ด้วยผลวิจัยดังกล่าว เป็นโอกาสทางธุรกิจ PayPal ในการผลักดันให้ธุรกิจส่งออกหันมาใช้บริการเพย์เม้นท์ ที่สะดวกปลอดภัย และใช้กันแพร่หลายทั่วโลก แทนที่จะเป็นการเก็บเงินสดปลายทาง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง จองตั๋วแพ็กเกจทัวร์สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้ากระเป๋า
PayPal มองว่า คู่แข่งไม่ใช่ผู้ให้บริการเพย์เมนต์ แต่เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนจากการชำระเงินสดปลายทาง ซึ่ง ธุรกิจส่วนใหญ่รู้จัก PayPal แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรดังนั้นจึงต้องเน้นไปที่การให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก
ปัจจุบัน PayPal ให้บริการออนไลน์เพย์เมนต์มา 18 ปี ใน 200 ประเทศทั่วโลก รองรับสกุลเงินมากกว่า 25 สกุลเงิน แต่ละวินาที จะธุรกรรมผ่าน PayPal 10,900 เหรียญสหรัฐ /วินาที โดยมีพนักงานรวมกันทั่วโลกกว่า1.7 หมื่นคน รองรับบริการหลังการขาย 20 ภาษา โดยมีผู้ใช้งานแล้ว 197 ล้านบัญชี ส่วนในไทย PayPal ได้เข้ามาเปิดสำนักงานเมื่อต้นปีที่แล้ว มีพนักงาน 4 คน
Source: https://positioningmag.com/1116556