วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Quantum Computing


'ไอบีเอ็ม ผุดศูนย์ควอนตัมฯ โลก จ่อขยายใช้งานเชิงพาณิชย์ 


27 พฤศจิกายน 2562

ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยา และ วัสดุชนิดใหม่

“ไอบีเอ็ม” เดินหน้าพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้ง เปิดศูนย์ฯ ที่นิวยอร์ค เปิดใช้งานระบบควอนตัมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมเผยโฉมระบบควอนตัมใหม่ขนาด 53 คิวบิตสำหรับการใช้งานในวงกว้าง

ไอบีเอ็มประกาศเปิดตัวศูนย์ประมวลผลควอนตัมแห่งใหม่ที่นิวยอร์ค เพื่อขยายศักยภาพระบบควอนตัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ครอบคลุมการใช้งานในเชิงพาณิชย์ และการศึกษาวิจัย จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่เพียงการใช้ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ
ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของชุมชนผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 150,000 ราย รวมถึงลูกค้าเชิงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา และห้องปฏิบัติการวิจัยอีกเกือบ 80 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อพัฒนาการประมวลผลเชิงควอนตัมให้ก้าวหน้า และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริงในด้านต่างๆ



หนุนความต้องการใช้งานจริง

ชุมชนผู้ใช้งานทั่วโลกได้เริ่มทำการทดลองต่างๆ บนระบบควอนตัมคอมพิวติ้งของไอบีเอ็มผ่านคลาวด์ไปแล้วกว่า 14 ล้านครั้งนับตั้งแต่ปี 2559 โดยได้เผยแพร่เอกสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 200 ชิ้น และเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ต้องการเข้าถึงระบบควอนตัมของจริง ไอบีเอ็มจึงได้เปิดระบบประมวลผลควอนตัม 10 ระบบให้สามารถใช้งานออนไลน์ได้ผ่านศูนย์ประมวลผลควอนตัมของไอบีเอ็ม

ประกอบด้วยระบบขนาด 20 คิวบิตจำนวน 5 ระบบ ขนาด 14 คิวบิต 1 ระบบ และขนาด 5 คิวบิตอีก 4 ระบบ นอกจากนี้ยังมีถึง 5 ระบบที่มีควอนตัมวอลุ่ม หรือค่าที่ใช้วัดความประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ควอนตัมสูงถึง 16 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการรักษาระดับประสิทธิภาพให้แรงต่อเนื่อง

ระบบควอนตัมของไอบีเอ็มถูกปรับแต่งมาเพื่อความน่าเชื่อถือ และเพื่อความสามารถในการดำเนินการระดับหลายคิวบิตซ้ำหลายครั้งผ่านการโปรแกรม และปัจจัยเหล่านี้เองก็ทำให้ระบบของไอบีเอ็มสามารถให้บริการด้านการศึกษาวิจัยที่ต้องอาศัยการประมวลผลเชิงควอนตัมอันล้ำสมัยด้วยระดับความพร้อมใช้งานสูงถึง 95%

ภายในหนึ่งเดือน ระบบควอนตัมที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของไอบีเอ็มจะขยายเพิ่มเป็น 14 ระบบ ในจำนวนนี้รวมถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ 53 คิวบิต เป็นระบบควอนตัมเดี่ยวสำหรับงานทุกประเภทที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ด้วย มีแลตทิซใหญ่ขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้ทำการทดลองที่มีทั้งความเชื่อมโยงและความยุ่งยากสลับซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

หวังเทคโนฯ ช่วยไทยสู่ยุค 4.0


“ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ไอบีเอ็ม นับตั้งแต่ที่นำคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องแรกมาอยู่บนคลาวด์เมื่อปี 2559 คือ การนำควอนตัมคอมพิวติ้ง ที่เดิมเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยองค์กรเพียงไม่กี่แห่ง ให้เข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยล่าสุดได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ 53 คิวบิตแล้ว

“ไอบีเอ็มเห็นความสำคัญของการเสริมศักยภาพให้กับชุมชนควอนตัมที่กำลังเติบโต ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล้วนมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิวัติระบบประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดยไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาของไทย ในการนำควอนตัมคอมพิวติ้งเข้ามาเสริมสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0”

ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยาและวัสดุชนิดใหม่ ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพและลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงวิธีใหม่ๆ ในการจำลองข้อมูลทางการเงินเพื่อการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างผลงานที่ไอบีเอ็มร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ อาทิ


ยูสเคสที่ไอบีเอ็มผนึกพันธมิตร

เจพี มอร์แกน เชส และไอบีเอ็มเผยแพร่บทความใน arXiv ว่าด้วยเรื่อง Option Pricing using Quantum Computers ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดราคาออพชันทางการเงินและพอร์ตโฟลิโอที่มีออพชันดังกล่าวบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบเกต ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออัลกอริธึม ที่สามารถเร่งความเร็วแบบยกกำลัง

กล่าวคือในขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้ตัวอย่างนับล้าน แต่การประมวลผลบนควอนตัมใช้เพียงไม่กี่พันตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน เมื่อเทียบกับวิธี Monte Carlo แบบดั้งเดิม ซึ่งอาจช่วยให้นักวิเคราะห์ทางการเงินสามารถกำหนดราคาออพชัน และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้แทบจะในทันที และแนวทางการปฏิบัตินี้ก็มีอยู่ใน Qiskit Finance ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส

ขณะที่ มิตซูบิชิ เคมีคัล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคโอะ และไอบีเอ็ม จำลองขั้นตอนแรกเริ่มของกลไกการเกิดปฏิกิริยาระหว่างลิเธียมและออกซิเจนในแบตเตอรี่แบบลิเธียม-อากาศ บทความเรื่อง Computational Investigations of the Lithium Superoxide Dimer Rearrangement on Noisy Quantum Devices ซึ่งเผยแพร่อยู่บน arXiv คือ ก้าวแรกของการจำลองปฏิกิริยาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างลิเธียมและออกซิเจนบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม จากนั้นเมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิกิริยานี้ดีขึ้นแล้วก็อาจนำไปสู่การคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์พกพาหรือยานยนต์

Source: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856062?utm_source=bottom_relate&utm_medium=internal_referral