วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สหรัฐชี้อีก 17 ปีหมดยุคน้ำมัน-ดอลล์

http://www.bangkokbiznews.com/2008/11/21/news_313694.php
21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551


สหรัฐเผยรายงาน "โกลบอล เทรนด์ส" ชี้ อีก 17 ปีข้างหน้า โลกหมดยุคการใช้น้ำมันกับเงินดอลลาร์ ขณะจีนก้าวเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสอง รองจากสหรัฐ

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ เผยรายงานฉบับใหม่ "โกลบอล เทรนด์ส 2025"ว่า ในอีก 17 ปีข้างหน้า โลกอาจยุติการพึ่งพิงต่อน้ำมันโดยสมบูรณ์แล้ว และแม้เงินดอลลาร์ จะยังมีความสำคัญอยู่ แต่ก็จะลดความสำคัญลงจากอันดับหนึ่ง


ขณะที่กลุ่มก่อการร้าย และรัฐอันธพาลต่างๆ จะเข้าถึงอาวุธนิวเคลียร์ได้มากขึ้น ทำให้โลกตึงเครียดและไม่มั่นคงเพราะเต็มไปด้วยสงคราม มีแนวโน้มที่จะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นบนโลกจากการแย่งชิงแหล่งทรัพยากรหายาก รวมทั้งอาหารและน้ำ

รายงาน ยังระบุว่า มีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้น ที่จะสร้างอิทธิพลต่อโลกได้มากกว่าจีน ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐ และเป็นหนึ่งในผู้นำทางทหาร กับจะเป็นผู้นำเข้าทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่สุดของโลก และอาจเป็นผู้สร้างมลภาวะมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สภาข่าวกรองสหรัฐ จะจัดพิมพ์รายงานขึ้นทุกๆ 4 ปี เพื่อให้ผู้นำประเทศมองเห็นปัญหาและโอกาสต่างๆในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษข้างหน้า

รายงานคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะช้าลงหรือถึงกับลดลง รวมทั้งอาจมีการปฏิรูปเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับแรงกดดันทางสังคมที่ทวีเพิ่มขึ้น และว่าสถานภาพของจีนบนเวทีโลกส่วนใหญ่อยู่บนรากฐานที่โลกปฏิบัติต่อจีนในฐานะ"ประเทศแห่งอนาคต"

ทางด้านอินเดียนั้น ผู้นำอินเดียจะพยายามให้ประเทศตนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสหรัฐ กับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา ซึ่งรายงานคาดว่าอินเดียจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง , ประชากรวัยหนุ่มสาว ลดการพึ่งพาการเกษตร รวมทั้งเงินออมระดับสูงในท้องถิ่น และอัตราการลงทุน เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุด้วยว่า ภายในปี 2025 ปัญหาโลกร้อนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจรัสเซีย ทำให้ฤดูเพาะปลูกยาวนานขึ้น และช่วยให้รัสเซียเข้าถึงบ่อน้ำมันทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ศักยภาพที่รัสเซียจะก้าวขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจของโลกอาจถูกบั่นทอนจากการขาดการลงทุนในภาคพลังงาน ปัญหาอาชญากรรม และการคอรัปชั่นของระบบราชการ

การวิเคราะห์พากันเตือนว่า การก่ออาชญากรรมแบบมีการจัดองค์กรอย่างดี ชนิดเดียวกับที่กำลังสร้างปัญหาให้กับรัสเซียอยู่ อาจมีอำนาจเหนือรัฐบาลของชาติยุโรปตะวันออกหรือยุโรปกลางประเทศหนึ่ง ในขณะที่ชาติในทวีปแอฟริกากับเอเชียใต้ อาจพบว่าบ้านเมืองไร้ผู้ปกครองเพราะรัฐบาลไร้อำนาจในการบริหารภายใต้แรงกดดันด้านความมั่นคงและทรัพยากร

รายงานยังคาดการณ์เรื่องความสำคัญด้านภูมิการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามแต่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ในพื้นที่นอกตะวันออกกลาง รวมทั้งตุรกี กับอินโดนีเซีย และว่าอิหร่านอาจเป็นชาติสำคัญชาติหนึ่งในระเบียบใหม่ของโลกได้ หากยกเลิกการปกครองโดยครูสอนศาสนา

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

'ทรู คอร์ปอเรชั่น' ลุย 3G ฝ่าดงหนี้ 'แสนล้าน'

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
http://www.bangkokbiznews.com/2008/11/10/news_309878.php

งานหนักสำหรับ "เจ้าสัวน้อย" ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ยักษ์หมายเลข 3 แห่งวงการสื่อสารของไทย คงยังไม่หมดลงง่ายๆ

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นับตั้งแต่เป็น โทรศัพท์บ้านทีเอ ทีเอ ออเร้นจ์ จนกระทั่งมาเป็น ทรูมูฟ ปัญหาใหญ่ของกลุ่มทรู และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว กับวันนี้ ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ นั่นคือ "หนี้สินกองมหึมา" ที่ยุบลงเพียงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 กลุ่มทรูมีหนี้เงินกู้ทั้งสิ้น 80,256 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนผู้ถือหุ้นต่ำเพียง 8,097 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้สินต่อทุน 9.9 เท่า "สูงเสียดฟ้า"

คำถามคือว่า กลุ่มทรูมีตัวเลขหนี้สูงขนาดนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นต่ำขนาดนี้ และมีตัวเลขขาดทุนสะสมมากถึง 44,850 ล้านบาท ทำไมกิจการนี้ถึงยังอยู่มาได้เป็นระยะเวลานานถึง 15 ปี

และ "อยู่มาได้ยังไง..?"

ตอบแบบตรงประเด็นที่สุด ก็คือ ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ "ไม่ให้ล้ม" ส่วนเหตุผลอื่นๆ ล้วนเป็นแค่เหตุผลประกอบเหตุผลให้ดูสมเหตุสมผลเท่านั้นเอง

ถ้าทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถทำกำไรได้ดี และประสบความสำเร็จอย่างสูงกับกลยุทธ์ใหม่ "คอนเวอร์เจนซ์ ไลฟ์สไตล์" ควักเงินจากกระเป๋าคนไทยได้เหมือนอย่างร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ต้องแก้ปัญหาเรื่อง "หนี้สิน" ตัวเลข "ขาดทุน" เรื้อรัง และราคาหุ้น TRUE คงไม่ตกต่ำอย่างทุกวันนี้

ฐานะการเงินของกลุ่มทรู จวนเจียนๆ มาตั้งหลายครั้ง ท้ายที่สุดก็หาทางออกเรื่องการเงินได้แบบเฉียดฉิวทุกครั้ง

นั่นก็เพราะคนชื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ บอกว่า "ล้มไม่ได้" เช่นเดียวกับการบินไทย ที่กระทรวงการคลัง ก็บอกว่า "ล้มไม่ได้" เหมือนกัน

แสดงว่า "ทุน" ซึ่งหมายถึง "เครดิต" ของคนชื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ นั้นสูงมากใช่หรือไม่ คำตอบคือ "ใช่" นั่นเพราะ "ทุน" ของเจ้าสัวธนินท์ คือ ความสำเร็จ ความอดทน เป็นต้นแบบที่สังคมเห็นและรับรู้

ในเมื่อเชื่อว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น "ไม่เจ๊ง" หุ้น TRUE ก็มีโอกาส "เทิร์นอะราวด์" ใช่หรือไม่

คำตอบก็คือ "ใช่" อีกเช่นเดียวกัน ในวิกฤติครั้งสำคัญๆ ของทรู เจ้าสัวธนินท์ มักจะเลือกวิธีการ "เพิ่มทุน" โดยมีผลประโยชน์ในตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายที่ใครต่อใครมักคาดไม่ถึง

ใครเคยสังเกตบ้างว่า ราคาหุ้น TRUE ลดลงมามากๆ "เจ้าของ" ไม่เคยซื้อเลย เมื่อไรที่หุ้นปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริหารมีแต่ "ขาย" ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ลดสัดส่วนการถือหุ้น TRUE ลงมาทีละน้อย วันนี้เหลือหุ้นรวมกันเพียง 30.02% เท่านั้น

เกมครั้งใหม่นี้ท่านเจ้าสัวเดินหมากล่วงหน้าหลายชั้น นักลงทุนคิดตื้นเกินไปก็กลัว คิดลึกเกินไปก็ไม่กล้า ท้าประลอง "กึ๋น" กับท่านผู้นำซีพี เพราะรู้ว่าต้อง "แพ้" ทุกประตู

การเพิ่มทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักแค่ 3 ข้อ คือ 1.ชำระคืนหนี้สินเดิมบางส่วน (ลดหนี้) 2. ซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท กรุงเทพอินเตอร์เทเลเทค จํากัด (BITCO) คืนจากซีพี และ 3. สนับสนุนการขยายธุรกิจ นั่นก็คือ 3G

ทั้ง 3 ข้อนี้ล้วนเป็น "ข่าวดี" ในสถานการณ์ร้าย เพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิม 10,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.95 บาท แม้จำนวนจะมากมายมหาศาล ถ้า "ราคาเพิ่มทุน" ยังสูงกว่า "ราคาตลาด" ผู้ถือหุ้นเดิมที่ "ติดหุ้น" (ราคาแพง) จะเสียเปรียบ ผู้ถือหุ้นใหม่จะได้เปรียบ

นอกจากนี้ ซีพียังเป็นนักเซ็งลี้ที่คมในฝัก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 ทรูไม่มีตังค์ ซีพีเลยเข้ามาเพิ่มทุนให้ BITCO (BITCO เป็นบริษัทแม่ของทรูมูฟ) 6,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 0.50 บาท เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท ทำให้ถือหุ้น BITCO สัดส่วน 23.92% ส่วนทรู ถือหุ้น "ทรูมูฟ" ลดลงจาก 98.17% เหลือ 75.26%

จากนั้น ซีพี ก็ให้สิทธิ์ทรูซื้อหุ้น "ทรูมูฟ" คืน ภายใน 18 เดือน "บวกกำไร" โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าซื้อคืนภายใน 6 เดือนคิดหุ้นละ 0.53 บาท ภายใน 1 ปี คิดหุ้นละ 0.56 บาท และภายใน 18 เดือน คิดหุ้นละ 0.59 บาท

เพราะฉะนั้นการเพิ่มทุนรอบนี้ 10,000 ล้านหุ้น ทรูจะได้เงินมา 19,500 ล้านบาท จะต้องเอามาคืนซีพีบวกกำไรตามเงื่อนไข ขณะนี้กำลังจะถึงเส้นตาย 1 ปี คือต้องซื้อหุ้นคืนในราคา 0.56 บาท จำนวน 6,000 ล้านหุ้น ก็เป็นเงิน 3,360 ล้านบาท ซีพีได้กำไรเหนาะๆ จากทรู "ลูกตัวเอง" 360 ล้านบาท หรือ 12% (ถ้าไม่รีบซื้อคืนจะต้องซื้อในราคา 0.59 บาท หรือบวกดอกเบี้ย 18%)

ขณะที่ปัจจุบันซีพีถือหุ้นในทรู คอร์ปอเรชั่น สัดส่วน 30.02% เท่ากับได้รับสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ 3,002 ล้านหุ้น เป็นเงิน 5,854 ล้านบาท หักกับหุ้น BITCO 3,360 ล้านบาท เท่ากับซีพีจะใส่เงินก้อนใหม่ไปเพียง 2,494 ล้านบาท ซึ่งถือว่า "จิ๊บจ้อย" มากๆ สำหรับซีพี

คำถามก็คือว่า แล้วจะให้ผู้ถือหุ้นเดิม และเจ้าหนี้ ที่อยู่ข้าง 70% ยอมจ่ายเงินซื้อหุ้น TRUE ในราคา 1.95 บาท ท่านเจ้าสัวจะทำอย่างไร ถอดสมการนี้ง่ายๆ ก็ต้องทำให้หุ้น TRUE ปรับตัวสูงขึ้น นี่คือเหตุผลพื้นฐานว่าทำไมตอนเพิ่มทุน "เอาตังค์" ของ "คนอื่น" มาต่อชีวิตทรู หุ้น TRUE "มักจะขึ้น"

ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ในการต่อทุน และต่ออนาคตของทรูเพื่อไปเล่นในวง 3G สู้กับ เอไอเอส และดีแทค และการเล่นกับอนาคตที่ยังมองไม่เห็นของ 3G ก็คือการเล่นพนันกับเพดานใหม่ของหุ้นกลุ่มสื่อสาร ทำให้เรื่องภาระหนี้สินของทรูที่เป็น "ปัญหาหลัก" กลายเป็น "ประเด็นรอง" ไปอีกพักใหญ่ๆ

สรุปว่าเกมนี้ ซีพีเติมทุนลงไปจริงๆ "แค่นิดเดียว" แต่ได้ผลสุด "คุ้มค่า" นี่แหละเกมเหนือชั้นของ เจ้าสัวธนินท์ ที่บอกว่า มีผลประโยชน์จากตลาดหุ้นเป็นเป้าหมายที่ใครต่อใครอาจคาดไม่ถึง

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551


ค่ายมือถือทำใจลดขยายตัว-รอ3จีต่อชีวิต

(โพสต์ ทูเดย์)
วันจันทร์ 3 พฤศจิกายน 2008


ผู้ให้บริการฮัลโหลมือถือผวาพิษเศรษฐกิจ ติดเบรกแผนลงทุนปีหน้ารวม 2 หมื่นล้านบาท รอลุ้นไลเซนส์ใหม่ 3จี ดันอุตสาหกรรมคึกคัก

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสได้ลดงบประมาณการลงทุน 3จี เหลือ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า ปีหน้าจะลดงบลงทุนด้านเครือข่ายลง 2,000 ล้านบาท เหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท และลดงบประมาณในการทำตลาดลงไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่คาดว่าปีหน้าจะวิกฤตเพิ่มขึ้น
นายอาจกิจ สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจมัลติมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูต้องปรับเป้าการเติบโตของบริการนันวอยซ์ลง 50% จากเดิมตั้งเป้าไว้ 15% เหลือเพียง 6-7% เท่านั้น จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในปีหน้าจะมีสีสันมากขึ้น หากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีความชัดเจนเรื่องไลเซนส์ 3จี เนื่องจากผู้ให้บริการทุกรายพร้อมที่จะลงทุนโครงข่ายอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้มีบริการใหม่เพิ่มขึ้น