วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

พอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด

October 14, 2008
โดย CATHERINE RAMPELL ตีพิมพ์ใน The New York Times เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551

พอล ครุกแมน เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพรินเซตัน และเป็นคอลัมนิสต์บทความกึ่งวิชาการ ให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2551

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกล่าวถึงครุกแมนว่า “สำหรับการวิเคราะห์รูปแบบทางการค้า และตำแหน่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ครุกแมนในวัย 55 ปี เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านทางคอลัมน์กึ่งวิชาการของเขาในฐานะ “ขาประจำ” ของประธานาธิบดีบุช (และตอนนี้เป็น จอห์น แมคเคน) คอลัมน์ของเขามีแฟนๆติดตามอย่างหนาแน่น แถมยังเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ชนิดแสบร้อน

รางวัลโนเบลนั้นไม่ได้ให้เพราะผลงานด้านการเมือง แต่ให้กับผลงานด้านวิชาการ ซึ่งก็เป็นงานวิจัยที่เขาได้ค้นคว้าก่อนหน้าที่เขาจะเริ่มเขียนคอลัมน์ประจำให้กับนิวยอร์คไทมส์

“ด้วยความสัตย์จริงอย่างที่สุด ผมคิดว่าวันนี้จะมาถึงสักวัน แต่ผมไม่คิดจริงๆว่ามันจะเป็นวันนี้” ครุกแมนให้สัมภาษณ์เมื่อวาน “ผมรู้จักคนที่รอคอยชั่วชีวิตเพื่อรับโทรศัพท์ (เสนอรางวัลโนเบล – ผู้แปล) แบบนี้ พอรู้อย่างนี้มันก็ทำให้ผมรู้สึกไม่ดี ดังนั้นผมจึงสลัดความคิดนั้นทิ้งไป แล้วพยายามหยุดคิดเรื่องนี้เสีย”




ภาพ พอล ครุกแมน จาก The New York Times


ครุกแมนได้รับรางวัลสำหรับงานวิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1979 เขาได้อธิบายรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ สินค้าอะไรจะถูกผลิตขึ้นที่ใด และเพื่ออะไร

ทฤษฎีการค้าดั้งเดิมมองว่าประเทศแตกต่างกัน และจะแลกเปลี่ยนสินค้าที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ เช่น ไวน์จากฝรั่งเศส และข้าวจากจีน

แบบจำลองนี้ มีที่มาจากข้อเขียนที่มาจากงานของเดวิด ริคาร์โดเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งไม่ได้สะท้อนการหมุนเวียนของสินค้าและการบริการที่ครุกแมนพบในโลกความเป็นจริง เขาจึงค้นหาคำอธิบายว่าเหตุใดการค้าในโลกจึงถูกครอบงำโดยประเทศเพียงสองสามประเทศ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเหตุใดประเทศจึงนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกับที่ส่งออกไป

ในแบบจำลองของครุกแมน หลายบริษัทจำหน่ายสินค้าชนิดเดียวกันที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เมื่อบริษัทเหล่านี้จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นบริษัทก็ยิ่งผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้บริษัทพวกนี้เติบโตขึ้น ผู้บริโภคนั้นชอบความหลากหลาย จึงจับจ่ายและเลือกใช้สินค้าจากผู้ผลิตหลายประเทศ ทำให้แต่ละประเทศสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าที่คล้ายคลึงกันได้ นั่นคือคนอเมริกันอาจจะซื้อโฟล์คสวาเกน ในขณะที่คนเยอรมันอาจจะซื้อฟอร์ด

ครุกแมนพัฒนางานของเขาเพิ่มเติมด้วยการอธิบายถึงผลของต้นทุนการขนส่งว่าทำไมผู้คนจึงอาศัยอยู่ในที่ๆเขาอาศัยอยู่ แบบจำลองของเขาอธิบายว่าภายใต้เงื่อนไขทางการค้าเช่นไร จึงจะดึงดูดให้ผู้คนหรือบริษัทย้ายเข้ามา หรือย้ายออกไปจากบางภูมิภาคได้

งานของครุกแมนได้รับความชื่นชมในแง่ความเรียบง่ายและใช้งานได้จริง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงเพื่อไม่ต้องใส่ใจเท่านั้น

“บางคนอาจคิดว่า ของดีต้องมาจากอะไรบางอย่างที่ซับซ้อนมากๆ” มัวริส อ็อปสฟิลด์ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กเลย์ ซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือ “ตำราเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ” กับครุกแมน ว่าไว้อย่างนั้น “จุดแข็งเลยของพอลคือทำสิ่งต่างๆให้ดูเรียบง่าย แล้วนำมาขัดเกลาใหม่และดูลึกซึ้ง”






ตำราเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีและนโยบาย ฉบับที่ 7 ของ พอล ครุกแมน และ มัวริซ อ็อปสฟิลด์, นิยมใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย


ครุกแมนใช้ทักษะของเขาในการถ่ายทอดความคิดที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องสนุกและดูเข้าใจง่ายกับคอลัมน์ของเขาในนิวยอร์คไทมส์ ซึ่งเขาได้เริ่มเขียนเมื่อปี 2000 ข้อเขียนของเขาส่วนใหญ่ในคอลัมน์และในบล็อกที่ nytimes.com เมื่อไม่กี่ปีมานี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการปกครองของบุช ตั้งแต่นโยบายดูแลสุขภาพไปจนถึงอิรักไปจนกระทั่ง “การขาดความสามารถทั่วไป” — เรื่องเหล่านี้เป็นเป้าหมายการเสียดสีของเขา

แต่อย่างไรก็ตามครุกแมนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งนักอ่านและนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันด้วย

“งานเขียนสมัยนิยมของเขาเป็นเรื่องน่าขายหน้า” ดาเนียล ไคลน์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสันกล่าว ปีนี้เขาเขียนบทวิจารณ์รอบด้าน ต่อคอลัมน์ของครุกแมนในนิวยอร์คไทมส์ “เขาละเลยเรื่องใหญ่ๆ บางอย่างที่เศรษฐศาสตร์ให้ข้อสรุปที่ขัดแย้งกับกลุ่มคนในพรรคเดโมแครตที่ดูดี ซึ่งผมคิดว่าเขาชักจะกลายเป็นพวกเชียร์แขกไป โดยเฉพาะตั้งแต่เมื่อเริ่มเขียนให้กับนิวยอร์คไทมส์”

แต่ครุกแมนก็มีแฟนๆที่ศรัทธางานเขียนตามสมัยนิยมเขาพอๆกัน

“ผมยกย่องการให้รางวัลในวันนี้ ในฐานะที่เป็นรางวัลที่เหมาะสม และล่าช้าไปสักนิด แต่ผมต้องขอตำหนิคณะกรรมการพูลิตเซอร์ ซึ่งเป็นหนี้ครุกแมนตั้งแต่การมอบรางวัลสองสามครั้งก่อนโน้น” พอล เอ แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนก่อนกล่าว “พอล ครุกแมน เป็นคอลัมนิสต์คนเดียวในสหรัฐอเมริกาที่มองอะไรถูกเกือบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทีเดียว”

ครุกแมนกล่าวว่าเขาไม่คิดว่ารางวัลที่ได้รับจะมีผลต่อเพื่อนร่วมงาน และจำนวนผู้อ่านที่นิยมตัวเขามากนัก — ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือฝ่ายตรงข้าม — ต่างก็ให้ความนับถือเขา

“สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ นี่เป็นการรับรอง ไม่ใช่ข่าวใหม่อะไร” เขาเอ่ยขึ้น “เราต่างก็รู้ว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรกันอยู่”

“สำหรับคนอ่านคอลัมน์ผม” เขากล่าวเพิ่ม “บางทีพวกเขาอาจจะใช้ความระมัดระวังในการอ่านลดลงบ้างถ้าบางทีผมกลายเป็นพวกบ้าเศรษฐศาสตร์ หรือบางทีอาจจะอดทนได้น้อยลงบ้างถ้าผมเขียนอะไรน่าเบื่อออกไป”

เขากล่าวว่าเขาไม่คิดว่าการได้รับรางวัลจะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเงียบเสียงลง เมื่อเทียบกับผู้ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศที่พูดจาขวานผ่าซากอีกคนหนึ่ง, คือ โจเซฟ อี สติกลิตส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2001 ซึ่งสติกลิตซ์ถูกยกย่องและถูกวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับงานเขียนของเขาที่เกี่ยวกับว่า โลกาภิวัฒน์ในรูปแบบปัจจุบันจะมีประโยชน์หรือไม่

“ผมไม่คิดว่าเขาจะมีเวลาสบายๆ” ครุกแมนเล่า “ผู้คนก็พากันพูดว่า ‘ก็แหงล่ะ เขาเป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศโนเบล และเขาก็ฉลาดมาก แต่บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าควรจะพูดอะไรในสถานการณ์นี้ดี’ ผมมั่นใจว่า ผมก็เป็นแบบเดียวกันนั่นแหละ”

ครุกแมนได้รับความนิยมหลังจากเขียนบทความด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับ Slate แม็กกาซีน และฟอร์ปส์ในช่วงทศวรรษ 1990 ความเห็นของเขามักจะมีน้ำหนักเกี่ยวกับข้อถกเถียงร่วมสมัยเรื่องการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเขา

“เขาถูกหลอนจากปีศาจที่เขาสร้างขึ้น” ไมเคิล คินสเลย์ บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง Slate และเป็นคนว่าจ้างครุกแมนกล่าว “เขาใช้ทฤษฎีของเขาอธิบายว่าทำไมบ้างครั้งการค้าเสรีไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด และทันใดทุกคนก็ใช้ข้อโต้แย้งของเขาเป็นข้ออ้างในการต่อต้านการค้าเสรี ในขณะที่เขาไม่คิดว่าข้อยกเว้นนี้จะใช้ได้บ่อยๆ”

ในขณะที่งานเขียนสมัยนิยมของเขาเน้นเรื่องการเมือง ส่วนงานวิจัยเน้นการเงินระหว่างประเทศ แต่บางครั้งเขาจะหวนคืนกลับมาให้ความสนใจในเรื่องการค้า เมื่อปีก่อนเขาได้เขียนผลด้านลบของการค้าเสรีหลายครั้ง ทั้งในคอลัมน์ของเขาและบทความทางวิชาการที่เขียนให้กับสถาบันบรูคกิ้งส์ ว่าการค้ากับประเทศยากจนจะเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันเช่นเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือไม่

ในปี 1991 ครุกแมนได้รับรางวัล เหรียญ John Bates Clark ซึ่งมีการมอบให้ทุกๆสองปี กับนักเศรษฐศาสตร์อายุน้อยกว่า 40 ที่ได้สร้างผลงานให้กับวงการเศรษฐศาสตร์ เขาตามรอยผู้ที่ได้รับเหรียญ Clark แล้วมารับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์หลายๆ คน อย่างเช่น สติกลิตส์และแซมมวลสัน

ครุกแมนเติบโตในลองไอซ์แลนด์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และสำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตจากเอ็มไอที สอนอยู๋ที่พรินเซตันตั้งแต่ปี 2000 ในเทอมนี้เขาสอนหลักสูตรสูงกว่าระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีและนโยบายการเงินระหว่างประเทศ เขายังคงสอนการสัมมนาที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้กับนักศึกษาใหม่ทุกคนด้วย

ที่พรินเซตัน ครุกแมนร่วมงานกับนักเศรษฐศาสตร์อีกคนคนหนึ่งที่แม้ว่าจะมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ซึ่งก็คือคนที่เป็นข่าวในปัจจุบัน คือ เบน เอส เบอร์นังเค ประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเบอร์นังเคก็ได้เสนอตำแหน่งของครุกแมนให้ที่พรินเซตันโดยบังเอิญด้วย ทั้งครุกแมนและเบอร์นังเคเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเอ็มไอทีในช่วงทศวรรษ 1970

เอ็มไอทีในยุคสมัยของพวกเขาได้ผลิตนักเศรษฐศาสตร์ในแวดวงการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ได้รับการยอมรับนับถือหลายคน ดังเช่น โอลิเวียร์ แบล๊งเชิร์ด และ เคนเนธ โรจอฟฟ์ ซึ่งคนแรกเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และคนหลังเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในสถาบันเดียวกัน

การมอบรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ เป็นรางวัลชิ้นสุดท้ายจากทั้งหมด 6 รางวัล รางวัลโนเบลถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1968 โดยธนาคารกลางสวีเดนเพื่อเป็นที่ระลึกแด่ อัลเฟรด โนเบล ครุกแมนได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เพียงคนเดียวในปีนี้ และเขาได้รับรางวัลเป็นมูลค่า 1.4 ล้านเหรียญ


เพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษาในงานวิจัยเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นคู่ชิงรางวัลในครั้งนี้ด้วย ยังให้การยกย่องเพิ่มขึ้นไปอีก

“หลายคนบอกผมว่า ‘ทำไมคุณถึงไม่เป็นคนได้รับรางวัลล่ะ’” จักดิช ภัควตี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว เขาเป็นคนช่วยให้ครุกแมนได้รับการตีพิมพ์งานวิชาการในขณะที่นักวิชาการคนอื่นมองว่ามันง่ายเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริง “หากมองจากพื้นฐานว่าผมไม่ได้รับรางวัลนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เกิดขึ้น”.

แปลและเรียบเรียงจาก The New York Times : Krugman Wins Economics Nobel

http://www.siamintelligence.com/krugman-wins-economics-nobel/

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

Experience VS Year of Service

หลายๆ คนคงอาจจะมีความเข้าใจในคำว่า "ประสบการณ์-Experience กับ อายุงาน-Year of Service" บ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่เคยได้ยิน อาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไร สำคัญอย่างไร ถ้าจะพูดไปแล้ว คำแรกคือ ประสบการณ์ น่าจะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า เพราะอะไรที่เราเคยทำ หรือเคยผ่านตา เคยเห็นบ้าง ก็อาจจะถือว่าเป็นประสบการณ์ทั้งหมดในแง่ของความเข้าใจโดยทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงในเชิงของการทำงานแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะนัยยะสำคัญมันมีแยกย่อยต่างออกไป ดังนั้น คำที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อแบ่งแยกความชัดเจนในวงการคนทำงาน จึงมีอีกคำหนึ่งคือ อายุงาน อายุงาน (Year of Service-YOS, Service Year) คือ ช่วงระยะเวลาทั้งหมดที่เราได้ทำงานกับองค์กร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง (โดยจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าจะนับต่อเนื่องกันได้นั้นมันก็จะมีผลในทางกฎหมาย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) เช่น นาย ก. ทำงานกับบริษัท A มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ก็นับอายุงานได้ 2 ปีกับ 7 เดือนกว่าๆ เป็นต้น ประสบการณ์ (Experience) ก็คือ ประสบการณ์การทำงาน หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่ง (Time in Position) หรือในงานด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะจากหลายๆ องค์กรก็ได้ แต่ถ้าในองค์กรเดิมอาจจะใช้คำว่า ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเลยก็ได้ เช่น นาย ข. เคยทำงานในบริษัท A ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้อ โดยเริ่มทำงานในวันที่ 1 มกราคม 2547 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 มาทำงานกับบริษัท B ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 แต่ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2550 ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกวางแผนการผลิต มาจนถึงปัจจุบัน...
เรามาลองแยกแยะ YOS กับ Experience ดูกัน

YOS กับบริษัท A = 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
YOS กับบริษัท B = 2 ปี 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2548 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในงานจัดซื้อ = 2 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2549)
Experience ในงานวางแผนการผลิต = 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2550 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่จัดซื้อ= 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
Experience ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส = 1 ปี 6 เดือน (1 มกราคม 2548 - 31 มิถุนายน 2549) Experience ในตำแหน่งงานผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ = 6 เดือน (1 กรกฎาคม 2549 - 31 ธันวาคม 2549)

พอจะมองภาพออกหรือยังครับว่า มันมีความแตกต่างกันอย่างไร ในคำทั้งสองคำข้างต้น...แต่ในทัศนะของผมแล้ว YOS นั่นไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไหร่ ประสบการณ์หรือ Experience นั้นน่าสนใจกว่าเยอะเลย เพระมีหลายๆ คนใช้วิธีการนับและแยกแยะอย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น ซึ่งก็ถูกต้อง ไม่น่าจะผิดแผกผิดเพี้ยนไปแต่ประการใด และไม่เห้นจะน่าสนใจตรงไหนเลย... ความน่าสนใจของมันอยู่ที่ การที่คนเราได้ทำงานในหน้าที่ หรือตำแหน่งงานใดงานหนึ่งโดยนับเอาว่าวาระ ระยะเวลา หรือจำนวนปีผ่านไปนั้น เป็นประสบการณ์ทำงานของตนเอง มันดูแล้วไม่น่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงทั้งหมด...ทำไม? ผมมองว่า ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่าและคุณค่ามาก จะเพิ่มมูลค่าประสบการณ์เพียงแค่ใช้มิติระยะเวลาเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะถูกต้องหรือพอเพียง...องค์ประกอบอื่น เช่น การเรียนรู้ กลยุทธ์ วิธีการ รูปแบบการทำงาน ฯ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง น่าจะนำมาเป็นแต้มบวกให้กับคำว่า ประสบการณ์ได้...บางคนอาจจะทำงานในงาน/ตำแหน่งหนึ่งมา 3 ปี แต่ไม่ได้พัฒนาปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นเลย ทำแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ อาจจะนับได้แค่อายุงาน 3 ปี แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ถึง 3 ปีก็ได้..แต่ในขณะที่คนหนึ่งได้ทำงานมา 2 ปีกว่าโดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบกรรมวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา อย่างนี้นับอายุงานได้ 2 ปีกว่า แต่ประสบการณ์ อาจจะวิ่งเลยมากกว่า 2 ปีกว่านี้ก็เป็นได้.. ดังนั้น ความน่าสนใจของคำว่า ประสบการณ์ นอกเหนือมิติของเวลาแล้ว น่าจะเป็นรูปแบบวิธีการทำงานในเชิงรุกและพัฒนา มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นเอง...ลองย้อนกลับมาดูและถามเราเองสิว่า..การทำงานที่ผ่านมาเป็น "ประสบการณ์" หรือแค่ "อายุงาน" เท่านั้น...
(http://weblog.manager.co.th/publichome/preecha)