Experience VS Year of Service
หลายๆ คนคงอาจจะมีความเข้าใจในคำว่า "ประสบการณ์-Experience กับ อายุงาน-Year of Service" บ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่เคยได้ยิน อาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไร สำคัญอย่างไร ถ้าจะพูดไปแล้ว คำแรกคือ ประสบการณ์ น่าจะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า เพราะอะไรที่เราเคยทำ หรือเคยผ่านตา เคยเห็นบ้าง ก็อาจจะถือว่าเป็นประสบการณ์ทั้งหมดในแง่ของความเข้าใจโดยทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงในเชิงของการทำงานแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะนัยยะสำคัญมันมีแยกย่อยต่างออกไป ดังนั้น คำที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อแบ่งแยกความชัดเจนในวงการคนทำงาน จึงมีอีกคำหนึ่งคือ อายุงาน อายุงาน (Year of Service-YOS, Service Year) คือ ช่วงระยะเวลาทั้งหมดที่เราได้ทำงานกับองค์กร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง (โดยจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าจะนับต่อเนื่องกันได้นั้นมันก็จะมีผลในทางกฎหมาย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) เช่น นาย ก. ทำงานกับบริษัท A มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ก็นับอายุงานได้ 2 ปีกับ 7 เดือนกว่าๆ เป็นต้น ประสบการณ์ (Experience) ก็คือ ประสบการณ์การทำงาน หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่ง (Time in Position) หรือในงานด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะจากหลายๆ องค์กรก็ได้ แต่ถ้าในองค์กรเดิมอาจจะใช้คำว่า ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเลยก็ได้ เช่น นาย ข. เคยทำงานในบริษัท A ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้อ โดยเริ่มทำงานในวันที่ 1 มกราคม 2547 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 มาทำงานกับบริษัท B ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 แต่ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2550 ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกวางแผนการผลิต มาจนถึงปัจจุบัน...
เรามาลองแยกแยะ YOS กับ Experience ดูกัน
YOS กับบริษัท A = 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
YOS กับบริษัท B = 2 ปี 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2548 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในงานจัดซื้อ = 2 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2549)
Experience ในงานวางแผนการผลิต = 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2550 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่จัดซื้อ= 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
Experience ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส = 1 ปี 6 เดือน (1 มกราคม 2548 - 31 มิถุนายน 2549) Experience ในตำแหน่งงานผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ = 6 เดือน (1 กรกฎาคม 2549 - 31 ธันวาคม 2549)
พอจะมองภาพออกหรือยังครับว่า มันมีความแตกต่างกันอย่างไร ในคำทั้งสองคำข้างต้น...แต่ในทัศนะของผมแล้ว YOS นั่นไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไหร่ ประสบการณ์หรือ Experience นั้นน่าสนใจกว่าเยอะเลย เพระมีหลายๆ คนใช้วิธีการนับและแยกแยะอย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น ซึ่งก็ถูกต้อง ไม่น่าจะผิดแผกผิดเพี้ยนไปแต่ประการใด และไม่เห้นจะน่าสนใจตรงไหนเลย... ความน่าสนใจของมันอยู่ที่ การที่คนเราได้ทำงานในหน้าที่ หรือตำแหน่งงานใดงานหนึ่งโดยนับเอาว่าวาระ ระยะเวลา หรือจำนวนปีผ่านไปนั้น เป็นประสบการณ์ทำงานของตนเอง มันดูแล้วไม่น่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงทั้งหมด...ทำไม? ผมมองว่า ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่าและคุณค่ามาก จะเพิ่มมูลค่าประสบการณ์เพียงแค่ใช้มิติระยะเวลาเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะถูกต้องหรือพอเพียง...องค์ประกอบอื่น เช่น การเรียนรู้ กลยุทธ์ วิธีการ รูปแบบการทำงาน ฯ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง น่าจะนำมาเป็นแต้มบวกให้กับคำว่า ประสบการณ์ได้...บางคนอาจจะทำงานในงาน/ตำแหน่งหนึ่งมา 3 ปี แต่ไม่ได้พัฒนาปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นเลย ทำแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ อาจจะนับได้แค่อายุงาน 3 ปี แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ถึง 3 ปีก็ได้..แต่ในขณะที่คนหนึ่งได้ทำงานมา 2 ปีกว่าโดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบกรรมวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา อย่างนี้นับอายุงานได้ 2 ปีกว่า แต่ประสบการณ์ อาจจะวิ่งเลยมากกว่า 2 ปีกว่านี้ก็เป็นได้.. ดังนั้น ความน่าสนใจของคำว่า ประสบการณ์ นอกเหนือมิติของเวลาแล้ว น่าจะเป็นรูปแบบวิธีการทำงานในเชิงรุกและพัฒนา มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นเอง...ลองย้อนกลับมาดูและถามเราเองสิว่า..การทำงานที่ผ่านมาเป็น "ประสบการณ์" หรือแค่ "อายุงาน" เท่านั้น...
(http://weblog.manager.co.th/publichome/preecha)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น