วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552




อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส (Ardipithecus ramidus)

นักวิทย์พบโครงกระดูกต้นตระกูลคนที่เก่าแก่ที่สุด 4.4 ล้านปี ในเอธิโอเปียบ้านเดียวกันกับ "ลูซี" แย้งความเชื่อคนมาจากลิง นักวิจัยเผยไม่ใช่ทั้งคนและชิมแปนซี แต่มีลักษณะเข้าใกล้บรรพบุรุษร่วมคนกับลิงมากยิ่งขึ้นทุกที สอดคล้องทฤษฎีดาร์วิน

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกว่า 10 ประเทศ เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกสิ่งมีชีวิตในตระกูลคน (hominid) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยได้ตีพิมพ์รายงานผลการวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 11 ฉบับลงในวารสารไซน์ (Science) ฉบับพิเศษ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความตื่นเต้นอย่างมากแก่วงการนักวิทยาศาสตร์ทางด้านวิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก

เอเอฟพีระบุว่า ฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 ในเขตประเทศเอธิโอเปีย และอีก 2 ปีต่อมานักวิจัยจึงสามารถจำแนกได้ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ในตระกูลคน โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส (Ardipithecus ramidus) และมีชื่อเล่นว่า "อาร์ดี" (Ardi)

โครงกระดูกดังกล่าว เป็นของสิ่งมีชีวิตเพศเมียที่คาดว่าเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม สูงราว 1.2 เมตร และมีอายุเก่าแก่มากถึง 4.4 ล้านปี นับว่าเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตตระกูลคนที่เก่าแก่ที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "ลูซี" (Lucy) ซึ่งจัดอยู่ในสปีชีส์ ออสเตรโลพิเธคัส อะฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis) มีอายุ 3.2 ล้านปี พบครั้งแรกเมื่อปี 2517 ในเอธิโอเปียเช่นเดียวกัน แต่อยู่ห่างจากบริเวณที่พบ "อาร์ดี" ออกไปทางตอนเหนือ 72 กิโลเมตร

ซี โอเวน เลิฟจอย (C. Owen Lovejoy) นักมานุษยวิทยาจากเคนท์สเตทยูนิเวอร์ซิตี (Kent State University) มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัย ระบุในเอพีว่า ฟอสซิล "อาร์ดี" พลิกทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์ที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ ที่ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษที่คล้ายชิมแปนซี แต่จากฟอสซิลของอาร์ดีบ่งชี้ว่า มนุษย์และชิมแปนซีแยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน

ด้านทิม ไวท์ (Tim White) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิวัฒนาการมนุษย์ (Human Evolution Research Center) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) และนักวิจัยอีกคนในทีม เปิดเผยว่า อาร์ดีไม่ใช่บรรพบุรุษร่วมที่ว่านั่น แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุด ซึ่งสายวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคใหม่และลิงไม่มีหางในปัจจุบัน น่าจะแยกมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 6-7 ล้านปีก่อน

ทว่าอาร์ดีมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่ไม่พบในลิงไม่มีหางที่พบในแอฟริกาปัจจุบันนี้ ทำให้สรุปได้ว่าลิงไม่มีหางมีการวิวัฒนาการที่กว้างออกไป นับตั้งแต่เราได้มีบรรพบุรุษร่วมกันครั้งสุดท้าย และจากการศึกษาฟอสซิลอาร์ดีพบว่า สิ่งมีชีวิตดังกล่าวอาศัยอยู่ในป่า และปีนต้นไม้ด้วยแขนขาทั้ง 4 ข้าง แต่พัฒนาการของแขนและขาบ่งชี้ว่า พวกเขาไม่ได้ใช้เวลาอาศัยอยู่บนต้นไม้มากนัก และยังสามารถเดินบนพื้นดินด้วย 2 ขา และลำตัวตั้งตรงได้

"ในฟอสซิลของอาร์ดิพิเธคัสไม่มีลักษณะพิเศษ ที่วิวัฒนาการไปไกลจากเส้นทางของออสเตรโลพิเธคัส ดังนั้นเมื่อเราพินิจจากหัวจรดเท้า เราจะเห็นภาพสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งชิมแปนซีหรือคน แต่เป็นอาร์ดิพิเธคัส" ไวท์ กล่าว ซึ่งชิมแปนซีมีฟันหน้าหยาบมากเพราะเป็นสัตว์กินพืช ขณะที่อาร์ดิพิเธคัสกินทั้งพืชและสัตว์ โดยมีฟันตัดและเขี้ยวเล็กกว่า และยังมีขนาดสมองใกล้เคียงชิมแปนซีแม้ว่าจะมีใบหน้าเล็กกว่า

"ดาร์วินเคยกล่าวไว้ เราต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน เป็นทางเดียวที่เราจะรู้ได้จริงๆ ว่าบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายระหว่างคนกับลิงมีลักษณะอะไร และหาให้เจอ และฟอสซิลอายุ 4.4 ล้านปีที่เราพบ ก็เข้าใกล้สิ่งที่เราค้นหามากขึ้นทุกที และต้องขอบคุณดาร์วิน ที่เคยบอกไว้ว่า สายวิวัฒนาการของลิงและคนเป็นอิสระจากกัน ตั้งแต่แยกสายออกจากบรรพบุรุษร่วมสุดท้าย" ไวท์กล่าว

"นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งส่วนของโครงกระดูกที่สำคัญและสัมพันธุ์กันถูกรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งกะโหลก มือ เท้า และส่วนสำคัญอื่นๆ ซึ่งมันอาจเป็นบรรพบุรุษของสกุลออสเตรโลพิเธคัส ที่เป็นบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตสกุลโฮโมก็เป็นได้" เดวิด พิลบีม (David Pilbeam) ภัณฑารักษ์ส่วนบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา (Peabody Museum of Archaeology and Ethnology) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กล่าวแสดงความเห็น ซึ่งเขามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยโครงกระดูกอาร์ดี.