วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทกวียุคถังที่เจริญรุ่งโรจน์ของจีน

บทกวียุคถังที่เจริญรุ่งโรจน์ของจีน

中国国际广播电台

ราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีน ในยุคนั้น เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง สังคมสงบสุข ศิลปะวัฒนธรรมต่างๆล้วนมีความผลสำเร็จอันรุ่งโรจน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เป็นช่วงเวลาที่ผลงานบทกวีโบราณของจีนพัฒนาจนถึงขีดสูงสุด การประพันธ์บทกวีในสมัยราชวงศ์ถังได้กลายเป็นเนื้อหาสำคัญอย่างหนึ่งในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของสังคม ระบบการสอบคัดเลือกขุนนางระดับ“เคอจี้”หรือระดับชาติของราชวงศ์ก็ได้เปลี่ยนจากการคัดเลือกด้วยผลงานการเขียนบทวิทยานิพนธ์มาเป็นผลงานการแต่งบทกวีแทน ในหนังสือคัมภีร์โบราณวรรณคดี“ฉวนถังซือ”ที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันได้บันทึกบทกวีไว้ร่วม 5 หมื่นบทที่มาจากกวีกว่า 2300 คน
วิวัฒนาการการประพันธ์บทกวีในราชวงศ์ถังของจีนแบ่งได้เป็นสี่ช่วงเวลา ได้แก่ “ชูถัง”หรือ“ยุคแรกของราชวงศ์ถัง” “ เสิ้งถัง”หรือ“ยุคเจริญรุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ถัง” “จงถัง”หรือ“ยุคกลางของราชวงศ์ถัง”และ“หวั่นถัง”หรือ“ช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ถัง”

ในสมัย“ชูถัง”(ค.ศ.618-712) หวังปั๋ว หยังโจง หลูเจ้าหลินและลั่วปิน

หวังได้รับสมญานามว่าเป็น“4 กวีเด่น”ในยุคนี้ได้ค่อยๆเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างกฎเกณฑ์สัมผัสเสียงในบทกวี ปูพื้นฐานให้กับรูปแบบของบทกวีที่มีเสียงสัมผัสของจีน ทำให้การประพันธ์บทกวีในสมัยราชวงศ์ถังของจีนได้ปรากฏฉันทลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ด้วยการใช้ความพยายามของพวกเขา เนื้อหาในบทกวีได้เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นแต่ความฟุ่มเฟือยของสำนักราชวังมาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปในสังคม ส่วนท่วงทำนองของบทกวีก็เปลี่ยนจากที่เคยเน้นความอ่อนน้อมถ่อมตนมาเป็นรูปแบบที่ชัดเจนรื่นหู กวีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุค“ชูถัง”คือ เฉินจื่ออ๋าง เขาได้ฟื้นฟูประเพณีอันดีงามของบทกวีที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของชีวิต บทกวีของเฉินจื่ออ๋างมีลักษณะเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ได้แผ้วถางทางให้กับการพัฒนาก้าวหน้าของบทกวีในราชวงศ์ถังในเวลาต่อมา

จากค.ศ.712 ถึงค.ศ. 762 เป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “เซิ่งถัง”เป็นยุคที่ราชวงศ์ถังมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด และก็เป็นช่วงเวลาที่การประพันธ์บทกวีของจีนมีความเจริญรุ่งเรืองและมีผลงานโดดเด่นที่สุด บทกวีในยุคนี้มีเนื้อหาและรูปแบบหรือสไตล์ที่หลากหลาย กวีบางคนสรรเสริญธรรมชาติ บางคนแสดงความใฝ่ฝันที่จะไปตั้งหลักอยู่ทางชายแดน บางคนสดุดีลัทธิวีรชน และบ้างก็ได้ส่งเสียงถอนหายใจด้วยความผิดหวังก็มี บรรดากวีจำนวนมากต่างแข่งกันประพันธ์บทกวีอย่างอิสระเสรีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปิดกว้าง ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์“เซิ่งถัง”ที่ส่งผลสั่นสะเทือนอย่างมากต่อชนรุ่นหลัง

ในสมัย“เซิ่งถัง” กวีที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ หลี่ไป๋ ตู้ฝู หวังเหวย เมิ่งฮ่าวหลัน เกาเซ่อและเฉินเซิง เป็นต้น ฉินเซินถนัดแต่งบทกลอนที่สะท้อนสภาพด่านชายแดน บทกวีของเกาเซ่อสะท้อนความทุกข์เข็ญของชาวบ้านได้ค่อนข้างดี ส่วนกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถเป็นตัวแทนของวงการกวีในสมัย“เซิ่งถัง”ได้นั้นย่อมควรยกให้หลี่ไป๋ที่ถูกขนานนามว่า“เซียนกวี”กับตู้ฝูที่ถูกขนานนามว่า“ปราชญ์กวี” ผลงานบทกวีของพวกเขาได้ส่งอิทธิพลที่ลึกซึ้งและยาวไกลต่อการประพันธ์บทกวีของชนรุ่นหลังของจีน

ในสมัย“จงถัง”(ค.ศ.762---827) ก็มีกวีดีเด่นหลายคน เช่น ไป๋จอี้อยี้

หยวนเจิ๋นและหลี่เฮ่อ เป็นต้น ไป๋จอี้อยี้ขึ้นชื่อด้วยผลงานโคลงเปรียบเปรยที่เสียดสีการรีดไถประชาชนอย่างเหี้ยมโหดของชนชั้นปกครอง คัดค้านการก่อสงคราม วิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าขุนมูลนายที่ทรงอำนาจ นอกจากนี้ ไป๋

จอี่อยี้ยังพยายามใช้ภาษาที่เรียบง่าย รื่นหู มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ จึงได้รับความนิยมชบชอบจากบรรดาผู้อ่านอันกว้างไพศาล

หลี่เฮ่อเป็นกวีที่มีอายุสั้นเพียง 20 กว่าปี เขามีชีวิตที่ยากลำบาก และก็ประสบความล้มเหลวในวิถีชีวิตขุนนาง แต่บทกวีของเขาอุดมไปด้วยจิงตนาการ มีความหมายที่แปลกใหม่ มีโครงสร้างที่รวบรัด ใช้ภาษาที่งดงาม เปี่ยมไปด้วยสีสันแห่งจิงตนิยมและอารมณ์ความรู้สึกที่ไปทางเศร้าสลด

จากค.ศ.827 ถึง 859 เป็นสมัยของ“หวั่นถัง” กวีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้คือ หลี่ซังอิงและตู้มู่ บทกวีของตู้มู่ได้รวมความสดใสกับความเย็นชาเข้าไว้ด้วยกันซึ่งเอื้อต่อการแสดงความมุ่งมาดปรารถนาทางการเมืองของเขาไว้ในบทกวี ส่วนผลงานบทกวีของหลี่ซังอิงมักจะมีโครงสร้างที่ประณีต ใช้ภาษาที่งดงามแต่แฝงไว้ด้วยสไตลน์ที่เต็มไปด้วยความกลัดกลุ้ม สะท้อนให้เห็นถึงความล้มลุกคลุกคลานบนวิถีชีวิตขุนนางของตัวเอง บทกวีของเขามักจะปรากฏให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เศร้าเสียใจ บทกวี“อู๋ถี”ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของเขาจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งกันในวงการวิจารณ์บทกวีของจีนว่า เป็นบทกวีที่มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตรักหรือจะเป็นเนื้อหาที่แฝงความหมายทางการเมืองกันแน่

http://thai.cri.cn/chinaabc/chapter15/chapter150104.htm

ภูเขาโปสการ์ด กองขยะ (รีไซเคิล) หลังบอลโลก

ฟุตบอลโลก 2010 จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าเกมจบคนยังไม่จบ เพราะยังต้องตามลุ้นตามเชียร์ว่าตนจะได้เป็นผู้โชคดีจากการร่วมสนุกชิงรางวัลกับเขาบ้างหรือเปล่า

สารพัดสินค้าเข้ามาร่วมวงเกาะกระแสฟุตบอลโลกจัดชิงโชคกับเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ให้คนร่วมส่งทายชิงโชคกันผ่านทาง sms แม้กระทั่งการตามกระแสไปแบบไม่ได้ชิงโชคอะไรก็มีให้เห็นกันเยอะแยะตามสื่อโฆษณาต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังกันหนาหูมากที่สุดจากบรรดาคนรอบตัวก็คือ ลาภลอยผ่านการชิงโชคจากวงการสื่อสิ่งพิมพ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในฟุตบอลโลกปีนี้เงินจะสะพัดอยู่ในระบบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์สูงถึง 820 ล้านบาท สุทธิเฉพาะการร่วมสนุกชิงโชคแล้วก็เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 660 ล้านบาท กว่าสามเท่าของยอดการจำหน่ายสิ่งพิมพ์ในช่วงเดียวกัน และจากผลการสำรวจพบว่าคนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครจะร่วมทายผลฟุตบอลโลกปีนี้สูงถึงร้อยละ 63 สูงขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อสี่ปีที่แล้วร้อยละ 3.8 ซึ่งก็เห็นได้ชัดถึงความตื่นตัวกับการชิงโชคร่วมลุ้นรางวัลที่มีมูลค่ารวมกันสูงถึงกว่าร้อยล้านบาท ที่แบ่งออกมาเป็นชิงโชคจากสื่อสิ่งพิมพ์ประมาณ 40 ล้านบาท นอกจากคนกรุงเทพฯ แล้วก็ยังมีคนอีก 75 จังหวัดทั้งจากเมืองใหญ่ๆ และเมืองเล็กๆ ที่ส่งทายผลเช่นกัน วิธีการร่วมลุ้นก็มีหลากหลาย ทั้งตัดชิ้นส่วนไปชิงโชคและการให้ส่งไปรษณียบัตรไปทายกันให้สะใจ

ถึงตอนนี้เมื่อกระบวนการจับรางวัลผู้โชคดีใกล้จะสิ้นสุด กองไปรษณียบัตรที่ทำผิดกติกาตกไป กองไปรษณียบัตรที่ทายผิดตกไป กองไปรษณียบัตรที่ทายว่าสเปนเป็นผู้ชนะฟุตบอลโลกยังอยู่ ในปริมาณที่เรียกว่าท่วมหัวเราๆ ท่านๆ หากว่ามันเยอะถึงขนาดนั้นแล้ว เราจะมีวิธีจัดการกับกระดาษปริมาณมหาศาลได้อย่างไร แต่ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่าเยอะที่ว่านั้นเยอะขนาดไหน

ชิงโชคด้วยไปรษณียบัตร


การส่งไปรษณียบัตรไปลุ้นโชคเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยฟุตบอลโลกที่สเปนเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2525 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มๆ ด้วยหลักไม่กี่ล้าน จนถึงตอนนี้พุ่งสูงไปถึงหลักร้อยล้านใบ ด้วยพลังของบอลมือรองที่ไล่เขี่ยตัวเต็งบิ๊กๆ ออกไปได้แบบไม่คาดฝัน ตั้งแต่ฝรั่งเศสกระเด็นตกไปตั้งแต่รอบแรก ฮอลแลนด์เขี่ยบราซิลทิ้งไปในรอบแปดทีมสุดท้าย หรือการเจอกันของอาร์เจนตินาและเยอรมนีแบบคนที่ลุ้นก็ยังต้องรู้สึกรักพี่เสียดายน้อง และที่สำคัญคือการคืนฟอร์มกลับมาได้ของสเปนจนคว้าแชมป์ไปได้ในที่สุด

นอกจากนี้ หลายคนยังบอกว่าพลังของหมึกพอลจากเยอรมนีที่ทำนายทายทักแบบหักปากกาเซียนก็ส่งอิทธิพลให้ต้องซื้อมาเขียนเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อยๆ ตามแต่หมึกจะบงการ เรียกว่าหมึกหันหนวดไปทางไหน พี่ไทยเราก็หันตามไปทางนั้น แบบจ้องตาไม่กะพริบ

ต้นไม้กี่ต้น


จากการคำนวณแบบคร่าวๆ พบว่า
ต้นไม้ 1 ต้น น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม สามารถผลิตกระดาษขนาด A4 80 แกรม ได้ 6,000 แผ่น
และกระดาษ A4 คือ 4 เท่าของกระดาษ A6 ซึ่งเป็นขนาดของไปรษณียบัตรมาตรฐาน
เพราะฉะนั้น ต้นไม้ 1 ต้น จึงผลิตกระดาษขนาด A6 80 แกรม ได้ 24,000 แผ่น
แต่ความหนาของไปรษณียบัตรมาตรฐานอยู่ที่ 180 แกรม
เพราะฉะนั้นด้วยการตั้งบัญญัติไตรยางค์จึงได้ว่า
ต้นไม้ 1 ต้น ผลิตกระดาษ A6 180 แกรม ได้ ประมาณ 10,666 แผ่น

และหากนำจำนวนไปรษณียบัตร 200 ล้านใบที่ส่งชิงโชคมาคำนวณ จะได้เป็น
ไปรษณียบัตร 200 ล้านใบ เท่ากับต้นไม้ 18,751.17 ต้น

ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะเอามันไปทำอะไรต่อดีให้ไม่สูญเปล่า

ไปรษณียบัตร ขยะที่มีราคา


จำนวนที่ว่ามาสุดท้ายแล้วหลังการจับรางวัลก็จะกลายเป็นขยะคุณภาพกองโต ที่ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ เจ้าของธุรกิจโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ หรือที่ใครๆ ต่างขนานนามเขาว่า 'ราชาขยะ' ผู้ทำให้ขยะกลายเป็นทองคำต้องตาลุกวาว โรงงานแห่งนี้รับซื้อเศษขยะเหลือใช้ทุกประเภท โดยเฉพาะเศษกระดาษทั้งหลายที่เขาบอกว่าเป็นขยะอีกประเภทหนึ่งที่รับซื้อในราคาที่ดี ในแต่ละเดือนโรงงานวงษ์พาณิชย์จะรับซื้อกระดาษในปริมาณ 3 หมื่นกว่าตัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร แต่ในการรับซื้อนั้นจะมีการคัดแยกประเภทของกระดาษด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปอัดเป็นก้อนและตีราคา

“เราจะมีการคัดแยกกระดาษออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ กล่องกระดาษสีน้ำตาล เศษกระดาษผสม กระดาษปอนด์ขาว-ดำ และกระดาษหนังสือพิมพ์ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้วเราก็จะเอาไปเข้าเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่ออัดกระดาษเป็นก้อน โดยจะได้น้ำหนักของกระดาษแต่ละก้อนประมาณ 1,700 กิโลกรัม ที่เราต้องการน้ำหนักหรือขนาดของก้อนขนาดนี้เพราะว่าจะทำให้สะดวกและมีน้ำหนักต่อการขนส่งที่คุ้มค่า หลังจากนั้นก็จะส่งไปยังตลาดเป้าหมาย ตลาดอุตสาหกรรมรีไซเคิล”

สำหรับไปรษณียบัตรที่ประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศต่างส่งเข้ามาเพื่อทายผลและลุ้นรางวัลช่วงฟุตบอลโลก 2010 ที่ผ่านมา ดร.สมไทย บอกว่า โรงงานของเขาก็รับซื้อไปรษณียบัตรเหล่านี้ด้วย เมื่อทางบริษัทที่จัดให้ทายผลจับรางวัลเสร็จสิ้น ทางเครือข่ายก็จะส่งมาขายยังโรงงานแห่งนี้บ้างเช่นกัน

“ไปรษณียบัตรเราจะแยกเป็นกระดาษประเภทที่สอง คือ กระดาษผสม ที่ค่อนข้างมีราคาดี กิโลกรัมละ 6-7 บาท ซึ่งในหนึ่งกิโลกรัมนั้นจะมี 350 ใบ ครั้งก่อนๆ ที่เคยรับซื้อมาประมาณ 2 ล้านกว่าใบ ตีราคาได้ประมาณ 3 ล้านบาท สำหรับคราวนี้เท่าที่สังเกตกองไปรษณียบัตรตามสื่อต่างๆ ประมาณได้ว่ามีจำนวนเยอะทีเดียว ถ้าจะตีราคาก็ประมาณหลายล้านบาท

“เมื่อเรานำไปผ่านกระบวนการต่างๆ หรือรีไซเคิลแล้วไปรษณียบัตรก็จะกลายเป็นกระดาษใหม่ที่มีคุณภาพดีสามารถนำไปใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะนำไปเป็นไปรษณียบัตรใหม่ก็ได้ ทำเป็นกระดาษปอนด์ ทำเป็นกล่องใหม่ เป็นสมุด หนังสือ” ดร.สมไทยกล่าวทิ้งท้าย

รีไซเคิล ทางออกของปัญหาจริงหรือ


เพราะตัวเลขที่เราได้จากการคำนวณดูเยอะมาก เมื่อเราบอก อาจารย์อภิดลน์ เจริญอักษร หรือครูดุจ อาจารย์จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้บุกเบิกโครงการของเสียเหลือศูนย์ โครงการที่ช่วยให้ลดปริมาณขยะในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาคิดเช่นเดียวกับเราว่าตัวเลขนี้ไม่ใช่จำนวนที่น้อยๆ เลย

“จริงๆ ก็ไม่ได้คาดคิดว่าตัวเลขของไปรษณียบัตรจะเยอะมากขนาดนี้ พอได้คำนวณกลับออกมาเป็นจำนวนต้นไม้ก็ไม่ใช่ปริมาณน้อยๆ เลยเหมือนกัน ที่โรงเรียนเราได้พยายามปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า แตพอมาเจออย่างนี้ก็ถึงกับตกใจ”

อาจารย์ประจำโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ยังฝากให้เราคิดกันว่า ถึงแม้ปริมาณกระดาษกองนี้จะสามารถรีไซเคิลได้ก็จริง แต่มันก็ยังต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะได้ออกมาเป็นกระดาษใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้เสียพลังงานไปมาก เพราะฉะนั้นคนไทยควรจะคิดถึงสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น เพราะมันไม่ได้เหลือเยอะอย่างสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เราแล้ว นอกจากนี้ยังอยากจะให้ผู้ปกครองรู้จักสอนการแยกขยะให้แก่เด็กๆ ด้วย

“สมัยนี้คนเราใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่รู้คุณค่า เพราะเราเกิดมาก็เห็นแต่สิ่งที่มันแปรรูปมาแล้ว ไม่ได้คิดไปถึงว่ามันเคยเป็นต้นไม้มาก่อน เคยเป็นปิโตรเลียมมาก่อน คนปัจจุบันรักสิ่งแวดล้อมกันน้อยลง และการรีไซเคิลในปัจจุบันเป็นในเชิงพาณิชย์หมดแล้ว คนไม่ได้รักสิ่งแวดล้อมจากข้างในจริงๆ เหมือนคนสมัยก่อน เราได้พยายามแล้วในระดับโรงเรียนแต่ก็ต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และถ้าเราเลือกที่จะรียูสได้ มันก็จะประหยัดพลังงานมากกว่า”

..............................

อย่างไรก็ตาม การชิงโชคเป็นของคู่กันกับคนไทยมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยชิงโชคด้วยกระดาษห่อกระป๋องนมข้นหวาน พัฒนามาเรื่อยๆ จนใช้ไปรษณียบัตร ซึ่งนอกจากจะสามารถวัดปริมาณกันได้แบบจะจะแล้ว ยังทำให้ไปรษณีย์ไทยกลับมาคึกคัก หลังจากกำไรหดหายไปพร้อมการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรจะระลึกไว้บ้างในใจดวงน้อยๆ ของเรา ก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติ มีใช้แล้วก็สูญไป ในกระบวนการผลิตกระดาษไม่ได้ใช้เพียงแต่ต้นไม้อย่างเดียว ลดการใช้ทรัพยากรลงสักหน่อย เพื่อให้ลูกหลานตัวเล็กตัวน้อยของเราได้เห็นท้องฟ้าสีครามและน้ำทะเลใสๆ ต่อไป

หรือไม่ก็ภาวนาให้มีกระบวนการหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปัจจุบันก็ยังดี

สถิติน่ารู้

ไปรษณียบัตร 200 ล้านใบ ทำอะไรได้บ้าง
ปูพื้นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานได้ 252 สนาม
ปูเขตสัมพันธวงศ์ได้เต็มพื้นที่ (1.416 ตารางกิโลเมตร)
วนรอบโลกได้ครึ่งรอบ (20,000 กิโลเมตร)

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 19 กรกฎาคม 2553 19:48 น.