โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
วันที่ 25 ธันวาคม 2559
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/733128
ปีไก่ทอง“2017”จะเป็นปีแรกที่คนเจน Z(เกิดหลังปี 1995) จะเข้ามาป่วนโลกการทำงาน องค์กรแบบไหนกันจะ "ถูกโฉลก"กูรูสำทับหากรับมือได้ ธุรกิจฉลุย!
คิดถึงตัวเองก่อน ไม่ชอบรอ ไม่อดทน ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำงานที่ไหนเกิน 7 เดือน ก็นับว่า “จงรักภักดี” สุดๆ แล้ว ต่อให้เป็นองค์กรระดับท็อป อย่าคิดว่าพี่ท่านจะสน ก็ถ้างานไม่สนุก ไม่โดน หรือโตไม่ทันใจ ก็พร้อมจะ “โบกมือบ๊ายบาย” โดยไม่ต้องเสียเวลาชั่งใจเลยสักนิด
นี่คือตัวอย่างคาแรคเตอร์ คนเจน Z (เกิดระหว่างปี 1995-2009) ที่เริ่มเข้าสู่โลกการทำงานมาประปรายในปีนี้ และจะเข้าสู่ตลาดงานโดยสมบูรณ์ในปีระกา 2560 ซึ่งกำลังสร้างความหวั่นใจให้องค์กรยุคนี้อยู่มาก
เราเลยได้เห็นปรากฏการณ์ “ภูมิแพ้คนรุ่นใหม่” ระบาดไปในหลายออฟฟิศ ตั้งแต่ทัศนคติต่อน้องๆ เด็กฝึกงาน ไปจนพนักงานจบใหม่ ที่กลายเป็น “ทอปปิก” ในกระทู้ยอดนิยมอย่างพันทิปดอทคอมอยู่บ่อยครั้ง
เจนวายว่าหนักแล้ว เจน Z สิท้าทายกว่า แถมยังต่างจากเจนวายมากเสียด้วย
“คาแรคเตอร์หลักๆ ของเด็กเจน Z คือเป็น มนุษย์เทคโนโลยี อดทนน้อย และไม่ค่อยจงรักภักดีกับองค์กร”
คำอธิบายตัวตนคนเจน Z ฉบับสั้นกระชับ จาก “ดร.จิราพร พฤกษานุกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิโก คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ สะท้อนความไม่ง่ายในการรับมือคนทำงานเจนใหม่
เจน Z ไม่ได้โตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกับเจนวาย แม้จะคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ตรงโตมากับเทคโนโลยี อยู่กับความรวดเร็ว สั่งการทุกอย่างได้แค่ปลายนิ้วคลิก! เป็นมนุษย์อดทนต่ำ ไม่ชอบรอ ไม่เคยรู้จักคำว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” แบบมนุษย์ยุคเบเบี้บูม หรือคนเจนเอ็กซ์
แต่สิ่งที่แตกต่างจากเจนวายอย่างเห็นได้ชัด คือเจนวาย โตมาในยุคพ่อแม่ล่ำซำ เกิดมาท่ามกลางความหรูหราฟุ่มเฟือย เลยถูกประคบประหงมมาตั้งแต่เล็ก ทว่าเจน Z กลับตรงกันข้าม เด็กกลุ่มนี้โตมาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เลยเห็นความลำบากของพ่อแม่ได้กระจ่างชัด แถมถูกเลี้ยงมาอย่าง “Strong” ไม่ได้ถูกสปอยล์หนักเหมือนเด็กเจนก่อนหน้า
“เขาโตมาในยุคที่เห็นว่า ขนาดบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทยังปรับลดพนักงาน เห็นพ่อแม่ถูกปลดออกจากงาน ฉะนั้นสิ่งแรกเลยที่เขามองหาคือเรื่อง ความมั่นคงในการทำงาน (Job Security)” ดร.จิราพร บอก
และนั่นคือสาเหตุที่เด็กเจนนี้ยังมุ่งมั่นอย่างหนักที่จะเข้าทำงานในบริษัทระดับท็อปๆ เพราะหวังเรื่อง “ความมั่นคงปลอดภัยในการทำงาน” เป็นสำคัญ ทว่าแม้จะเริ่มต้นจากต้องการความมั่นคง แต่ถ้าลองเข้าไปทำงานแล้วเกิดมีบางอย่างที่ “ไม่ได้ดั่งใจ” เขาก็พร้อมยื่นซองขาว “ลาออก” ได้ง่ายๆ
“คาแรคเตอร์หนึ่งของเด็กเจน Z คือ เป็นคนชอบเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเขาเข้าไปในองค์กรที่มีชื่อเสียง ก็หวังว่าจะได้รับการเทรนนิ่งอะไรดีๆ เพื่อพัฒนาตัวเขา เพราะเขาอยากโตอย่างรวดเร็ว แต่พอเข้าไปแล้วปรากฏไม่ได้ตามที่ต้องการ ตอนแรกเขาอาจเข้าไปเพราะต้องการความมั่นคง แต่พอไปเจอระบบ เจออะไรแบบนี้เข้า เลยตัดสินใจลาออกได้ง่ายๆ” เธอบอก
นอกจากจะไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เด็กกลุ่มนี้ ยังไม่ชอบคำสั่ง แต่ชอบคำอธิบาย หลายคนเลยมักเรียกพวกเขาว่า “เจ้าหนูจำไม” ที่มีคำถามไปเสียทุกเรื่อง ไม่ใช่ไม่อยากทำให้ หรือดื้อด้านไปกับคำสั่งพี่ แต่แค่อยากได้คำอธิบาย “ทำไมต้องทำ?” รู้ความคาดหวังพี่ชัดๆ น้องก็พร้อม “จัดให้”
“สมัยก่อนถ้าหัวหน้ามอบหมายอะไรให้ทำ เราจะทำทันที แต่กับเด็กเจน Z เขาจะถามก่อนว่า ทำไมต้องทำ ที่จริงเด็กรุ่นนี้เต็มใจช่วยพี่ทำงานนะ เพียงแต่ที่ต้องถามเพราะเขาอยากได้คำอธิบายที่ชัดเจน เขาพร้อมจะทำทุกอย่าง และจะทำเต็มที่ด้วย ถ้ารู้ความคาดหวัง แต่ถ้าพี่ไม่บอก เขาก็เลือกที่จะไม่ทำ” เธอบอก
เด็กเจน Z ต้องการมีอำนาจในการตัดสินใจ ต้องการได้ Empower ต้องการทำงานที่หลากหลาย แต่พออยู่ในองค์กรยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งไม่มีให้ จากไฟที่เคยมี อยากทำโน่นทำนี่สารพัด ตามสไตล์คนชอบเรียนรู้ และมีทักษะหลากหลาย (Multi Skill) พอเจอแบบนี้เข้า ไฟเลยชักจะมอดดับไปจนสิ้น
“เด็กรุ่นก่อนจะคิดว่า เราเรียนจบมาจะประยุกต์อะไรเข้ากับองค์กรได้บ้าง แต่เด็กเจน Z ไม่ใช่ ถ้าเข้าไปแล้วรู้สึกว่า องค์กรไม่ฟิกซ์กับเขา ไม่สนุก ไม่ใช่งานที่ชอบ เขาจะออกทันที เพราะเด็กรุ่นใหม่ถูกปลูกฝังมาว่า คุณต้องทำงานที่ชอบ และมีความสุข ถึงจะทำงานได้ดี มีผลิตภาพสูงสุด”
ทำไมถึงไม่กลัวการเปลี่ยนงาน ก็ “ไอดอล” ของพวกเขามีให้เห็นตั้งหลากหลาย ทั้งสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องเป็นนักสู้โล้สำเภาเสื่อผืนหมอนใบเหมือนฮีโร่ในอดีต คนที่ประสบความสำเร็จไม่เห็นต้องเป็นลูกจ้างด้วยซ้ำ ดูอย่างบล็อกเกอร์ดังๆ สิ แค่นั่งรีวิวแต่งหน้าก็ยังประสบความสำเร็จได้ เขามีทางเลือกในอาชีพ
ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ ไม่ชอบ ก็เปลี่ยนงานใหม่สิ รออะไร!
ดร.จิราพร ยกตัวอย่างผลงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ที่สำรวจเด็ก เจน Z ระหว่างยังเรียนมหาวิทยาลัย โดยคำตอบของเด็กส่วนใหญ่บอกเลยว่า ถ้าเข้าสู่โลกการทำงาน เขาคิดว่าจะมีการเปลี่ยนงานอย่างน้อย 4 ครั้ง ตามคอนเซ็ปต์ของ “Job Hopper” ลักษณะของคนทำงานรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบทำงานในองค์กรที่ “ไม่ถูกโฉลก” และเปลี่ยนงานบ่อยเป็นนิจ
“เขามองว่าการเปลี่ยนงานคือการไต่ระดับ เป็นการขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง คนรุ่นก่อนอาจมองการอยู่ในองค์กรถึงเกษียณ แต่เด็กยุคนี้ไม่ใช่ เขาดูผลตอบแทนก่อน และทุกอย่างต้องเร็วสำหรับเขา ไม่ใช่ค่อยๆ ไต่ระดับเหมือนคนรุ่นก่อน ฉะนั้นถ้าโตที่นี่ไม่ได้ ฉันก็ไปโตที่อื่น” ตัดสัมพันธ์กับองค์กรอย่างง่ายๆ
นี่คือตัวอย่างเบาะๆ ของเผ่าพันธุ์คนเจน Z ที่ดูเยอะ ดูหิน และช่างแตกต่างจากคนทำงานรุ่นก่อนอยู่มากๆ
ทว่า ท่ามกลางภาพลบ ดูหนักอก หากลองเจาะลึกเข้าไปถึงใจเด็กกลุ่มนี้ จะพบว่า พวกเขายังมีศักยภาพอันน่าทึ่งหลบซ่อนอยู่ในตัวมิใช่น้อย
“เด็กยุคนี้เป็นคนชอบทำงาน และทำงานหนัก เขา Work Hard, Play Hard ยิ่งถ้ามีโปรเจคให้ทำ จะยิ่งแฮปปี้มาก”
ดร.จิราพร ฉายภาพเด็ดของเด็กเจน Z ที่ดูแตกต่างจากคุณหนูรักสบายอย่างเจนวายอยู่มากๆ ก็บอกแล้วว่าเด็กเจนนี้เขา “Strong” เพราะโตมาในยุคที่พ่อแม่ลำบาก ฉะนั้นถ้าใช้เขาให้เป็น ก็พร้อมจะทุ่มเททำงานสุดกำลัง
“เด็กเจนนี้ชอบวางแผน เขาทำงานหลายอย่าง และทำพาร์ทไทม์ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ขณะที่เด็กเจนวายไม่มีนะ พ่อแม่มีเงินทำไมฉันต้องทำงาน แต่เจน Z บางทีเป็นลูกคนรวยแต่ยังเลือกทำงานพาร์ทไทม์ เพื่อหาประสบการณ์ และเขารู้แล้วว่าเงินมันหายาก และเด็กเจน Z ยังกล้าที่จะไปเผชิญโลกภายนอกมากขึ้น เช่น ไป Work and Travel ที่ต่างประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะลูกคนมีเงินเท่านั้น” เธอฉายภาพ
โตมาแบบ Strong รู้จักคิด รู้จักวางแผน ทำงานหนัก เก่งเทคโนโลยี แถมมีทักษะหลากหลาย เลยทำให้หลายคนถึงขนาดมองว่า “เจน Z จะเป็นความหวังขององค์กรรุ่นใหม่” ในการขับเคลื่อนองค์กรได้มากกว่าเจนวายด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ที่พวกเขาจะเป็นกำลังพลหลักในอนาคต
ทว่าคือ การเป็นคนทำงานในแบบที่องค์กรยุคนี้ต้องการมากๆ
“มองกันว่า เจน Z จะกลับมากอบกู้องค์กรยุคนี้ เพราะว่าเขาจะเหมือนเบบี้บูมที่ทำงานหนักอย่างฉลาดขึ้น ถ้าใช้เขาเป็น ก็จะเป็นความหวังของตลาดแรงงาน เพียงแต่องค์กรต้องปิดความกลัวที่มีต่อคนเจน Z ให้ได้ก่อนเท่านั้น”
แล้วองค์กรจะต้องปรับทัพอย่างไร เพื่อรับมือกับพลเมืองเจน Z อาจารย์นักบริหารคนบอกเราว่า ให้เริ่มจากเปิดใจ เข้าใจ แล้วปิดช่องว่างที่เป็นจุดอ่อนของคนเจน Z ให้ได้ เช่น เด็กเจนนี้ อาจมีจุดอ่อนในการเข้าสังคม ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น เพราะอยู่แต่กับโลกในหน้าจอ เพราะฉะนั้นเมื่อได้เขาเข้าไปทำงาน ก็ต้องเพิ่มการเทรนนิ่งในสิ่งที่อาจเคยคิดว่าไม่จำเป็นสำหรับคนยุคก่อน เช่น ทักษะการเข้าสังคม การทักทาย วิธีพูดคุย การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
ในโปรแกรมปฐมนิเทศ ต้องให้เขาได้เข้ากลุ่ม ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน“ข้ามสายงาน” เวลามอบหมายงานก็ต้องพยายามให้ทำงานเป็นกลุ่ม เป็น “ทีมเวิร์ค” เพื่อดึงเขาออกมาจากโลก “ตัวคนเดียว” ให้ได้
ให้เขาค่อยๆ ฝึกฝน และปรับตัว เพราะของอย่างนี้มันเปลี่ยนกันได้
ในการสร้าง “ความผูกพันกับองค์กร” (Engagement) โจทย์ใหญ่ของเด็กเจน Z ถ้าเป็นมิติเรื่องการทำงาน ดร.จิราพร บอกว่า เด็กเจนนี้ต้องการเติบโต ต้องการก้าวหน้าในสายงาน จึงต้องมีงานให้เขาได้ก้าวหน้า โดยองค์กรต้องมาดีไซน์โครงสร้างการทำงาน ซึ่งอาจไม่ใช่การเติบโตจากล่างไปบนเหมือนสมัยก่อน แต่คือการโตไปด้านข้าง รวมถึงอาจครีเอทงานใหม่ๆ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ด้วย
เช่น การให้เขาได้ใช้ทักษะหลากหลาย ทำงานหลายอย่าง แล้วจ่ายตามความสามารถ ไม่ใช่จ่ายตามตำแหน่งงานที่สูงขึ้นเท่านั้น หรือให้เขามีโอกาสทำงานได้มากกว่า 1 งาน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับองค์กรด้วย กรณีมีจิ๊กซอว์ไหนขาดหายไปจากงาน ก็สามารถหาคนมาแทนที่ได้ทันทีด้วย
“รวมถึงอาจต้องสร้าง สิ่งที่เรียก ‘Dream job’ (งานในฝัน) ให้เขาด้วย คือเมื่อเราสนับสนุนเขา เราต้องเหมือนขายฝันนิดหนึ่งว่า คุณอยากได้ตำแหน่งอะไร อยากจะทำอะไร องค์กรก็ต้องพยายามสร้างตำแหน่งที่ตอบโจทย์ ให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และให้โอกาสในการเติบโต โดยองค์กรต้องยืดหยุ่นมากขึ้น”
จากแค่งานประจำ งานหลักที่ต้องทำไปแบบวันต่อวัน หากจะรองรับคนทำงานเจน Z เธอว่า ต้องมีทั้งงานประจำ และ “งานโปรเจค” ให้ทำ เพราะเด็กกลุ่มนี้ ชอบทำงานที่สนุก และชอบเรียนรู้ เพียงแต่ต้องเติมทักษะที่ยังขาดไปให้กับเขา
ในเรื่องของสวัสดิการ ก็ต้องปรับเป็น การบริหารสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefit) มากขึ้น โดยการให้สิทธิประโยชน์แบบเลือกได้ เช่น เขาอาจไม่สนเลยกับค่ารักษาพยาบาล ยันลูกยันหลานบวช แต่อาจต้องการแค่ ค่าฟิตเนส สปา เรียนทำขนม จัดดอกไม้ หรือแพ็คเกจในโทรศัพท์ 4G ของเขา ก็เท่านั้น ซึ่งองค์กรอาจใช้วิธีจัดสรรเงินก้อนหนึ่งแล้วให้พนักงานเลือกไปทำอะไรในแบบที่ชอบ
เธอยืนยันว่า วิธีนี้ไม่ได้ทำให้องค์กรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทว่าตรงกันข้าม กลับช่วยบริหารต้นทุนสวัสดิการให้ลดลงได้ด้วยซ้ำ แถมยัง “ได้ใจ” พนักงานมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เอื้อต่อคนเจน Z มากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสื่อสารระหว่างพนักงาน และการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น การยื่นขาดสายลาป่วย ก็ปรับให้ทำได้ง่ายๆ ในสมาร์ทโฟน ปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เลิกทำงานอยู่ในคอก เลือกบริหารชั่วโมงการทำงานเองได้ ไม่ต้องประชุมแต่ในห้องประชุม แต่อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ แม้แต่เรื่องการแต่งกาย ก็หมดยุคชุดฟอร์ม เพราะเด็กเจนนี้ถูกเลี้ยงมาว่า แม้ไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม ฉันก็เก่งได้ ทำงานได้ ยิ่งทำอะไรนอกกรอบ ก็ยิ่งครีเอทีฟ สำหรับพวกเขา
นี่คือตัวอย่างที่องค์กรจะใช้รับมือเจน Z ได้
ส่วนการจะ“ลดความขัดแย้ง”กับคนทำงานต่างเจน ก็ใช้วิธีจับมานั่งทำงานด้วยกัน พยายามสื่อสารและทำความเข้าใจกับคนในแต่ละเจน ที่สำคัญคือต้อง “ยืดหยุ่น” ที่จะรับมือกับคนต่างเจน โดยเสนอแพคเก็จ ใช้เครื่องมือ และวิธีการ ที่แตกต่างกันไปด้วย
“เจน Z ไม่ได้แย่ เพียงแต่ว่าเราต้องใช้เขาให้ถูก ใช้ประโยชน์เขาให้เป็น ต้องมีพี่เลี้ยงให้เขา เพราะเขามองหาคนที่จะมาแชร์ประสบการณ์ โดยที่เขาไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้มาก ฉะนั้นคุณต้องเปิดใจ ต้องเข้าใจ ต้องดึงจุดแข็ง และปิดช่องว่างที่เขามี พัฒนาให้เขาขึ้นมา ต้องปรับตัว เพราะจากนี้คนหมู่มากขององค์กรจะเป็นเจนวายและเจน Z แล้ว”
ลองดูตัวอย่าง วิธีคิดเพื่อรับมือคนทำงานยุคใหม่ กับผู้นำอย่าง “รวิศ หาญอุตสาหะ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด นักสร้างการเปลี่ยนแปลงแห่ง “ศรีจันทร์”
โดยเขาบอกว่า เด็กทุกเจนล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจะใช้คนเจน Z ให้เป็นประโยชน์ก็ต้องพยายามดึงจุดเด่นของเด็กกลุ่มนี้ออกมาให้ได้ เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์ เก่งเทคโนโลยี และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว องค์กรก็ต้องดึงจุดแข็งเหล่านี้ออกมาใช้ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากทำงานมากขึ้น เช่น ทำออฟฟิศให้ดูสนุกสนานขึ้น โดยไม่ต้องนั่งในคอกแบบเก่าๆ ปรับรูปแบบโต๊ะให้น่านั่ง เปิดพื้นที่ให้เขาได้มานั่งมาคุยกัน เปิดเพลง สร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้น
“พูดง่ายๆ เราอาจต้องเปลี่ยนออฟฟิศให้เป็นเหมือนร้านกาแฟ ที่ช่วยให้เด็กรู้สึกอยากมาทำงานมากขึ้น อาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ต้องมีฟิตเนสไหม หรือต้องเพิ่มอะไรเพื่อส่งเสริมให้เขารู้สึกว่า ในขณะที่มาทำงาน เขายังได้ในสิ่งที่เขาอยากได้ และสนุกสนานมากขึ้นด้วย”
รวิศ บอกว่า วิธีนี้อาจช่วย“ปิดจุดอ่อน” ที่คนมักบอกว่า เด็กรุ่นใหม่ ไม่ขยัน และอดทนต่ำ ให้หมดไปก็ได้
“บางครั้งอาจต้องไปถึงขั้นที่ว่า โอเค คุณทำงาน เราจะดูเฉพาะผลงานจริงๆ แต่คุณจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะต้องเข้าใจว่า เด็กยุคนี้ เขาเติบโตมาในยุคที่บางทีตอนเรียนเขาไม่ได้ไปนั่งในห้องเรียนด้วยซ้ำ แต่เรียนทางออนไลน์ แล้วเขาก็ชินกับสภาพที่โตมาแบบนั้น ซึ่งแตกต่างจากคนยุคเรา ก็ต้องทำความเข้าใจในจุดนี้ด้วย”
ส่วนที่ว่าเด็กยุคใหม่จงรักภักดีต่อองค์กรน้อยลง รวิศยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง และเป็นประเด็นที่ท้าทายองค์กรยุคใหม่มากๆ ด้วย ซึ่งองค์กรก็ต้องบริหารความคาดหวังของเขาให้ได้ โดยเขาว่า การจะสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นนั้น ต้องทำองค์กรให้ดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ เช่น มีความสนุก มีความเปลี่ยนแปลงที่เขาสัมผัสได้ ให้รู้สึกว่า ปีนี้กับปีก่อน แตกต่างกัน องค์กรไม่ได้อยู่นิ่ง และยังมีอนาคต
“ผมเชื่อว่า ไม่ว่าองค์กรใหญ่ หรือเล็ก แต่ยุคนี้ต้องมีวัฒนธรรมการทำงานแบบ Startup คือ เปลี่ยนแปลง รับมือกับความเปลี่ยนแปลง และใส่ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น มีโปรเจคใหม่ให้เด็กทำ ซึ่งถ้าเขามีโอกาสได้ทำโปรเจคใหม่ๆ ที่เป็นของเขาเอง ก็จะรู้สึกว่า องค์กรให้โอกาสเขาในการเติบโต ไม่ใช่วันๆ ได้แต่รับคำสั่งจากนายอย่างเดียว เด็กยุคใหม่ต้องการความเป็นเจ้าของงาน เราก็ต้องออกแบบวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ วิธีเก่าอาจต้องโยนทิ้งไปให้หมด” เขาย้ำ
เช่นเดียวกับที่ศรีจันทร์วันนี้ ที่มีพนักงานอยู่ประมาณ 140 คน เป็นคนรุ่นใหม่มากถึง 60-70% เขาว่า ซีอีโอ ไล่ไปจนผู้บริหารรุ่นใหญ่ แทบไม่ได้นั่งอยู่ในห้องทำงานของตัวเองด้วยซ้ำ ทว่าพยายามมานั่งทำงานร่วมกับพนักงานรุ่นใหม่
“เราต้องทำตัวเหมือนกับเด็กยุคนี้ ต้องมีความเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแบบเขา และต้องทำงานร่วมกับเขาให้ได้ เพราะนี่คือโลกของเขา และเขานี่แหล่ะจะรันบริษัทของเรานับจากนี้” เขาว่า
หน้าที่ขององค์กร เลยต้องดึงศักยภาพของคนทำงานยุคใหม่ ออกมาให้ได้มากที่สุด สร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้เขาได้เติบโต ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เหมือนกับการปลูกต้นไม้
“วิธีการดูแลคนทำงานยุคใหม่ คือต้องปล่อยให้เขาโตของเขาเอง เรามีหน้าที่แค่ใส่ปุ๋ย รดน้ำให้พอเหมาะ และไม่ใช่การโตในกระถาง แต่ให้เขาโตในสวน ในป่า ด้วยตัวของเขา”
เพื่อให้คนเจน Z กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบใหญ่ สมชื่อคนทำงานสายพันธุ์ใหม่อย่างพวกเขา
...........................................
“กลยุทธ์บริหารคนต่างเจน”
ความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต คือการต้องบริหารคนทำงานต่างเจน ที่มีความคิด ความชอบ และความต้องการแตกต่างกันไป แน่นอนว่าการจะให้แพคเก็จสำเร็จรูป สำหรับพนักงานทุกวัย ใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคต่อจากนี้
“รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารทรัพยากรบุคคล ศศินทร์ บอกผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยของศศินทร์ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ที่ศึกษาคนทำงานซึ่งอายุต่ำกว่า 45 ปี และสูงกว่า 45 ปี เพื่อดูความต้องการและดึงใจให้คนอยากทำงาน โดยพบว่าทั้งสองกลุ่มมีความคิดที่แตกต่างกัน
โดยกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี เรียกว่า “ดอลลาร์ขึ้นหน้า” คือเงินและผลตอบแทนต้องมาก่อน สนใจเงินก่อนแพคเก็จ แล้วสนใจว่า เงินที่ได้รับนั้นยุติธรรมกับงานที่ได้ลงมือทำหรือไม่
ขณะคนที่อายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งคนวัยนี้เรียกว่า รวยเลือกได้ระดับหนึ่ง ฉะนั้นถ้างานไม่น่าสนใจ ไม่ถูกให้เกียรติ ไม่มีอิสระในการทำงาน ก็ไม่อยากทำ โดยกลุ่มนี้อยากทำงานซึ่งมีความหมาย มีคุณค่า ขณะที่เงินก็ต้องดีพอสมควร รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้วย
“จากตรงนี้ทำให้เห็นว่า เราจะตั้งสมมติฐานไม่ได้อีกต่อไปว่า One Size Fits All คือ ทุกคนทุกวัยให้เหมือนกันหมด เราจะมีปัญหา เพราะว่าในอนาคต ตลาดแรงงานจะมีคนหลายวัยเข้ามาทำด้วยกันมากขึ้น และจะไม่มีเฉพาะพนักงานประจำด้วย อย่างในนิวซีแลนด์เขาคาดว่า คนทำงาน จันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นคนกลุ่มหนึ่ง ส่วน อังคาร พฤหัส จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง และบางคนอาจทำงานมากกว่า 1 องค์กร ฉะนั้นมันถึงจุดที่งานบริหารคนขององค์กรจะต้องยืดหยุ่นมากขึ้น”
เธอบอกว่า องค์กรไม่สามารถที่จะใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ การสรรหาคนแบบเดิมๆ เพราะจะเจอกับสภาพที่เรียกว่า ใครก็ได้ ถ้าว่างก็มาทำ และพร้อมทำงาน ฉะนั้นองค์กรต้องมีมาตรฐานของงาน และการเทรนนิ่งให้รวดเร็วขึ้น
“เมื่อก่อนเขาว่า กว่าจะใช้การได้ต้องเอามาอบรมสัก 6 เดือน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทันแล้ว เพราะมีสถิติบอกเลยว่า คนมิลเลนเนียล ถ้าทำงานกับบริษัทใดได้ถึง 7 เดือน ก็ถือว่ามีรอยัลตี้แล้ว ฉะนั้นฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องหาเทรนนิ่งที่แข่งกับความเร็ว วิธีคิดต้องยืดหยุ่น ซึ่งการบริหารองค์กรจากนี้จะเป็นเรื่องของ Diversity (ความหลากหลาย) Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) และ Sustainability (ความยั่งยืน)”
รศ.ดร.ศิริยุพา สรุปว่า องค์กรต้องเปลี่ยนมุมมองและค่านิยมในการบริหารงานบุคคล โดยต้องมีกลยุทธ์ในการสรรหาดึงดูด รักษา และพัฒนาแรงงานต่างวัย ที่ต้องหลากหลายขึ้น และมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
“การบริหารคนไม่ใช่เรื่องที่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ มีปัญหาแล้วค่อยทำ หรืออยากได้คนแล้วค่อยหา เพราะว่ากลไกผลักดันธุรกิจก็คือ คน ซึ่งตอนนี้มีปัญหาอยู่ และอีก 20 ปีข้างหน้า จะยิ่งหาคนไม่ได้ โดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ จะหาคนเก่งๆ ราคาย่อมเยา สู้กับบริษัทใหญ่ไม่ได้ ฉะนั้นองค์กรต้องพร้อมรับมือในเรื่องนี้”
โดยเริ่มจากรู้จักคนต่างวัย แล้วหาทางมัดใจคนทำงานอย่างพวกเขาให้ได้
วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2559
วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
10 อันดับ เหรียญกษาปณ์ หายาก รัชกาลที่ 9
เหรียญกษาปณ์ สุดยอดหายาก10อันดับรัชกาลที่9 รับซื้อเหรียญเก่า ราคาสูง เกิดจากกระแสที่มีนักสะสมประกาศต้องการรับซื้อ เหรียญ10บาทปี2533 ในราคาสูงถึง100,000บาท ทำให้เกิดการตื่นตัวของนักสะสมทั้งมืออาชีพและผู้สะสมแบบมือสมัครเล่นให้ความสนใจเป็นจำนวนมากว่า เหรียญหายากราคาแพง มีการจัดสร้างขึ้นแบบไหนบ้าง ลองดูครับไม่แน่บางท่านอาจจะมีอยู่ก็ได้สำหรับ เหรียญเก่า 10 อันดับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนหายากสมัยรัชกาลที่ ๙
อันดับ 1 เหรียญกษาปณ์นิกเกิลเคลือบไส้ทองแดง เหรียญ 5 บาท พ.ศ.2525 ด้านหน้าพระเศียรเล็ก
อันดับ 2 เหรียญกษาปณ์สองสีราคา เหรียญ10 บาท ปี2533 ผลิต 100 เหรียญ
อันดับ 3 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ 25 สต.พ.ศ.2500 ด้านหลังตัวหนังสือบาง
อันดับ 4 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ10 สต. พ.ศ.2500 ด้านหลังสิบสตางค์หางยาว
อันดับ 5 เหรียญกษาปณ์นิกเกิลราคา เหรียญ1 บาท พ.ศ.2525 ด้านหน้าพระเศียรเล็ก
อันดับ 6 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ 50 สต. พ.ศ.2493 ด้านหลังตัวหนังสือหนา
อันดับ 7 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ 50 สต. พ.ศ.2530 ผลิต 1,000 เหรียญ
อันดับ 8 เหรียญกษาปณ์นิกเกิลราคา เหรียญ1 บาท ปี 2529 ด้านหลังช่อฟ้าหางยาว
อันดับ 9 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมราคา เหรียญ10 สต. ปีพ.ศ.2530 ผลิต 5,000 เหรียญ
อันดับ 10.1 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมราคา เหรียญ 5 สต. ปี พ.ศ. 2530 ผลิต10,000 เหรียญ
อันดับ 10.2 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ25 สต. พ.ศ.2542 ผลิต10,000 เหรียญ
อันดับ 10.3 เหรียญกษาปณ์อลูมิเนียมบรอนซ์ราคา เหรียญ 25 สต. พ.ศ.2544 ผลิต10,000 เหรียญ
http://www.amulet4u.com/index.php?topic=321.0
โลกที่ต้องเผชิญข้างหน้า
เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินข่าวว่า บริษัท Mitsubishi Motors ของญี่ปุ่น ประสบภาวะล้มละลาย แต่กระแสการตกต่ำของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมต่างๆ ปรากฏให้เห็นมานานแล้วในสหรัฐอเมริกา บริษัทยักษ์ใหญ่มีชื่อเสียงมานานเกือบศตวรรษ ที่นักศึกษาจบมาใหม่ๆ เคยใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงาน ล้วนประสบกับภาวะล้มละลายมาแล้ว เช่น General Motors (GM) Chrysler Eastman Kodak หรือ American Airlines บางบริษัทก็ปิดกิจการล้มหายไปในชั่วพริบตา เช่น Enron Lehman Brothers หรือ Borders Book แม้แต่ Sony บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของญี่ปุ่น ก็ประกาศรื้ออาคารที่เคยเป็นเรือธงบนถนนกินซ่า เพื่อเปลี่ยนเป็นศูนย์วัฒนธรรมแทน
ภาวะร่วงโรยตกต่ำของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเหล่านี้ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์เศรษฐกิจยุคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจในโลกปัจจุบัน กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหมือนกับการเคลื่อนของพื้นผิวโลก และสภาพภูมิศาสตร์เศรษฐกิจแบบใหม่กำลังจะเกิดขึ้น เวลาเดียวกัน ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เรียกว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” (sharing economy) ที่บริษัทธุรกิจสามารถกระจายการจ้างงานออกจากองค์กรตัวเองแทบจะทั้งหมด ในสหรัฐฯ บริษัทให้บริการรถแท็กซี่ชื่อ Uber มีหุ้นส่วนเป็นคนขับรถแท็กซี่แสนกว่าคน แต่บริษัทนี้มีพนักงานเพียง 2 พันคน บริษัท “ร่วมด้วยช่วยกัน” แบบนี้ ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการโดยตรง แต่มีรูปแบบการทำธุรกิจเรียกว่า platform คือเป็นโครงสร้างที่ให้คนได้อาศัยพักพิงเพื่อทำงาน เหมือนกับ “แท่นนั่งร้าน” ที่คนงานใช้ปีนขึ้นไปทาสีอาคาร การทำธุรกิจแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน”ก็ง่ายๆ คล้ายกับการเล่นของเด็ก ที่เอาตัวพลาสติกเลโก้มาต่อกันมาเป็นรูปต่างๆ เมื่อไม่ต้องการแล้วก็รื้อถอนออกไป
แต่การทำธุรกิจรูปแบบใหม่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ มีพลังที่สามารถสั่นคลอนการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแท็กซี่หรือห้างสรรพสินค้า เพราะเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสารทำให้อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดที่เคยมีสูงสูญหายไปแทบจะหมดในทุกๆ ธุรกิจอุตสาหกรรม
การล้มสะลายของบริษัทยักษ์ใหญ่
การเติบโตของบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐฯ เกิดขึ้นนับจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เพราะการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่แบบเศรษฐกิจทวีป บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ประโยชน์จากการผลิตในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเหล็กกล้า รถยนต์ หรือสินค้าบริโภค การปฏิวัติด้านการบริหารจัดการเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น จำเป็นในเรื่องการประสานงานหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั่วสหรัฐฯ โรงเรียนบริหารธุรกิจเกิดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งสร้างนักบริหารอาชีพป้อนแก่บริษัทเหล่านี้ ขนาดธุรกิจที่ใหญ่โตทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องอาศัยการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น ต่างจากธุรกิจในเยอรมัน ที่อาศัยทุนจากธนาคาร หรือในฝรั่งเศส ที่อาศัยการลงทุนของรัฐ
การเติบโตของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการจ้างงานที่ขยายตัวมหาศาล ในปี 1973 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 25 บริษัท จ้างแรงงานถึง 10% ของแรงงานทั้งหมด อย่างเช่น General Motors มีพนักงาน 5 แสนคนในปี 1950 เพิ่มเป็น 8 แสนคนในปี 1973 การทำงานในบริษัทขนาดใหญ่หมายถึงความมั่นคงของการจ้างงาน คำว่า “งาน” หมายถึงเส้นทางอาชีพที่มีการเลื่อนตำแหน่งและรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังหมายถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลและเงินก้อนเมื่อเกษียณจากงาน สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐบาลประเทศในยุโรปเหนือหรือแคนาดามีให้กับประชาชนตัวเองนั้น แต่ในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทำหน้าที่เป็น “รัฐสวัสดิการ” ให้กับพนักงาน แทนรัฐบาล
แต่การเกิดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ตทำให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง บริษัทต่างๆ เห็นว่า การ outsource ให้คนอื่นทำด้านการผลิตและการกระจายสินค้าเป็นเรื่องที่สะดวกและต้นทุนถูกกว่า ตัวเองหันมาจับเฉพาะงานที่มีมูลค่าสูง เช่น การออกแบบ การตลาด และบริหารตราสินค้า บริษัทแรกที่บุกเบิกเรื่องนี้คือไนกี้ ที่มีพนักงานถึง 5 หมื่นกว่าคน แต่พนักงานพวกนี้ไม่ได้ทำงานด้านการผลิตสินค้ากีฬาของไนกี้เลย เพราะโอนการผลิตไปให้ซัพพลายเออร์ทั้งหมด ไนกี้เป็นตัวอย่างธุรกิจที่มักเรียกกันว่า “บริษัทเสมือนจริง” (virtual corporation) ต่อมาอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ ก็เอาอย่างไนกี้ รวมทั้งอุตสาหกรรมยา มีรายงานว่า ยาสามัญต่างๆ ของบริษัทยาอเมริกันที่ขายในสหรัฐฯ 40% เป็นยาที่ผลิตในอินเดีย
ที่มาภาพ : http://www.nike.com
การเติบโตของซับพลายเออร์ที่ทำหน้าที่ผู้ผลิตสินค้าหรือการกระจายสินค้า รวมทั้งการอาศัยบริการด้านระบบไอทีผ่าน cloud service เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการทั้งหมด แทนที่ธุรกิจแต่ละรายจะลงทุนเองด้านระบบไอที ทำให้อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เคยครองตลาดอยู่สูญหายไป การผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าต่ำลงก็ไม่มีความได้เปรียบอีกต่อไป
ทุกวันนี้ ใครที่มีบัตรเครดิตและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกิจอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะตั้งบริษัท เป็นผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ในสหรัฐฯ บริษัทผลิตและขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Vizio มีพนักงานแค่ 400 คน เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2002 แต่สามารถขายโทรทัศน์ได้มากพอๆ กับร้านของ Sony ที่มีพนักงาน 1 แสนกว่าคน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงกดดันต่อการอยู่รอดของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม การจะอยู่รอดได้ การดำเนินงานของบริษัทจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจ และที่สำคัญ รายได้ต้องสูงกว่ารายจ่าย หากมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถทำได้ดีกว่าวิธีการทำธุรกิจรูปแบบเดิม บริษัทเหล่านี้คงจะสูญหายไปในที่สุด แม้แต่การประกอบการที่ไม่ได้มุ่งผลกำไร สภาพการณ์ก็เป็นแบบเดียวกันนี้ หาก Wikipedia สามารถทำเรื่องแหล่งสั่งสมความรู้ได้ดีกว่า Encyclopedia Britannica บริษัทที่แม้จะมีอายุมานานกว่า 200 ปี ก็คงต้องปิดกิจการไป วงการธุรกิจก็เหมือนกับวงการกีฬา ไม่มีคำว่าเสียใจสำหรับคนที่พ่ายแพ้
ผลลัพธ์ที่เกิดตามมา
ความล้มเหลวทางธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือ วิธีการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยและแข่งขันได้น้อยลง มีความหมายทางสังคมหลายประการ
ประการแรก ความมั่นคงของการจ้างงาน สภาพการจ้างงานแบบเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นตามขั้นบันได มีสวัสดิการรักษาพยาบาล และเงินก้อนเมื่อเกษียณอายุ พลอยสูญหายไปด้วยจากระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
ประการต่อมา การขาดโอกาสมีงานทำในบริษัทธุรกิจแบบดั้งเดิม หมายความว่า โอกาสที่คนทำงานจะเลื่อนฐานะทางสังคมขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางก็ลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสหรัฐฯ จะมีเสียงวิจารณ์ว่า ปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงมาก เพราะโอกาสการมีงานทำในปัจจุบันกระจัดกระจายไปทั่ว การจ้างงานส่วนใหญ่เป็นแบบ “ซับคอนแทรกต์” แบบ “ชั่วคราว” ที่ให้ผลตอบแทนเป็นค่าแรงขั้นต่ำ ขาดสวัสดิการ แม้แต่บริษัทมีชื่อเสียงอย่าง Amazon ก็ใช้วิธีการจ้างงานแบบนี้ ส่วนบริษัทใหม่อย่าง Uber แทบไม่จ้างงานเลย
การจ้างงานแบบชั่วคราว หรือ “เทมป์” (Temp) กลายเป็นวิธีจ้างงานที่นิยมแพร่หลายนับจากเริ่มศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เรื่องเศรษฐกิจที่ถูกนำมาพาดหัวหนังสือพิมพ์ คือ การลดขนาดองค์กร การปลดพนักงาน การปิดกิจการ และการย้ายการผลิตไปต่างประเทศ ดังนั้น ในแต่ละปี สัดส่วนการจ้างงานใหม่แทบทั้งหมดล้วนเป็นแบบชั่วคราว จนมีเสียงวิจารณ์ว่า ปัจจุบันเป็น “ยุคคนทำงานใช้เสร็จแล้วทิ้ง” (disposable worker) ผู้บริหารองค์กรก็มองพนักงานว่าเป็นหนี้สิน ไม่ใช่ทรัพย์สิน บริษัททั้งหลายหันไปให้คุณค่าความสำคัญกับผู้ถือหุ้น ทุกครั้งที่บริษัทในสหรัฐฯ ประกาศปลดคนงาน ราคาหุ้นบริษัทนั้นจะพุ่งสูงขึ้น
ทุกวันนี้ เราจึงไม่ได้ยินเรื่องบริษัทยักษ์ใหญ่ประกาศโครงการที่จะมีการจ้างงานจำนวนมาก เทคโนโลยีธุรกิจสมัยใหม่ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ทำตัวให้เล็กลง หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินกับพนักงานในเรื่องต่างๆ หน้าที่การงานที่เคยเป็นเส้นทางของอาชีพ เมื่อรับผิดชอบมากขึ้น ก็มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น กลายเป็นคำว่า “งาน” เฉยๆ
คำถามมีว่า ยังจะมีประเทศไหนในโลกที่ คนงานมีสวัสดิการที่ดี และยังสร้างบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจใหม่ๆ คำตอบคือ เดนมาร์ก ประเทศที่รัฐให้สวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป แต่กลับสะดวกที่จะทำธุรกิจใหม่หรือจะปิดธุรกิจเดิม เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องไปห่วงว่า ธุรกิจที่ทำนั้นเมื่อล้มเหลวแล้วจะหมดเนื้อหมดตัว แต่การจะเอาวิธีการของประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศหนึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละประเทศล้วนมีระบบนิเวศธุรกิจ (ecosystem) ที่จะสนับสนุนธุรกิจแตกต่างกันไป
การตกต่ำเสื่อมถอยของบริษัทที่ทำธุรกิจโดยมีโครงสร้างเป็นแบบแผน อาจจะรวมไปถึงการสิ้นสุดของความคิดเรื่อง “การบริหารจัดการ” แบบที่เราเคยรู้จัก Peter Drucker เคยเรียกการบริหารจัดการว่าเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20 ซึ่งริเริ่มโดย General Motors ทำให้ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ การบริหารจัดการทำให้องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนสามารถบริหารและประสานงานพนักงานหลายหมื่นคน มีความชำนาญแตกต่างกัน แต่สามารถทำงานร่วมกัน ในการผลิตสินค้า เช่น รถยนต์
แต่ปัจจุบัน Wikipedia แสดงให้เห็นว่า การระดมและประสานงานคนนับล้านๆ คน อยู่กระจัดกระจายทั่วโลก ความรู้ความชำนาญก็แตกต่างกัน แต่สามารถทำงานร่วมกันได้ในการผลิตแหล่งความรู้ที่ใหญ่โตที่สุดในโลก โดย Wikipedia ไม่ได้มีการจัดองค์กรที่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะมีพนักงานเพียง 35 คน
จะรับมือกับอนาคตใหม่อย่างไร
แม้การล้มละลายสูญหายของบริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น แต่วิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีด้านไอทีกับอินเทอร์เน็ต และสามารถสั่นคลอนธุรกิจแบบดั้งเดิม มีให้เราเห็นในแทบทุกประเทศในโลก อย่างเช่น ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ที่อาศัยระบบการขายทั้งหมดผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Uber ที่ปัจจุบันทำธุรกิจในหลายประเทศ กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีใครไปขัดขวางได้ เหมือนกับที่วิกตอร์ อูโก นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “เราอาจลุกขึ้นมาขัดขวางกองทัพต่างชาติที่บุกมาโจมตี แต่เราไม่อาจจะต่อสู้กับความคิด ที่เวลาของมันได้มาถึงแล้ว”
วงการเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดอย่างหนึ่งว่า การตั้งบริษัททำธุรกิจขึ้นมา แล้วดำเนินงานให้มีผลกำไร เพราะบริษัทนั้นรู้ว่า การจะผลิตสินค้าหรือบริการ โดยการเอาประโยชน์จากกลไกราคานั้น จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น บริษัทดั้งเดิมทั้งหลายล้วนยึดหลักการที่ว่านี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าต้องไปเจอคู่แข่งที่ต้นทุนค่าแรงงานไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำ แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อเรียกใช้แรงงานเท่าที่จำเป็น เป็นบริษัทที่ไม่มีโครงสร้างองค์กรเป็นแบบแผน แต่มีรูปแบบองค์กรที่จัดตั้งแบบ “แท่นนั่งร้าน” (platform) หรือว่าไม่มีค่าใช้จ่ายลงทุนด้านไอทีเลย แต่ไปใช้ประโยชน์จากระบบ cloud service แทน เมื่อเผชิญหน้ากับบริษัทคู่แข่งแบบใหม่ที่ว่านี้ บริษัททำธุรกิจแบบดั้งเดิมจะรับมืออย่างไร ที่กล่าวมานี้คือรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้น
ในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจรูปแบบ platform หรือ sharing economy จะแพร่หลายไปสู่ธุรกิจสาขาต่างๆ มากขึ้น platform เป็นรูปแบบธุรกิจที่อาศัยโทรศัพท์มือถือ ระบบไอที และอินเทอร์เน็ต เพื่อประสานงานด้านการทำงานร่วมกันของคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจาย รวมทั้งการติดต่อธุรกิจระหว่างคนซื้อคนขายบริการ Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ความร่วมมือของผู้คนนับล้านที่อยู่กระจายทั่วโลก โดยมีต้นทุนการประสานงานน้อยมาก แต่สามารถผลิตแหล่งความรู้ที่ใหญ่โตสุดในโลก และมีคนใช้งานมากที่สุด แต่ระบบไอทีและอินเทอร์เน็ตก็สามารถสร้างโอกาสการผลิตแบบต้นทุนต่ำให้กับธุรกิจ SME ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เช่นกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์สามารถผลิตได้ถูกกว่าในท้องถิ่น เพราะไม่มีต้นทุนขนส่งมาจากโรงงานที่อยู่ไกลออกไป โดยที่การออกแบบมีความทันสมัย ตามความต้องการของลูกค้า เพราะสามารถเอาแบบมาจากทั่วโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ต
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วดังกล่าว อะไรคือการศึกษาที่ดีสุด เพื่อฝึกฝนคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตข้างหน้า การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการเรียนวิชาชีพเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งอาจล้าสมัยในไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากจะสอนให้นักศึกษารู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลแล้ว ศิลปศาสตร์ยังสอนให้คนเราเตรียมตัวรับมือกับชีวิตในระยะยาว โดยเฉพาะในยามที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณค่าของศิลปศาสตร์ดังกล่าวทำให้เป็นศาสตร์ที่มีอายุมายาวนานที่สุด นับจากยุคกรีซโบราณเป็นต้นมา
แต่ในปัจจุบัน ทักษะเฉพาะทางเกี่ยวกับความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพต่างๆ เช่น การเข้าใจการทำงานของอินเทอร์เน็ต และระบบสื่อสารระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ เป็นต้น เพราะทุกวันนี้ การทำธุรกิจหรือกิจกรรมขององค์กรต่างๆ ล้วนอยู่บนหน้าจออินเทอร์เน็ต
โลกปัจจุบัน คำว่า “ธุรกิจ” หรือ “ลูกจ้าง” มีความหมายเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จัก การศึกษาด้านศิลปศาสตร์บวกกับทักษะด้านอินเทอร์เน็ต น่าจะเป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุด
ในแง่ประชาสังคม การตกต่ำของบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ มีความหมายกว้างขวางทางสังคม บริษัทธุรกิจถือเป็นองค์กรสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมเราในหลายๆ ด้าน ประการแรก คือ การสร้างงาน ทำให้คนในวัยทำงานมีรายได้ ประการที่สอง คือ การผลิตสินค้าและบริการที่สังคมต้องการ ประการที่สาม การทำธุรกิจมีกำไรคือการสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคม ที่ไม่เคยมีมาก่อน และประการสุดท้าย ในประเทศตะวันตก บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสุดที่สนับสนุนกิจกรรมประชาสังคม ตั้งแต่โรงพยาบาล การวิจัย มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ และกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
ที่มา ปรีดี บุญซื่อ
http://thaipublica.org/2016/07/pridi2/
วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559
๋Jack Ma Speech
หลายคนบอกว่า ปัญหาที่โลกเผชิญอย่างทุกวันนี้เป็นเพราะ กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) แต่ผมไม่เห็นด้วย ผมว่า เป็นเพราะ โลกาภิวัฒน์ ยังเดินไปไม่ถึงจุดสมบูรณ์ต่างหาก เพราะไม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเล็กๆ ได้มีสิทธิ์มีส่วนร่วม
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โลกาภิวัฒน์ เกิดขึ้น ก็เพื่อบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว // เราควรให้ โลกาภิวัฒน์ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วม เราควรช่วยให้คนรุ่นใหม่ บริษัทเล็กๆ ได้มีโอกาสร่วมก้าวไปสู่ ความท้าทายด้วยกัน
ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า โลกเราจะเป็นแบบนี้ Small is beautiful. Small is powerful. Small is wonderful. ยิ่งเล็กยิ่งสวยงาม ยิ่งเล็กยิ่งทรงพลัง ยิ่งเล็กยิ่งวิเศษสุด เพราะฉะนั้น เราควรให้บริษัทเล็กๆ ได้มีโอกาสมากขึ้น เราควรให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้มีโอกาสมากขึ้น และเราควรส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสมากขึ้น
หลายพันปีก่อน เรามี Silk Road (เส้นทางสายไหม) ตอนนี้ เราควรมี e-road (เส้นทางอิเลคทรอนิคส์) เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กค้าขาย ทำธุรกิจได้ง่าย คล่องตัว
ในอนาคต โลกจะมีการปฏิรูปเทคโนโลยี
ผมให้เวลา 50 ปี
: ช่วง 20 ปีข้างหน้า อินเตอร์เน็ต จะกลายเป็นของเก่า
: ช่วง 30 ปีจากนั้น โลกเราจะซื้อ-ขายปลีก ในรูปแบบใหม่ (new retail) คือ online กับ offline และเข้าสู่ยุคการผลิตใหม่ ที่เรียกว่า IOT (Internet of Things) มีระบบการเงินใหม่
โลกในยุค IT เอเชียล้าหลังสหรัฐ แต่เดี๋ยวนี้ เราไปไวเหมือนกบกระโดด เอาง่ายๆ 15 ปีที่แล้ว ใครจะเชื่อว่า ธุรกิจ e-commerce ของจีน จะโตเร็วขนาดนี้ ก็ในเมื่อโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อการค้าของจีน แย่สุดๆ
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว e-commerce ในสายตาสหรัฐ เปรียบเหมือน ของหวาน แต่ จีน มอง e-commerce เป็นอาหารจานหลัก เพราะอะไร ก็เพราะสหรัฐมีห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทุกเมืองทั่วประเทศ อย่าง Walmart, Kmart แต่จีนเรา ไม่มีแบบนั้น
ในยุคที่เครื่อง พีซี เฟื่องฟู ชาวนาชาวสวนเราไม่มี ใช้กันไม่เป็น แต่ยุคนี้ ชาวนาชาวไร่มีมือถือกันทั้งนั้น เชื่อมต่อการค้า กับคนทั่วโลก ได้มากกว่า 4,000 ล้านคน
ไฟฟ้า ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในยุโรป แต่ไปใช้มากในอเมริกา อินเตอร์เน็ท คิดค้นในอเมริกา แต่มาใช้ประโยชน์กันมากในเอเชีย ถ้าคนเอเชีย ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ให้เต็มที่เต็มกำลัง คิดดู เราจะโตกันขนาดไหน ผมถึงมองว่า เอเชียนั้น มีศักยภาพ
เราจะทำยังไงให้เอเชียเชื่อมต่อกับอนาคตได้? ผมมองอย่างนี้ อย่างที่ผมบอก คือ Small is beautiful. Small is powerful. Small is wonderful. ยิ่งเล็กยิ่งสวยงาม ยิ่งเล็กยิ่งทรงพลัง ยิ่งเล็กยิ่งวิเศษสุด .. โลกยุคข้อมูล เราต้องสู้กันด้วยความฉลาดและสมอง ไม่ใช่พลกำลัง คว้าโอกาสที่เห็น ขอให้มีหัวใจที่กล้าแกร่ง ขอให้เปิดใจกว้าง ขอแค่ยอมรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่ว่าบริษัทคุณจะเล็กแค่ไหน ประเทศเล็กด้อยเพียงไหน คุณสู้ได้แน่นอน
หลายคนบอกว่า เทคโนโลยี ทำให้คนตกงาน ผมว่าไม่จริง เทคโนโลยี มีแต่จะยิ่งสร้างงาน ดูอย่าง อาลีบาบาของผม สร้างงานให้คนในประเทศมาแล้ว 13 ล้านตำแหน่ง // เทคโนโลยี จะเป็นปัจจัยสำคัญ ในการขจัดปัญหาความยากจนด้วยซ้ำ
ขอขอบคุณ : คุณแจ๊ค หม่า เจ้าพ่อ e-commerce นักธุรกิจ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ที่มองอะไรๆ ทะลุปรุโปร่ง
ขอขอบคุณ : Facebook Saranrom Radio
https://www.facebook.com/watcharin.setakudan/posts/10155342147234616
วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559
Top 10 Life Lessons From Warren Buffett
1. คบกับคนที่เขาเก่งกว่าคุณ มีความคิดที่เหนือกว่าคุณ เพราะอย่างน้อยสุด คุณจะได้เดินไปในทางที่ถูกต้อง
วอเร็น บัฟเฟตต์มีความเชื่อเรื่องของ "ธรรมชาติคัดสรร" (Natural Selection) คือ ผู้ที่เก่ง คือผู้ที่อยู่รอด ถ้าเราต้องการที่จะอยู่รอด คุณต้องเป็นคนเก่ง และหนทางที่จะไปสู่ความเก่งได้นั้น คือ การพัฒนาตัวเองโดยการคบกับคนที่เก่ง หรือมีความคิดที่เหนือกว่าคุณ
2. เงินไม่สามารถเปลี่ยนให้คนมารักคุณมากขึ้น หรือว่าซื้อสุขภาพที่ดีได้
คนจำนวนมากทุ่มเทให้กับการทำงานเพื่อหาเงิน จึงละเลยสิ่งรอบข้างไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพหรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว พี่น้อง ภรรยา-ลูก สุดท้ายแล้วเมื่อเขายืนอยู่บนจุดสูงสุดของชีวิต มองลงมากลับไม่มีใครยืนข้างเขาเลย มันจะมีประโยชน์อะไรที่จุดสูงสุดของชีวิตคุณกลับอ้างว้างและเดียวดาย
3. สิ่งที่คนฉลาดทำในตอนเริ่มต้น คนโง่จะจบมันในท้ายที่สุด
คำพูดของบัฟเฟตต์ข้อนี้ชี้ให้เห็นในเรื่องของการลงทุน...
นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบทำอะไรตามๆกันเหมือนๆกัน เช่น ไล่หุ้นที่กำลังร้อนแรง ซื้อหุ้นที่คนอื่นบอกว่าเป้นหุ้นแห่งอนาคต ถ้าย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เหล่านั้นแล้วในตอนเริ่มต้น มันจะมีคนฉลาดที่ทำกำไรได้ในตอนแรก และคนที่ขาดทุนคือคนโง่ที่ซื้อหุ้น ณ ราคาสูง จะเป็นผู้จบมันในท้ายที่สุด -- เป็นคำพูดที่เจ็บแสบจริงๆ --
4. ความแตกต่างระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่ประสบความสำเร็จ"มากๆ" คือ คนที่ประสบความสำเร็จมากๆ มักจะมีคำพูดติดปาก คือ "ไม่" เกือบจะทุกสิ่ง
ข้อนี้ของบัฟเฟตต์ยกตัวอย่างว่า ประสบการณ์ลงทุนที่ผ่านมามากกว่า 60 ปี ของบัฟเฟตต์ เขามีข้อเสนอทางธุรกิจมากมาย แต่เขาก็มักจะตอบปฏิเสธเสมอ ยกเว้นข้อเสนอที่เขาเชื่อว่า "ดีที่สุด" เขาจึงเลือกมัน
"อย่าตีบอลทุกลูกที่ขว้างมา จงอดทนแล้วปล่อยให้ลูกบอลที่ขว้างผ่านไป ให้เลือกเฉพาะลูกจังหวะสวยๆแล้วหวดให้เต็มแรง" บัฟเฟตต์กล่าวเสริม
5. ตัดผมอย่าถามช่างตัดผมว่าคุณควรตัดหรือไม่
ช้อนี้เป็นการบ่งบอกถึงความเด็ดเดี่ยวของบัฟเฟตต์ว่า เมื่อคุณกำลังเจรจาทางธุรกิจ ให้คุณเตรียมข้อมูลให้พร้อม ไม่ใช่ไปฟังคนที่ต้องการขายธุรกิจให้คุณ เขาเหล่านั้นจะพูดแต่ด้านดีๆ ไม่พูดด้านเสีย การลงทุนก็เช่นกัน การฟังเสียงโบรคเกอร์ให้คุณซื้อ-ขาย หุ้นตัวนั้นตัวนี้โดยที่คุณไม่รู้ว่าหุ้นเหล่านั้นทำธุรกิจอะไร เป็นเรื่องที่เสียหายมาก
6. คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการเฝ้ามองกระดานหุ้น แต่ผมใช้เวลาไปกับการคิดวิเคราะห์
การเฝ้ามองกระดานหุ้น ไม่ได้ช่วยอะไร แต่การกลับไปทำการบ้าน นั่งคิดวิเคราะห์ถึงธุรกิจที่เรากำลังจะซื้อ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้นได้มากกว่า
7. "เราใช้เวลา 20 ปีในการสร้างชื่อเสียงเกียรติยศ แต่เราสามารถทำลายมันทั้งหมดได้เพียงแค่ 5 นาที ถ้าคุณระลึกถึงมัน คุณจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป"
บัฟเฟต์แนะนำเสมอว่าเราควรสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเราเอง และกว่าจะสร้างชื่อเสียงและเกียรติให้แก่สิ่งที่เรามีได้ มันอาศัยเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น ก่อนที่เราจะทำอะไร ควรคิดให้ดีก่อน ถ้าเรามีสติ คิดตรึกตรองความจริงในข้อนี้ให้ดีๆ เราจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เราจะไม่ทำสิ่งที่เป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบแต่สามารถทำลายทุกอย่างที่เรามีได้ในชั่วพริบตา
8. ในชีวิตหนึ่งของมนุษย์ ขอแค่ทำสิ่งที่ถูกไม่กี่ครั้งก็เพียงพอแล้ว
ก็อย่างที่ชาลี มังเกอร์กล่าวเอาไว้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องทำตัวฉลาดตลอดเวลา ขอแค่ไม่ทำเรื่องโง่ๆลงไป ก็เหนือกว่านักลงทุนโดยส่วนใหญ่แล้ว
9. ถ้าคุณซื้อในสิ่งที่คุณไม่จำเป็น สักวันคุณจะต้องขายในสิ่งที่จำเป็น
การซื้อทรัพย์สิน จะทำให้เงินในกระเป๋าคุณเพิ่มขึ้น แต่การซื้อหนี้สิน จะเป็นการดึงเงินในกระเป๋าของคุณออกไป การใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งของที่หรูหราและไม่จำเป็น จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพการเงินของคุณเอง
10. ถ้าวันนี้เรากำลังนั่งอยู่ใต้ต้นไม้เพื่ออาศัยร่มเงา ให้พึ่งระลึกไว้เสมอว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งได้ปลูกมันเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว
สำหรับข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า เรื่องของการลงทุนเป็นเรื่องของระยะยาวถึงจะเก็บออกดอกผลได้อย่างเต็มที่ การซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ การถือมันไว้เพราะเชื่อว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีในอนาคต เมื่อระยะเวลาผ่านไปมันจะสามารถเลี้ยงเราได้โดยปันผล
--------------------------------
ที่มา : Forbes
แปลและเรียบเรียงโดย SiTh LoRd PaCk
http://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=804
วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559
น้ำมันจะเป็นสิ่งพ้นสมัยภายในไม่เกิน 14 ปีข้างหน้า
โดย ประสาท มีแต้ม
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์
19 มิถุนายน 2559
ผมไม่ทราบว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งสนใจเรื่องปิโตรเลียม) กำลังคิดอะไรอยู่ แต่ผมทราบว่าในหลายประเทศกำลังมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกันอย่างขนานใหญ่ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง พร้อมกับขยายความเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งจะเป็นต้นเหตุให้น้ำมันต้องกลายเป็นสิ่งที่พ้นสมัย
จากรายงานของบริษัท Bloomberg (ซึ่งทำธุรกิจด้านการเงิน การสื่อสาร และเทคโนโลยี มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สรุปได้ว่า “การปฏิวัติด้านรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และบริษัทน้ำมันจะได้ตระหนักรับรู้ ผลงานวิจัยใหม่ได้แนะนำว่า การลดลงของราคาแบตเตอรี่รถยนต์ ในช่วง ค.ศ. 2020 ถึง 2029 จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในเกือบทุกประเทศ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม”
รายงานนี้ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2040 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนจะมีประมาณ 1 ใน 4 ของรถยนต์ทั้งหมด จะสามารถลดการใช้น้ำมันดิบลงได้ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปัจจุบัน ทั้งโลกใช้น้ำมันดิบวันละ 95 ล้านบาร์เรล) โดยจะหันไปใช้ไฟฟ้าแทน ซึ่งไฟฟ้าก็สามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหรือพลังงานฟอสซิล
คราวนี้มาดูแนวโน้มของราคาแบตเตอรี่รถยนต์กันบ้างครับ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2010-2015) ราคาได้ลดลงมาเฉลี่ยปีละ 13% และในปี 2030 ราคาแบตเตอรี่จะลดมาเหลือประมาณ 90-120 ดอลลาร์ต่อหน่วยไฟฟ้า (รถยนต์ 1 คันใช้ประมาณ 24-50 กิโลวัตต์) ในขณะที่จำนวนความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 เท่าตัว
ผมไม่แน่ใจว่าคุณ Tony Seba เอาข้อมูลมาจากไหน แต่เขาพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว และเขียนเป็นหนังสือชื่อ Clean Disruption of Energy and Transportation ตั้งแต่ปี 2014
กรุณาอย่าหาว่าผมโฆษณารถยนต์ไฟฟ้าเลยนะครับ ผมได้นำราคารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ มาลงให้ดูด้วยครับ (Tesla Model 3 เป็นราคาส่งมอบปี 2017 –ไม่รวมภาษี ปัจจุบันผลิตได้สัปดาห์ละ 2 พันคัน) เพื่อจะได้ทราบราคาคร่าวๆ ในอนาคต ถ้าเราเทียบกับราคาแบตเตอรี่ (ดังกราฟข้างต้น) เราก็พอจะประเมินได้ว่าในปี 2025 ราคารถยนต์เหล่านี้ก็น่าจะประมาณไม่เกินครึ่งของราคาที่แสดงในภาพนี้ ในขณะที่ราคารถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันมีแต่จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รายงานของ Bloomberg ได้สรุปว่า “ภายในปี 2022 ราคาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารวมค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิงการบำรุงรักษาจะถูกกว่าการมีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน”
เท่าที่ผลตรวจสอบดู รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง สามารถแล่นได้ 340 กิโลเมตร โดยใช้ไฟฟ้าเพียง 60 หน่วย ถ้าค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ค่าใช้จ่ายก็ไม่ถึง 0.75 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่ใช้ก๊าซธรรมชาติค่าเชื้อเพลิงประมาณ 1.50 บาทต่อกิโลเมตร
ที่กล่าวมาแล้ว เป็นผลการศึกษาเรื่องราคาแบตเตอรี่รถยนต์ (โดย Bloomberg) ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 3 เท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมน้ำมันจึงเป็นสิ่งที่พ้นสมัย เพราะคนจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้าก็สามารถผลิตได้จากแสงแดด
คราวนี้มาดูการลดลงของราคาแผงโซลาร์เซลล์และจำนวนการติดตั้งที่เพิ่มขึ้นกันบ้าง พบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ราคาแผงโซลาร์เซลล์ได้ลดลง 160 เท่าตัว ลงมาเหลือ 22 บาทต่อวัตต์ ในขณะที่จำนวนการติดตั้งทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 32,000 เท่าตัวในปี 2015
เรามาดูการเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับคำพยากรณ์ของ Tony Seba หรือไม่
ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศผลิตน้ำมัน (มีมูลค่า 15% ของจีดีพีในปี 2015) ขณะนี้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วประมาณ 24% ของรถยนต์ทั้งประเทศ กำลังจะสั่งห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินภายในปี 2025 (ตามข้อตกลงของพรรคการเมืองชั้นนำจำนวน 4 พรรค) และหลังจากปี 2030 รถยนต์ขนาดใหญ่ รถบัส และรถบรรทุกจะต้องเป็น Zero Emission หรือไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง (เว็บไซต์ Ecowatch)
เมื่อปี 2558 รัฐสภาประเทศนอร์เวย์ได้ลงมติให้กองทุนที่เรียกว่า “กองทุนบำนาญของรัฐบาล (The Government Pension Fund)” ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ ให้ถอนการลงทุนจากธุรกิจถ่านหินทั้งหมดซึ่งมี 122 บริษัททั่วโลก เหตุผลที่ใช้ประกอบถอนการลงทุนครั้งนี้มี 2 ข้อสั้นๆ คือ (1) เสี่ยงต่อปัญหาโลกร้อน และ (2) เสี่ยงทางการเงิน
ประเทศจีน คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2016 จะเพิ่มเป็น 6 แสนคัน คิดเป็นสองเท่าของปี 2015 ซึ่งทางรัฐบาลกำลังเร่งก่อสร้างสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้าให้เพียงพอ (ข่าวรอยเตอร์ มี.ค. 2016)
ประเทศเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 95% ภายในปี 2050 ทางรัฐบาลจึงได้ออกระเบียบว่า รถยนต์ใหม่ (ยกเว้นรถบรรทุก) ที่จะจดทะเบียนในปี 2030 จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อให้เกิดแรงจูงใจรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนคันละ $4,500 สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน และ $3,400 สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ Hybrid โดยคาดว่าจะใช้เงินในการนี้ทั้งหมด $1,100 ล้าน ทั่วประเทศ (http://inhabitat.com/all-new-cars-in-germany-must-be-emissions-free-after-2030)
ก็น่าจะยังน้อยกว่าโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่มีสาระสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณะแม้แต่น้อย
ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมเพียงแต่ได้นำเสนอผลการศึกษาและสถิติต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้จริงแนวคิดของ Tony Seba ที่ว่า “น้ำมันจะเป็นสิ่งพ้นสมัยภายในปี 2030” ซึ่ง Tony Seba บอกว่าจะเริ่มเห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบการเผาไหม้ภายในจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจนในปี 2017 ถึง 2018 หรืออีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพพลังงานในรถยนต์ที่เผาไหม้ภายใน พบว่าพลังงานประมาณ 80% ของพลังงานที่ใส่เข้าไปจะกลายเป็นความร้อนที่เกิดกับหม้อน้ำ (ซึ่งเราทราบกันดีแล้ว) ที่เหลืออีกประมาณ 20% เท่านั้น ที่จะทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ได้ แต่ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้มอเตอร์มันจะสลับกันครับ ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะสูงมาก ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ก็ผลิตจากแสงอาทิตย์ซึ่งต้นทุนการผลิตก็ถูกมาก
ในแง่ของการบำรุงรักษา รถยนต์ไฟฟ้ามีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่เพียง 18 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่รถยนต์ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 พันชิ้น ดังนั้น ค่าบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าจึงต่ำมาก ด้วยเหตุนี้ รถยนต์ Tesla Model S จึงรับประกันอุปกรณ์ (warranty) ทุกชิ้นโดยไม่จำกัดจำนวนไมล์
Elon Musk ซีอีโอของบริษัท Tesla กล่าวว่า “Tesla Model S ไม่ใช่รถยนต์ แต่มันคือคอมพิวเตอร์หรูที่วางอยู่บนล้อ” ซึ่งผลิตโดยบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ไม่ใช่บริษัทรถยนต์ที่เราคุ้นหู อย่างไรก็ตาม นิตยสารที่เกี่ยวกับยานยนต์ได้ยกย่องให้ รถยนต์ Tesla Model S เป็นรถยนต์ที่ดีที่สุดในบรรดารถยนต์ทุกคันที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์
เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์ เราคงเข้าใจนะครับว่า มันมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคากลับลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้น คำเปรียบเทียบของ Elon Musk ดังกล่าว จึงได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ชัดเจนเป็นอย่างดี
ในเชิงวิชาฟิสิกส์ องค์ความรู้ที่ใช้ในการทำงานของรถยนต์ธรรมดาที่เผาไหม้ภายใน เป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่า “ฟิสิกส์แบบดั้งเดิม (Classical Physics)” อาศัยทฤษฎีพื้นฐานของนิวตัน และกฎของเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และความเร็วไม่มาก แต่การทำงานของคอมพิวเตอร์ต้องใช้องค์ความรู้เรียกว่า “ฟิสิกส์แบบควอนตัม (Quantum Physics)” ซึ่งเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดเล็กมากและเคลื่อนที่ความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสง องค์ความรู้ในวิชาฟิสิกส์แบบควอนตัม ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้รับรางวัลโนเบล
สตีฟ จอบส์ เคยอธิบายไว้เมื่อปี 2526 ว่า “คอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องมือง่ายๆ อย่างหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือชนิดใหม่ ที่เกียร์และลูกสูบได้ถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอน ซึ่งจะมีอิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวเคลื่อนที่ไปมา โดยที่มันสามารถทำงานได้รวดเร็วมาก”
เมื่อนำคำเปรียบเทียบดังกล่าวของสตีฟ จอบส์ มาอธิบายเรื่องรถยนต์ เราจึงได้ข้อสรุปว่า รถยนต์ธรรมดาเป็นผลผลิตของฟิสิกส์แบบดั้งเดิม ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นผลผลิตของฟิสิกส์แบบควอนตัมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าเยอะ
ผมได้อธิบายนอกเหนือไปจากสิ่งที่คุณ Tony Seba บรรยายค่อนข้างเยอะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อความเข้าใจถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของเขา
คุณ Tony Seba ยังได้พยากรณ์ว่า ในอนาคต ความจำเป็นในการเป็นเจ้าของรถยนต์จะลดลงมาก แต่จะใช้บริการรถยนต์ร่วมกันโดยใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งสามารถสื่อสารผ่านเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรถยนต์ส่วนบุคคลจะจอดเฉยๆ 96% ของเวลาทั้งหมด จึงเกิดปัญหาที่จอดรถไม่พอ
เราคงเคยได้ยินคำพูดของรัฐมนตรีน้ำมันประเทศซาอุดีอาระเบีย (Sheikh Zaki Yamani) เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนว่า “ยุคหินไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะหินมันหมด ดังนั้น ยุคน้ำมันก็จะสิ้นสุดลงนานก่อนที่น้ำมันจะหมด”
มาถึงยุคนี้ คุณ Tony Seba ได้กล่าวว่า “ยุคของน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและนิวเคลียร์ จะสิ้นสุดลง ไม่ใช่เพราะว่า เราหมด ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือยูเรเนียม แต่จะสิ้นสุดลงเพราะว่า (1) การพลิกโฉมของเทคโนโลยีชั้นยอด Disruption by Superior Technology) (2) สถาปัตยกรรมของผลิตภัณฑ์ (Product Architecture) และ (3) ตัวแบบเชิงธุรกิจ (Business Model)”
ผมเองยังไม่กระจ่างชัด ในปัจจัยที่ (2) และ (3) ของคุณ Tony Seba มากนัก แต่สำหรับปัจจัยที่ (1) คือ การพลิกโฉมของเทคโนโลยีชั้นยอด ผมคิดว่า ผมเข้าใจดีครับ เพราะได้เคยเจอมากับตัวเองแล้วตั้งแต่ปี 2516 ในกรณีเครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์เมนเฟรม รวมทั้งตัวอย่างอื่นๆ ในช่วง 5-6 ปี เช่น ฟิล์มถ่ายรูป และโทรศัพท์บ้าน เป็นต้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพวกที่คุมนโยบายของรัฐ แต่ยังมีความคิดที่ล้าหลังครับ
สุดท้ายขอเสนอภาพรถยนต์ไฟฟ้าจอดใต้แผงโซลาร์เซลล์ พร้อมๆ กับการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านได้มั่นใจว่า ยุคน้ำมันเป็นสิ่งพ้นสมัยอยู่ไม่ไกลครับ
วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)
อัพเกรดประเทศไทย "ดิจิตอล อีโคโนมี" เป้าหมายสู่ "ศูนย์กลางไอซีที"
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 30 พ.ค. 2559 05:01
คิกออฟนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (ดิจิตอล อีโคโนมี) ครบ 2 ปีเต็ม มาถึงวันนี้ แรงทุ่มเทของรัฐบาลเริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อทัพนักลงทุนต่างชาติ ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจากทั่วโลก กำลังพาเหรดเข้ามาแสดงความสนใจ และเห็นประเทศไทยอยู่ในสายตาเป็นครั้งแรกๆ
เริ่มจากบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากประเทศจีน ที่ได้ตัดสินใจเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (International Headquater-IHQ) ขึ้นในไทย พร้อมๆกันกับการเปิดศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center)
เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ไอทีฝั่งสหรัฐอเมริกา บริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งบรรลุข้อตกลงกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันก่อตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรม หรือ True IBM Innovation Studio@Bangkok ขึ้น มีกำหนดเปิดภายในสิ้นปีนี้
รวมถึงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกของนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ในทริปเยี่ยมเยียน 6 ประเทศเอเชีย อันมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ซีอีโอไมโครซอฟท์ยอมมาปรากฏกายในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับสูง
สิ่งที่บริษัทยักษ์ ใหญ่เหล่านี้เห็นเหมือนกันก็คือ ศักยภาพสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของไทยในภูมิภาค ที่เพิ่มขึ้นจากการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาล ความตื่นตัวจากภาคเอกชน และความพร้อมของภาคประชาชน
ครั้งนี้...เราจะหวังได้เต็ม 100% หรือไม่ ว่าประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรับจ้างผลิต “ทำมากได้น้อย” ไปสู่ประเทศ “ทำน้อยได้มาก” เน้นความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ
และเดินหน้าสู่โมเดลทางเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมหรือ Value-Based Economy ผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามหยิบยื่นให้
“ดร.อุตตม สาวนายน”รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที จะมายืนยันให้ฟังว่า หากทำสำเร็จ อาจไม่ใช่แค่คนไทยทั้งประเทศจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นเท่านั้น แต่โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค ก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อม...
“2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่คนไทยเริ่มรับรู้แล้วว่า เราต้องตื่นตัว จะปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้แล้ว เป็นเวลาที่รัฐบาลส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าเอาจริง มีแผนแม่บทเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล แผนปฏิบัติการ ซึ่งไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร หากยึดตามแผนนี้ เราจะเดินหน้าต่อไปได้”
เขาบอกว่า นโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้ามาตั้งแต่ปลายปี 2557 ซึ่งตลอด 2 ปี ได้ดำเนินการร่างกฎหมายใหม่ ปรับปรุงกฎหมายเดิม รวม 12 ฉบับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและยังได้จัดทำแผนแม่บทเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล แผนปฏิบัติการ ถือเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ยุคดิจิตอล ขณะนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามแผนในระดับหนึ่ง
ในส่วนของการปฏิบัติ เราต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งให้ได้ก่อน โดยรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการลงทุนสร้างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ราว 72,400 หมู่บ้าน ด้วยเม็ดเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในเดือน มิ.ย.2559 แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.2560 รวมทั้งการขยายเส้นทางเคเบิลใต้น้ำ เพื่อเชื่อมต่อวงจรอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ จากปัจจุบันมีเพียง 7 เส้นทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเส้นทาง โดยมีเงินทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เพราะการจะเติบโตด้านไอซีที จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่รองรับการใช้งานให้ได้จำนวนมหาศาล
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างตลาด สร้างโอกาส เมื่อคนในทุกพื้นที่ของประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หมด ทุกคนก็จะมีโอกาส ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเพิ่มตลาดค้าขายบนโลกออนไลน์ให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น
หากเป็นไปตามแผน ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ และจำนวนประชากรของไทยมีมากถึง 67 ล้านคน
“จากการที่เราได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล รวมทั้งการจัดเปิดประมูล 4 จี 2 สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาด้านไอซีทีที่มีความก้าวหน้าที่รวดเร็วมากที่สุด”
โดยเมื่อปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 74 จาก 164 ประเทศ เป็นการไต่ขึ้นถึง 18 อันดับที่รวดเร็วในรอบ 5 ปี จากที่ปี 2553 อยู่ในอันดับที่ 92 ทำให้ถูกจัดอันดับอย่างเป็นทางการว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวกระโดดเร็วเป็นลำดับที่ 1 ของเอเชียแปซิฟิก
นอกจากอันดับด้านไอซีทีที่ดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง เข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ ยังนำไปสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญา ด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตในการเสาะแสวงหาความรู้ ข้อมูลต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก มาประกอบความคิด จุดประกายให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในการกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองตลาด ทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย
“ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไทยมีไอเดียดี มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดการสนับสนุนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ที่เราต้องการคือห่วงโซ่ทั้งหมด ที่ผ่านมาเหมือนโซ่มันขาดไป เราทำได้แค่รับจ้างผลิต ผลิตสินค้าได้เพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่นับจากนี้เราจะใช้สิ่งที่มีอยู่มาเชื่อมต่อห่วงโซ่ทุกห่วง”
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการผลิต เชื่อว่าจะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยอย่างแน่นอน
การสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ (Start up) หรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นสำคัญการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพมากๆ ก็คือการสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดฟองสบู่ เพราะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ไม่จบสิ้นและธรรมชาติของสตาร์ทอัพ หากความคิดนั้นดีจริง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ก็จะได้รับความสนใจมีการอัดฉีดเงินเข้าร่วมลงทุน แต่หากความคิดนั้นไม่ดีพอ ไม่ตอบโจทย์ ก็อาจต้องปรับให้มันดี หรือคิดใหม่
มันเป็นธุรกิจใหม่ ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้น ที่เป็นการทุ่มเม็ดเงินลงไป เมื่อขาดทุนก็เจ๊งกันไป
การมีสตาร์ทอัพ 100 ราย ประสบความสำเร็จ 10 ราย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยกลุ่มคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถกลับเข้ามาเรียนรู้ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะดิจิตอลสตาร์ทอัพของกระทรวงไอซีทีขึ้น เพื่อคอยเป็นพี่เลี้ยง เป็นทางลัดให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ ล้มเหลวก็เริ่มใหม่ได้ เพราะกระบวนการความคิด การสร้างความรู้ หมุนเวียนไม่จบไม่สิ้น
โดยขณะนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับผลิตสตาร์ทอัพมาก ทั้งซัมซุง ไอบีเอ็ม หัวเว่ย ดีแทค เอไอเอส ทรู
โดยล่าสุด หัวเว่ยจะเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย โดยจะเปิดกว้างให้กลุ่มสตาร์ทอัพสามารถนำสิ่งที่คิดค้น ไปทดลองและทดสอบหัวเว่ยได้ หากหัวเว่ยสนใจ ก็สามารถซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ไปผลิตต่อยอด
แต่หากจะมองไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ เป็นเอสเอ็มอี โอทอป รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ต่างจังหวัด สิ่งที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้ลืมตาอ้าปาก มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็คือการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วย
“ขอยกตัวอย่างเกษตรกรบุรีรัมย์ ที่ได้ไปเข้าอบรมจากศูนย์ดิจิตอลชุมชน เดิมคือศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน โดยเกษตรกรได้มาเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ต การค้าขายออนไลน์ ทำให้การขายปุ๋ยจากเดือนละ 10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 300,000 บาท นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น เชื่อว่ายังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ต่อคนดีขึ้น เชื่อว่าทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น”
ดังนั้น ศูนย์ดิจิตอลชุมชนราว 2,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นศูนย์ที่ช่วยให้ความรู้เกษตรกรและชุมชน ช่วยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถค้าขายออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
“ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ควรนำแอพพลิเคชั่นนั้น มาช่วยจัดระบบบัญชี ระบบบริหารสินค้าคงคลัง หรือบริหารสต๊อกสินค้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เมื่อต้นทุนลดลง และยังสามารถขายได้มากขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และท้ายสุดก็ต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขภายในประเทศ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ด้านสาธารณสุข การแพทย์ สามารถรักษาพยาบาลผ่านระบบออนไลน์
สิ่งเหล่านี้เป็นการดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ อันประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 2.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ค้าขายออนไลน์ เชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ 3.สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล การศึกษา สาธารณสุข การแพทย์ ออนไลน์ 4.ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล อำนวยความสะดวกประชาชน เชื่อมโยงหน่วยงาน 5.พัฒนากำลังคนให้พร้อม เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล คนไทยมีทักษะ เข้าใจ ใช้เป็น รู้ทันเทคโนโลยี 6.สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล มีมาตรการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต มีกฎหมายทันสมัย
โดยภายใน 2 ปีจากนี้ รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนสัมผัส จับต้องได้ และเห็นประโยชน์จากการใช้ดิจิตอล เมื่อเห็นประโยชน์ ก็จะมีความเชื่อมั่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนและร่วมกันขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลของประเทศ
ภายใน 5 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ตามแนวทางประชารัฐ และไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยควรก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล เทียบเท่าประเทศระดับแนวหน้า เทียบเท่าหรือแซงหน้าสิงคโปร์ได้ เพราะมีจุดเด่น ทั้งตลาดขนาดใหญ่ และทำเลที่ตั้งของประเทศ โครงข่ายโทรคมนาคมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลได้
ต้องจำไว้เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเข้าสู่ยุคดิจิตอล ใครรับการเปลี่ยนแปลง ได้เร็ว ก็ได้เปรียบ เพราะเศรษฐกิจดิจิตอลช่วยให้หลายประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาแล้ว.
ป้ายกำกับ:
เศรษฐกิจดิจิตอล,
Digital Economy,
Digital Thailand
วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
ไขรหัส "ประเทศไทย 4.0" สร้างเศรษฐกิจใหม่
ไขรหัส "ประเทศไทย 4.0" สร้างเศรษฐกิจใหม่
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 2 พ.ค. 2559 05:01
ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถ้าใครติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวมอบนโยบายและปาฐกถาพิเศษในงานต่างๆ จะมีคำพูดใหม่ออกมาว่า จะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0”
แล้ว “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร เราๆ ท่านๆ ชาวบ้านร้านตลาดคงอดสงสัยไม่ได้ ว่าผู้นำประเทศกำลังจะพาพวกเราไปทางไหน และไปได้จริงหรือเปล่า
คำอธิบายเบื้องต้นที่ขยายความให้เห็นภาพได้บ้างก็คือ ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดล “ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบัน “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก
ทว่า ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 3.0” ที่เป็นอยู่กันตอนนี้ต้องเผชิญกับดักสำคัญที่ไม่อาจนำพาประเทศพัฒนาไปมากกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ภายใต้ 3-5 ปีนี้
เพื่อสร้างความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น บุคคลที่จะมาไขรหัสโมเดลใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะมาบอกพวกเราว่า “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร แล้วจะมีโอกาสใดในเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นมาบ้าง
กำหนดโมเดลเศรษฐกิจใหม่
ดร.สุวิทย์เริ่มต้นอธิบายว่า ดังที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ”
นอกเหนือจากการต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมไว้มานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง ตลอดจนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และวิกฤติภัยแล้งแล้ว
ภารกิจประการสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ก็คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามชุดใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้
หลายประเทศได้กำหนดโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 อาทิ สหรัฐอเมริกาพูดถึง A Nation of Makers อังกฤษกำลังผลักดัน Design of Innovation ขณะที่จีนได้ประกาศ Made in China 2025 ส่วนอินเดียก็กำลังขับเคลื่อน Made in India หรืออย่างเกาหลีใต้ก็วางโมเดลเศรษฐกิจเป็น Creative Economy เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยเอง ณ ขณะนี้ยังติดอยู่ใน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จะเห็นได้จากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะแรก (พ.ศ.2500-2536) เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7-8% ต่อปี อย่างไร ก็ตาม ในช่วงระยะถัดมา (พ.ศ.2537-ปัจจุบัน) เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการเติบโตในระดับเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้น
ประเทศไทยจึงมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก หากเราปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้ที่สูง” แต่หากทำไม่สำเร็จ ก้าวข้ามกับดักนี้ไปไม่ได้ ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า “ทศวรรษแห่งความว่างเปล่า” ไปอีกยาวนาน
สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ
หากย้อนหลังไปในอดีต ประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก
อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” นั้น นอกจากต้องเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายรัฐบาล ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้าม “ประเทศไทย 3.0” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”
“ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” กล่าวคือ ในปัจจุบัน เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เราต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ
1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า “ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน”
โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ประกอบด้วย
1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness&Bio-Med)
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startups” ต่างๆมากมาย อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) ในกลุ่มที่ 1
เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา ในกลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) ในกลุ่มที่ 3
เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) ในกลุ่มที่ 4 เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) ในกลุ่มที่ 5 เป็นต้น
ใช้พลังประชารัฐเดินไปข้างหน้า
“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำ และ Startups ต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน
ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน
ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ จะมีภาคเอกชน คือ กลุ่มมิตรผล บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนหลัก โดยมีภาคการเงิน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินสนับสนุนทางด้านการเงิน
มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยในภูมิภาคต่างๆ เป็นแกนนำในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย Wageningen ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัย Purdue, UC Davis และ Cornell ซึ่งจะมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)
ซึ่งหนึ่งในโครงการที่กำลังผลักดันผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นต้น
โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” (5 อุตสาหกรรมที่เป็น Extending S-Curve บวก 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve) ที่รัฐบาลได้ประกาศไปก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ใน “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการบิน (Aviation)
ส่วนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นส่วนที่ประเทศไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก แล้วค่อยต่อยอดด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับ “บันได 3 ขั้น” ของ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง” นั่นเอง
ตั้งเป้าสัมฤทธิ์ใน 3–5 ปี
ดร.สุวิทย์กล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” คือ การขับเคลื่อน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า เป็นการเปลี่ยน “ปัญหาและความท้าทาย” ให้เป็น “ศักยภาพและโอกาส” ในการสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
เช่น เปลี่ยนจากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้เป็น สังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active Aging) การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การยกระดับเมืองให้เป็น Smart City
การเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง ให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ (Functional Foods) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceutics) ที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีน้ำ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” มี 3 ประเด็นที่สำคัญ
1.เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม
2.เป็น “Reform in Action” ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและการพัฒนา และการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน
3.เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”
หากแนวคิด ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก้าวเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ได้จริงตามที่ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็น่าจะเป็นหนทางที่จะนำพาให้คนไทยได้หลุดพ้นจากความยากจน
เพียงแต่สถานการณ์การเมืองจำเป็นจะต้องนิ่งต่อไปอีก 1–2 ปี เพื่อที่ประเทศไทยจะได้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาที่มีความร่ำรวยเสียที.
ทีมเศรษฐกิจ
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 2 พ.ค. 2559 05:01
ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถ้าใครติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวมอบนโยบายและปาฐกถาพิเศษในงานต่างๆ จะมีคำพูดใหม่ออกมาว่า จะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0”
แล้ว “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร เราๆ ท่านๆ ชาวบ้านร้านตลาดคงอดสงสัยไม่ได้ ว่าผู้นำประเทศกำลังจะพาพวกเราไปทางไหน และไปได้จริงหรือเปล่า
คำอธิบายเบื้องต้นที่ขยายความให้เห็นภาพได้บ้างก็คือ ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โมเดล “ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่โมเดลปัจจุบัน “ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก
ทว่า ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 3.0” ที่เป็นอยู่กันตอนนี้ต้องเผชิญกับดักสำคัญที่ไม่อาจนำพาประเทศพัฒนาไปมากกว่านี้ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ภายใต้ 3-5 ปีนี้
เพื่อสร้างความเข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น บุคคลที่จะมาไขรหัสโมเดลใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะมาบอกพวกเราว่า “ประเทศไทย 4.0” คืออะไร แล้วจะมีโอกาสใดในเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นมาบ้าง
กำหนดโมเดลเศรษฐกิจใหม่
ดร.สุวิทย์เริ่มต้นอธิบายว่า ดังที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ”
นอกเหนือจากการต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมไว้มานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง ตลอดจนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และวิกฤติภัยแล้งแล้ว
ภารกิจประการสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ก็คือ การขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามชุดใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้
หลายประเทศได้กำหนดโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 อาทิ สหรัฐอเมริกาพูดถึง A Nation of Makers อังกฤษกำลังผลักดัน Design of Innovation ขณะที่จีนได้ประกาศ Made in China 2025 ส่วนอินเดียก็กำลังขับเคลื่อน Made in India หรืออย่างเกาหลีใต้ก็วางโมเดลเศรษฐกิจเป็น Creative Economy เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยเอง ณ ขณะนี้ยังติดอยู่ใน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จะเห็นได้จากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะแรก (พ.ศ.2500-2536) เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7-8% ต่อปี อย่างไร ก็ตาม ในช่วงระยะถัดมา (พ.ศ.2537-ปัจจุบัน) เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการเติบโตในระดับเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้น
ประเทศไทยจึงมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก หากเราปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ประเทศไทยจะกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้ที่สูง” แต่หากทำไม่สำเร็จ ก้าวข้ามกับดักนี้ไปไม่ได้ ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า “ทศวรรษแห่งความว่างเปล่า” ไปอีกยาวนาน
สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ
หากย้อนหลังไปในอดีต ประเทศไทยเองก็มีการปรับโมเดลเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง เริ่มจาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และก้าวสู่ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก
อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 3.0” นั้น นอกจากต้องเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายรัฐบาล ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อก้าวข้าม “ประเทศไทย 3.0” ไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”
“ประเทศไทย 4.0” เป็นความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” กล่าวคือ ในปัจจุบัน เรายังติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” เราต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ
1. เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า “ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) ด้วยการแปลง “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ” ของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน”
โดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ประกอบด้วย
1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness&Bio-Med)
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startups” ต่างๆมากมาย อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) ในกลุ่มที่ 1
เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา ในกลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) ในกลุ่มที่ 3
เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) ในกลุ่มที่ 4 เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) ในกลุ่มที่ 5 เป็นต้น
ใช้พลังประชารัฐเดินไปข้างหน้า
“ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นการถักทอเชื่อมโยงเทคโนโลยีหลักที่ต้นน้ำ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่กลางน้ำ และ Startups ต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ โดยใช้พลัง “ประชารัฐ” ในการขับเคลื่อน
ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน
ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ จะมีภาคเอกชน คือ กลุ่มมิตรผล บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนหลัก โดยมีภาคการเงิน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินสนับสนุนทางด้านการเงิน
มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยในภูมิภาคต่างๆ เป็นแกนนำในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย Wageningen ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัย Purdue, UC Davis และ Cornell ซึ่งจะมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)
ซึ่งหนึ่งในโครงการที่กำลังผลักดันผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นต้น
โดยทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” เป็นส่วนหนึ่งของ “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” (5 อุตสาหกรรมที่เป็น Extending S-Curve บวก 5 อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curve) ที่รัฐบาลได้ประกาศไปก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ใน “10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” จะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการบิน (Aviation)
ส่วนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมายใน “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นส่วนที่ประเทศไทยต้องการพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก แล้วค่อยต่อยอดด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับ “บันได 3 ขั้น” ของ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “การพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง” นั่นเอง
ตั้งเป้าสัมฤทธิ์ใน 3–5 ปี
ดร.สุวิทย์กล่าวว่า เป้าหมายของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” คือ การขับเคลื่อน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า เป็นการเปลี่ยน “ปัญหาและความท้าทาย” ให้เป็น “ศักยภาพและโอกาส” ในการสร้างความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
เช่น เปลี่ยนจากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้เป็น สังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active Aging) การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ การยกระดับเมืองให้เป็น Smart City
การเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง ให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ (Functional Foods) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Nutraceutics) ที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและเทคโนโลยีน้ำ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” มี 3 ประเด็นที่สำคัญ
1.เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม
2.เป็น “Reform in Action” ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและการพัฒนา และการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน
3.เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”
หากแนวคิด ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก้าวเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ได้จริงตามที่ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็น่าจะเป็นหนทางที่จะนำพาให้คนไทยได้หลุดพ้นจากความยากจน
เพียงแต่สถานการณ์การเมืองจำเป็นจะต้องนิ่งต่อไปอีก 1–2 ปี เพื่อที่ประเทศไทยจะได้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาที่มีความร่ำรวยเสียที.
ทีมเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559
ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อัตราดอกเบี้ยคงที่ของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีที่ประกาศมาล่าสุดที่ประมาณ 1.7% ต่อปี ยิ่งกว่าอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะนี่คืออัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของอัตราดอกเบี้ยที่คนฝากเงินหรือนักลงทุนไทยจะได้รับในการนำเงินไปลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าการที่ดอกเบี้ยต่ำมากและจะต่ำอยู่นานมากเป็น 10 ปี ขึ้นไปนั้น ผลกระทบของมันในแง่ของการลงทุนโดยเฉพาะในหุ้นนั้นย่อมมีมหาศาลและมันอาจจะเปลี่ยน ?ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์? ของการลงทุนไปอย่างมากมาย ลองมาดูว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากนี้อาจจะทำให้เกิดอะไรขึ้นในตลาดทุนหลังจากนี้
1. คนจะมีแนวโน้มย้ายเงินมาลงทุนตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตที่อัตราดอกเบี้ยยังสูงนั้น ตลาดหุ้นมักจะมีราคาโดยเฉลี่ยคิดเป็นค่า PE ประมาณ 10 เท่า ซึ่งแปลว่าถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยแล้วเราจะได้ผลกำไรต่อปีประมาณ 10% ซึ่งจะดีกว่าการฝากเงินซึ่งอาจจะได้ดอกเบี้ย แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือเพียง 1-2% ต่อปี ผลตอบแทนจากหุ้นก็ควรที่จะลดลงมาเหลือเพียง 6-7% ต่อปี ซึ่งถ้าคิดเป็นค่า PE ก็จะเท่ากับค่า PE ที่ประมาณ 15 เท่า ข้อสรุปก็คือ นับจากวันนี้ ค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่เกิน 15-16 เท่าก็ถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่ ?ไม่แพง? พอลงทุนได้ เพราะมันยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณปีละ 6-7% ?ดีกว่าการฝากเงินประมาณไม่ถึง 5%?
2. การที่ดอกเบี้ยต่ำมากเป็นประวัติการณ์และจะต่ำแบบนี้ต่อไปอีกนานนั้น แปลว่าการลงทุนสร้างโรงงานหรือทรัพย์สินถาวรเพื่อประกอบธุรกิจจะมีหรือเติบโตน้อยลงไปมากและเป็นอย่างนั้นอีกนาน ผลที่ตามมาก็คือ เศรษฐกิจก็น่าจะโตช้าลงและจะคงอยู่อย่างนั้นอีกนาน ถ้าจะพูดก็คือ เศรษฐกิจไทยนั้นคงโตได้ประมาณไม่เกิน 3-4% เป็นอย่างมากในระยะเวลาหลายปีข้างหน้า ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายลง เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าด้วย เศรษฐกิจไทยก็อาจจะถึงจุด ?อิ่มตัว? และติดกับดัก ?คนชั้นกลาง? ประเทศไม่สามารถกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งนี่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่าคนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็น ?สังคมคนแก่? ในอีกประมาณ 10-20 ปี ข้างหน้า
3. ถ้าเศรษฐกิจไม่โต ตลาดหุ้นก็ไม่สามารถโตได้ ตลาดหุ้นนั้นก็จะต้องสะท้อนภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ผลก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น น่าจะให้ผลตอบแทนต่อปีที่น้อยลง ในอดีตย้อนหลังไป 41 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 10%ต่อปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นประมาณ 6.6% ต่อปีและเป็นปันผลประมาณ 3.4% ต่อปีอนาคตผมคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะให้ผลตอบแทนน้อยลง ผมคิดคร่าว ๆ ว่าผลตอบแทนรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี โดยที่ราคาหุ้นน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ในขณะที่ปันผลจะให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 3% เช่นเดียวกัน นั่นแปลว่าการลงทุนนับจากนี้ ปันผลจะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากเท่า ๆ กับการปรับขึ้นของราคาหุ้นในการพิจารณาเลือกหุ้นลงทุน
4. อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ในอดีตเคยสูงและต่อมาลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือต่ำมากเพียง 1-2% ต่อปี ก็น่าจะมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมากต่อเนื่องไปอีกนานหลาย ๆ ปี โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสูงนั้นเป็นไปได้ยาก นี่ก็คงคล้าย ๆ กับประเทศที่ค่อนข้างเจริญส่วนใหญ่ในโลกที่เงินเฟ้อน่าจะกลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้วเนื่องจากการผลิตของโลกมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นและสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายไปค่อนข้างเสรีทั่วโลก การขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อมีน้อย
5. ในภาพของธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนนั้น บริษัทที่มีหนี้มากที่นักลงทุนเคยเกรงว่าจะมีปัญหาและ Discount หรือให้มูลค่าหุ้นต่ำลงนั้น การที่ดอกเบี้ยลดลงมากทำให้บริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะเมื่อหนี้ก้อนเดิมถึงกำหนดและบริษัทกู้หนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ดังนั้น หุ้นของบริษัทเหล่านั้นก็อาจจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นได้ในอนาคตมองจากมุมของดอกเบี้ยที่จะจ่ายน้อยลง
6. การทำ M&A หรือการซื้อกิจการเพื่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงและการที่สถาบันการเงินและตลาดการเงินมีสภาพคล่องสูง ดังนั้น บริษัทที่มีความมั่นคงและมีหนี้ไม่มากก็จะมีความสามารถในการกู้เงินระยะยาวที่จะใช้ซื้อกิจการที่มีกำไรที่แน่นอนพอสมควรโดยที่ราคาซื้อหุ้นอาจจะสูงกว่าปกติได้เหตุผลก็คือ บริษัทที่เทคโอเวอร์บริษัทอื่นนั้นอาจจะคิดว่าตนเองสามารถนำกำไรจากบริษัทเป้าหมายมาจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้เงินมาซื้อได้โดยที่ตนเองไม่ต้องเพิ่มทุนหรือเพิ่มไม่มาก
7. บริษัทที่มีการจ่ายปันผลที่ดีกว่าเฉลี่ยของตลาดและมีความมั่นคงของผลประกอบการและมีกระแสเงินสดที่ดี น่าจะกลายเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นี่อาจจะรวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูงเช่นกลุ่มธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่จ่ายปันผลถึง 4-5% ต่อปีเหตุผลก็เพราะว่านักลงทุนมั่นใจว่าอย่างน้อยถ้าถือหุ้นเหล่านั้นก็จะได้ปันผลที่สูงกว่าเงินฝากปีละ 1-2% มาก ดังนั้นพวกเขาอาจจะเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาวและได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน เพราะต่อให้หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้งปีเขาก็ยังได้กำไรมากกว่าการถือเงินสดและฝากไว้ในธนาคาร
8. เช่นเดียวกับหุ้น กองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REIT และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอนและให้ผลตอบแทนอยู่ในหลัก 7-8% ต่อปีก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเนื่องจากคนที่ถือเงินสดมากแต่ไม่กล้ารับความเสี่ยงหรือความผันผวนของหุ้นจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าผลตอบแทนในกองทุนเหล่านั้นจะค่อย ๆ ลดลงเพราะราคาหน่วยลงทุนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- การที่ ?ทำนาย? แนวโน้มระยะยาวต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นผมก็ไม่รับรองว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการพยากรณ์ที่บอกว่าจะเกิด ?New Normal? หรือ ?มาตรฐานใหม่? ซึ่งแตกต่างจากเดิมไปมาก การทำนายแบบ ?สุดโต่ง? แบบนั้นมักจะมีโอกาส ?หน้าแตก? ได้ง่าย ๆ และเราก็ได้เห็นมามากแล้ว - ตัวอย่างเช่นการทำนายก่อนหน้านี้เรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันที่จะลดลงมากและราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นมากซึ่งภายใน 3-4 ปี ก็ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่ผมเขียนในวันนี้จึงอาจจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ตลาดของอัตราดอกเบี้ยต่ำมากขณะนี้อาจจะ ?ผิด? เช่น ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยอาจจะเปลี่ยนเป็น ?ขาขึ้น? อย่างแรง และคนที่คิดและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนโดยเน้นไปที่สมมุติฐานของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ต่ำมากก็อาจจะเจ็บตัวหรือเสียหายหนักก็ได้ - เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นถ้าเราคาดสถานการณ์ผิด สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทุกครั้งที่จะลงทุนไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราจะต้อง ?เผื่อ? หรือกำหนด Margin of Safety ไว้เสมอนั่นก็คือ ถ้าเราคาดสถานการณ์ผิด หุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เราลงทุนก็ยังอยู่ได้ อย่างน้อยก็ไม่กลายเป็นหายนะ และนั่นคือ?กฎเหล็ก? ที่ VI ทุกคนจะต้องรักษาไว้ตลอดเวลา
ที่มา : http://portal.settrade.com/blog/nivate/2016/04/25/1723
วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559
การลงทุนดีที่สุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน
การลงทุนดีที่สุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน
โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
http://www.bangkokbiznews.com
สำหรับ มนุษย์เงินเดือน ที่ไม่ได้มีเงินจากพ่อแม่ หรือมีความสามารถพิเศษในการลงทุน
และคิดว่าตนเอง “ไม่มีปัญญา” ในการที่จะเรียนรู้เทคนิคการลงทุนที่จะทำให้สามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ ได้
ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์ หรือวิธีการลงทุนระยะยาว“ดีที่สุด” จะเป็นการลงทุน“เพื่อการเกษียณ” ความเสี่ยง“ขาดเงิน” มีน้อยมาก สิ่งที่ต้องทำมีหลักการใหญ่ๆ สามข้อ เป็นเรื่องทำได้ไม่ยากแต่ต้องอาศัยวินัยและความศรัทธาสูง
หลักการสามข้อ ขอเรียกว่าเป็น “แก้ว 3 ประการ ของการลงทุน” ที่ผมเคยพูดไว้ในหลาย ๆ โอกาสซึ่งผมจะทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือ ถ้าหากใครหวังจะรวยหรือประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงนั้น เขาจะต้องมีแก้วที่ “สุกสว่าง” ทั้ง 3 ดวง
โดยแก้วดวงแรกคือต้องมี “เงินลงทุนเริ่มต้น” หรือเงินที่ได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินจากการลงทุน เช่น จากเงินเดือน เงินพ่อแม่ให้หรือเงินมรดก เป็นต้น “แก้ว” ดวงนี้จะ “สุกสว่าง” มากน้อยนั้น บางทีขึ้นอยู่กับ “โชคชะตา” เช่น คนมีพ่อแม่รวยและพ่อแม่แบ่งเงินมาให้ลงทุนมาก
“แก้ว” ดวงนี้ของเขาก็สุกสว่างมาก แต่อีกด้านหนึ่ง ความสุกสว่างของแก้วอาจมากขึ้นได้จากการ“อดออม”ของเราเอง นั่นคือเราสามารถเพิ่มความสว่างของแก้วเราได้ โดยบริโภคน้อยลงเก็บออมเอามาลงทุนมากขึ้น
แก้วดวงที่สองคือ ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุน ความสุกสว่างของแก้วดวงนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์และลงทุนอย่างถูกต้อง ตามทฤษฎีและตามประวัติศาสตร์การลงทุนที่มีการเก็บสถิติมายาวนานนั้น บอกว่าหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุดในบรรดาการลงทุนหลักทั้งหลายในระยะยาว
ดังนั้น แก้วดวงนี้จะสุกสว่างได้คงต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ขณะที่การฝากเงินให้ผลตอบแทนต่ำสุด ถ้าเงินส่วนใหญ่อยู่ในเงินฝาก แก้วดวงนี้ก็จะหมองมัว
ส่วนพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นให้ผลตอบแทนกลาง ๆ ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ถ้าเราเน้นซื้อหุ้นลงทุนเป็นรายตัว อาจทำให้แก้วของเราสว่างที่สุด มีโอกาสเช่นกันที่แก้วดวงนี้จะ“แตก” และความสว่างจะหายไปกลายเป็นแก้ว“มืดมน” เปรียบเทียบคือแทนที่จะได้ผลตอบแทนสูงก็อาจจะขาดทุนได้
โชคดีที่เราสามารถจะลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวม ที่จะให้ผลตอบแทนสุกสว่างพอสมควร โดยความเสี่ยงจะเสียหายมีน้อยในระยะยาว ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญการเลือกหุ้น การลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก
แก้วดวงสุดท้ายคือระยะเวลาลงทุน ยิ่งเราลงทุนยาวนานเท่าไร แก้วก็จะสุกสว่างมากขึ้นเท่านั้น คนที่อายุน้อยและแน่วแน่ในการลงทุน ไม่ออกจากตลาดไม่ว่าในสถานการณ์อะไร จึงเป็นคนที่มีแก้วสุกสว่างอยู่ในมือ 1 ดวงเสมอ เช่นเดียวกัน คนที่มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีก็เป็นคนที่มีแก้วสว่างกว่าคนที่อายุสั้นกว่า
คนที่มีแก้วสุกสว่างทั้ง 3 ดวงและใช้มัน โอกาสรวยจากการลงทุนก็จะสูงมาก คนที่มีแก้วอยู่ในมือแต่ไม่รู้จักใช้ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ส่วนคนที่แทบไม่มีแก้วสุกสว่างเลยซักดวง ต้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถรวยจากการลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ “กินเงินเดือน” และอายุยังไม่มากนั้น หากมีการวางแผนการลงทุนที่ดี และด้วยการ “เสียสละ” การบริโภคในปัจจุบันพอประมาณแต่อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเดือดร้อนนัก จะสามารถที่จะลงทุนจนมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณได้อย่างสบาย โดยความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้มีน้อยมาก มาดูกันว่าทำอย่างไรแล้วเราจะบรรลุเป้าหมายอะไร?
สมมุติว่าเราอายุ 30 ปี มีงานประจำที่มั่นคง มีเงินเดือนตามควรแก่อัตภาพเช่น เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท และยังไม่เคยลงทุนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ข้อเสนอของผมก็คือ เราต้องเริ่มเก็บออมเงินและลงทุนโดยการหักออกจากเงินรายได้ 15% ทุกครั้งที่ได้รับเงิน ซึ่งก็คือเดือนละ 7,500 บาท แล้วนำเงินนั้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี SET50 คือลงทุนหุ้นใหญ่ที่สุด 50 ตัว โดยไม่มีการเลือกหุ้น
เราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน ถ้าเงินเดือนเราสูงขึ้น เม็ดเงิน 15% ของเราก็สูงขึ้นตามกันไป เวลาได้เงินพิเศษเช่น โบนัส เราก็ยังคงต้องหักเงิน 15% ก่อนเพื่อเอาไปลงทุนในหุ้น การลงทุนในหุ้นทั้งหมดนั้น อาจดูว่า “เสี่ยง” แต่การที่ทยอยลงไปเรื่อยเป็นเวลาถึง 30 ปี ความเสี่ยงจะหายไปมาก เพราะเราจะซื้อหุ้นเฉลี่ยกันไปทั้งช่วงที่หุ้นถูกและแพง โอกาสเงินออมจะเสียหายมีน้อยมาก แต่มีโอกาสสูงที่เราจะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ 10% ตามสถิติที่เป็นมาในอดีต ถ้าทำแบบนี้ ผลที่จะได้รับหลังเกษียณ 60 ปีคืออะไร?
คำตอบอย่างที่ทำให้เข้าใจง่ายที่สุดคือหลังเกษียณแล้ว เราสามารถใช้เงินได้เดือนละเท่าเดิม เท่ากับช่วงที่ทำงานอยู่ โดยที่ไม่ต้องทำงานต่อไปอีก 30 ปี เช่น ถ้าได้เงินเดือนช่วงแรกที่อายุ 30 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท ในวันที่เกษียณเดือนแรกก็สามารถใช้เงินได้เดือนละ 50,000 บาทเช่นกัน
หลังจากคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว (ที่จริงก็คือใช้ได้ประมาณ 120,000 บาท ต่อเดือนซึ่งมีค่าเท่ากับ 50,000 ในวันนี้) และถ้าในช่วงอายุ 40 ปี มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และกันเงิน 15% ซึ่งเท่ากับ 15,000 บาทไว้ลงทุน ในช่วงที่มีอายุ 70 ปี เราจะสามารถใช้เงินได้เดือนละ 100,000 บาทเช่นกัน หลังคำนึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว
มองอีกด้านหนึ่งคือเงินเพียง 15% ถ้าลงทุนในหุ้นวันนี้ จะโตขึ้นเป็น 100% หลังหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว ภายในเวลา 30 ปี ดังนั้น เงินเพียง 15% ของทุกเดือนที่ลงทุนไปวันนี้ อีก 30 ปีจะกลับมาเลี้ยงเราเต็มจำนวน ถ้าลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี โอกาสเกษียณอย่างสบายจะสูง
ถ้าลงทุนหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว เช่น เริ่มลงทุนเมื่ออายุ 40 ปี ถ้าจะให้เราสามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ อาจต้องกันเงินไว้มากกว่า 15% ของเงินเดือนเพื่อจะลงทุน ภาระก็จะหนักขึ้น หรือถ้ายังรักษาระดับที่ 15% ในวันที่เกษียณเราก็มีเวลาลงทุนแค่ 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้เงินที่เราจะได้นั้นไม่ถึง 100% ซึ่งก็แปลว่า ในวันเกษียณ เราอาจจะต้องลดระดับความเป็นอยู่ลง
คนอายุ 30 ปี ที่เริ่มกันเงินถึง 15% ของเงินเดือนเพื่อลงทุน แต่เขาเน้นไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสมมีหุ้นน้อย ผลตอบแทนที่ได้จะต่ำ ซึ่งอาจทำให้เขาไม่สามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ สำหรับผมแล้วเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสม ในระยะสั้นๆ นั้น ความรู้สึกมั่นคงและ“ไม่เสี่ยง” จากการลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้น ไม่คุ้มกับการเสียโอกาส ที่จะได้ผลตอบแทนดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น
ว่าที่จริง ในระยะยาวตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หุ้นโดยรวมนั้นมีความเสี่ยงน้อยมาก โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนรวมต่ำกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้นผมคิดว่าน่าจะอยู่แค่ในช่วง 5-10 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลอด ดังนั้น อย่ากลัวที่จะลงทุนหุ้นเต็มที่ถ้าเราจะลงระยะยาวมาก
สุดท้ายที่ผมอยากจะเพิ่มเติมสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีรายได้สูงนั้น การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ในอัตราที่สูงได้ถึง 15% ของรายได้นั้น ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ผมกล่าวถึงมาทั้งหมด แต่ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลด้วย ดังนั้น ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรทำ
ป้ายกำกับ:
การลงทุนดีที่สุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน,
แก้วสามประการ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)