วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)


อัพเกรดประเทศไทย "ดิจิตอล อีโคโนมี" เป้าหมายสู่ "ศูนย์กลางไอซีที"


โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 30 พ.ค. 2559 05:01

คิกออฟนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (ดิจิตอล อีโคโนมี) ครบ 2 ปีเต็ม มาถึงวันนี้ แรงทุ่มเทของรัฐบาลเริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อทัพนักลงทุนต่างชาติ ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจากทั่วโลก กำลังพาเหรดเข้ามาแสดงความสนใจ และเห็นประเทศไทยอยู่ในสายตาเป็นครั้งแรกๆ

เริ่มจากบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากประเทศจีน ที่ได้ตัดสินใจเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (International Headquater-IHQ) ขึ้นในไทย พร้อมๆกันกับการเปิดศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center)

เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ไอทีฝั่งสหรัฐอเมริกา บริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งบรรลุข้อตกลงกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันก่อตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรม หรือ True IBM Innovation Studio@Bangkok ขึ้น มีกำหนดเปิดภายในสิ้นปีนี้

รวมถึงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกของนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ในทริปเยี่ยมเยียน 6 ประเทศเอเชีย อันมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ซีอีโอไมโครซอฟท์ยอมมาปรากฏกายในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับสูง

สิ่งที่บริษัทยักษ์ ใหญ่เหล่านี้เห็นเหมือนกันก็คือ ศักยภาพสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของไทยในภูมิภาค ที่เพิ่มขึ้นจากการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาล ความตื่นตัวจากภาคเอกชน และความพร้อมของภาคประชาชน

ครั้งนี้...เราจะหวังได้เต็ม 100% หรือไม่ ว่าประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรับจ้างผลิต “ทำมากได้น้อย” ไปสู่ประเทศ “ทำน้อยได้มาก” เน้นความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ
และเดินหน้าสู่โมเดลทางเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมหรือ Value-Based Economy ผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามหยิบยื่นให้

“ดร.อุตตม สาวนายน”รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที จะมายืนยันให้ฟังว่า หากทำสำเร็จ อาจไม่ใช่แค่คนไทยทั้งประเทศจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นเท่านั้น แต่โอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค ก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อม...

“2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่คนไทยเริ่มรับรู้แล้วว่า เราต้องตื่นตัว จะปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้แล้ว เป็นเวลาที่รัฐบาลส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนว่าเอาจริง มีแผนแม่บทเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล แผนปฏิบัติการ ซึ่งไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร หากยึดตามแผนนี้ เราจะเดินหน้าต่อไปได้”
เขาบอกว่า นโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้ามาตั้งแต่ปลายปี 2557 ซึ่งตลอด 2 ปี ได้ดำเนินการร่างกฎหมายใหม่ ปรับปรุงกฎหมายเดิม รวม 12 ฉบับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและยังได้จัดทำแผนแม่บทเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล แผนปฏิบัติการ ถือเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ยุคดิจิตอล ขณะนี้ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามแผนในระดับหนึ่ง


ในส่วนของการปฏิบัติ เราต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งให้ได้ก่อน โดยรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการลงทุนสร้างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ราว 72,400 หมู่บ้าน ด้วยเม็ดเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในเดือน มิ.ย.2559 แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.2560 รวมทั้งการขยายเส้นทางเคเบิลใต้น้ำ เพื่อเชื่อมต่อวงจรอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ จากปัจจุบันมีเพียง 7 เส้นทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเส้นทาง โดยมีเงินทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เพราะการจะเติบโตด้านไอซีที จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่รองรับการใช้งานให้ได้จำนวนมหาศาล
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างตลาด สร้างโอกาส เมื่อคนในทุกพื้นที่ของประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หมด ทุกคนก็จะมีโอกาส ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเพิ่มตลาดค้าขายบนโลกออนไลน์ให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น

หากเป็นไปตามแผน ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างแน่นอน ด้วยจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ และจำนวนประชากรของไทยมีมากถึง 67 ล้านคน
“จากการที่เราได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล รวมทั้งการจัดเปิดประมูล 4 จี 2 สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาด้านไอซีทีที่มีความก้าวหน้าที่รวดเร็วมากที่สุด”

โดยเมื่อปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 74 จาก 164 ประเทศ เป็นการไต่ขึ้นถึง 18 อันดับที่รวดเร็วในรอบ 5 ปี จากที่ปี 2553 อยู่ในอันดับที่ 92 ทำให้ถูกจัดอันดับอย่างเป็นทางการว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวกระโดดเร็วเป็นลำดับที่ 1 ของเอเชียแปซิฟิก

นอกจากอันดับด้านไอซีทีที่ดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง เข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ ยังนำไปสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญา ด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตในการเสาะแสวงหาความรู้ ข้อมูลต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก มาประกอบความคิด จุดประกายให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในการกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองตลาด ทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย

“ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไทยมีไอเดียดี มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดการสนับสนุนต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ที่เราต้องการคือห่วงโซ่ทั้งหมด ที่ผ่านมาเหมือนโซ่มันขาดไป เราทำได้แค่รับจ้างผลิต ผลิตสินค้าได้เพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่นับจากนี้เราจะใช้สิ่งที่มีอยู่มาเชื่อมต่อห่วงโซ่ทุกห่วง”

ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในกระบวนการผลิต เชื่อว่าจะมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยอย่างแน่นอน

การสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ (Start up) หรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นสำคัญการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพมากๆ ก็คือการสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดฟองสบู่ เพราะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ไม่จบสิ้นและธรรมชาติของสตาร์ทอัพ หากความคิดนั้นดีจริง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง ก็จะได้รับความสนใจมีการอัดฉีดเงินเข้าร่วมลงทุน แต่หากความคิดนั้นไม่ดีพอ ไม่ตอบโจทย์ ก็อาจต้องปรับให้มันดี หรือคิดใหม่
มันเป็นธุรกิจใหม่ ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้น ที่เป็นการทุ่มเม็ดเงินลงไป เมื่อขาดทุนก็เจ๊งกันไป

การมีสตาร์ทอัพ 100 ราย ประสบความสำเร็จ 10 ราย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยกลุ่มคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถกลับเข้ามาเรียนรู้ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะดิจิตอลสตาร์ทอัพของกระทรวงไอซีทีขึ้น เพื่อคอยเป็นพี่เลี้ยง เป็นทางลัดให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ ล้มเหลวก็เริ่มใหม่ได้ เพราะกระบวนการความคิด การสร้างความรู้ หมุนเวียนไม่จบไม่สิ้น
โดยขณะนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับผลิตสตาร์ทอัพมาก ทั้งซัมซุง ไอบีเอ็ม หัวเว่ย ดีแทค เอไอเอส ทรู

โดยล่าสุด หัวเว่ยจะเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศไทย โดยจะเปิดกว้างให้กลุ่มสตาร์ทอัพสามารถนำสิ่งที่คิดค้น ไปทดลองและทดสอบหัวเว่ยได้ หากหัวเว่ยสนใจ ก็สามารถซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ไปผลิตต่อยอด

แต่หากจะมองไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ เป็นเอสเอ็มอี โอทอป รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ต่างจังหวัด สิ่งที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้ลืมตาอ้าปาก มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็คือการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วย

“ขอยกตัวอย่างเกษตรกรบุรีรัมย์ ที่ได้ไปเข้าอบรมจากศูนย์ดิจิตอลชุมชน เดิมคือศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน โดยเกษตรกรได้มาเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ต การค้าขายออนไลน์ ทำให้การขายปุ๋ยจากเดือนละ 10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 300,000 บาท นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น เชื่อว่ายังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ต่อคนดีขึ้น เชื่อว่าทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น”

ดังนั้น ศูนย์ดิจิตอลชุมชนราว 2,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นศูนย์ที่ช่วยให้ความรู้เกษตรกรและชุมชน ช่วยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถค้าขายออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

“ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ควรนำแอพพลิเคชั่นนั้น มาช่วยจัดระบบบัญชี ระบบบริหารสินค้าคงคลัง หรือบริหารสต๊อกสินค้า ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เมื่อต้นทุนลดลง และยังสามารถขายได้มากขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และท้ายสุดก็ต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขภายในประเทศ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ด้านสาธารณสุข การแพทย์ สามารถรักษาพยาบาลผ่านระบบออนไลน์

สิ่งเหล่านี้เป็นการดำเนินการภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ อันประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 2.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ค้าขายออนไลน์ เชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ 3.สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล การศึกษา สาธารณสุข การแพทย์ ออนไลน์ 4.ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล อำนวยความสะดวกประชาชน เชื่อมโยงหน่วยงาน 5.พัฒนากำลังคนให้พร้อม เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล คนไทยมีทักษะ เข้าใจ ใช้เป็น รู้ทันเทคโนโลยี 6.สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล มีมาตรการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ต มีกฎหมายทันสมัย

โดยภายใน 2 ปีจากนี้ รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนสัมผัส จับต้องได้ และเห็นประโยชน์จากการใช้ดิจิตอล เมื่อเห็นประโยชน์ ก็จะมีความเชื่อมั่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนและร่วมกันขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลของประเทศ

ภายใน 5 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ตามแนวทางประชารัฐ และไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยควรก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล เทียบเท่าประเทศระดับแนวหน้า เทียบเท่าหรือแซงหน้าสิงคโปร์ได้ เพราะมีจุดเด่น ทั้งตลาดขนาดใหญ่ และทำเลที่ตั้งของประเทศ โครงข่ายโทรคมนาคมที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลได้

ต้องจำไว้เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเข้าสู่ยุคดิจิตอล ใครรับการเปลี่ยนแปลง ได้เร็ว ก็ได้เปรียบ เพราะเศรษฐกิจดิจิตอลช่วยให้หลายประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น: