วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Internet of Things (IoT)

แนวคิด Internet of Things

แนวนิด Internet of Things นั้นถูกคิดขึ้นโดย Kevin Ashton ในปี 1999 ซึ่งเขาเริ่มต้นโครงการ Auto-ID Center ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT จากเทคโนโลยี RFID ที่จะทำให้เป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับ RFID Sensors ต่างๆที่จะเชื่อมต่อกันได้ ต่อมาในยุคหลังปี 2000 โลกมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเป็นจำนวนมากและมีการใช้คำว่า Smart ซึ่งในที่นี้คือ smart device, smart grid, smart home, smart network, smart intelligent transportation ต่างๆเหล่านี้ล้วนมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งการเชื่อมต่อเหล่านั้นเองก็เลยมาเป็นแนวคิดที่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นก็ย่อมสามารถสื่อสารกันได้ด้วยเช่นกันโดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน นั่นแปลว่านอกจาก Smart devices ต่างๆจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้แล้วมันยังสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นได้ด้วยโดย Kevin นิยามมันไว้ตอนนั้นว่าเป็น “internet-like” หรือพูดง่ายๆก็คืออุปกณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารพูดคุยกันเองได้ ซึ่งศัพท์คำว่า “Things” ก็แทนอุปกณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั่นเอง



Kevin Ashton ผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของ Internet of Things


A wireless sensor network (WSN)
ตัวแปลสำคัญสำหรับ Internet of Things ที่ใช้ในการสื่อสารนั้นไม่เพียงแต่ Internet network เพียงเท่านั้นแต่ยังมีตัวแปลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกนั่นคือ Sensor node ต่างๆจำนวนมากที่ทำให้เกิด wireless sensor network (WSN) ให้กับอุปกรณ์ต่างๆสามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ ซึ่งเจ้า WSNs นี่เองสามารถตรวจจับปรากฏการณ์ต่างๆ (physical phenomena) ในเครือข่ายได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น แสง อุณหภูมิ ความดัน เป็นต้น เพื่อส่งค่าไปยังอุปกรณ์ในระบบให้ทำงานหรือสั่งงานอื่นๆต่อไป





ภาพอธิบาย Wireless Sensor Network โดย purelink.ca


Access Technology

การพัฒนา Internet of Things นั้นนอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีในฝั่ง Hardware ได้แก่ processors, radios และ sensors ซึ่งจะถูกรวมเข้าด้วยกันเรียกว่า a single chip หรือ system on a chip (SoC) แล้วก็ยังพัฒนา WSN ไปพร้อมๆกันด้วย และเมื่อพูดถึงการเชื่อมต่อปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเชื่อมต่อสำหรับ Internet of Things หรือ Access technology มีอยู่ 3 ตัวได้แก่

  1. Bluetooth 4.0
  2. IEEE 802.15.4e
  3. WLAN IEEE 802.11™ (Wi-Fi)


โดยในแต่ละ Access technologies นั้นมีการส่งข้อมูลที่แตกต่างกันดังนี้


                                          IEEE 802.15.4e             Bluetooth             WLAN IEEE 802.11

Frequency                   868/915 MHz,2.4 GHz       2.4 GHz                 2.4, 5.8 Ghz

Data rate                           250 Kbps                        723 Kbps             11 – 105 Mbps

Power                                Very low                          Low                        High


Gateway Sensor Nodes

เมื่อมีโครงข่าย Sensor nodes แล้วก็จำเป็นจะต้องมี Gateway Sensor Nodes เพื่อจะเชื่อมต่อไปยังโลกอินเตอร์เน็ตด้วย โดยตัว Gateway นี้จะทำหน้าที่เชื่อมต่อไปยังเครือข่าย Internet ให้อุปกรณ์ทั้งหมดในโครงข่าย Sensor nodes ทั้งหมดส่งข้อมูลเข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้นั่นเอง และเจ้า Gateway ที่ว่านี้ก็จะอยู่ภายใต้ Local network ซึ่งจะมีการกำหนดกันต่อไปว่า Gateway ภายใต้ Local network ที่ว่านั้นจะให้เชื่อมต่อไปยัง Internet ได้ด้วยหรือไม่ถ้าไม่ได้อุปกรณ์ที่เชื่อมเข้ามาใน Gateway ก็อาจจะสื่อสารกันได้เฉพาะภายใน Local network เองได้เท่านั้น
ภาพแสดง WSN Nodes 


ภาพ Diagram อธิบายการเชื่อมต่อ Gateway หลายๆตัวเข้ากับ local network


แบ่งกลุ่ม Internet of Things

ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่ม Internet of Things ออกตามตลาดการใช้งานเป็น 2 กลุ่มได้แก่

Industrial IoT คือแบ่งจาก local network ที่มีหลายเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในโครงข่าย Sensor nodes โดยตัวอุปกรณ์ IoT Device ในกลุ่มนี้จะเชื่อมต่อแบบ IP network เพื่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ต

Commercial IoT คือแบ่งจาก local communication ที่เป็น Bluetooth หรือ Ethernet (wired or wireless) โดยตัวอุปกรณ์ IoT Device ในกลุ่มนี้จะสื่อสารภายในกลุ่ม Sensor nodes เดียวกันเท่านั้นหรือเป็นแบบ local devices เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เชื่อมสู่อินเตอร์เน็ต



ภาพอธิบายแต่ละ Network Layers ของ Internet of Things โดย IBM

IPv6 คือส่วนสำคัญของ Internet of Thingsตัวอุปกรณ์ IoT devices ต่างๆนั้นจะเป็นจะต้องมีหมายเลขระบุเพื่อให้ใช้ในการสื่อสารเปลี่ยนเสมือนที่อยู่บ้านของเรานั่นเอง และการที่จะทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก(รวมถึงอนาคตที่จะผลิตกันออกมา) จำเป็นจะต้องใช้ IP Address vesion 6 หรือ IPv6 มากำกับเพื่อให้ได้หมายเลขที่ไม่ซ้ำกันและต้องใช้ได้ทั้ง

  • IoT network ที่เป็น LAN, PAN, และ BAN: Body Area Network หรือการสื่อสารของตัว Sensor กับร่างกายมนุษย์
  • Internet network (protocols) ที่เป็น IP, UDP, TCP, SSL, HTTP, HTTPS, และอื่นๆ


และที่กล่าวมาทั้งหมดคือส่วนสำคัญต่างๆของ Internet of Things ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายคนเข้าใจภาพของ IoT ได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือศัพท์คำนี้จึงไม่ได้หมายถึง Smart device อย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ อย่าง Apple Watch หรือสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่มันยังครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆอีกหลากหลายล้านตัวกว้างไกลไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยในอนาคตคุณจะได้เห็น ไมโครเวฟคุยกับตู้เย็นให้สั่งอาหารมาเติม เครื่องซักผ้าคุยกับทีวีบอกคุณว่าผ้าซักเสร็จแล้ว สายรัดข้อมือจะคุยกับรถพยาบาลแจ้งให้ไปรับตัวผู้ป่วยที่กำลังหัวใจวาย เหล่านี้คืออนาคตของ Internet of Things ที่สิ่งต่างๆกำลังจะคุยกันได้

ที่มา http://www.veedvil.com/news/internet-of-things-iot/

Disruptive Technologies


สมัยก่อนเชื่อกันว่า มีเพียงความเชื่อ ความศรัทธา ค่านิยม และศาสนาเท่านั้น ที่ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่งมา 200 กว่าปีหลังนี้ที่มนุษย์ตระหนักว่าเทคโนโลยีนี่แหละคือตัวการสำคัญที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 40 กว่าปีหลังนี้ที่เทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดสังคมใดที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็มีโอกาสถูกทิ้งไปไม่เห็นฝุ่น

ที่จริงมนุษย์ในโลกตะวันตกเริ่มเห็นแล้วว่าเครื่องมือตีพิมพ์ข้อความได้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1439 โดย Johannes Gutenberg ซึ่งสิ่งนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อของคนเป็นอย่างมาก ศาสนาคริสต์สามารถเผยแพร่คำสอนผ่านการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลทำให้ศาสนาคริสต์กระจายไปทั่วโลกได้ก็เพราะเทคโนโลยีนี่แหละ

มีการกล่าวกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย คือ นอร์เวย์ สวีเดน และ เดนมาร์ก ซึ่งเป็นลูกหลานไวกิ้ง สามารถไล่ทันอังกฤษซึ่งมีอารยธรรมก่อนหน้าได้ก็เพราะการแพร่ของศาสนาคริสต์ไปในบริเวณนี้เมื่อประมาณ ค.ศ. 1100 ซึ่งพระบังคับให้ทุกคนต้องอ่านหนังสือให้ออก หากพระไปตรวจสอบและพบว่าใครอ่านหนังสือไม่ออกก็จะถูกประจาน เอามานั่งกันไว้เป็นพิเศษแถวหน้าในโบสถ์ และทำพิธีให้ไม่ได้ เช่น แต่งงาน ดังนั้นทุกครอบครัวจึงต้องบีบบังคับ ดูแล ให้ลูกหลานอ่านหนังสือออก ซึ่งเป็นหัวใจไปสู่การมีคุณภาพชีวิตระดับโลกในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ในปี 1969 ที่เทคโนโลยี IT เริ่มเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลง วิธีการดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป วิวัฒนาการของเทคโนโลยีก็ไปไม่หยุด จนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในปัจจุบันที่มีการผสมผสานของเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมี IT คอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เป็นแกนนำ ปัจจุบันมีคำเรียกบรรดาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า disruptive technologies

disrupt หมายถึง ขัด ขวาง กีดขวาง หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงให้เปลี่ยนไปจากสภาวะที่ดำรงอยู่ การเรียกเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่า disruptive technologies มิได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่ ประการสำคัญก็คือกระทบต่อการทำมาหากิน ธุรกิจ การดำเนินชีวิตของผู้คน ฯลฯ

ในตอนแรกใน ค.ศ. 1995 นิยมเรียกกันว่า disruptive innovation ซึ่งเน้นไปที่นวัตกรรมที่มีลักษณะขัดขวางดังกล่าว ตัวอย่างที่พูดกันก็คือรถยนต์ Ford Model T ออกสู่ตลาดใน ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากจนทดแทนรถม้าไปหมดในสหรัฐอเมริกา และต่อมาในยุโรป

ที่จริงรถยนต์เกิดก่อนรถ Ford รุ่นนี้ 30 ปี แต่ไม่เป็น disruptive innovation เพราะราคาแพง มีคนใช้ไม่กี่คัน มีการพัฒนาเป็นลำดับแต่ไม่สามารถทดแทนรถม้าได้ แต่เมื่อ Ford Model T ออกมาในราคาถูกเพราะผลิตเป็นกอบเป็นกำและใช้งานได้ดี รถม้าก็หายไปเพราะนวัตกรรมนี้ มันจึงเป็น disruptive innovation อย่างแท้จริง

การปรากฏตัวของ Wikipedia ในโลกไซเบอร์ก็เป็น disruptive innovation เพราะไปทดแทนเอ็นไซโคลพีเดียชุดที่เป็นหนังสือและที่เป็นดิจิทัลอยู่ในไซเบอร์ซึ่งทั้งหมดต้องซื้อ เพราะ Wikipedia ฟรี และสะดวกต่อการใช้

ในเวลาต่อมา Clayton M. Christensen เจ้าพ่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (ขายหนังสือสุดฮิต Innovator’s Dilemma, 1997) จุดประกายเรื่อง disruptive technologies โดยกล่าวว่า ประการแรกของเทคโนโลยี คือ sustaining technology ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยละน้อยและ disruptive technology ซึ่งเป็นพายุลูกใหม่ ในตอนแรกอาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ disruptive technology

ลองมาดูกันว่า disruptive technology ตามที่ McKinsey Global Institute ประมวลไว้ 12 อย่างมีอะไรบ้าง

(1) Mobile internet เครื่องมือใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทั่วโลกที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น laptop/smartphones ทำอะไรได้มากมาย เช่น สามารถตรวจโรคระยะไกล (เจาะเลือดและให้เครื่องมือติดตั้งกับ smartphones ตรวจน้ำตาลในเลือด) หรือ mobile banking ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

(2) Automation of knowledge work ขณะนี้ IBM ประดิษฐ์เครื่องมือชื่อว่า Watson ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคจากข้อมูลและอาการ ร่างคำฟ้อง และแนะนำเรื่องกฎหมาย สร้างซอฟต์แวร์ที่ “ฉลาด” คิดวิเคราะห์ได้จากข้อมูลที่ใส่เข้าไป

(3) Internet of Things (IOT) ให้ IP address แก่สารพัดสิ่ง ไม่ว่าตัวสินค้า เม็ดยา ชิ้นวัสดุ โดยฝังเซ็นเซอร์ขนาดเล็กจนถึงเล็กที่สุดเพื่อส่งข้อมูลสื่อสาร ซึ่งสามารถเอาไปใช้งานได้ เช่น คุณภาพของดิน รู้จากเซ็นเซอร์ที่โรยไว้ในดิน ก็จะรู้ว่าควรปลูกอะไร ใส่เซ็นเซอร์ในเม็ดยาเพื่อให้ปล่อยสารอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ฯลฯ

(4) Advanced robotics หุ่นยนต์ผ่าตัดเพื่อให้คนไข้ถูกกระทบน้อยที่สุด และผ่าตัดอย่างแม่นยำ (da Vinci เป็นชื่อที่รู้จักกันดี) หรือใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าปรมาณู

(5) Cloud technology เทคโนโลยีเก็บข้อมูลและซอฟต์แวร์รวมเพื่อใช้งาน ซึ่งช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องลงทุนด้านคอมพิวเตอร์สูง

(6) Autonomous vehicles ได้แก่ drones ใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง ไว้ถ่ายรูป สำรวจผลผลิตเกษตรหรือป่าหรือแหล่งน้ำ ฯลฯ ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเริ่มมีออกมาใช้บ้างแล้วในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

(7) Next-generation genomics เทคโนโลยีปรับปรุงพัฒนายีนเพื่อรักษาโรค ตลอดจนพัฒนาพันธุ์สัตว์ พืช ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

(8) Next-generation storage เทคโนโลยีเก็บไฟฟ้าและพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ ลิเทียม-ไอออน ที่มีประสิทธิภาพสูง สร้าง fuel cells เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ ตลอดจนนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด

(9) 3D printing การพิมพ์ระบบ 3 มิติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดต่ำลง เช่น การพิมพ์สินค้าออกมาเป็นชิ้นที่จับต้องได้ทำให้เลือกแบบที่ต้องการได้ในราคาถูก นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในด้านทันตกรรมและการแพทย์อีกด้วย

(10) Advanced materials การผลิตวัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุที่ทำความสะอาดตัวเอง กลับสู่สภาพเดิมเสมอ แข็งแรงและเบาเป็นพิเศษ หรือเป็นสารตัวนำไฟฟ้า กำลังก้าวหน้าไปไกลทุกขณะ

(11) Advanced oil and gas exploration and recovery เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการบุกเบิกขุดค้นหาน้ำมันและก๊าซ ทำให้ได้น้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น

(12) Renewable electricity เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่มีวันหมด เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด ลม คลื่น น้ำพุร้อน ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ มีตัวเลขว่าก่อนปี 2050 มีความเป็นไปได้สูงที่แหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะเป็นดวงอาทิตย์

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง มีความก้าวหน้าตลอดเวลา การที่มันจะเป็น disruptive technologies หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ถูกกระทบปรับตัวได้ดีเพียงไร สิ่งสำคัญที่จะช่วยก็คือการมีทัศนคติที่เป็นบวกว่ามันคือโอกาส ไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำลาย และพร้อมที่จะนำมันมาปรับใช้

ที่มา: ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่อังคาร 22 พ.ย. 2559

กรุงศรีอยุธยา 1 ในเมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์





งามตระการตา.. มุมหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์กรุงเก่ายามราตรี สะท้อนอดีตอันรุ่งโรจน์ยาวนานกว่า 400 ปี ของราชธานีแห่งอาณาจักรสยาม การศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในช่วง 15-20 ที่ผ่านมาได้พบข้อมูลว่าเมื่อ 3 ศตวรรษก่อน กรุงศรีอยุธยามีประชากรถึง 1 ล้านคน เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำ ศูนย์กลางศิลปะวิทยาการและการค้าขายกับแว่นแคว้นต่างๆ การเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกเริ่มขึ้นในยุคนี้ แต่.. "อูเดีย" ที่ชาวฝรั่งเศสเรียกขานย่อยยับลงในปี พ.ศ.2310 ด้วยมือของอาณาจักรใหม่ที่เข้มแข็งกว่า .. และอยู่ใกล้ๆ กัน. -- ภาพ: Tour.Co.Th



ในช่วงหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์โลก กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นนครใหญ่อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่มีแห่งอื่นใดสามารถเปรียบเทียบได้ ที่นี่เป็นแหล่งแห่งความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด เป็นแหล่งค้าขายระหว่างประเทศ เป็นแหล่งวิวัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นอู่อารยธรรมอีกแห่งหนึ่งในซีกโลกตะวันออก 

เทอร์เทียส แชนดเลอร์ (Tertius Chandler, 2458-2543) นักประวัติศาสตร์อิสระที่ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์โลกแนวก้าวหน้า ได้เคยศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณจากแหล่งต่างๆ เอาไว้ในหนังสือ Four Thousand Years of Urban Growth อันมีชื่อเสียงของเขา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2530

ศ.จอร์จ โมเดลสกี (George Modelski) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้ศึกษาเรื่องนี้มานาน และเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ในหนังสือ World City -3000 to 2000 ซึ่งเป็นเรื่องราวการวิวัฒน์ของเมืองต่างๆ ทั่วโลกในระยะเวลา 5,000 ปี คือ จากช่วงก่อนคริสต์ศักราช 3,000 ปี จนถึง ปี ค.ศ.2000

แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งชื่อ “อยุธยา” ได้ปรากฏในทำเนียบ 16 เมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษย์ และเรื่องนี้ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้

นั่นคือการศึกษาเปรียบเทียบแบบเดียวกันกับมหานครนิวยอร์กในศตวรรษที่ 20 กรุงลอนดอนในทศวรรษที่ 1900 และย้อนหลังไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบุล) เมื่อก่อนคริสต์ศักราช 600 ปี หรือเมืองเจริโค (Jericho) เมื่อ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล

ทั้งหมดเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยที่นำมนุษย์เข้าสู่อีกยุคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม หรือการค้า แต่ละเมืองล้วนสิ้นสุดยุคแห่งความยิ่งใหญ่ต่างกันไป บางแห่งถูกเมืองอื่นๆ ร่วมยุคเดียวกันแซงหน้าในด้านความใหญ่โต และจำนวนประชากร และบางแห่งสิ้นสุดลงเพราะถูกทำลาย...

ภายใต้การศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดแบบ “ถึงก้นครัว” ตั้งแต่เรื่องการผลิต และจ่ายแจกอาหารในหมู่ประชากร รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตในอุบัติภัยร้ายแรงต่างๆ ฯลฯ นักประวัติศาสตร์ได้พบว่า กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ด้วยประชากรราว 1,000,000 คน

ช่วง 400 ปีของกรุงศรีอยุธยานั้น นักการทูตชาวตะวันตกที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีด้วยได้เคยบันทึกเอาไว้ว่า เป็นเมืองที่สวยงาม .. แต่น่าเสียดายที่ถูกพม่าโจมตี และเผาทำลายราบในปี ค.ศ.1767 (พ.ศ.2310) และศูนย์กลางของราชอาณาจักรใหม่ได้ย้ายลงไปยังกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน.

ยุคทองแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา




ถึงแม้จะไม่มีปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย แต่นักการทูตตะวันตกที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาได้วาดแผนที่แบบเดียวกันนี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก นักประวัติศาสตร์ในสหรัฐฯ ที่ศึกษาคนคว้าในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา พบว่าเมื่อประมาณ 3 ศตวรรษที่แล้วที่นี่มีประชากรถึง 1 ล้านคน และจัดให้เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคสมัย อยู่ในลำดับที่ 13 เมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของมวลมนุษย์.





ภาพวาดของชาวตะวันตกที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อ 300 ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นวัดวาอาราม ปราสาทราชวังและกิจกรรมในแม่น้ำเจ้าพระยา นักการทูตฝรั่งเศสบันทึกเอาไว้ว่า "อูเดีย" เป็นเมืองที่สวยงาม.. นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่พบว่า เมืองหลวงของราชอาณาจักรสยามแห่งนี้เคยมีประชากรถึง 1,000,000 คน ใหญ่โตที่สุดในยุคสมัย.




รถม้าสะท้อนความเป็นตะวันตก ขบวนช้างบ่งบอกความเป็นตะวันออก กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นแหล่ง "ปะทะ" ระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก หลายอาณาจักรมุ่งไปยังที่นั่นเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและประกอบการค้าขาย ในยุคที่อยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนประชากรถึง 1,000,000 คน.





แผนที่ฝรั่งเศสปีพ.ศ.2229 แสดงอาณาเขตของอาณาจักรสยาม พุกาม เขมร ลาว โคชินจีนกับแคว้นตังเกี๋ย ทั้งหมดเป็นแว่นแคว้นในสายตาของชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคในยุคนี้ นั่นคือช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นยุคทองของ "อูเดีย" มีแผนที่แบบเดียวกันนี้อีกจำนวนมาก ที่สะท้อนความรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยาในยุคหนึ่งซึ่งกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งยุค.





ชาวตะวันตกซึ่งเป็นนักวาดเขียนสะท้อนชีวิตความเป็นไปกับความประทับใจเอาไว้มากมาย เมื่อได้ไปเยือนกรุงศรีอยุธยาใน 3-4 ศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มได้ศึกษาและยกให้อยุธยาเป็นหนึ่งใน 16 เมืองใหญ่ของโลก เป็นแหล่งอารยธรรมตะวันออกที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของมวลมนุษย์.





ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศสเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาปาน อัญเชิญพระราชสาสน์จากกรุงศรีอยุธยาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ในกรุงปารีส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักร ในยุคทองของ "อูเดีย" ที่มีประชากรถึง 1,000,000 คน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มศึกษาและได้ข้อมูลตรงกัน ในยุคสมัยหนึ่งอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก.






ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศส บอกเล่าเหตุการณ์ครั้งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสนำพระราชสาสน์จากกรุงปารีสไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีภาพดีๆ เช่นนี้อีกจำนวนมาก ในขณะที่หลักฐานสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกทำลายหรือสูญหายไปในเหตุการณ์ "เสียกรุง" แต่นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มทำการศึกษาและได้ข้อมูลตรงกันว่า กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคหนึ่ง.



ภาพจากเว็บไซต์องค์การยูเนสโกที่ขึ้นทะเบียนกรุงเก่าเป็นมรดกโลกหลายปีก่อน เศียรพระพุทธรูปที่จมอยู่ในโคนต้นไทร สะท้อนการล่มสลายอันขมขื่นของกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ที่นี่เคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคหนึ่ง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่แตกดับลงจากการศึก หลายแห่งล่มสลายไปกับภัยธรรมชาติ บางแห่งพังทลายลงเพราะไม่อาจผลิตอาหารให้พอเลี้ยงดูประชากรได้.


ที่มา http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000008955

16 เมืองใหญ่ในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Jericho

1. เจริโค (Jericho) ใหญ่ที่สุดของโลกในยุค 7,000 ปีก่อนคริสตกาล พลเมือง 2,000 คน ตั้งอยู่ระหว่างทะเลแดงกับภูเขานีโบ (Mt Nebo) เป็นโอเอซิสใหญ่ที่สุด ใช้น้ำจากแม่น้ำจอร์แดน ในคัมภีร์ไบเบิลเก่าบันทึกเอาไว้ว่า เจริโคเป็น “เมืองแห่งต้นปาล์ม” อยู่กันต่อมาอีกหลายยุค และเสื่อมไปกับกาลเวลา

2. อูรุค (Uruk) ใหญ่ที่สุดในยุค 3,500 ปีก่อนคริสตกาล พลเมือง 4,000 คนเป็นเมืองหลวงของแคว้นกิลกาเมช (Gilgamesh) ในมหากาพย์ และเชื่อกันว่าคือเมืองเอเร็ค (Erech) ทีสร้างโดยกษัตริย์นิมรอด (King Nimrod) ในคัมภีร์ไบเบิล อยู่ใกล้แม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates River) ศูนย์กลางการเกษตรและการค้า สงครามในภูมิภาคที่เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2000 BC ยืดเยื้อข้ามศตวรรษ ต่อมา เมืองอูรุคถูกทิ้งให้ร้างไปในยุคก่อนที่ฝ่ายอิสลามเข้าครอบครอง

3. มาริ (Mari) เมืองหลวงแคว้นเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ในยุค 2000 BC ประชากร 50,000 ในยุคของกษัตริย์สุเมเรียน (Sumarite) หลายพระองค์ ก่อนเข้าสูยุคอาโมเรียน (Amorite) มีการสร้างพระราชวังขนาด 300 ห้อง ล่มสลายลงใน 1759 BC ถูกยึดรองโดยกษัตริย์ฮัมมูราบี (Hammurabi) แห่งบาบีลอน ในทศวรรษที่ 1930 นักโบราณคดีฝรั่งเศสค้นพบจารึกภาษาสุเมเรียน 25,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเมือง และเศรษฐกิจ จารึกนี้ทำให้คนรุ่นปัจจุบันรู้จักสภาพการณ์ในยุคนั้น

4. อูร์ (Ur) เป็นเมืองท่าสำคัญในอ่าวเปอร์เซียในยุค 2100 ก่อนคริสตกาล ประชากร 100,000 คน ค้าขายกับทั่วโลก ราว 500 BC ถูกทิ้งเป็นเมืองร้างเพราะภัยแล้งที่เกิดจากแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศทางไหล แต่ยังเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมา การขุดค้นในทศวรรษ 1850 พบซากมนุษย์จำนวนมาก เป็น “เมืองแห่งคนตาย” (City of the Dead) หรือนีโครโพลิส (Necropolis)

5. หยินซู (Yinxu) รุ่งเรืองในช่วง 1300 BC ประชากร 120,000 คน เติบโตจากหมู่บ้านเล็กๆ ในอาณาจักรจีนโบราณ เป็นแหล่งที่ค้นพบจารึกบนกระดูกสัตว์ที่เรียกว่า ออราเคิลโบน (Oracle Bone) จำนวนมาก เขียนด้วยอักษรจีนโบราณ เมืองทรุดโทรมลง และถูกทอดทิ้งในสมัยราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty)

6. บาบีลอน (Babylon) รุ่งเรืองสุดขีดในช่วง 700 BC พลเมือง 100,000 เป็นศูนย์กลางความร่ำรวยแห่งยุคสมัย กษัตริย์ทรงอำนาจ และอิทธิพล เป็นแหล่งของสวนลอยบาบีลอน กับหอคอยแห่งบาเบล (Tower of Babel) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเอาไว้ว่า ชาวบาบีลอนเชื่อมั่นในพระเจ้า และพยายามปีนป่ายไปสู่สวรรค์ ราว 538 BC กษัตริย์ไซรัส (Cyrus) แห่เปอร์เซียยาตราทัพทวนแม่น้ำยูเฟรติสเข้าตี ปล้นสะดมบาบีลอนจนแหลกคามือ

7. คาร์เถจ (Carthage) รุ่งเรืองโดดเด่นในปี 300 BC พลเมือง 100,000 ได้ชื่อเป็นเมืองยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนที่จะถูกกองทัพโรมันที่เหนือกว่าเข้าโจมตี และเผาจนวายวอด และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อ 146 ปีก่อนคริสตกาล

8. โรม (Rome) ยิ่งใหญ่ที่สุดในปี ค.ศ.200 ประชากร 1,200,000 คน เลี้ยงดูชาวเมืองด้วยอาหารจากยุโรป และรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในรูปภาษี ชีวิตอันสุขสบายของชาวโรมันสะท้อนได้ดีมากในภาพยนตร์ เช่น แกลดิเอเตอร์ (Gladiator) ที่นำแสดงโดย รัสเซล โครว์ (Russell Crowe) กับวาวควีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) แต่ปี ค.ศ.273 โรมเหลือประชากรอยู่ราว 500,000 เริ่มเข้าสู่ยุคมืด (Dark Age)

9. คอนสแตนนิโนเปิล (Constantinople) เจริญสุดขีดในปี ค.ศ.600 ประชากร 600,000 คน เป็นศูนย์กลางการค้าขาย อาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลในยุคของจักรพรรดิฟลาวีอุส เฮราคลีอุส ออกัสตัส (Flavius Heraclius Augustus) สงครามเปอร์เซียปี 618 ทำให้การส่งอาหาร และพืชผลการเกษตรจากอียิปต์หยุดชะงัก พลเมืองเริ่มอดอยาก และเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 10 ของจำนวนเมื่อ 18 ปีก่อนหน้านั้น

10. แบกแดด (Bagdad) ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปี ค.ศ.900 ประชากร 900,000 คน ได้ชื่อเป็นศูนย์กลางของยุคทองแห่งศาสนาอิสลาม เป็นศูนย์กลางของศิลปะ และวิทยาการหลายแขนงที่โลกอิสลามใช้มาจนถึงยุคปัจจุบัน แบกแดดเฟื่องฟูอยู่ 300 ปีเศษ ก่อนจะถูกกองทัพมองโกลรุกราน และถูกตีย่อยยับลงในปี 1250

11. ไคเฟิง (Kaifeng) เป็นเมืองใหญ่มากใน ค.ศ.1200 ประชากร 1,000,000 คน ตัวเมืองป้องกันแน่นหนาด้วยกำแพงถึง 3 ชั้น แต่ก็ไม่พ้นเงื้อมมือของมองโกลในการศึกที่ยืดเยื้อ 30 ปีเศษ และปี 1234 ไคเฟิงก็แตกพ่าย ราษฎรหลบหนีไปคนละทิศละทาง ที่นี่ยังมีชุมชนชาวยิวโบราณใหญ่โตที่สุดในจีนอีกด้วย

12. ปักกิ่ง โดดเด่นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1500 ประชากร 1,00,000 คน ใหญ่โตที่สุดในยุค แต่แพ้ภัยตัวเองเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรที่มากมายได้ ราษฎรบุกถางป่าตัดไม้ทำบ้านเรือนที่อาศัย และเผาถ่านเป็นเชื้อเพลิงจนโล่งเตียน ส่งผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมสะท้านสะเทือนไปทั่วภูมิภาค

13. กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวงอาณาจักรสยามโบราณอยู่กว่า 400 ปี แต่ขึ้นนำหน้าทุกเมืองในโลกในปี ค.ศ.1700 (พ.ศ.2243) ประชากร 1,000,0000 คน เป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากสารพัดทิศ รวมทั้งชาวยุโรปด้วย แต่อยุธยาก็สิ้นสุดลงเป็นเถ้าถ่านด้วยน้ำมือของกองทัพพม่า

14. ลอนดอน ใหญ่โตที่สุดในต้นศตวรรษที่ 19 หรือปี ค.ศ.1825 ประชากร 1,335,000 คน ที่อยู่กันแออัดจนเกือบจะทุกย่านของเมืองหลวงมีสภาพเป็นสลัม อาชญากรรมลามเมือง ในปี 1829 รัฐบาลได้ตั้งกองกำลังตำรวจขึ้นอย่างเป็นทางการ ตั้งชื่อตามชื่อของนายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต พีล (Robert Peel) ชาวอังกฤษเรียกตำรวจว่า “บ๊อบบี้ส์” (Bobbies) จนถึงทุกวันนี้

15. นิวยอร์ก ในปี 1925 หรือต้นศตวรรษที่แล้วมีประชากรถึง 7,774,000 คน เป็นมหานครที่มองสู่อนาคตอย่างแท้จริง เป็นแห่งแรกของโลกที่สร้างตึกระฟ้า ถึงแม้ว่าจะเจอสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 แต่การก่อสร้างอาคารสูง เช่น ไครสเลอร์ เอ็มไพร์สเตท ลินคอล์น และอาคารวันวอลสตรีท ฯลฯ ก็ยังดำเนินต่อไป

16. โตเกียว ใน 1968 (พ.ศ.2511) เมืองหลวงของญี่ปุ่นมีประชากรถึง 20,500,000 คน ไม่เคยมีที่ไหนประวัติศาสตร์โลก แต่เศรษฐกิจของประเทศรุ่งเรืองสุดขีด ระหว่างปี 1953-1990 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจยุคหลังสงครามโชติช่วงมากที่สุด ญี่ปุ่นสร้างสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ออกสู่ตลาดโลกมากมายหลายชนิด.


ที่มาhttp://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000008955