งามตระการตา.. มุมหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์กรุงเก่ายามราตรี สะท้อนอดีตอันรุ่งโรจน์ยาวนานกว่า 400 ปี ของราชธานีแห่งอาณาจักรสยาม การศึกษาค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในช่วง 15-20 ที่ผ่านมาได้พบข้อมูลว่าเมื่อ 3 ศตวรรษก่อน กรุงศรีอยุธยามีประชากรถึง 1 ล้านคน เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำ ศูนย์กลางศิลปะวิทยาการและการค้าขายกับแว่นแคว้นต่างๆ การเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกเริ่มขึ้นในยุคนี้ แต่.. "อูเดีย" ที่ชาวฝรั่งเศสเรียกขานย่อยยับลงในปี พ.ศ.2310 ด้วยมือของอาณาจักรใหม่ที่เข้มแข็งกว่า .. และอยู่ใกล้ๆ กัน. -- ภาพ: Tour.Co.Th
ในช่วงหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์โลก กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นนครใหญ่อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไม่มีแห่งอื่นใดสามารถเปรียบเทียบได้ ที่นี่เป็นแหล่งแห่งความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด เป็นแหล่งค้าขายระหว่างประเทศ เป็นแหล่งวิวัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นอู่อารยธรรมอีกแห่งหนึ่งในซีกโลกตะวันออก
เทอร์เทียส แชนดเลอร์ (Tertius Chandler, 2458-2543) นักประวัติศาสตร์อิสระที่ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์โลกแนวก้าวหน้า ได้เคยศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองโบราณจากแหล่งต่างๆ เอาไว้ในหนังสือ Four Thousand Years of Urban Growth อันมีชื่อเสียงของเขา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2530
ศ.จอร์จ โมเดลสกี (George Modelski) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้ศึกษาเรื่องนี้มานาน และเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ในหนังสือ World City -3000 to 2000 ซึ่งเป็นเรื่องราวการวิวัฒน์ของเมืองต่างๆ ทั่วโลกในระยะเวลา 5,000 ปี คือ จากช่วงก่อนคริสต์ศักราช 3,000 ปี จนถึง ปี ค.ศ.2000
แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งชื่อ “อยุธยา” ได้ปรากฏในทำเนียบ 16 เมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษย์ และเรื่องนี้ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้
นั่นคือการศึกษาเปรียบเทียบแบบเดียวกันกับมหานครนิวยอร์กในศตวรรษที่ 20 กรุงลอนดอนในทศวรรษที่ 1900 และย้อนหลังไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบุล) เมื่อก่อนคริสต์ศักราช 600 ปี หรือเมืองเจริโค (Jericho) เมื่อ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล
ทั้งหมดเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยที่นำมนุษย์เข้าสู่อีกยุคหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม หรือการค้า แต่ละเมืองล้วนสิ้นสุดยุคแห่งความยิ่งใหญ่ต่างกันไป บางแห่งถูกเมืองอื่นๆ ร่วมยุคเดียวกันแซงหน้าในด้านความใหญ่โต และจำนวนประชากร และบางแห่งสิ้นสุดลงเพราะถูกทำลาย...
ภายใต้การศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดแบบ “ถึงก้นครัว” ตั้งแต่เรื่องการผลิต และจ่ายแจกอาหารในหมู่ประชากร รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตในอุบัติภัยร้ายแรงต่างๆ ฯลฯ นักประวัติศาสตร์ได้พบว่า กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ด้วยประชากรราว 1,000,000 คน
ช่วง 400 ปีของกรุงศรีอยุธยานั้น นักการทูตชาวตะวันตกที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีด้วยได้เคยบันทึกเอาไว้ว่า เป็นเมืองที่สวยงาม .. แต่น่าเสียดายที่ถูกพม่าโจมตี และเผาทำลายราบในปี ค.ศ.1767 (พ.ศ.2310) และศูนย์กลางของราชอาณาจักรใหม่ได้ย้ายลงไปยังกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน.
ยุคทองแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ถึงแม้จะไม่มีปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย แต่นักการทูตตะวันตกที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาได้วาดแผนที่แบบเดียวกันนี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก นักประวัติศาสตร์ในสหรัฐฯ ที่ศึกษาคนคว้าในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา พบว่าเมื่อประมาณ 3 ศตวรรษที่แล้วที่นี่มีประชากรถึง 1 ล้านคน และจัดให้เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคสมัย อยู่ในลำดับที่ 13 เมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของมวลมนุษย์.
ภาพวาดของชาวตะวันตกที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อ 300 ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นวัดวาอาราม ปราสาทราชวังและกิจกรรมในแม่น้ำเจ้าพระยา นักการทูตฝรั่งเศสบันทึกเอาไว้ว่า "อูเดีย" เป็นเมืองที่สวยงาม.. นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่พบว่า เมืองหลวงของราชอาณาจักรสยามแห่งนี้เคยมีประชากรถึง 1,000,000 คน ใหญ่โตที่สุดในยุคสมัย.
รถม้าสะท้อนความเป็นตะวันตก ขบวนช้างบ่งบอกความเป็นตะวันออก กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นแหล่ง "ปะทะ" ระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก หลายอาณาจักรมุ่งไปยังที่นั่นเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและประกอบการค้าขาย ในยุคที่อยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนประชากรถึง 1,000,000 คน.
แผนที่ฝรั่งเศสปีพ.ศ.2229 แสดงอาณาเขตของอาณาจักรสยาม พุกาม เขมร ลาว โคชินจีนกับแคว้นตังเกี๋ย ทั้งหมดเป็นแว่นแคว้นในสายตาของชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคในยุคนี้ นั่นคือช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นยุคทองของ "อูเดีย" มีแผนที่แบบเดียวกันนี้อีกจำนวนมาก ที่สะท้อนความรุ่งโรจน์ของกรุงศรีอยุธยาในยุคหนึ่งซึ่งกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งยุค.
ชาวตะวันตกซึ่งเป็นนักวาดเขียนสะท้อนชีวิตความเป็นไปกับความประทับใจเอาไว้มากมาย เมื่อได้ไปเยือนกรุงศรีอยุธยาใน 3-4 ศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มได้ศึกษาและยกให้อยุธยาเป็นหนึ่งใน 16 เมืองใหญ่ของโลก เป็นแหล่งอารยธรรมตะวันออกที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 5,000 ปีของมวลมนุษย์.
ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศสเมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาปาน อัญเชิญพระราชสาสน์จากกรุงศรีอยุธยาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ในกรุงปารีส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชอาณาจักร ในยุคทองของ "อูเดีย" ที่มีประชากรถึง 1,000,000 คน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มศึกษาและได้ข้อมูลตรงกัน ในยุคสมัยหนึ่งอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก.
ภาพเขียนของชาวฝรั่งเศส บอกเล่าเหตุการณ์ครั้งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสนำพระราชสาสน์จากกรุงปารีสไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีภาพดีๆ เช่นนี้อีกจำนวนมาก ในขณะที่หลักฐานสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกทำลายหรือสูญหายไปในเหตุการณ์ "เสียกรุง" แต่นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในยุคใหม่ 2 กลุ่มทำการศึกษาและได้ข้อมูลตรงกันว่า กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคหนึ่ง.
ภาพจากเว็บไซต์องค์การยูเนสโกที่ขึ้นทะเบียนกรุงเก่าเป็นมรดกโลกหลายปีก่อน เศียรพระพุทธรูปที่จมอยู่ในโคนต้นไทร สะท้อนการล่มสลายอันขมขื่นของกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 ที่นี่เคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคหนึ่ง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่แตกดับลงจากการศึก หลายแห่งล่มสลายไปกับภัยธรรมชาติ บางแห่งพังทลายลงเพราะไม่อาจผลิตอาหารให้พอเลี้ยงดูประชากรได้.
ที่มา http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000008955
|
วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
กรุงศรีอยุธยา 1 ในเมืองใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น