พลังดูดดาวชาวโพ้นทะเล จีนขยาย 5 ปี วีซ่าลูกหลานชาติพันธุ์มังกร
เผยแพร่: 3 ก.พ. 2561 10:10:00 โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล
https://mgronline.com/china/detail/9610000011137
แผนภาพแสดงจำนวนประชากรจีนโพ้นทะเลที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก (ภาพจาก http://greaterpacificcapital.com)
MGR Online / เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ (30 ม.ค.) - ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษจากประเทศจีน จะได้รับอนุญาตให้ยื่นขอวีซ่าเพื่ออนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา 5 ปี หรือเข้าออกประเทศหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว (Multiple Entry) หากพวกเขามีคุณสมบัติตามเกณฑ์
นโยบายฉบับใหม่ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้มีการปรับปรุงวีซ่า Multiple Entry โดยล่าสุด สำหรับกลุ่มนี้ ชาวต่างชาติที่สืบเชื้อสายมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จะสามารถขยายระยะเวลาการพำนัก หรือเข้าออกประเทศหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวได้ตั้งแต่ 3 - 5 ปี
ตามที่ทางการประกาศโดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่าจะดึงดูดผู้คนชาติพันธุ์จีนจำนวนมากในต่างประเทศเพื่อเข้ามาทำธุรกิจหรืออาศัยอยู่ในประเทศจีนได้
ตามคำจำกัดความอย่างเป็นทางการของจีน คนต่างด้าวที่มีถิ่นกำเนิดในจีน หมายถึงพลเมืองจีนเดิมที่ได้รับสัญชาติของต่างประเทศ หรือลูกหลานของอดีตพลเมืองจีน
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษคนหนึ่งเป็นพลเมืองจีน โดยไม่จำกัด จำนวนหรือลำดับของรุ่นสืบทอดเชื้อสาย เพียงสามารถพิสูจน์ชาติกำเนิดจีนก็เพียงพอ อาทิ เอกสารประจำตัวทางการ ที่พิสูจน์แหล่งกำเนิดของประเทศจีน
แนวคิดสิทธิพิเศษสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลนี้ เบื้องต้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อช่วยกระตุ้นแรงงานเศรษฐกิจใหม่ๆ สร้างธุรกิจ หรือปรับสมดุลแรงงานจีนที่เริ่มปรับตัวลดต่ำตามโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่หากติดตามแนวคิดเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเข้าใจว่านโยบายชาวจีนโพ้นทะเล คือพลังสร้างชาติจีนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และได้รับการเน้นย้ำสำคัญ ในยุคสี จิ้นผิง อีกครั้ง
นโยบายชาวจีนโพ้นทะเล เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ผู้เชื่อว่าชาวจีนโพ้นทะเลมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีน มุมมองดังกล่าวไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ได้สร้างความเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับจีน ตลอดช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขามีอำนาจมากขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. 2555 China.org.cn. เคยเผยตัวเลขประชากรจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ในเอกสาร "Reforms urged to attract overseas Chinese" ว่ามีอยู่ทั่วโลกราว 50 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ประชากรจีนโพ้นทะเลมีสัดส่วนเป็นประชากรในประเทศสิงคโปร์ 75%, ในประเทศไทย 14%, มาเลเซีย 23%, อินโดนีเซีย และบรูไน ประเทศละ 10% เหล่านี้ คงสมกับคำเปรียบเปรยที่เคยมีผู้กล่าวเล่นๆ ว่า "หากคนเชื้อสายจีนทั่วโลกกระโดดพร้อมกัน พื้นโลกคงจะสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว"
เพียงเฉพาะเมืองท่าฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางใต้ของจีน บ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อพยพถิ่นฐานไปต่างประเทศ ก็เป็นมณฑลที่ สี จิ้นผิง เองมีความผูกพันมาก ด้วยทำงานนานถึง 17 ปี และเติบใหญ่จากพื้นที่นี้ เป็นรองนายกเทศมนตรีเมืองเซียะเหมินในปี 2528 ก่อนจะเป็นนายกเทศมนตรีเมืองฝูโจว เมืองเอกของฝูเจี้ยน โดยดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2545
ประมาณกันว่า ชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 2.5 ล้านชีวิต ที่กระจายอยู่ใน 50 กว่าประเทศและเขตแดนทั่วโลก เดินทางมาจากเมืองฝูโจว ท่าริมทะเลเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความภาคภูมิใจของมวลชนสายเลือดจีนอย่างล้นเหลือ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งวงการวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในวงการวิสาหกิจระดับโลก ตัวอย่างเช่น เจ้าพ่อการเงินและการคลัง หลินเส้าเหลียง (林绍良) เจ้าพ่อน้ำตาลโลก กัวเฮ่อเหนียน (郭鹤年) ราชาบุหรี่ ไช่หยวนฮุย (蔡元辉) และพ่อค้าไม้ผู้ยิ่งใหญ่ หวงซวงอัน (黄双安)
จวง กั่วถู วัย 64 ปี ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มณฑลฝูเจี้ยน ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน คือหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษา และวิจัยฯ ช่วยงานรัฐบาลกำหนดนโยบายการมีส่วนร่วมกับชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้น
ล่าสุดปีที่แล้ว จวง กั่วถู เคยให้สัมภาษณ์กับ นิคเคอิ (Nikkei) สื่อญี่ปุ่น เกี่ยวกับบทบาทของจีนโพ้นทะเลกับประเทศจีนในยุคสมัยผู้นำ สี จิ้นผิง ว่า ข้อมูลตัวเลขฯ ล่าสุด สำรวจพบจำนวนผู้อพยพชาวจีนรวมทั้งชาวจีนผู้เปลี่ยนสัญชาติ อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านคน จำนวนดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้ศึกษาอยู่ในต่างประเทศมากขึ้น ในแง่ของประชากร 60 ล้านคนนี้ นับว่าใกล้เคียงกับประเทศหนึ่งๆ เลยทีเดียว จำนวนประชากรนี้หากเทียบลำดับเป็นประเทศ ก็อยู่ประมาณอันดับ 25 ของโลก
โดยรวมแล้วชาวจีนโพ้นทะเล ถือครองสินทรัพย์สินทรัพย์มากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ มีอิทธิพลทางสินทรัพย์เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วทีเดียว
ผู้อพยพชาวจีนที่ร่ำรวยที่สุดมาจากฝูเจี้ยน และโดยส่วนใหญ่ของมหาเศรษฐีในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ก็ล้วนอพยพมาจากฝูเจี้ยน
ประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ในประเทศไทย ก็อพยพจากเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับฝูเจี้ยน
ชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในเซียะเหมินและฝูโจว ดังนั้นสี จิ้นผิง จึงให้ความสำคัญกับชาวจีนโพ้นทะเลอย่างมาก
แม้กระทั่งเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ในปีพ. ศ. 2521 ก็ให้ความสำคัญ อาศัยพลังมหาศาลของชาวจีนโพ้นทะเลช่วยสร้างชาติ ฟื้นฟูความบอบช้ำจากสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้นเขาจึงได้ริเริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในภูมิลำเนาถิ่นฐานของผู้อพยพ
ถ้าไม่ใช่ภูมิลำเนาฝูเจี้ยนของผู้อพยพชาวจีนนี้ การปฏิรูปและการเปิดเสรีจะต้องใช้เวลามากกว่าจะเกิดผล เพราะบริษัทต่างชาติ ชะลอการลงทุนในจีนตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2532 ในเวลานั้นมีเพียงผู้อพยพชาวจีนที่เป็นกำลังสำคัญ
สี จงชุน อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของประธาน เหมา เจ๋อตง และเป็นบิดาของสี จิ้นผิง คือนักการเมืองคนแรกที่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้อพยพชาวจีน ในการประชุมในปีพ. ศ. 2527 ซึ่งรวบรวมผู้บริหารระดับสูงจากชนบทที่ดูแลเรื่องต่างๆ เขากล่าวว่าผู้อพยพชาวจีนมีความสามารถด้านการจัดการ ด้านการเงิน เทคโนโลยีและการจัดการธุรกิจ และเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีนต้องอาศัยบทบาทพวกเขา
โครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งทาง (เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับเอเชียและยุโรป) ประกอบด้วยเส้นทางบกและทางเดินเรือ เส้นทางบกมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เส้นทางการเดินเรือมีความสำคัญมาก ไม่เพียงในด้านความมั่นคง แต่ยังมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของผู้อพยพชาวจีน
สี จิ้นผิง เข้าใจถึงความสำคัญของชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ จึงริเริ่มที่จะรวมเส้นทางเดินเรือไว้ด้วย
แม้สหรัฐฯ เอง ก็กำลังมีจำนวนผู้อพยพชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพชาวจีน ประมาณ 4.6 ล้านคน คาดว่าจะขยายตัวเป็น 6 ล้านคน ภายใน 10 ปี และเป็น 10 ล้านคน ภายใน 20 ปี ซึ่งหมายความว่าชาวจีนโพ้นทะเล อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันนี้ ผู้อพยพหลายคนที่ทำงานในสหรัฐฯ ก็เป็นชาวฝูเจี้ยน ประมาณ 1 ล้านคน
จวง กั่วถู กล่าวว่า "ชาวจีนอพยพใหม่" (ผู้คนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่อันเป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปและการเปิดเสรี) จะสามารถประสานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ได้ดี แม้ในประวัติศาสตร์เองก็ตาม ซุนยัตเซน บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน ก็เป็นชาวจีนโพ้นทะเล ที่ครอบครัวอพยพไปฮาวาย
ผู้อพยพชาวจีนจำนวนมากในสหรัฐฯ รวมทั้งชาวไต้หวันทำงานในระดับสูงของรัฐบาลอเมริกัน และยังจะมีตำแหน่งอีกมากที่รออยู่ ซึ่งชาวเชื้อสายจีนไม่ว่าจะมาจากไต้หวันหรือแผ่นดินใหญ่ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดี คงไม่ต้องการจะเห็นความบาดหมางในความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน และคงจะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคี
ถึงที่สุดแล้ว ผู้อพยพชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพราะหากมีเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรง จะส่งผลเป็นชนวนโดยตรงกับชีวิตชาวจีนอพยพในประเทศต่างๆ
"ผู้อพยพใหม่" มีลักษณะเฉพาะฯ ร่วมกัน 3 ประการ คือมีการศึกษาสูง มีฐานะร่ำรวย และช่วยสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ คุณลักษณะเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และภูมิภาคต่างๆ
โดยสรุปรวมแล้ว นัยยะสำคัญความสำเร็จของจีนทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับคนเชื้อชาติจีนในประเทศต่างๆ ด้วย เพราะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมและการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อฯ ในความเป็นหนึ่งเดียวอันมั่งคั่งยั่งยืนสมานฉันท์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น