วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

Exponential Transformation

Salim Ismail กูรูด้าน Exponential Transformation เผยเคล็ดลับในการปรับองค์กรเพื่อรองรับ Accelerating Technologies

วันที่ 11 มี.ค. คณะบัญชีๆ จุฬาฯ ร่วมกับ SET จัดงานสัมมนา "How to Transform Your Business to Become an Exponential Company in a Digital Era" มีประเด็นน่าสนใจดังนี้

## Accelerating Technologies เป็นอย่างไร ##

Accelerating Technologies ทำให้ธุรกิจสามารถโตได้แบบก้าวกระโดด เช่น AI, robotics, biotech เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มขีดความสามารถได้แบบทวีคูณ เหมือนใน Moore’s law ที่บอกว่าจำนวน transistor ในแผงวงจรเพิ่มจำนวนขึ้นได้ทุกๆ 2 ปี การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ในช่วงเริ่มต้นอาจช้า แต่พอถึงจุดก็สามารถพุ่งทะยานแต่ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น drone ที่ในอดีตไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มาก แต่ปัจจุบันสามารถบรรทุกของหนัก 600 กิโลกรัมได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร การลดลงของต้นทุนของการผลิตแสงสว่าง ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ หรือรายได้จากการโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะเกิดอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนธุรกิจในอดีต

เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อให้เกิด 4D ซึ่งประกอบด้วย Digitize, Disrupt, Demonetize และ Democratize

## 1. Digitize ##
เมื่อกิจกรรมต่างๆ เป็น digital มากขึ้นผ่าน Internet of Things (IOT) ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะมีอุปกรณ์ถึง 1 ล้านล้านตัวในปี 2030 ที่สามารถเชื่อมต่อ Internet ได้ ทำให้มีข้อมูลที่ทำประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น มีบริษัท startup ใน Israel สามารถใช้คลิปเสียงเพียง 10 วินาทีวิเคราะห์อารมณ์ของผู้พูดได้ด้วยความแม่นยำถึง 85%

## 2. Disrupt ##
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยน

สมัยก่อนกล้องต้องใช้ฟิล์ม ทำให้เวลาถ่ายภาพต้องระมัดระวังเนื่องจากความจุมีจำกัด คอร์สสอนถ่ายรูปจึงมีความจำเป็น แต่พอมีกล้องดิจิตัล ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความจุอีกต่อไป ก็ไม่จำเป็นต้องมีคอร์สสอนแล้ว ปัญหาของคนกลายเป็นทำอย่างไรให้ค้นหาและจัดการรูปถ่ายจำนวนมากที่มีอยู่ในอุปกรณ์หลายรูปแบบ เป็นต้น

จาก scarcity กลายเป็น abundance ต้นทุน marginal cost กลายเป็น 0 ทำให้เนื้อของธุรกิจ (เช่นจำนวนรูปถ่าย ปริมาณพลังงาน) เพิ่มอย่างมหาศาล โจทย์ของธุรกิจก็เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมาก ทำให้ปัญหาไม่ใช่เรื่องการผลิต แต่เป็นการเก็บ จุดพลิกเหล่านี้เรียกว่า Gutenberg moment (ตามชื่อผู้คิดค้นแท่นพิมพ์เครื่องแรกของโลก) ซึ่งเกิดมากขึ้นและบ่อยขึ้นในโลกปัจจุบัน

## 3. Demonetize ##
เมื่อต้นทุนถูกลงเรื่อยๆ คู่แข่งที่มา Disrupt ก็มากขึ้นเรื่อยๆ รายได้ก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ที่ผ่านมาไม่สนใจเรี่อง self-driving car เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีสูง เป็นแสนเหรียญต่อคัน ทำให้สร้างแล้วขายไม่คุ้ม แต่เมื่อต้นทุนเทคโนโลยีลดลงแบบ exponential เหลือแค่หลักพัน ตอนนี้กลับต้องมาพัฒนาบ้างตามหลัง Google หรือ Uber ซึ่งได้ลงทุนวิจัยนำมานานแล้ว ตัวอย่างที่สอง ธุรกิจล้างรถใน Buenos Aires ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจดี คนมีรถมากขึ้น แต่รายได้กลับลดลง ต้นเหตุที่แท้จริงกลับเป็นเพราะเทคโนโลยีในการพยากรณ์อากาศดีขึ้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกัน แต่เมื่อพยากรณ์ว่าฝนตกแล้วฝนมักจะตกจริงๆ คนจึงมาล้างรถน้อยลง

ตัวอย่างแรกแสดงให้เห็นถึงการคิดแบบ linear กับการคิดแบบ exponential หากเราไม่คิดแบบ exponential เราจะพลาดโอกาสในอนาคตได้ ส่วนตัวอย่างหลังแสดงให้เห็นว่า disruption มาได้จากทุกที่ ทำให้เราควรมีความหวาดระแวงไว้บ้าง ให้คิดไว้เลยว่าเราจะถูก disrupt ได้เสมอ

## 4. Democratize ##
เมื่อทุกอย่างต้นทุนลดลง ก็ทำให้เปิดกว้างมากขึ้น

เมื่อเรานำเทคโนโลยีไปให้กลุ่มชายขอบใช้ สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ได้อย่างทันที เช่น หลังเหตุการณ์สึนามิที่ Indonesia ชาวประมงมีรายได้มากขึ้นถึง 30% จากการใช้ SMS ส่งข่าวราคารับซื้อปลาที่ท่าเรือให้กัน ทำให้ชาวประมงตัดสินใจได้ดีขึ้น การเปิดกว้างนี้ทำให้ใครก็ได้ที่มีไอเดียสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้กับธุรกิจเดิมๆ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

Elon Musk ไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่ แต่กลยุทธ์ของเขาคือหาเทคโนโลยีก้าวกระโดดเหล่านี้และสร้างบริษัทมาเพื่อจะได้ทันใช้ประโยชน์จากการเติบโตใน 10 ปีข้างหน้า

## คำแนะนำจาก Salim สำหรับการปรับตัว ##
องค์กรที่เรียกได้ว่าเป็น Exponential Organization ต่างมีจุดร่วมดังนี้
1. ใช้ MTP (massive transformative purpose) ซึ่งเหมือนเป็น mantra ประจำองค์กร เช่น Ideas worth spreading (TED), Organize the world’s information (Alphabet/Google), Open happiness (Coca-Cola) ในการสร้าง culture

2. ไม่จำเป็นต้องใหญ่โต แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าด้วยหลักการ SCALE (Staff on demand, Community & crowd, Algorithms, Leveraged assets, Engagement)

ซึ่งองค์กรที่ต้องการเตรียมพร้อม ควรจะ
1. ให้ผู้นำรับทราบถึงสภาวะปัจจุบันของโลก เช่น Accelerating Technologies และ Exponential Growth และเปลี่ยนแนวคิด

2. เริ่มนวัตกรรม disruptive จากชายขอบ (edges) ไม่ใช่จากศูนย์กลางขององค์กร (core) เพราะมิเช่นนั้นระบบภูมิคุ้มกัน (ต่อความเปลี่ยนแปลงขององค์กร) จะทำงาน ให้สร้างทีมพิเศษขึ้นมาที่ตามชายขอบโดยที่เก็บศูนย์กลางไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ทีมพิเศษนี้อาจจะใหญ่กว่าตัวองค์กรดั้งเดิมเองก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: