วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2562
Low Productivity in Japan
เบื้องหลังการทำงานที่ได้ "ผลิตภาพต่ำ" ของญี่ปุ่น
เผยแพร่: 22 ธ.ค. 2562 08:59 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ภาพจาก https://blog.gaijinpot.com/working-past-the-time/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศที่คนทำงานหนัก ทำงานกันจนดึกดื่น และมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปให้ได้ยินเป็นคราว ๆ แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะพยายามหามาตรการลดชั่วโมงการทำงานลงแล้ว แต่คนญี่ปุ่นจำนวนมากก็ยังคงทำงานล่วงเวลากันเป็นปกติ ที่สำคัญคือผลิตภาพยังต่ำอีกด้วย
เวลาพวกเพื่อนชาวญี่ปุ่นนัดรับประทานข้าวเย็นกันเป็นกลุ่มทีไร มักจะมีใครสักคนที่มาไม่ได้หรือมาสายกว่าคนอื่นมากเพราะยังทำงานไม่เสร็จ บางคนก็มีช่วงที่งานหนักมาก เลิกงานหลังเที่ยงคืนหลายวันต่อกันจึงไม่มีรถไฟวิ่งแล้ว ต้องค้างโรงแรมแคปซูลใกล้ที่ทำงานแทน
เพื่อนคู่หนึ่งซึ่งเป็นสามีภรรยากันต่างทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นด้วยกันทั้งคู่ เพื่อนผู้หญิงอยู่บริษัทโทรคมนาคม ยังเลิกงานไม่ดึกมาก กลับบ้านประมาณ 2-3 ทุ่ม ส่วนฝ่ายชายทำงานบริษัทโฆษณากลับดึกกว่าเพราะบางทีต้องถ่ายทำโฆษณากันนาน ฉันถามว่ากลับกี่โมงละ? 4 ทุ่ม? 5 ทุ่ม เขาบอกว่า “แหม อย่างนั้นเขาเรียกว่ากลับเร็ว อย่างผมน่ะได้กลับหลังเที่ยงคืนประจำ ตีสองอะไรอย่างนี้” สภาพการทำงานเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติและเข้าใจได้สำหรับคนญี่ปุ่น
ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน
ในรายงานของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นมีชั่วโมงการทำงานต่อปีต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ใน OECD ซึ่งถ้าดูข้อมูลแค่นี้ก็อาจจะประหลาดใจ และเข้าใจผิดว่าชั่วโมงการทำงานของญี่ปุ่นไม่ได้ยาวนานเป็นพิเศษเลย
ภาพจาก https://theculturetrip.com/asia/japan/
แต่เมื่อดูคำอธิบายของ OECD แล้ว ก็จะพบว่าตัวเลขนี้รวมคนทำงานทุกประเภท ทั้งงานประจำ พาร์ทไทม์ ธุรกิจส่วนตัว และงานเสริม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นมีคนทำงานพาร์ทไทม์เป็นจำนวนมาก และชั่วโมงการทำงานก็มักสั้น จึงอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการทำงานในญี่ปุ่นต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างกินเงินเดือนส่วนใหญ่ต่ำไปด้วย
และ OECD เองก็ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ลูกจ้างในญี่ปุ่นที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากนั้น มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศกลุ่ม OECD ด้วย นอกจากนี้ ลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลายังให้เวลากับการดูแลตัวเอง (เช่น การรับประทานอาหาร การนอนหลับ) และพักผ่อนหย่อนใจ (อยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ทำงานอดิเรก หรือทำอะไรเพลิดเพลิน) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD อีกเช่นกัน
จากรายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นระบุว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 59) ทำงานล่วงเวลา คือทำงานเกิน 40 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ และประมาณ 1 ใน 5 ของคนญี่ปุ่น (ร้อยละ 21) ทำงานสัปดาห์ละมากกว่า 49 ชั่วโมง นอกจากนี้ หลายแห่งยังไม่จ่ายค่าล่วงเวลาหรือจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะได้รับตามจริงอีกด้วย
สาเหตุของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการทำงานหนัก
ลูกจ้างที่ทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมงเป็นปกติมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “งานที่ต้องทำมีปริมาณมากจนล้นมือ” การทำงานในบริษัทของลูกจ้างเหล่านี้ยังมักเป็นไปในลักษณะที่ มีงานด่วนเข้ามากระทันหันอยู่บ่อย ๆ กำหนดส่งงานก็กระชั้นชิด และการกระจายงานไม่เท่ากัน ทำให้บางคนงานเยอะกว่าคนอื่น เป็นต้น
การทำงานหนักยังเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นที่ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งลูกจ้างคนไหนทำงานล่วงเวลามาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมองเจ้านายที่ทำงานล่วงเวลาในแง่บวก เช่น มีความขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบสูง ทำงานเก่ง สมควรได้รับการประเมินดี และเป็นที่คาดหวัง แต่ยิ่งลูกจ้างคนไหนทำงานล่วงเวลาน้อย ก็ยิ่งมีแนวโน้มมองเจ้านายที่ทำงานล่วงเวลาในแง่ลบไปแทน เช่น ไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน อยากได้เงินค่าล่วงเวลา หรือไม่ก็คงไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ
ภาพจาก https://theculturetrip.com/asia/japan/
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63) รู้สึกผิดหากจะใช้สิทธิ์วันลาหยุด เพราะอดคิดไม่ได้ว่าวันธรรมดาคือวันทำงาน ถ้าตนเองลา คนอื่นก็อาจเดือดร้อนต้องทำงานแทน หรือไม่อย่างนั้นตนเองก็ต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อกลับมาทำงานแล้ว บางคนพอจะขอนายลาหยุด ก็โดนนายถามว่าทำไมถึงลา ทำให้ไม่กล้าขอลาหยุด
การที่สังคมให้คุณค่ากับการทำงานหนัก รวมทั้งการรู้สึกผิดหากไม่แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองมีความมุมานะขยันทำงาน จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำงานล่วงเวลาต่อไปเรื่อย ๆ โดยปริยาย บางคนที่รู้สึกรับผิดชอบต่องานมากก็ยอมกระทั่งทำงานล่วงเวลาโดยสมัครใจและไม่รับค่าล่วงเวลา หรือไม่ก็หอบงานกลับไปทำที่บ้าน ในขณะที่บางคนทำงานเสร็จแล้วอยากจะกลับบ้านก็ไม่กล้า ด้วยกลัวสายตาเจ้านายว่าจะมองเขาอย่างไร
ทำงาน “หนัก” แต่ผลิตภาพต่ำ
ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนการทำงาน “หนัก” ของญี่ปุ่นเช่นนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพที่สูงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้ว่าคนทำงานในญี่ปุ่นหนึ่งคนสามารถสร้าง GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ต่อชั่วโมงการทำงานได้ต่ำสุดในกลุ่มประเทศ G7 และในขณะที่ค่าเฉลี่ย GDP ต่อชั่วโมงการทำงานของกลุ่มประเทศ G7 อยู่ที่ 65.4 เหรียญสหรัฐฯ ของญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 46.8 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
ภาพจาก https://jopus.net/en/news/
เป็นไปได้ว่าผลิตภาพที่ต่ำของญี่ปุ่นอาจมาจากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือ แสร้งว่าทำงานแต่ทำไปงั้น ๆ คือมีหลายคนที่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่นไปอย่างนั้นเองเพราะนายยังไม่กลับ หรือบางคนก็คิดว่าอย่างไรตนก็ถูกคาดหวังให้ทำงานล่วงเวลาอยู่แล้ว ระหว่างชั่วโมงการทำงานปกติ จึงไม่ขยันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
สาเหตุที่สองได้แก่ การให้ความสำคัญกับงานที่ไม่จำเป็น คนจำนวนมากระบุว่ามีงานหลายอย่างซึ่งสามารถเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นหรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่บริษัทกลับไม่ยอมลงทุนเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ กลับใช้แรงงานคนแทน อีกทั้งคนญี่ปุ่นก็มักเน้นการประชุมซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีการสื่อสารกันได้ดีขึ้น แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่าไม่มีประโยชน์จริงเท่าใด รวมทั้งบางเรื่องก็กำหนดแน่นอนไปแล้วก่อนมีการประชุมเสียด้วยซ้ำ
มาตรการในปัจจุบันและผลลัพธ์
กฏหมายปฏิรูปการทำงาน
กฎหมายนี้ห้ามมิให้ทำงานล่วงเวลาเกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน และไม่เกิน 360 ชั่วโมงต่อปี เว้นแต่จะมีช่วงที่มีความจำเป็นพิเศษจะทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือน และไม่เกิน 720 ชั่วโมงต่อปี บังคับใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ตั้งแต่เมษายนปีนี้ (2562) และจะบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเดือนเมษายนในปีถัดไป (2563)
“ไม่เอาการทำงานยาวนานหลายชั่วโมงอีกแล้ว” ภาพจาก https://tokyogeneralunion.org/
แต่ปรากฏว่าแม้ที่ทำงานบางแห่งจะบังคับให้ลูกจ้างเลิกงานเร็วขึ้น คือกลับไม่เกินเวลาที่บริษัทกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดับไฟอัตโนมัติ หรือปิดคอมพิวเตอร์อัตโนมัติก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้างบางส่วน เนื่องจากว่าปริมาณงานมีอยู่เท่าเดิม พอถูกไล่ให้กลับบ้านก็ทำงานไม่เสร็จ ต้องหอบกลับไปทำต่อที่บ้านบ้าง หรือไม่ก็ต้องมาทำงานแต่เช้าในวันต่อไป
พรีเมียมฟรายเดย์
รัฐเสนอให้ลูกจ้างเลิกงานได้ตั้งแต่บ่ายสามโมงในวันศุกร์สุดท้ายของเดือน แต่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และในทางปฏิบัติพบว่ามีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ได้เลิกงานเร็วจริง
ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน
ปัจจุบันมีบริษัทบางแห่งที่ริเริ่มลดวันทำงานลง เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาไปดูแลครอบครัว เช่นบางคนอาจต้องไปดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า หรือภรรยาที่ป่วย หรือทำธุระจำเป็นอื่น ๆ โดยให้ลูกจ้างที่สมัครใจสามารถมาทำงานสัปดาห์ละ 4 วันได้ แต่ยังคงต้องทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่าเดิม และได้รับเงินค่าจ้างตามปกติ ในขณะที่บางแห่งก็ใช้นโยบายเดียวกัน คือทำงานเท่าเดิม จำนวนวันลดลง แต่ไม่ให้ค่าจ้างในวันที่ได้หยุด
สรุปคือลดวันทำงานไม่ได้แปลว่าลดชั่วโมงการทำงาน ต้องทำงานมากกว่าเดิมในวันอื่น ๆ แทน อีกทั้งยังอาจได้รับค่าจ้างหรือไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ได้หยุดเพิ่มด้วย ไม่ทราบว่าอย่างนี้จะทำให้คนยิ่งเครียดเพิ่มหรือเปล่านะคะ แถมการปรับแบบนี้ยังดูสักแต่ว่าสนองนโยบายรัฐไปอย่างนั้นเอง รูปแบบภายนอกอาจเปลี่ยนแต่เนื้อในก็คงเดิม ไม่ได้มองในแง่ที่จะช่วยลดภาระและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนทำงานจริงเท่าใดเลย
ฉันได้ยินมาว่าประเทศตะวันตกที่ให้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันนั้น บางแห่งนอกจากจะลดชั่วโมงการทำงานแล้ว ยังให้ค่าจ้างเท่าเดิมด้วย ที่สำคัญคือประเทศพัฒนาในตะวันตกมักมีความผ่อนปรนในการทำงานมากกว่า บรรยากาศการทำงานผ่อนคลายกว่า แต่กลับมีผลิตภาพสูงกว่าญี่ปุ่น (ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าญี่ปุ่น ก็มีผลิตภาพต่ำกว่าญี่ปุ่น และต่ำจนเกือบจะรั้งท้ายประเทศกลุ่ม OECD)
https://classy-online.jp/
การปฏิรูปการทำงานเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเกิดขึ้นได้จริงคาดว่าต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อนคือภายในแต่ละบริษัทเอง ที่ผู้มีตำแหน่งระดับหัวหน้าต้องตระหนักอย่างจริงจังถึงความ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ของชั่วโมงการทำงาน ซึ่งนอกจากจะยาวนานเกินความจำเป็นแล้ว ยังสร้างผลิตภาพต่ำและส่งผลร้ายต่อสุขภาพของพนักงานด้วย
นอกเหนือจากนี้ ญี่ปุ่นอาจต้องปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติที่เคยชินกันมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสารปริมาณมาก การประชุมที่บ่อยเกินไป และหันมาใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำงานได้ง่ายจากทุกที่ อีกทั้งยังต้องท้าทายความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่าการทำงานหนัก ยาวนาน และใช้วันลาหยุดน้อยเป็นคุณค่าที่ควรยกย่องในยุคปัจจุบันจริงหรือไม่
หากญี่ปุ่นยังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ท่ามกลางประชากรที่กำลังจะลดฮวบลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ญี่ปุ่นจำต้องปรับโครงสร้างการทำงานอย่างจริงจังและขนานใหญ่ ที่ไม่ได้เพียงจำกัดกรอบอยู่เพียงในกฎหมาย แต่เป็นไปในทางปฏิบัติให้เห็นชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น รักษาแรงงานที่มีอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ความยืดหยุ่นนี้เองก็น่าจะทำให้แรงงานต่างชาติมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการทำงานในญี่ปุ่น รวมทั้งอาจมีส่วนส่งเสริมให้ญี่ปุ่นกับต่างชาติเปิดใจในความต่างได้ง่ายขึ้น และร่วมมือกันทำงานได้อย่างกลมกลืนต่อไป
วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ราคาเน็ตทั่วโลก
ราคาเน็ตทั่วโลก ‘ถูก’ หรือ ‘เเพง’ กว่าไทย
By TopTen
-December 15, 2019
เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลกที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีเพียง 4.1% แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 58.8% หรือกว่า 4.5 พันล้านคน แต่แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีราคาอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราได้รวมราคาอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์รายใหญ่ 233 รายใน 62 ประเทศเพื่อหาคำตอบ
จากข้อมูลของ Speedtest.net พบกว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 70 Mbps ขณะที่ 55 ใน 62 ประเทศ นิยมความเร็วที่ 100 Mbps โดยราคาถูกที่สุดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก เช่น มอลโดวา 10 ดอลลาร์/เดือน, รัสเซีย 8 ดอลลาร์/เดือน และยูเครน 6 ดอลลาร์/เดือน ส่วนประเทศที่ราคาสูงสุด อยู่ที่แอฟริกาใต้ 87 ดอลลาร์/เดือน และประเทศทางตอนเหนือ เช่น ไอซ์แลนด์ หรือนอร์เวย์ 69 ดอลลาร์/เดือน ส่วน ‘ไทย’ ราคาเฉลี่ย 20.2 ดอลลาร์ต่อเดือน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ราคาที่ค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเริ่มให้บริการความเร็ว 1 Gbps แล้ว โดยมี 24 ประเทศ จาก 44 ประเทศ ผู้ที่มีค่าบริการสูงกว่า 50 ดอลลาร์/เดือน ขณะที่ประเทศออสเตรียและออสเตรเลียแพงที่สุดอยู่ที่ 220 ดอลลาร์/เดือน และ 231 ดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ให้บริการในราคาต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อเดือนได้แก่ มอลโดวา อินเดีย ฮังการี ลัตเวีย และยูเครน และโรมาเนียที่ถูกสุดเพียง 9 ดอลลาร์/เดือน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 27.79 ดอลลาร์/เดือน
Source: https://positioningmag.com/1257039
วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562
Google สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้อย่างไร
พฤศจิกายน 27, 2019 | By Jen Namjatturas
แน่นอนว่า หากพูดถึงสถานที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก Google น่าจะอยู่ในลิสต์ต้นๆ ของหลายคน อาจจะเคยเดินทางไปเยี่ยมหรือเคยเห็นภาพบรรยากาศการทำงานของ Google ผ่านตาบ้าง จะเห็นว่าไม่เหมือนสถานที่ทำงานทั่วไป แต่เหมือนสนามเด็กเล่นสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของ Google นั้นมาจากวัฒนธรรมที่คนของเขาได้ร่วมกันสร้าง การหมั่นบริหารความสุข แพชชั่น และเติมความรู้ให้พนักงานอย่างสม่ำเสมอ คือสิ่งที่องค์กรนี้ให้ความสำคัญ มันอาจจะฟังดูเกินไปสำหรับบางคน แต่นี่ก็เป็นวิธีที่ Google ใช้ในการดูแลคนของพวกเขาเอง
หัวข้อ What’s the secret to the world’s most joyful place to work at? โดย คุณ Pim Suvitsakdanon, Head of Sales - Google Customer Solutions Google เป็นอีกหนึ่งเซสชั่นทีได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในงาน Techsauce Culture Summit 2019 เรามาฟัง secret sauce ของ Google กัน ว่าสามารถสร้างสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้อย่างไร
คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ใช่
เป็นที่รู้กันว่าขั้นตอนการคัดคนเข้าทำงานของ Google นั้นหินสุดๆ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ความสำเร็จของ Google คือ ‘คน’ เริ่มต้นจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ใช่
การจ้างคนทำงานที่ใช่และเหมาะสม หมายถึงการที่บริษัทต้องลงทุนในบุคคลนั้น ทั้งในแง่ทรัพยากร เวลา ไปจนถึงการสร้างความสำเร็จทั้งในระดับบริษัทและในระดับตัวบุคคล โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณลักษณะ 4 ข้อดังนี้
Generate cognitive ability: Google ไม่ได้มองหาคนที่ตอบคำถามได้ถูกต้องที่สุด แต่คือคนที่มีความสามารถในการแสดงกระบวนการคิด มีวิธีการหาคำตอบที่น่าสนใจ และสามารถหาโซลูชั่นออกมาได้
Role related knowledge: Google ไม่ได้มองหาคนที่มีประสบการณ์ในสายงานนั้นโดยตรง แต่คือความสามารถในการเรียนรู้ ความทะเยอทะยานในบทบาทที่ได้รับ ความกระหายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ความถ่อมตน การมี Growth mindet ความเชื่อว่าทุกสิ่งสามารถเรียนรู้ได้ และสามารถถ่ายทอดทักษะที่มีมาใช้ในบทบาทที่ได้รับมอบหมาย
Leadership: ไม่จำเป็นว่าคนนั้นจะต้องเป็นหัวหน้า แต่คือการมีภาวะความเป็นผู้นำ ที่รู้ว่าเมื่อใดควรจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อนำคนอื่น หรือถอยกลับมาเมื่อจำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีบทบาทบ้าง นี่คือการที่ทุกคนได้มีบทบาทในการทำงานเป็นทีม
Googleyness: คนๆ นั้นไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของ Google แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คนนั้นจะประสบความสำเร็จและทำงานได้มีประสิทธิภาพในวัฒนธรรมของ Google หรือไม่ คนนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับฟีดแบค กล้าท้าทายต่อ status quo รับผิดชอบต่อโอกาสที่ได้รับ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และพร้อมที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน
โดยผู้สมัครจะต้องผ่านการสัมภาษณ์ถึง 4-6 ครั้ง และในทุกครั้ง กรรมการจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น
แล้วองค์กรคุณล่ะ อะไรคือคุณลักษณะที่พนักงานต้องมีบ้าง?
‘Hungry but humble’ กระหายที่จะเรียนรู้ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความทะเยอทะยานในบทบาทที่ได้รับ และมี Growth mindset
สร้างวัฒนธรรมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบใหญ่
'คน' คือเรื่องที่ Google ให้ความสำคัญ ในการที่เมล็ดพันธุ์นั้นจะเติบใหญ่ผลิดอกออกผล จึงมีความจำเป็นจะต้องมีดินและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและการหมั่นดูแล
คุณ Pim ได้ยกตัวอย่างสวัสดิการของพนักงาน ทั้งอาหาร คลาสเรียน ฟิตเนส เข้าร่วมอบรม ไปจนถึงฟังบรรยายจากผู้นำทางความคิดระดับโลก การหมั่นบริหารความสุข แพชชั่น และความรู้ของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ก็เพื่อที่พวกเขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดินที่ดีคือวัฒนธรรมที่คน Google ได้สร้างขึ้นเพื่อเอื้อต่อการเติบโตของกันและกัน
และในการที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรงได้นั้น ต้องอาศัยการให้โอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนา
ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือสิ่งเดียวในชีวิตที่แน่นอน
ในการที่จะทันต่อความเปลี่ยนแปลงในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนเช่นทุกวันนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่คน Google จะต้องมีความกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา อย่างการให้พนักงานได้พัฒนาทักษะอย่าง Leadership training, People management, Onboarding, Skills training, School of leaders และเมื่อพนักงานเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว พวกเขาก็อยากที่จะส่งต่อความรู้นั้นให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วยเช่นกัน ผ่าน Learning program อย่าง g2g (Googler-to-Googler)
เฉลิมฉลองความล้มเหลว
ความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้และเติบโต
Google ภาคภูมิใจในการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมนี้ เพราะความล้มเหลวให้โอกาสในการคิดค้นโซลูชั่นที่ดีกว่า เสริมสร้างการเกิดนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ Google ได้เปิดตัว และล้มเหลวนั้นก็ไม่น้อย อย่างเช่น Google Glass ที่หลายคนอาจจะทราบกัน
ถอดเคล็ดลับความสำเร็จของ Google ในการทำ Change Management เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กรและคน
Fail And I Learn
เมื่อใดล้มเหลว จะให้พนักงานตั้งคำถามว่า
พวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดครั้งนั้น?
เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการตัดสินใจในครั้งนั้น?
ในครั้งต่อไปพวกเขาสามารถทำอะไรเพื่อให้มันดีขึ้นได้บ้าง?
ยกตัวอย่างหากพนักงานลาออก พวกเขาจะตั้งคำถามว่าสามารถทำอะไรได้ดีกว่าเดิม เป็นการสร้างความแน่ใจว่าคนที่มาใหม่จะเข้าใจบทบาทของตัวเองดีพอ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว
ผืนป่าจะอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยพันธ์ุไม้ที่หลากหลาย
และเมื่อต้นไม้ต้นนั้นเติบใหญ่ท่ามกลางผืนป่า ในการที่ผืนป่าจะอุดมสมบูรณ์และสวยงามได้นั้น ไม่ได้ประกอบด้วยต้นไม้สายพันธุ์เดียว แต่ด้วยพันธ์ุไม้ที่หลากหลาย ต้นไม้แต่ละต้นก็มีบทบาท หน้าที่ เป้าหมายของมัน และนี่คือเหตุผลที่ Google ได้สร้างสถานที่ทำงานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายไว้ด้วยกัน
ความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ที่จะนำความสำเร็จมาสู่บริษัท เมื่อพนักงานมีความรู้และภูมิหลังที่หลากหลาย ก็จะสามารถนำเสนอโซลูชั่นและนวัตกรรมที่ดีกว่า
และเมื่อพวกเขามีความหลากหลาย ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง ซึ่งก็คือความเสมอภาค (Equity) และความเท่าเทียม (Equality) ที่ทุกคนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
คุณ Pim ได้ยกตัวอย่าง ลิฟต์ที่ Google ที่จะเคลื่อนที่ช้ามาก เหตุผลก็เพราะพวกเขาสร้างลิฟต์โดยคิดถึงคนที่ใช้วีลแชร์ด้วยเช่นกัน
การที่ผืนป่าจะอุดมสมบูรณ์ได้นั้นไม่ได้เกิดจากต้นไม้เพียงต้นเดียว แต่คือความหลากหลายที่ทำให้ผืนป่านั้นอุดมสมบูรณ์ และต้นไม้แต่ละต้นก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ด้วยดินและสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อที่จะได้โตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง สามารถผลิดออกออกผล บรรลุศักยภาพของมันอย่างเต็มที่ และทั้งหมดนี้ก็เริ่มจากการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ใช่
เพราะทุกคนล้วนมีความพิเศษในตัวเอง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)