วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552




อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส (Ardipithecus ramidus)

นักวิทย์พบโครงกระดูกต้นตระกูลคนที่เก่าแก่ที่สุด 4.4 ล้านปี ในเอธิโอเปียบ้านเดียวกันกับ "ลูซี" แย้งความเชื่อคนมาจากลิง นักวิจัยเผยไม่ใช่ทั้งคนและชิมแปนซี แต่มีลักษณะเข้าใกล้บรรพบุรุษร่วมคนกับลิงมากยิ่งขึ้นทุกที สอดคล้องทฤษฎีดาร์วิน

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกว่า 10 ประเทศ เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกสิ่งมีชีวิตในตระกูลคน (hominid) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา โดยได้ตีพิมพ์รายงานผลการวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 11 ฉบับลงในวารสารไซน์ (Science) ฉบับพิเศษ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความตื่นเต้นอย่างมากแก่วงการนักวิทยาศาสตร์ทางด้านวิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก

เอเอฟพีระบุว่า ฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 ในเขตประเทศเอธิโอเปีย และอีก 2 ปีต่อมานักวิจัยจึงสามารถจำแนกได้ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ในตระกูลคน โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อาร์ดิพิเธคัส เรมิดัส (Ardipithecus ramidus) และมีชื่อเล่นว่า "อาร์ดี" (Ardi)

โครงกระดูกดังกล่าว เป็นของสิ่งมีชีวิตเพศเมียที่คาดว่าเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม สูงราว 1.2 เมตร และมีอายุเก่าแก่มากถึง 4.4 ล้านปี นับว่าเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตตระกูลคนที่เก่าแก่ที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "ลูซี" (Lucy) ซึ่งจัดอยู่ในสปีชีส์ ออสเตรโลพิเธคัส อะฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis) มีอายุ 3.2 ล้านปี พบครั้งแรกเมื่อปี 2517 ในเอธิโอเปียเช่นเดียวกัน แต่อยู่ห่างจากบริเวณที่พบ "อาร์ดี" ออกไปทางตอนเหนือ 72 กิโลเมตร

ซี โอเวน เลิฟจอย (C. Owen Lovejoy) นักมานุษยวิทยาจากเคนท์สเตทยูนิเวอร์ซิตี (Kent State University) มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ หนึ่งในทีมวิจัย ระบุในเอพีว่า ฟอสซิล "อาร์ดี" พลิกทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์ที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ ที่ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษที่คล้ายชิมแปนซี แต่จากฟอสซิลของอาร์ดีบ่งชี้ว่า มนุษย์และชิมแปนซีแยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน

ด้านทิม ไวท์ (Tim White) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิวัฒนาการมนุษย์ (Human Evolution Research Center) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) และนักวิจัยอีกคนในทีม เปิดเผยว่า อาร์ดีไม่ใช่บรรพบุรุษร่วมที่ว่านั่น แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุด ซึ่งสายวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคใหม่และลิงไม่มีหางในปัจจุบัน น่าจะแยกมาจากบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 6-7 ล้านปีก่อน

ทว่าอาร์ดีมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่ไม่พบในลิงไม่มีหางที่พบในแอฟริกาปัจจุบันนี้ ทำให้สรุปได้ว่าลิงไม่มีหางมีการวิวัฒนาการที่กว้างออกไป นับตั้งแต่เราได้มีบรรพบุรุษร่วมกันครั้งสุดท้าย และจากการศึกษาฟอสซิลอาร์ดีพบว่า สิ่งมีชีวิตดังกล่าวอาศัยอยู่ในป่า และปีนต้นไม้ด้วยแขนขาทั้ง 4 ข้าง แต่พัฒนาการของแขนและขาบ่งชี้ว่า พวกเขาไม่ได้ใช้เวลาอาศัยอยู่บนต้นไม้มากนัก และยังสามารถเดินบนพื้นดินด้วย 2 ขา และลำตัวตั้งตรงได้

"ในฟอสซิลของอาร์ดิพิเธคัสไม่มีลักษณะพิเศษ ที่วิวัฒนาการไปไกลจากเส้นทางของออสเตรโลพิเธคัส ดังนั้นเมื่อเราพินิจจากหัวจรดเท้า เราจะเห็นภาพสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งชิมแปนซีหรือคน แต่เป็นอาร์ดิพิเธคัส" ไวท์ กล่าว ซึ่งชิมแปนซีมีฟันหน้าหยาบมากเพราะเป็นสัตว์กินพืช ขณะที่อาร์ดิพิเธคัสกินทั้งพืชและสัตว์ โดยมีฟันตัดและเขี้ยวเล็กกว่า และยังมีขนาดสมองใกล้เคียงชิมแปนซีแม้ว่าจะมีใบหน้าเล็กกว่า

"ดาร์วินเคยกล่าวไว้ เราต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน เป็นทางเดียวที่เราจะรู้ได้จริงๆ ว่าบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายระหว่างคนกับลิงมีลักษณะอะไร และหาให้เจอ และฟอสซิลอายุ 4.4 ล้านปีที่เราพบ ก็เข้าใกล้สิ่งที่เราค้นหามากขึ้นทุกที และต้องขอบคุณดาร์วิน ที่เคยบอกไว้ว่า สายวิวัฒนาการของลิงและคนเป็นอิสระจากกัน ตั้งแต่แยกสายออกจากบรรพบุรุษร่วมสุดท้าย" ไวท์กล่าว

"นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ ซึ่งส่วนของโครงกระดูกที่สำคัญและสัมพันธุ์กันถูกรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งกะโหลก มือ เท้า และส่วนสำคัญอื่นๆ ซึ่งมันอาจเป็นบรรพบุรุษของสกุลออสเตรโลพิเธคัส ที่เป็นบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตสกุลโฮโมก็เป็นได้" เดวิด พิลบีม (David Pilbeam) ภัณฑารักษ์ส่วนบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา (Peabody Museum of Archaeology and Ethnology) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กล่าวแสดงความเห็น ซึ่งเขามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยโครงกระดูกอาร์ดี.










วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

พอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด

October 14, 2008
โดย CATHERINE RAMPELL ตีพิมพ์ใน The New York Times เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551

พอล ครุกแมน เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพรินเซตัน และเป็นคอลัมนิสต์บทความกึ่งวิชาการ ให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2551

คณะกรรมการตัดสินรางวัลกล่าวถึงครุกแมนว่า “สำหรับการวิเคราะห์รูปแบบทางการค้า และตำแหน่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ครุกแมนในวัย 55 ปี เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านทางคอลัมน์กึ่งวิชาการของเขาในฐานะ “ขาประจำ” ของประธานาธิบดีบุช (และตอนนี้เป็น จอห์น แมคเคน) คอลัมน์ของเขามีแฟนๆติดตามอย่างหนาแน่น แถมยังเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ชนิดแสบร้อน

รางวัลโนเบลนั้นไม่ได้ให้เพราะผลงานด้านการเมือง แต่ให้กับผลงานด้านวิชาการ ซึ่งก็เป็นงานวิจัยที่เขาได้ค้นคว้าก่อนหน้าที่เขาจะเริ่มเขียนคอลัมน์ประจำให้กับนิวยอร์คไทมส์

“ด้วยความสัตย์จริงอย่างที่สุด ผมคิดว่าวันนี้จะมาถึงสักวัน แต่ผมไม่คิดจริงๆว่ามันจะเป็นวันนี้” ครุกแมนให้สัมภาษณ์เมื่อวาน “ผมรู้จักคนที่รอคอยชั่วชีวิตเพื่อรับโทรศัพท์ (เสนอรางวัลโนเบล – ผู้แปล) แบบนี้ พอรู้อย่างนี้มันก็ทำให้ผมรู้สึกไม่ดี ดังนั้นผมจึงสลัดความคิดนั้นทิ้งไป แล้วพยายามหยุดคิดเรื่องนี้เสีย”




ภาพ พอล ครุกแมน จาก The New York Times


ครุกแมนได้รับรางวัลสำหรับงานวิจัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1979 เขาได้อธิบายรูปแบบการค้าระหว่างประเทศ สินค้าอะไรจะถูกผลิตขึ้นที่ใด และเพื่ออะไร

ทฤษฎีการค้าดั้งเดิมมองว่าประเทศแตกต่างกัน และจะแลกเปลี่ยนสินค้าที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ เช่น ไวน์จากฝรั่งเศส และข้าวจากจีน

แบบจำลองนี้ มีที่มาจากข้อเขียนที่มาจากงานของเดวิด ริคาร์โดเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งไม่ได้สะท้อนการหมุนเวียนของสินค้าและการบริการที่ครุกแมนพบในโลกความเป็นจริง เขาจึงค้นหาคำอธิบายว่าเหตุใดการค้าในโลกจึงถูกครอบงำโดยประเทศเพียงสองสามประเทศ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และเหตุใดประเทศจึงนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกับที่ส่งออกไป

ในแบบจำลองของครุกแมน หลายบริษัทจำหน่ายสินค้าชนิดเดียวกันที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เมื่อบริษัทเหล่านี้จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นบริษัทก็ยิ่งผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้บริษัทพวกนี้เติบโตขึ้น ผู้บริโภคนั้นชอบความหลากหลาย จึงจับจ่ายและเลือกใช้สินค้าจากผู้ผลิตหลายประเทศ ทำให้แต่ละประเทศสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าที่คล้ายคลึงกันได้ นั่นคือคนอเมริกันอาจจะซื้อโฟล์คสวาเกน ในขณะที่คนเยอรมันอาจจะซื้อฟอร์ด

ครุกแมนพัฒนางานของเขาเพิ่มเติมด้วยการอธิบายถึงผลของต้นทุนการขนส่งว่าทำไมผู้คนจึงอาศัยอยู่ในที่ๆเขาอาศัยอยู่ แบบจำลองของเขาอธิบายว่าภายใต้เงื่อนไขทางการค้าเช่นไร จึงจะดึงดูดให้ผู้คนหรือบริษัทย้ายเข้ามา หรือย้ายออกไปจากบางภูมิภาคได้

งานของครุกแมนได้รับความชื่นชมในแง่ความเรียบง่ายและใช้งานได้จริง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงเพื่อไม่ต้องใส่ใจเท่านั้น

“บางคนอาจคิดว่า ของดีต้องมาจากอะไรบางอย่างที่ซับซ้อนมากๆ” มัวริส อ็อปสฟิลด์ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กเลย์ ซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือ “ตำราเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ” กับครุกแมน ว่าไว้อย่างนั้น “จุดแข็งเลยของพอลคือทำสิ่งต่างๆให้ดูเรียบง่าย แล้วนำมาขัดเกลาใหม่และดูลึกซึ้ง”






ตำราเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีและนโยบาย ฉบับที่ 7 ของ พอล ครุกแมน และ มัวริซ อ็อปสฟิลด์, นิยมใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย


ครุกแมนใช้ทักษะของเขาในการถ่ายทอดความคิดที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องสนุกและดูเข้าใจง่ายกับคอลัมน์ของเขาในนิวยอร์คไทมส์ ซึ่งเขาได้เริ่มเขียนเมื่อปี 2000 ข้อเขียนของเขาส่วนใหญ่ในคอลัมน์และในบล็อกที่ nytimes.com เมื่อไม่กี่ปีมานี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการปกครองของบุช ตั้งแต่นโยบายดูแลสุขภาพไปจนถึงอิรักไปจนกระทั่ง “การขาดความสามารถทั่วไป” — เรื่องเหล่านี้เป็นเป้าหมายการเสียดสีของเขา

แต่อย่างไรก็ตามครุกแมนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งนักอ่านและนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันด้วย

“งานเขียนสมัยนิยมของเขาเป็นเรื่องน่าขายหน้า” ดาเนียล ไคลน์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสันกล่าว ปีนี้เขาเขียนบทวิจารณ์รอบด้าน ต่อคอลัมน์ของครุกแมนในนิวยอร์คไทมส์ “เขาละเลยเรื่องใหญ่ๆ บางอย่างที่เศรษฐศาสตร์ให้ข้อสรุปที่ขัดแย้งกับกลุ่มคนในพรรคเดโมแครตที่ดูดี ซึ่งผมคิดว่าเขาชักจะกลายเป็นพวกเชียร์แขกไป โดยเฉพาะตั้งแต่เมื่อเริ่มเขียนให้กับนิวยอร์คไทมส์”

แต่ครุกแมนก็มีแฟนๆที่ศรัทธางานเขียนตามสมัยนิยมเขาพอๆกัน

“ผมยกย่องการให้รางวัลในวันนี้ ในฐานะที่เป็นรางวัลที่เหมาะสม และล่าช้าไปสักนิด แต่ผมต้องขอตำหนิคณะกรรมการพูลิตเซอร์ ซึ่งเป็นหนี้ครุกแมนตั้งแต่การมอบรางวัลสองสามครั้งก่อนโน้น” พอล เอ แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนก่อนกล่าว “พอล ครุกแมน เป็นคอลัมนิสต์คนเดียวในสหรัฐอเมริกาที่มองอะไรถูกเกือบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทีเดียว”

ครุกแมนกล่าวว่าเขาไม่คิดว่ารางวัลที่ได้รับจะมีผลต่อเพื่อนร่วมงาน และจำนวนผู้อ่านที่นิยมตัวเขามากนัก — ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือฝ่ายตรงข้าม — ต่างก็ให้ความนับถือเขา

“สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ นี่เป็นการรับรอง ไม่ใช่ข่าวใหม่อะไร” เขาเอ่ยขึ้น “เราต่างก็รู้ว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรกันอยู่”

“สำหรับคนอ่านคอลัมน์ผม” เขากล่าวเพิ่ม “บางทีพวกเขาอาจจะใช้ความระมัดระวังในการอ่านลดลงบ้างถ้าบางทีผมกลายเป็นพวกบ้าเศรษฐศาสตร์ หรือบางทีอาจจะอดทนได้น้อยลงบ้างถ้าผมเขียนอะไรน่าเบื่อออกไป”

เขากล่าวว่าเขาไม่คิดว่าการได้รับรางวัลจะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเงียบเสียงลง เมื่อเทียบกับผู้ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศที่พูดจาขวานผ่าซากอีกคนหนึ่ง, คือ โจเซฟ อี สติกลิตส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2001 ซึ่งสติกลิตซ์ถูกยกย่องและถูกวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับงานเขียนของเขาที่เกี่ยวกับว่า โลกาภิวัฒน์ในรูปแบบปัจจุบันจะมีประโยชน์หรือไม่

“ผมไม่คิดว่าเขาจะมีเวลาสบายๆ” ครุกแมนเล่า “ผู้คนก็พากันพูดว่า ‘ก็แหงล่ะ เขาเป็นผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศโนเบล และเขาก็ฉลาดมาก แต่บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าควรจะพูดอะไรในสถานการณ์นี้ดี’ ผมมั่นใจว่า ผมก็เป็นแบบเดียวกันนั่นแหละ”

ครุกแมนได้รับความนิยมหลังจากเขียนบทความด้านเศรษฐศาสตร์ให้กับ Slate แม็กกาซีน และฟอร์ปส์ในช่วงทศวรรษ 1990 ความเห็นของเขามักจะมีน้ำหนักเกี่ยวกับข้อถกเถียงร่วมสมัยเรื่องการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเขา

“เขาถูกหลอนจากปีศาจที่เขาสร้างขึ้น” ไมเคิล คินสเลย์ บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง Slate และเป็นคนว่าจ้างครุกแมนกล่าว “เขาใช้ทฤษฎีของเขาอธิบายว่าทำไมบ้างครั้งการค้าเสรีไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด และทันใดทุกคนก็ใช้ข้อโต้แย้งของเขาเป็นข้ออ้างในการต่อต้านการค้าเสรี ในขณะที่เขาไม่คิดว่าข้อยกเว้นนี้จะใช้ได้บ่อยๆ”

ในขณะที่งานเขียนสมัยนิยมของเขาเน้นเรื่องการเมือง ส่วนงานวิจัยเน้นการเงินระหว่างประเทศ แต่บางครั้งเขาจะหวนคืนกลับมาให้ความสนใจในเรื่องการค้า เมื่อปีก่อนเขาได้เขียนผลด้านลบของการค้าเสรีหลายครั้ง ทั้งในคอลัมน์ของเขาและบทความทางวิชาการที่เขียนให้กับสถาบันบรูคกิ้งส์ ว่าการค้ากับประเทศยากจนจะเพิ่มความไม่เท่าเทียมกันเช่นเดียวกับในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือไม่

ในปี 1991 ครุกแมนได้รับรางวัล เหรียญ John Bates Clark ซึ่งมีการมอบให้ทุกๆสองปี กับนักเศรษฐศาสตร์อายุน้อยกว่า 40 ที่ได้สร้างผลงานให้กับวงการเศรษฐศาสตร์ เขาตามรอยผู้ที่ได้รับเหรียญ Clark แล้วมารับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์หลายๆ คน อย่างเช่น สติกลิตส์และแซมมวลสัน

ครุกแมนเติบโตในลองไอซ์แลนด์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และสำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตจากเอ็มไอที สอนอยู๋ที่พรินเซตันตั้งแต่ปี 2000 ในเทอมนี้เขาสอนหลักสูตรสูงกว่าระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีและนโยบายการเงินระหว่างประเทศ เขายังคงสอนการสัมมนาที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้กับนักศึกษาใหม่ทุกคนด้วย

ที่พรินเซตัน ครุกแมนร่วมงานกับนักเศรษฐศาสตร์อีกคนคนหนึ่งที่แม้ว่าจะมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ซึ่งก็คือคนที่เป็นข่าวในปัจจุบัน คือ เบน เอส เบอร์นังเค ประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเบอร์นังเคก็ได้เสนอตำแหน่งของครุกแมนให้ที่พรินเซตันโดยบังเอิญด้วย ทั้งครุกแมนและเบอร์นังเคเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเอ็มไอทีในช่วงทศวรรษ 1970

เอ็มไอทีในยุคสมัยของพวกเขาได้ผลิตนักเศรษฐศาสตร์ในแวดวงการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ได้รับการยอมรับนับถือหลายคน ดังเช่น โอลิเวียร์ แบล๊งเชิร์ด และ เคนเนธ โรจอฟฟ์ ซึ่งคนแรกเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และคนหลังเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในสถาบันเดียวกัน

การมอบรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ เป็นรางวัลชิ้นสุดท้ายจากทั้งหมด 6 รางวัล รางวัลโนเบลถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1968 โดยธนาคารกลางสวีเดนเพื่อเป็นที่ระลึกแด่ อัลเฟรด โนเบล ครุกแมนได้รับรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์เพียงคนเดียวในปีนี้ และเขาได้รับรางวัลเป็นมูลค่า 1.4 ล้านเหรียญ


เพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษาในงานวิจัยเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นคู่ชิงรางวัลในครั้งนี้ด้วย ยังให้การยกย่องเพิ่มขึ้นไปอีก

“หลายคนบอกผมว่า ‘ทำไมคุณถึงไม่เป็นคนได้รับรางวัลล่ะ’” จักดิช ภัควตี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว เขาเป็นคนช่วยให้ครุกแมนได้รับการตีพิมพ์งานวิชาการในขณะที่นักวิชาการคนอื่นมองว่ามันง่ายเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริง “หากมองจากพื้นฐานว่าผมไม่ได้รับรางวัลนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เกิดขึ้น”.

แปลและเรียบเรียงจาก The New York Times : Krugman Wins Economics Nobel

http://www.siamintelligence.com/krugman-wins-economics-nobel/

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

Experience VS Year of Service

หลายๆ คนคงอาจจะมีความเข้าใจในคำว่า "ประสบการณ์-Experience กับ อายุงาน-Year of Service" บ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่เคยได้ยิน อาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไร สำคัญอย่างไร ถ้าจะพูดไปแล้ว คำแรกคือ ประสบการณ์ น่าจะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า เพราะอะไรที่เราเคยทำ หรือเคยผ่านตา เคยเห็นบ้าง ก็อาจจะถือว่าเป็นประสบการณ์ทั้งหมดในแง่ของความเข้าใจโดยทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงในเชิงของการทำงานแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะนัยยะสำคัญมันมีแยกย่อยต่างออกไป ดังนั้น คำที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อแบ่งแยกความชัดเจนในวงการคนทำงาน จึงมีอีกคำหนึ่งคือ อายุงาน อายุงาน (Year of Service-YOS, Service Year) คือ ช่วงระยะเวลาทั้งหมดที่เราได้ทำงานกับองค์กร หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง (โดยจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าจะนับต่อเนื่องกันได้นั้นมันก็จะมีผลในทางกฎหมาย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) เช่น นาย ก. ทำงานกับบริษัท A มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ก็นับอายุงานได้ 2 ปีกับ 7 เดือนกว่าๆ เป็นต้น ประสบการณ์ (Experience) ก็คือ ประสบการณ์การทำงาน หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่ง (Time in Position) หรือในงานด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะจากหลายๆ องค์กรก็ได้ แต่ถ้าในองค์กรเดิมอาจจะใช้คำว่า ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเลยก็ได้ เช่น นาย ข. เคยทำงานในบริษัท A ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้อ โดยเริ่มทำงานในวันที่ 1 มกราคม 2547 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 มาทำงานกับบริษัท B ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 แต่ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2550 ได้ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกวางแผนการผลิต มาจนถึงปัจจุบัน...
เรามาลองแยกแยะ YOS กับ Experience ดูกัน

YOS กับบริษัท A = 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
YOS กับบริษัท B = 2 ปี 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2548 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในงานจัดซื้อ = 2 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2549)
Experience ในงานวางแผนการผลิต = 7 เดือนกว่า (1 มกราคม 2550 - 13 สิงหาคม 2550)
Experience ในตำแหน่งงานเจ้าหน้าที่จัดซื้อ= 1 ปี (1 มกราคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547)
Experience ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาวุโส = 1 ปี 6 เดือน (1 มกราคม 2548 - 31 มิถุนายน 2549) Experience ในตำแหน่งงานผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดซื้อ = 6 เดือน (1 กรกฎาคม 2549 - 31 ธันวาคม 2549)

พอจะมองภาพออกหรือยังครับว่า มันมีความแตกต่างกันอย่างไร ในคำทั้งสองคำข้างต้น...แต่ในทัศนะของผมแล้ว YOS นั่นไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไหร่ ประสบการณ์หรือ Experience นั้นน่าสนใจกว่าเยอะเลย เพระมีหลายๆ คนใช้วิธีการนับและแยกแยะอย่างที่ผมยกตัวอย่างข้างต้น ซึ่งก็ถูกต้อง ไม่น่าจะผิดแผกผิดเพี้ยนไปแต่ประการใด และไม่เห้นจะน่าสนใจตรงไหนเลย... ความน่าสนใจของมันอยู่ที่ การที่คนเราได้ทำงานในหน้าที่ หรือตำแหน่งงานใดงานหนึ่งโดยนับเอาว่าวาระ ระยะเวลา หรือจำนวนปีผ่านไปนั้น เป็นประสบการณ์ทำงานของตนเอง มันดูแล้วไม่น่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงทั้งหมด...ทำไม? ผมมองว่า ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่าและคุณค่ามาก จะเพิ่มมูลค่าประสบการณ์เพียงแค่ใช้มิติระยะเวลาเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะถูกต้องหรือพอเพียง...องค์ประกอบอื่น เช่น การเรียนรู้ กลยุทธ์ วิธีการ รูปแบบการทำงาน ฯ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง น่าจะนำมาเป็นแต้มบวกให้กับคำว่า ประสบการณ์ได้...บางคนอาจจะทำงานในงาน/ตำแหน่งหนึ่งมา 3 ปี แต่ไม่ได้พัฒนาปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นเลย ทำแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ อาจจะนับได้แค่อายุงาน 3 ปี แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ถึง 3 ปีก็ได้..แต่ในขณะที่คนหนึ่งได้ทำงานมา 2 ปีกว่าโดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบกรรมวิธีการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา อย่างนี้นับอายุงานได้ 2 ปีกว่า แต่ประสบการณ์ อาจจะวิ่งเลยมากกว่า 2 ปีกว่านี้ก็เป็นได้.. ดังนั้น ความน่าสนใจของคำว่า ประสบการณ์ นอกเหนือมิติของเวลาแล้ว น่าจะเป็นรูปแบบวิธีการทำงานในเชิงรุกและพัฒนา มุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นเอง...ลองย้อนกลับมาดูและถามเราเองสิว่า..การทำงานที่ผ่านมาเป็น "ประสบการณ์" หรือแค่ "อายุงาน" เท่านั้น...
(http://weblog.manager.co.th/publichome/preecha)

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รู้จัก "ปฏิสสาร" ให้มากขึ้นจาก "เทวากับซาตาน"

แม้จะเคยชี้แจงแถลงไขผ่านเว็บไซต์ของ "เซิร์น" ไปแล้วนับแต่นวนิยาย "เทวากับซาตาน" ของ "แดน บราวน์" ออกมาโลดแล่นผ่านหน้าหนังสือสู่สายตาผู้อ่าน แต่เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งในแผ่นฟิล์ม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ปฏิสสาร" ที่ในเรื่อง ถูกนำเสนอให้เป็นอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง

ในภาพยนตร์ "เทวากับซาตาน" (Angels & Demons) ที่สร้างขึ้นโดยอิงจากนิยายแนวระทึกขวัญของ "แดน บราวน์" (Dan Brown) ที่ล้วงลึกข้อมูลภายในของ "วาติกัน" ผู้นำแห่งคริสตจักร และ "เซิร์น" (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ - European Center for Nuclear Research : CERN) ผู้นำแห่งโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 องค์กร มีความเชื่อในจุดกำเนิดจักรวาลที่ต่างกันคนละขั้ว

สิ่งที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ได้สร้างขึ้น เพื่อค้นหาต้นตอแห่งจุดกำเนิดของจักรวาลนั่นก็คือ "ปฏิสสาร" (antimatter) โดยห้องแล็บของเซิร์นในภาพยนตร์ได้สร้างปฎิสสารมากถึง 1 กรัม ซึ่งมีความร้ายแรงเทียบเท่าระเบิดไดนาไมต์ 5,000 ตัน นับว่ามากเพียงพอที่จะทำให้กลุ่มองค์กรลับนามว่า "อิลูมิเนติ" (Illuminati) นำมาใช้ข่มขู่ระหว่างการเลือกตั้งพระสันตปาปาองค์ใหม่ เพื่อทำลายล้างให้นครวาติกันหายไปในพริบตา

บอริส เคย์เซอร์ (Boris Kayser) นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคเฟอร์มิแห่งสหรัฐฯ (Fermi National Accelerator Laboratory) หรือเฟอร์มิแล็บ (Fermi Lab) ในบาตาเวีย มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ตัวเลขที่อ้างในภาพยนตร์นั้นถูกต้อง แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายพันล้านปี กว่าที่มนุษย์จะผลิตปฏิสสารได้มากเท่าที่ปรากฎในภาพยนตร์

รอล์ฟ ลันดัว (Rolf Landua) ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิสสารจากเซิร์น และยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านฟิสิกส์แก่รอน โฮวาร์ด (Ron Howard) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ให้ความเห็นกับยูเอสเอทูเดย์ว่า งานของพวกเขานั้น พุ่งเป้าไปที่การทำความเข้าใจในความลึกลับของเอกภพ และไม่ได้สนใจการสร้างอาวุธเลย อีกทั้งที่เซิร์นยังเป็นห้องปฏิบัติการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ผลิตปฏิสสารในจำนวนน้อยนิด คงไม่มากพอที่จะกลายเป็นระเบิดได้ในที่สุด

แท้จริงแล้วปฏิสสารคืออะไรกันแน่?

บทความจากนิตยสารป็อปปูลาร์มาแคนิก (Popular Machenic) อธิบายโดยอาศัยคำสัมภาษณ์ของลันดัวว่า ทฤษฎีเรื่องปฏิสสารเริ่มพูดถึงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2471 ปฏิสสารเป็นภาพสะท้อนกลับด้านของสสารที่พบทุกวันนี้ภายในอะตอม เรียกได้ว่าเมื่อมีสสารก็ย่อมต้องมีปฎิสสาร เป็นการสร้างความสมดุลของธรรมชาติ

ต่อมาเมื่อนักวิทยาศาสตร์สร้าง "แอนติอิเล็กตรอน" (anti-electron) คู่ตรงข้ามกับอิเล็กตรอนในปี พ.ศ.2475 และ "แอนติโปรตอน" (anti-proton) ได้ในปี 2498 ก็เท่ากับยืนยันทฤษฎีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ปฏิสสารเพิ่งจะถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2538 แต่ไม่ใช่ที่ห้องปฏิบัติการของเซิร์นตามแบบในภาพยนตร์ ซึ่งเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ที่เป็นห้องทดลองสำคัญ ที่ทำให้อนุภาคชนกัน จนได้ปฏิสสารออกมาอย่างที่เห็นในภาพยนตร์นั้น ณ ปัจจุบันยังไม่ได้มีการทดลองจริงแต่อย่างใด มีแค่เพียงการทดสอบเดินเครื่องไปเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ของปีที่ผ่านมา

อีกทั้ง ในทางทฤษฎีแล้ว ควรมีปริมาณปฏิสสารพอๆ กับสสารที่เกิดจากระเบิด "บิกแบง" (Big Bang) เมื่อ 1.37 หมื่นล้านปีมาแล้ว และที่น่าสนใจ คือ สสารกับปฏิสสารต่างทำลายล้างซึ่งกันและกัน แต่เหตุใดจึงมีสสารออกมาในรูปของดวงดาว ดาวเคราะห์และผู้คนอยู่เต็มไปหมดในเอกภพ นั่นคือหนึ่งในความลึกลับของจักรวาลวิทยา

ในชีวิตจริง เราพบปฏิสสารได้เพียงในห้องปฏิบัติการ และกรณีที่รังสีคอสมิคพุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศ แล้วปลดปล่อยปรากฏการณ์แปลกประหลาดทางฟิสิกส์ในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งพบเห็นได้ยาก

ส่วนที่เซิร์นนั้น ลำรังสีพลังงานสูงของอนุภาคโปรตอนจะถูกยิงเข้าไปยังกำแพงโลหะเพื่อผลิตปฏิสสาร ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 ในล้านครั้งของการชน แม่เหล็กอันสลับซับซ้อนจะดักจับสิ่งที่ยากจะพบในสภาพสุญญากาศ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสสารจริง

สำหรับการเก็บปฏิสสารไว้ภายในอุปกรณ์ เหมือนขวดแม่เหล็กรักษาอุณหภูมิตามที่เห็นในภาพยนตร์นั้น นักวิทยาศาสตร์จากเซิร์นเปิดเผยว่า พวกเขามีอุปกรณ์หน้าตาคล้ายๆ กันนี้เรียกว่า "กับดักเพนนิง" (Penning Trap) เพื่อเก็บแอนตีโปรตอนไว้ศึกษา 57 วัน แต่การขนย้ายปฏิสสารนั้น แม้ว่าในทางทฤษฎีจะเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการขนย้ายในโลกแห่งความจริง

ที่สำคัญ บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคาดหวังว่า เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ที่ขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตรอยู่ใต้ดินบริเวณชายแดนสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศสนั้น จะเป็นเครื่องมือที่ยืนยันการมีอยู่จริงของอนุภาค "ฮิกก์โบซอน" (Higgs Boson) หรือ "อนุภาคพระเจ้า" (God particle) ซึ่งเป็นอนุภาคที่จะอธิบายว่าสสารมีมวลได้อย่างไร ซึ่ง ลีออน เลเดอร์แมน (Leon Lederman) อดีตผู้อำนวยการของเฟอร์มิแล็บและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2531 เป็นผู้หนึ่งที่มีความหวังต่อเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี

"อนุภาคพระเจ้า (ในบทภาพยนตร์ของไทยแปลว่า "เถ้าธุลีพระเจ้า") จะให้คำอธิบายได้ถึงการไม่ปรากฏของปฏิสสารในเอกภพนี้" เลเดอร์แมนกล่าว

*สนใจติดตามไขประเด็นทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องปฏิสสารที่ปรากฎในเทวากับซาตาน เซิร์นได้ทำเว็บไซต์อธิบายไว้ที่ angelsanddemons.cern.ch
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000058089