วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ค้าปลีกในสหรัฐฯ ปิดสาขารับปี 2017 : "ปี 2017 ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล"


ค้าปลีก Sears, Kmart และ Macy ในสหรัฐฯ ปิดสาขารับปี 2017 : "ปี 2017 ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล"

ทุกครั้งที่ผู้เขียนเริ่มเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับการพลิกผัน (Disruption) จะมีความไม่สบายใจ เพราะเพื่อนๆ ผู้เขียนหลายท่าน รวมทั้งผู้ติดตามบทความก็กำลังทำธุรกิจที่มีแนวโน้มขาลงตามกระแสโลก ผู้เขียนเองต้องขออภัยผู้อ่านที่อ่านแล้วอาจจะไม่สบายใจ จึงขอเสนอแนะว่า เราสามารถเลือกอ่านหรือเสพสื่อใดก็ได้ที่ทำให้เราสบายใจ

ดังนั้นเพื่อความสบายใจก็ขอให้ท่านมองผ่านบทความของผู้เขียนไป แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอยืนยันว่า ในเนื้อหาทุกบทความของผู้เขียนจะไม่ใส่อคติใดๆ และข้อมูลจะมาจากแหล่ง reference ที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะระบุไว้ท้ายบทความเสมอ และผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านที่เปิดใจอดทนอ่านด้วยสติและปัญญาและปราศจากอารมณ์ จะได้รับประโยชน์จากบทความแน่นอน

วันนี้ผู้เขียนได้พูดคุยกับเพื่อนอเมริกันผ่าน whatsapp ในเรื่องวิกฤติของธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ จึงได้ค้นคว้าเพิ่มเติมข่าวสารให้ผู้อ่านได้รับทราบ



Sears ได้ตัดสินใจประกาศในช่วงปีใหม่ โดยปิดสาขากว่า 150 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมค้าปลีกของสหรัฐฯ อันสืบเนื่องมาจากการถูกท้าทายโดยร้านค้า online เช่น Amazon ซึ่งในสมัยที่ผู้เขียนเรียนปริญญาโทที่เมือง Atlanta มลรัฐจอร์เจีย ผู้เขียนมักจะหาเวลาพักผ่อนเดินเล่นหาซื้อของในร้านทั้งสองเสมอ โดยในขณะนั้นมี Sears และ Kmart ในมลรัฐจอร์เจียทั่วทุกแห่ง

Sears Holding Corp. (SHLD) ได้ประกาศว่าจะทำการปิดสาขาของ Kamart อีกถึง 109 สาขา และ outlets ของ Sears อีก 41 สาขา รวมไปถึงการยกเลิกแผนที่จะจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์ช่างฝีมือ (Craftman tool) ภายใต้ตราสินค้า Stanley Black & Decker แต่ SHLD ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการจ้างงานของพนักงานแต่อย่างใด โดยการปิดสาขาในปี 2016 ก็ได้มีการปิดไปแล้ว 78 สาขา ส่วนในปี 2015 ปิดไปมากกว่า 200 สาขา

ซึ่งในปลายปี 2014 Eddie Lampert, CEO ของ Sears ได้ให้ข้อมูลว่า Sears อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital transformation) โดยจะอยู่ในรูปแบบ membership-based และ e-commerce-centric retailer และกำลังสร้าง "Shop Your Way program" ขึ้นมา โดยจะค่อยๆ ลดสาขาที่เป็นกายภาพให้น้อยลงตามลำดับ



Macy ได้ประกาศรับปี 2017 เช่นกัน โดยปิด 68 สาขาและต้องให้พนักงานออกจากงาน 10,000 ตำแหน่ง เหตุการณ์นี้เกิดจากผลของรายได้การประกอบการที่ย่ำแย่ลงมาตลอด อีกทั้ง Macy ยังคาดว่าจะต้องปลดพนักงานอีก 3,900 ตำแหน่งจากแผนการปิดสาขาอีกอย่างต่อเนื่อง และยังต้องปลดพนักงานที่เกิดจากการปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กรอีก 6,200 ตำแหน่ง

Macy ได้เปิดเผยด้วยว่า การตัดค่าใช้จ่ายของ Macy ด้วยการปลดพนักงานและปิดสาขาก็เพื่อนำเอางบประมาณของบริษัทไปมุงเน้นลงทุนในธุรกิจดิจิทัล ซึ่งในปรากฏการณ์นี้ Prof. Mark Cohen ศาสตราจารย์ของ Columbia Business School ได้ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการประกาศปิดสาขาและปลดพนักงานครั้งสุดท้ายของ Macy และยังให้ความเห็นอีกด้วยว่า มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และแน่นอน "more to come"



Prof. Mark Cohen ได้ให้ความเห็นด้วยว่า การที่องค์กรไม่ยินดีที่จะรับรู้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็จะได้รับผลนี้ นั่นก็คือการปิดตัวของธุรกิจในที่สุด
--------------


ข้อมูลเพิ่มเติม

1. Hardvard Business Review ได้ลำดับก่อนหลังธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ จะถูก disrupt ดังนี้


(1) Media
(2) Telecom
(3) Financial services
(4) Retail
(5) Insurance
(6) Education
(7) Healthcare



2. ผู้บริหาร ที่มีวิสัยทัศน์จึงสามารถคาดการณ์การพลิกผัน (Disruption) ในอุตสาหกรรมได้ ก็จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถประเมินความสามารถขององค์กรในอนาคตได้ การจ้างบุคลากรที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขององค์กรได้ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เกิดการตัดสินใจจากข้อมูล และมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรที่เชี่ยวชาญทางดิจิทัล และเป็นที่แน่นอนว่า องค์กรที่ยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าวก็จะต้องกลายเป็นผู้ตาม และอาจถูกทิ้งอยู่ข้างหลังอย่างไม่ต้องสงสัย

Reference
[1] http://money.cnn.com/2017/01/05/investing/sears-kmart-closing-stores/
[2] http://fortune.com/2014/12/15/sears-ceo-lampert/
[3] http://money.cnn.com/2017/01/04/news/companies/macys-job-cuts-stock/index.html
[4] https://hbr.org/2016/03/the-industries-that-are-being-disrupted-the-most-by-digital
----------------
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
8 มกราคม 2560 10:00
-----------------

ที่มา http://www.stock2morrow.com/

8 Jan, 2017

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

สิงคโปร์แชมป์ PISA สุดยอดคุณภาพการศึกษาที่ไร้คู่แข่ง

โดย อแมนด้า ไวส์    
MGR Online  
20 ธันวาคม 2559 
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Behind Singapore’s PISA success and why others may not want to compete
By Amanda Wise
18/12/2016

รายได้ครัวเรือนอู้ฟู่และการเรียนพิเศษกับคุณครูระดับปรมาจารย์ คือปัจจัยสำคัญที่หนุนสิงคโปร์ได้ครองอันดับหนึ่งตารางจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของ 70 ชาติ

มิใช่เรื่องน่าประหลาดที่ประเทศปราดเปรื่องอย่างสิงคโปร์สามารถผงาดขึ้นครองจ่าฝูงบนตารางจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นามว่า “ปิซ่า” กระนั้นก็ตาม น่าพิจารณาเจาะลึกกันสักครา ว่าปัจจัยอันใดกันแน่ ที่ส่งผลให้ยุวชนคนสิงคโปร์มีระดับมาตรฐานการเรียนการสอนเลอเลิศได้ปานนั้น

การจัดอันดับ “ปิซ่า” หรือ PISA อันเป็นคำย่อจาก Programme for International Student Assessment (โครงการเพื่อการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ) ซึ่งประกาศผลกันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) ได้จัดวางให้สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 1 ของตารางการประเมินผลนักเรียนนานาชาติในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เหนือชั้นกว่าประเทศอื่นๆ และระบบเศรษฐกิจอื่นๆ มากกว่า 70 แห่งทั่วผืนปฐพี ขณะที่ตารางย่อยสำหรับกลุ่มประเทศโออีซีดีนั้น ประเทศชื่อชั้นหรูๆ อย่างออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอังกฤษไปปรากฏอยู่ในอันดับท้ายๆ

ความสำเร็จดังกล่าวจุดชนวนให้ต้องถามว่าสิงคโปร์ทำเยี่ยงใด จึงเก่งกาจกันปานนั้น และประเทศอื่นจะอยากเจริญรอยตามล่ะหรือ

เคล็ดลับความสำเร็จที่ต้องเอ่ยถึงก่อนเลยคือ การที่เมืองลอดช่องแห่งนี้ลงทุนหนักมากให้แก่ระบบการศึกษาของตน ผู้ที่จะมาเป็นคุณครูได้ ต้องเก่งที่สุดและยอดเยี่ยมที่สุด พร้อมกันนั้น สิงคโปร์ได้พัฒนาแนวทางครุศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงในกลุ่มแขนงวิชาสายแข็ง นามว่า STEM หรือก็คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ อาทิ แนวทางการศึกษาคณิตศาสตร์แบบรอบรู้เชี่ยวชาญ หรือก็คือแนว Maths Mastery ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่นักเรียนจะศึกษาในแต่ละชั้นจนกระทั่งเก่งกาจเชี่ยวชาญก่อนจะเลื่อนขึ้นสู่ชั้นถัดไป แนวทางนี้ประสบความสำเร็จสุดๆ ในสิงคโปร์และจีน ทำให้อังกฤษนำไปทดลองใช้เมื่อปี 2015 และผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่อยู่ในแนวทางนี้เก่งกว่านักเรียนในแนวทางอื่นๆ

โดยวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ชาวลอดช่องนับเป็นชาติที่ปักใจไว้เหนียวแน่นมาก ว่าพวกตนจะต้องประสบความสำเร็จในการเรียนการสอน และประเทศนครรัฐแห่งนี้มีการเน้นย้ำในระดับชาติกันเลยทีเดียวว่าคนสิงคโปร์จะต้องมีความเป็นเลิศด้านการศึกษา

ที่ผ่านมา ความสำเร็จในการจัดอันดับ ปิซ่า ตลอดจนในตารางจัดอันดับสาขาอื่นๆ ของโลก ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างแบรนด์“สิงคโปร์”อันลือลั่นสนั่นพิภพ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คริสโตเฟอร์ กี นักวิชาการคนดังของสิงคโปร์เรียกว่า “การแข่งขันสะสมอาวุธทางปัญญา” กล่าวก็คือการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้แข่งขันกันสุดฝีมือ ถือเป็นบรรทัดฐานธรรมดาของสังคม

บทบาทของการกวดวิชาและสอนพิเศษ

ในการอภิปรายหลายๆ กรรม หลายๆ วาระ ภายในออสเตรเลียในหัวข้อประมาณว่า ทำไมชาวออสซี่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ดีเท่ากับชาวลอดช่อง ได้มีการมุ่งเน้นไปในจุดที่ว่าโรงเรียนในสิงคโปร์ทำอะไรกันบ้าง

กระนั้นก็ตาม การอภิปรายทั้งหลายทั้งปวงได้ละเลยปัจจัยสำคัญที่สร้างคุณูปการใหญ่หลวงแก่ความสำเร็จของประเทศนครรัฐแห่งนี้ คือ บทบาทของการกวดวิชาและสอนพิเศษ ตลอดจนอิทธิพลที่การกวดวิชาและสอนพิเศษมีต่อความสำเร็จโดยองค์รวมของเหล่านักเรียนเมืองลอดช่อง

ต่อไปนี้เป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจ:

• 60% ของนักเรียนวัยมัธยมปลาย และ 80% ของนักเรียนวัยประถม ได้รับการสอนพิเศษ-ได้เข้าเรียนกวดวิชา

• 40% ของนักเรียนชั้นเตรียมประถมมีคุณครูสอนพิเศษให้

• นักเรียนวัยเตรียมประถมได้เรียนพิเศษสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ขณะที่นักเรียนชั้นประถมได้เรียนพิเศษสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ใช่แล้วค่ะ ในจำนวนเด็กวัยประถม 10 คนในสิงคโปร์ จะมีอยู่ 8 คนที่ได้เรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแบบคุณครูสอนพิเศษ หรือแบบโรงเรียนกวดวิชา

เมื่อปี 1992 ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ ณ ระดับเพียง 30% สำหรับกรณีมัธยมปลาย และ 40% สำหรับระดับประถม โดยจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนใช้ไปกับการเรียนพิเศษจะทวีขึ้นเมื่อเรียนถึงชั้นปลายๆ ของระดับประถม ทั้งนี้ เด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางได้เข้าเรียนพิเศษนับเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะด้อยกว่านั้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งมีอยู่ว่า ภายในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนกวดวิชาเอกชนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ โดยที่ว่าในปี 2015 ศูนย์กวดวิชาที่จดทะเบียนมีจำนวน 850 แห่ง พุ่งเพิ่มจากระดับ 700 แห่งในปี 2012

ปัจจัยด้านรายได้ของครอบครัว

ตามผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนของสิงคโปร์ การสอนพิเศษของประเทศนครรัฐแห่งนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (772 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สูงมากสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 5.6 ล้านราย โดยตัวเลขนี้เทียบได้เป็นสองเท่าของตัวเลขค่าใช้จ่ายครัวเรือนเมื่อปี 2005 ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 650 ล้านดอลลาร์สิงโปร์

ทั้งนี้ 34%ของครัวเรือนที่มีบุตร จัดสรรงบค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษแก่ลูกๆ ในระดับ 500 – 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนต่อเด็ก 1 คน ขณะที่ อีก 16% จัดสรรงบค่าใช้จ่ายนี้แก่ลูกๆ ในระดับ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนต่อคน

ในการนี้ หากแบ่งระดับรายได้ของครัวเรือนเป็น 5 ช่วง ช่วงละ 20% จะพบว่าครอบครัวผู้มีรายได้ระดับ 20% ของก้นตาราง สามารถหาเลี้ยงชีพได้เพียงเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จึงอาจกล่าวได้ว่างบค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษในระดับดังกล่าว ถือว่าเป็นเงินที่มหาศาล

หากคิดไปถึงข้อเท็จจริงว่าครอบครัวที่มีลูก 2-3 คน เราย่อมเห็นวี่แววของปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจสังคมปรากฏอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ความสำเร็จทางการศึกษาต้องพึ่งพิงกับการเรียนพิเศษ

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 2 ช่วงสุดท้ายของตาราง คือมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะมีเพียง 20%เท่านั้นที่ให้ลูกได้เรียนพิเศษ

ศูนย์กวดวิชา

ศูนย์การสอนพิเศษและโรงเรียนกวดวิชาทั้งปวงประกอบความหลากหลาย มีตั้งแต่ศูนย์ติววิชาใกล้บ้านสนนราคามิตรภาพ และศูนย์สอนพิเศษประจำชุมชน ไปจนถึงโรงเรียนกวดวิชา “ยี่ห้อดัง” ใหญ่ยักษ์ระดับชาติซึ่งมีสาขากระจายไปตามศูนย์การค้าชั้นนำทั่วเกาะสิงคโปร์

คุณภาพของการกวดวิชาที่นักเรียนได้รับจะเป็นไปตามความสามารถที่นักเรียนจะจ่ายไหว

มันเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาล

ยุทธศาสตร์การตลาดของโรงเรียนกวดวิชามักที่จะเน้นสร้างความวิตกกังวลในใจผู้ปกครองเด็ก ว่าเด็กจะล้มเหลวทางการศึกษา หากผู้ปกครองไม่ยอมควักกระเป๋าช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่เด็กๆ

ผู้ปกครองมากเลยร้องบ่นว่าโรงเรียน “สอนเกินตำรา” ความหมายก็คือ มุมมองว่าคุณครูในชั้นเรียนทึกทักว่าเด็กในห้องได้รับความรู้เพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชามาแล้ว และจึงสอนเกินระดับของหลักสูตร ดังนั้น จึงต้องตรองดูว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่เด็กส่วนน้อยที่ไม่มีโอกาสได้รับองค์ความรู้เพิ่มเสริมพิเศษ

ทำไมต้องเริ่มเรียนพิเศษตั้งกะชั้นเตรียมประถมและชั้นประถม

ในสิงคโปร์มีการสอบที่สำคัญต่ออนาคตของนักเรียนอย่างยิ่งยวด คือ การสอบ PSLE หรือการสอบจบจากชั้นประถม ซึ่งเป็นการสอบที่มีส่วนได้เสียดุเดือด เพราะผลการสอบมิใช่แค่การไปกำหนดว่านักเรียนจะได้เข้าโรงเรียนมัธยมแห่งใด หากยังไปกำหนดด้วยว่านักเรียนจะได้เรียนในโรงเรียนที่จะได้ช่องพิเศษเข้ามหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เมืองลอดช่องไม่ได้มีสิทธิอัตโนมัติที่จะฝากเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม “ประจำท้องถิ่น”

โรงเรียนมัธยมทั้งหลายจะเป็นฝ่ายเลือก โดยโรงเรียนมัธยมเกรดเอบวกจะได้เลือกเด็กที่มีผลสอบ PSLE สูงลิ่ว ทั้งนี้ โรงเรียนมัธยมจัดแบ่งได้ 4 เกรด และผลสอบดังกล่าวจะส่งให้นักเรียนได้เข้าเรียนลดหลั่นตามเกรด ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยมเกรด A นักเรียนจะได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยมระดับก้นตาราง ก็จะป้อนนักเรียนเข้าสู่สถาบันอาชีวศึกษาบ้าง โพลีเทคนิคบ้าง โดยจะต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน

คุณพ่อคุณแม่ที่มีฐานะเป็นชนชั้นกลางจำนวนมากเชื่อว่า “การแข่งขัน” นั้นเริ่มตั้งแต่ต้นมือ

คุณพ่อคุณแม่จึงถูกคาดหวังให้กวดขันดูแลให้ลูกๆ วัยก่อนประถม ได้อ่านและเขียน อีกทั้งมีทักษะคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียน เด็กจะมีศักยภาพได้อย่างนั้น ย่อมต้องพึ่งพาบริการของโรงเรียนสอนพิเศษนั่นเอง

ขณะที่ผู้คนพากับชื่นชมมากมายในความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ก็ยังมีคำถามที่ตรวจสอบบทบาทของบรรดาโรงเรียนกวดวิชาต่อรูปโฉมแนวโน้มของชีวิตวัยเด็ก และต่อการกระตุ้นความกังวลของคุณพ่อคุณแม่

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่า โรงเรียนจะทึกทักว่าเด็กทุกคนได้เรียนพิเศษกับทั่วหน้าแล้ว และจึงทำการสอนเกินหลักสูตรเพราะถือว่าเด็กที่ได้เรียนพิเศษเป็นประชากรกลุ่มหลักในห้องเรียน

ผู้ปกครองมากรายในสิงคโปร์โอดครวญหนักหนากับสภาพแวดล้อมที่แข่งขันกันสาหัสสากรรจ์ได้ส่งผลเป็นแรงบีบคั้นให้เด็กต้องทุ่มเทเวลาแก่การกวดวิชาดุเดือดเลือดพล่าน พร้อมกับกระทบไปยังมิติต่างๆ ของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้เวลากับสมาชิกในครอบครัว การบั่นทอนโอกาสที่จะใช้ชีวิตวัยเด็ก การพัฒนามิตรภาพ ตลอดจนการได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม ในการนี้ มีจำนวนมากเลยที่รู้สึกว่าต้องยอมแลก เพราะพวกตนไม่มีทางเลือก

คนสิงคโปร์นั้นมีเงาของความวิตกหนักมากในเรื่องว่า กลัวจะต้องล้าหลัง กลัวจะเป็นผู้แพ้ ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระแวดระวังว่าการได้มาซึ่งความสำเร็จอันฉูดฉาดในด้านการศึกษานั้น ตั้งอยู่บนความเสียหายอันใดบ้าง

นี่มิใช่ว่าจะคัดค้านความสำเร็จของสิงคโปร์ แต่เป็นเรื่องของการตรวจสอบในประเด็นการกวดวิชานอกเวลาเรียน การเรียนการสอนในสิงคโปร์มีความเป็นเลิศในหลากหลายมิติ กระนั้นก็ตาม การเรียนพิเศษไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หากจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของการใช้ชีวิตด้วย

อแมนด้า ไวส์ รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแมคควอรี, ออสเตรเลีย

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ The Conversation (http://theconversation.com/)

ปี 2560 แรงงานวัยเกษียณยังมีคุณค่า ผุดอาชีพใหม่-รายได้ดี!


โดย MGR Online    
31 ธันวาคม 2559

ปี 2560 ธุรกิจเอกชนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และมีแรงงานวัยเกษียณ โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร ด้านบริษัทจัดหางานจากต่างประเทศ ถึงขนาดต้องเปิดบริษัทเพื่อเฟ้นหาตัวผู้บริหารวัยเกษียณโดยเฉพาะ ชี้เอกชนต้องวางแผนตั้งรับ เพราะแนวโน้มนี้ส่งผลกระทบ 4 กลุ่มสายงานที่ขาดแคลน คือ “การเงิน-วิศวกรรม-สินค้าบริโภคอุปโภค-ค้าปลีก” ในทุกระดับ ขณะคนที่เกษียณที่มีทักษะพร้อมโดดเข้าสู่อาชีพที่ปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง ด้านวงในธุรกิจสื่อสารและคอนซูเมอร์เผย เริ่มมีการปรับตัวรับมือกับวิกฤต

ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง ที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งด้านสื่อสาร และธุรกิจรีเทล หลายแห่ง ต้องเผชิญปัญหาด้านบุคลากร เพราะผู้บริหารระดับสูงที่ทยอยเกษียณอายุในเวลาใกล้ ๆ กันแบบยกทีมทุกสายงาน ทำให้เกิดวิกฤต เพราะไม่สามารถปั้น Successor (ตัวตายตัวแทน) จากคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ทันการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยมีการเกษียณอายุที่ 60 ปี และในปัจจุบันมีผู้สูงอายุทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ ถือเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ โดยในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า แรงงานกลุ่มนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะกระจายอยู่ในทุกสายงานขององค์กร





ที่มาภาพ : ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





นับว่าการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ จึงเป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้ภาคธุรกิจเอกชน ต้องเผชิญภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพ ต่อเนื่องมาจากที่วัยเกษียณในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มีจำนวนมาก และบริษัทเอกชนก็ไม่สามารถหาตัวตายตัวแทน พัฒนาคนใหม่ ทั้งเจนเอ็กซ์ (Gen X) และเจนวาย (Gen Y) ที่มีศักยภาพเข้ามารับไม้ต่อในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้ทัน ซึ่งกลุ่มนี้จะกระจายเต็มองค์กรในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้ปะทุขึ้นตั้งแต่ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งในปี 2560 บริษัทเอกชนหลายแห่งได้หาทางออกโดยนำนโยบายการต่ออายุแรงงานเกษียณมาใช้กับองค์กร ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคล

อาชีพใหม่ผุดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลง
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป บริษัทด้านบริหารจัดการแรงงาน ที่มีสาขากว่า 60 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจากการตั้งรับไม่ทันของบางองค์กร ถึงแม้ผู้บริหารระดับกลางที่มีอยู่จะมีความสามารถ แต่ยังไม่สามารถดูแลเรื่องการบริหารระดับสูงได้ ทั้งในส่วนการมองทิศทางธุรกิจในภาพรวม และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพราะยังขาดประสบการณ์

อีกทั้งไม่มีการวางแผน ไม่เคยให้โอกาสในการฝึกฝน อบรมทักษะในการเป็นผู้บริหาร ตราบใดที่ยัง Centralize คืออำนาจยังอยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดเท่านั้น จะทำให้ระดับรองลงมาไม่มีทักษะในการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ หรือมีน้อยจนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการขึ้นมาแทนที่ ซึ่งในส่วนองค์กรเองก็จะมองว่าไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี

ขณะที่บางองค์กรให้อิสระ ทำในลักษณะ Decentralize คือให้อำนาจในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับผู้จัดการ (Line Manager) เพื่อเป็นการฝึกฝน พัฒนา เพราะมองว่าเมื่อกลุ่มผู้สูงอายุออกจากองค์กรไป ต้องมีกลุ่มเจเนอเรชันใหม่เข้ามาทดแทน มีเรื่องอะไรที่เจนฯใหม่ต้องเรียนรู้ เป็นการดูแล ฝึกฝน และอบรมมาก่อน

จะเห็นได้ว่าตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการพิเศษ เกิดขึ้นมากในหลายองค์กร เพื่อเป็นการยืดเวลาการทำงานของพนักงานสูงอายุ ตัวอย่างในบางบริษัทที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่ระดับฝ่ายขาย เช่นอดีตผู้บริหารท่านหนึ่งระดับผู้อำนวยการฝ่ายขาย (Sales Director) ซึ่งทุกวันนี้ยังเข้าออฟฟิศอยู่เป็นบางวัน โดยมีหน้าที่หลักคือการแก้เคสเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ จะคิดแผนในการแก้ไข และสนับสนุนการขาย

วิธีการนี้กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะจะหาใครที่มีความรู้ประสบการณ์ และคอนเนกชันได้ดีเท่ากับ “คนใน”

ดังนั้นผู้บริหารกลุ่มนี้จะได้รับข้อเสนอที่เป็นลักษณะสัญญาระยะสั้น อาจจะเป็นปีต่อปี หรือ 3 ปี
ปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ จะได้รับข้อเสนอต่ออายุจากองค์กร แต่ไม่ได้หมายความว่าได้ต่ออายุทุกคน จะต้องเป็นกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ หรือแรงงานเกษียณอายุที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้

เช่นต้องเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยี จึงจะสามารถให้คำปรึกษาได้ ถึงแม้จะเป็นแรงงานสูงอายุ แต่การเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน

เตรียมตัวเป็นไทยแลนด์ 4.0

นางสาวสุธิดา บอกว่า ภาครัฐมีการตื่นตัว และให้ความสำคัญกับแรงงานสูงอายุมากขึ้น เพราะมองเห็นอนาคตใน 10-20 ปีจะมีผู้สูงอายุเกือบเต็มประเทศ

ขณะคนที่อยู่ในวัยแรงงานลดน้อยลง แต่สิ่งที่ทำให้แรงงานเกษียณมีคุณค่าเพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ภาคธุรกิจบริษัทเอกชน จึงต้องเดินตามกรอบและทิศทางของประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาบูรณาการตั้งแต่เล็กไปใหญ่ ตั้งแต่ระดับคน ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งการสื่อสาร Internet of thing จะเข้ามาครอบทั้งหมดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปรับให้ทันกระแสโลก

โดยในปี 2560 องค์กรต่าง ๆ ต้องเพิ่มการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงฝึกอบรมคนให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังเป็นอุปสรรค และประสิทธิภาพการผลิตนั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก

อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการจ้างงานซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนไป เพราะคนทำงานในวัยผู้สูงอายุ วัยเกษียณ กลับกลายเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในองค์กร เนื่องเพราะองค์กรต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ต้องการคนที่มีลักษณะยืดหยุ่น คนที่ใช่และพร้อม

ดังนั้นเมื่อยังหาคนมาทดแทนไม่ได้ แรงงานวัยเกษียณจึงตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีความพร้อมทั้งด้าน Knowledge และ Know How







ตั้งบริษัทเฟ้นตัวผู้บริหารป้อนเอกชน

นอกจากนี้ยังมีอีกแนวโน้มที่ชี้ชัดว่า คนวัยใกล้เกษียณเป็นกลุ่มแรงงานที่มีค่ามากในเวลานี้ คือ ในส่วนของแมนพาวเวอร์เอง ก็มีบริษัทลูกซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการสรรหาผู้เชี่ยวชาญพิเศษในกลุ่มคนที่เป็นผู้บริหาร

จากสถิติลูกค้าของแมนพาวเวอร์ ในปี 2559 ความต้องการแรงงานในกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าสูงมากท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบัน เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการตื่นตัวเรื่องไทยแลนด์ 4.0 จากภาครัฐ ทุกคนจึงต้องมีแผนในการรองรับ

ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ที่มีลักษณะการบริหารแบบครอบครัว (Family Business) เพราะต้องเตรียมรับมือกับการเกษียณอายุของคนรุ่นก่อน

ดังนั้น การยกตัวอย่างองค์กรที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะค่อนข้างชัดเจนมาก เพราะมาถึงช่วงเวลาเปลี่ยนรุ่น จากคุณพ่อคุณแม่ มาสู่รุ่นลูกหรือรุ่นหลาน ที่อาจจะยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์เพียงพอ จึงยังต้องจ้างคนเก่าเอาไว้เป็นที่ปรึกษา หรือคณะกรรมการ เพื่อให้การแนะนำ และโค้ชชิ่งให้กับเจเนอเรชันถัดไป

Family Business ที่ประสบปัญหานี้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีจ้างคนที่เกษียณแล้วเป็นที่ปรึกษาต่อ เพราะยังไม่มั่นใจคนในระดับรอง ขณะที่การจ้างคนนอกธุรกิจเข้ามาก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ 6 เดือนถึง 1 ปีซึ่งไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและการแข่งขันในช่วงนี้

การหาคนมาทดแทนผู้บริหารระดับสูงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องมีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะ และประสบการณ์ ถ้าจ้างมาแล้วระดับล่างไม่ยอมรับก็อยู่ไม่ได้ เข้ามาแล้วนอกจากคุมคนได้ ต้องบริหารจัดการได้ และต้องแก้ปัญหาให้ทีมได้ การหาคนที่มีคุณลักษณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย




นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป





ทางออกเมื่อเผชิญวิกฤตขาดแรงงานวัยเกษียณ

นางสาวสุธิดา กล่าวว่า ตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับวิกฤตแรงงานทดแทนบุคลากรกลุ่มเกษียณอายุ จะมีการวางแผนจำนวนบุคลากรล่วงหน้า 5-10 ปี


อีกทั้งจะใช้แนวทางชะลอการเกษียณของแรงงานสูงอายุให้ช้าลง โดยต่ออายุการทำงานบนเงื่อนไขพิเศษ เช่น การจัดหางานนอกเวลาหรืองานพิเศษให้กับแรงงานสูงอายุ ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการ หรือผู้ชำนาญพิเศษ

“จะใช้วิธีการดึงคนสูงอายุมาเป็นพี่เลี้ยง กลุ่ม Talent ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนความรู้ให้กับคนที่จะมารับตำแหน่งในยุคต่อไป”

ขณะเดียวกันองค์กรต้องวางแผนการนำทรัพยากรบุคคลของตัวเองมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากเปรียบเทียบระหว่างการจ้างงานคนใหม่เข้ามา กับการใช้คนเดิมที่มีความรู้ มีประสบการณ์และทักษะในการทำงานอยู่แล้วถือเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมทั้งคนในกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการบ่มเพาะและฝึกฝนพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะมาแทนที่ได้อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม การส่งบุคลากรคนรุ่นใหม่ไปศึกษาอบรมงานข้างนอกต้องมองว่าประสิทธิภาพ และผลลัพธ์เป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก เพราะลักษณะและวิธีการทำงานจะเทียบกับคนในสายงาน ในองค์กรที่มีประสบการณ์โดยตรงไม่ได้ ดังนั้นการให้บุคลากรที่มีอาวุโสมาเป็นพี่เลี้ยงคนรุ่นใหม่ จะสามารถลดต้นทุนได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า ขณะที่ใช้เวลารวดเร็วกว่า

ขาขึ้นของอาชีพใหม่หลังเกษียณ

นางสาวสุธิดา กล่าวถึงสายงานที่มีการขาดแคลน จากการเกษียณของแรงงานผู้สูงอายุนั้น ในกลุ่มใช้แรงงาน จะสามารถใช้แรงงานหลังจากเกษียณได้ต่อในระยะเวลาอันสั้น คือ ประมาณ 1-5 ปี

ส่วนกลุ่มแรงงานทักษะระดับผู้บริหาร ซึ่งจะทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้น เพราะความต้องการคนที่มีศักยภาพ มีทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ เข้ามาในส่วนของการจัดตั้งองค์กร หรือบริหารจัดการในด้านกลยุทธ์ขององค์กร เป็นที่มาของอาชีพที่ปรึกษา คณะกรรมการ และอาชีพผู้ชำนาญพิเศษ

ซึ่งอาชีพนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกิจ ภายใต้โครงการ หรือ Project ต่าง ๆ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เรียกได้ว่ากลุ่มอาชีพนี้ถือว่าเป็นขาขึ้นมาก

จากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้แต่ละองค์กรต้องการประสิทธิผลมากที่สุด ต้องพิจารณาว่าจะใช้วิธีการใดจากสิ่งที่มีอยู่ การจ้างคนมาใหม่นอกจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ จึงต้องใช้คนเก่ามาเป็นพี่เลี้ยง

4 กลุ่มสายงานที่ขาดแคลนคนทดแทนวัยเกษียณ

ขณะที่ธุรกิจที่มีผลกระทบมากจากแรงงานเกษียณ ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพสายการเงิน (Finance) ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ เช่น Tax Adviser ให้คำปรึกษาเรื่องภาษี ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการบริหารการเงินขององค์กร

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มสายวิศวกรรม (Engineering)

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มสินค้าบริโภคอุปโภค (Consumer Product)

กลุ่มที่สี่คือธุรกิจค้าปลีก (Retail)

โดยทั้งหมดอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนรุ่น และต้องมีการวางแผนเรื่องบุคลากรในอนาคตไว้ล่วงหน้า และส่วนใหญ่ต้องการบุคลากรในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (Top Management) หรือในส่วนของผู้ชำนาญพิเศษ (Specialist) เช่นในกลุ่มของวิศวกรที่มีความรู้และประสบการณ์เฉพาะทาง ซึ่งคนรุ่นต่อไปยังไม่สามารถเข้าใจทางเทคนิคได้ดีพอ คนรุ่นนี้จึงต้องให้คำแนะนำ เพราะมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีกว่า รวดเร็วกว่าการเสาะหาข้อมูล อาชีพที่ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์เฉพาะด้านจึงเป็นที่ต้องการ









ส่วนสายสังคมที่ไม่ต้องใช้ความเป็นผู้ชำนาญการมากนัก ก็ยังมีความต้องการในบางเซกเมนต์ เช่น ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจที่ต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน แรงงานสูงอายุยังสามารถผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาได้ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ที่จะนำองค์กรได้ เรียกได้ว่าถ้ามีคุณค่าต่อองค์กรก็ได้ไปต่อ

“เรื่องการเรียนรู้ของพนักงานต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่นด้านไอที ทุกคนต้องปรับไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่เฉพาะแรงงานผู้สูงอายุ แต่ต้องปรับทั้งองคาพยพ เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีที่ทุกคนต้องใช้”

อัตราผลตอบแทนของแรงงานวัยเกษียณ

นางสาวสุธิดา ย้ำว่าอัตราเงินเดือนกลุ่มวัยเกษียณจะมีลักษณะที่หลากหลาย เพราะแรงงานภาคพิเศษ หรือแรงงานนอกเวลา ไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัททุกวัน มีการเข้าทำงานเป็นรายวัน รายชั่วโมง ไปจนถึงให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นรายเคสและเรียกเก็บค่าตอบแทนตามตกลง

“กลุ่มอาชีพที่ปรึกษาจะมีรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน เป็นงานรายจ๊อบหรือระยะสั้น ทำสัญญากับองค์กรประมาณ 1-3 ปี อาชีพนี้ไม่จำกัดแค่ผู้บริหารที่มีชื่อเสียง แต่เป็นคนทำงานทั่วไปที่มีศักยภาพเช่นในธุรกิจรีเทล หรือคอนซูเมอร์โปรดักต์ที่มีเม็ดเงินมหาศาล”

เคสตัวอย่าง (ที่ปรึกษาเอสเอ็มอีเป็นฟรีแลนซ์) ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ คำนวณการให้คำปรึกษาและเรียกเก็บเป็นรายเดือนตามที่ตกลง กรณีมีเคสฉุกเฉินเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปหารือในบริษัท ยังสามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมไปจนถึงค่าเดินทางได้อีก ในส่วนของที่ปรึกษาภาครัฐหรือบางองค์กรอาจต้องใช้เอกสารรับรองการเป็นที่ปรึกษา คือต้องไปขึ้นทะเบียนที่ปรึกษากับกระทรวงการคลัง

แต่ในธุรกิจเอกชนบางแห่ง จะใช้การแนะนำและบอกต่อโดยดูตามความชำนาญพิเศษในแต่ละด้าน การเป็นที่ปรึกษานั้น ความยากคือการทำตามความคาดหวังของลูกค้า สามารถแก้ปัญหาให้ได้หรือไม่ สามารถทำผลลัพธ์ออกมาตามที่ต้องการหรือไม่ หากทำได้ นั่นคือได้เงินตอบแทน และมีการต่อสัญญา ซึ่งไม่ได้เป็นการผูกมัดทั้งสองฝ่าย

“ธุรกิจเอสเอ็มอีวันนี้ น่าจะเน้นมาสู่เรื่องของดิจิตอลมาร์เกตติ้ง เราเดินมาถึงจุดเปลี่ยนของการบริหารจัดการสื่อ สังเกตจากงบประมาณในการใช้สื่อออฟไลน์ลดลงในทุกธุรกิจ เบนมาใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีและเจ้าของกิจการอาจจะยังตามไม่ทัน จึงต้องใช้บริการที่ปรึกษา”

วงในสายสื่อสารและคอนซูเมอร์เริ่มปรับ

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากบริษัทยักษ์ใหญ่วงการสื่อสาร เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรบุคคลว่า “ก็ยอมรับว่าบริษัทกำลังเจอปัญหาการเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูง ที่จะทยอยครบวาระตั้งแต่ปี 2559 ไปจนอีก 2 ปีข้างหน้า เรียกว่าแทบทุกสายงานตั้งแต่ไฟแนนซ์ กฎหมาย การตลาด และฝ่ายขาย

ซึ่งบริษัทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีหลักสูตรการเตรียมความพร้อมหัวหน้างาน ตั้งแต่ระดับล่าง ไปจนถึงระดับสูง ซึ่งก็ปูพื้นให้กับคนที่มีศักยภาพ แต่ประสบการณ์และความเก๋าเกมไม่ได้มีกันง่าย ๆ และก็มีโอกาสสะดุดแน่นอน

ยิ่งผู้บริหารที่อยู่ในแผนกที่ใหญ่มาก คนที่จะมารับตำแหน่งก็ยิ่งหนักใจ ในบางสายงาน เราจึงต้องใช้วิธีผ่างานส่วนนั้นออกเป็นส่วนย่อย 2-3 ส่วน ตั้งคนใหม่ขึ้นมาลองบริหารแต่ละส่วน โดยให้มีการกำกับและฝึกฝนจากคนเดิม

นโยบายตรงนี้จะช่วยผ่อนภาระ และทำให้เห็นคนที่มีแววได้ชัดขึ้น

“ที่บริษัทมีนโยบายต่ออายุเกษียณให้กับผู้บริหารอยู่แล้ว ขึ้นกับความสมัครใจ เพราะบางท่านพร้อมเป็นที่ปรึกษา ชี้แนะผู้บริหารมือใหม่ บางท่านก็อยากไปพักผ่อน หรือให้เวลากับครอบครัว จึงอยู่ที่การเจรจาเป็นราย ๆ ไป”

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารจากธุรกิจอุปโภคบริโภค ที่มีธุรกิจในลักษณะครอบครัว พบว่าการส่งไม้ต่อธุรกิจจากเจเนอเรชันพ่อสู่ลูกในเจเนอเรชันเอ็กซ์และวาย ส่วนใหญ่เผชิญปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเข้ามารับบทบาทงานบริหารต่อ ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้กับกำหนดเกษียณของผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ที่ร่วมงานมาพร้อม ๆ กับรุ่นบุกเบิกหรือก่อตั้ง

“ตอนที่เข้ามารับช่วงต่อนั้นเครียดและกดดันมาก เพราะเราก็ใหม่ แม้จะฝึกมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ไม่ได้รู้งานทะลุปรุโปร่ง โชคดีที่ผู้ใหญ่ทุกท่านพร้อมจะช่วยแนะนำ ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบา”

ส่วนตัวเองที่เป็นเด็กก็ต้องรับฟังแนวทางหลายอย่าง แล้วมาปรับใช้เป็นแนวของเราเอง ขณะที่ผู้ใหญ่ก็เมตตา เปิดโอกาสให้ทดลองตามวิธีที่เราคิด มีทำผิดก็หลายครั้ง ก็มาช่วยกันแก้ไข และยังฝากเรากับลูกค้ารายใหญ่ ๆ ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างไม่สะดุด

ที่มา http://manager.co.th/SpecialScoop/ViewNews.aspx?NewsID=9590000128981

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

JACK WELCH : สุดยอด CEO ระดับโลก


บทความที่นำเสนอมาจากหนังสือเรื่อง Control Your Destiny or Someone Else Will แต่งโดย Noel Tichy และ Stratford Sherman ว่าด้วยเรื่องประวัติความเป็นมาของแจ็ค เวลช์ (Jack Welch) ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานที่ทำให้เขาพลิกผันตนเองจนกลายเป็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำระดับโลก
คือ บริษัท จี อี และกลายเป็นCEO ที่มีค่าตัวสูงที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่ในสมัยเด็ก แจ๊ค เวลช์ เคยเป็นคนที่พูดติดอ่างเสียด้วยซ้ำ แต่เขาก็ไม่เคยรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเขามีคุณแม่ที่คอยให้กำลังใจตลอดเวลา คุณแม่ของเขาสอนว่า การที่เขาพูดติดอ่างเป็นเพราะว่า เขามีระบบความคิดที่พิเศษกว่าคนปกติและรวดเร็วเกินกว่าที่เขาจะพูดได้ทัน นอกจากจะมีคุณแม่คอยให้กำลังใจและปลูกฝังให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้แจ็ค เวลช์ สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดได้มีดังต่อไปนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ jack welch1. กฎทองคำ 6 ประการที่ทำให้แจ๊ค เวลช์ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

1) จงกำหนดชะตาชีวิตของท่าน มิฉะนั้นคนอื่นจะเป็นผู้มาบงการชีวิตของคุณ (Control your destiny ,or someone else will)
ควรกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเองให้ชัดเจนและแน่นอน เพราะถ้าตัวเราเองยังไม่รู้ว่าเรากำลังจะเดินไปทิศทางไหนแล้วนั้น จะทำให้เราไขว้เขวไปกับการท้วงติงและการตำหนิเตียนจากคนรอบข้าง หรือในทางกลับกัน ถึงแม้มีโอกาสต่าง ๆ มารออยู่ข้างหน้าเราก็จะไม่เห็นความสำคัญ และปล่อยให้โอกาสเหล่านั้นหลุดลอยไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งใด เพื่ออะไร และเรากำลังอยู่ตรงจุดไหนของแผนที่ชีวิต นอกจากนั้น เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วหากประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ เราจะต้องไม่โทษผู้อื่นเพราะชีวิตนี้เป็นของเรา จะสุขหรือทุกข์เราจะต้องรับผิดชอบเอง สิ่งนี้จึงจะแสดงว่าเราเป็นผู้มีวุฒิภาวะ และสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้เองอย่างแท้จริง

2) จงมองความจริงตรงตามความเป็นจริง มิใช่ความเป็นจริงที่มันเคยเป็นมาแล้วในอดีต หรือความเป็นจริงที่คุณอยากให้มันเป็น (Live with the present reality as it is, not the kind of reality that used to be in the past or the reality that you want it to be)
คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงทุกรูปแบบทั้งสมหวังและผิดหวัง และจะต้องอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ยึดติดกับเรื่องในอดีตหรือเพ้อฝันไปกับสิ่งที่เราคิดเข้าข้างตัวเองและอยากให้มันเป็น เพราะการที่เราอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันจะทำให้เราเห็นเหตุและปัจจัยใหม่ ๆ ที่เข้ามาและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เป็นจริง

3) หากจะโน้มน้าวจิตใจคนไม่ควรใช้วิธีการบังคับขืนใจ แต่ควรเสนอมุมมองที่แตกต่างเพื่อกระตุ้นเตือนให้อีกฝ่ายได้คิด ซึ่งมุมมองเหล่านั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของผลดีหรือผลเสียที่อีกฝ่ายจะได้รับ
ตัวอย่างเช่น อธิบายให้อีกฝ่ายเห็นโทษของการเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากการกินอาหารที่มีรสหวานจัดจนเกินไป แทนที่จะไปบังคับขู่เข็ญหรือว่ากล่าว เป็นต้น

4) จงมีความจริงใจและมีความตรงไปตรงมาต่อตนเองและผู้อื่น (Integrity)
การแสดงความตรงไปตรงมาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่มุทะลุดุดันหรือพูดจาเป็นขวานผ่าซาก และปากกับใจต้องตรงกัน ถ้าไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด และถ้าจะพูดหรือแสดงออกจะต้องออกมาจากความรู้สึกไม่ใช่จากความคิด (Speak from your heart, not from your head)

5) อย่าเปลี่ยนจุดยืนของตนเองโดยเด็ดขาดถ้าไม่จำเป็นหลังจากที่เราคิดทบทวนทุกอย่างอย่างรอบคอบแล้ว เราจะต้องมุ่งมั่นทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้จงได้ แต่ในระหว่างที่ดำเนินการ หากมีความคิดใหม่ ๆ เข้ามา เราต้องรับฟังและนำมาขบคิดพิจารณาว่าสิ่งใดที่แตกต่างไปจากที่เราเข้าใจหรือไม่ หรือมุมมองใหม่นั้น มีเหตุมีผลพอที่จะหักล้างในสิ่งที่เราเชื่อหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่จะช่วยส่งเสริมให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้นหรือเปล่า

6) จงอย่าสู้หรือแข่งขันในสมรภูมิที่เราเสียเปรียบก่อนอื่นเราต้องศึกษาจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเราหรือสินค้าของเราอย่างถ่องแท้เสียก่อน นอกจากนั้น ในตลอดสามปีที่ผ่านมาบริษัทคู่แข่งของเราผลิตสินค้าหรือดำเนินนโยบายใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหรือบริษัทของเราบ้างหรือไม่ และตัวเราเตรียมรับมือกับคู่แข่งอย่างไร และทำอะไรไปบ้างที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหรือต่อคู่แข่ง และที่สำคัญคือ เราต้องคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ในอีกสามปีคู่แข่งน่าจะทำอะไรบ้าง และเราจะเตรียมทำอะไรสำหรับการแข่งขันในอนาคต เป็นต้น

2.วิธีการบริหารเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร

วิธีการบริหารของแจ็ค เวลช์ เหมาะกับองค์กรใหญ่ ๆ ที่พนักงานไม่มีความกระตือรือร้น ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม มีการเล่นเส้นเล่นสาย และมีการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เป็นต้น วิธีการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาองค์กร มีดังนี้

1) สร้างความปริวิตกและหวาดกลัวให้กับพนักงานทุกคน
แจ็ค เวลช์ บอกพนักงานทุกคนว่า หากทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรได้แล้ว คุณอาจจะถูกปลดออกได้ทุกเวลา และที่สำคัญ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับนโยบายของจีอีแล้ว คุณก็ไม่สมควรที่จะทำงานกับจีอีอีกต่อไป อาจจะดูรุนแรงและโหดร้าย แต่แจ็ค เวลช์ให้เหตุผลว่า เขาทำทุกอย่างเพื่อจีอี และเขามีความยุติธรรมพอ ที่จะให้การเลื่อนขั้นตามความสามารถของพนักงาน และเขามีความเชื่อที่ว่า ในเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเข้ามาทำงานกับองค์กร รับเงินเดือนจากองค์กร แต่ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กรหรือตั้งใจทำงานก็ถือได้ว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำงานร่วมกันอีกต่อไป และถึงแม้ว่า พนักงานคนนั้นจะมีความสามารถสักเพียงใด แต่ถ้าไม่เห็นด้วยกับนโยบายขององค์กรก็ต้องปลดออก

แจ็ค เวลช์ มีวิธีการกำจัดพนักงานที่หัวแข็งและทำงานมานานแต่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการจ้างพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความสามารถมาทำงานเพื่อท้าทายความสามารถของพนักงานหน้าเดิม จนพนักงานรุ่นเก่าเหล่านั้นอึดอัดและยอมลาออกไปเอง อาจจะดูไร้ความปรานีแต่ทุกอย่างตั้งอยู่บนความยุติธรรม และบนพื้นฐานของความเป็นจริง คนเก่งมีผลงานย่อมได้รับการเลื่อนขั้นตามความเป็นจริง ไม่มีการเล่นเส้นสายใด ๆ หรือถ้ายังไม่ยอมลาออก แจ็ค เวลช์ จะสั่งให้ย้ายไปทำงานประเภทที่น่าเบื่อ จนต้องยอมลาออกไปเอง แต่ถ้ายังไม่ยอมลาออกอีก หรือมีพวกพ้องมากมายทำให้สั่งย้ายลำบาก แจ็ค เวลช์ ก็จะใช้วิธีตั้งเป้าหมายงานให้สูง ทำได้ยาก จนหมดแรงและลาออกไปเองในที่สุด

2) สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับองค์กร
สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่บอกพนักงานทุกคนว่า องค์กรต้องการอะไร และกำลังมุ่งไปสู่จุดไหน เมื่อไหร่ อย่างไร พนักงานทุกคนจะต้องทำงานรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกกรมกองหรือแผนกอีกต่อไป ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จะต้องได้รับการเสนอจากระดับล่างสู่ระดับบนอย่างไม่มีข้อยกเว้น และหากหัวหน้าคนใดพยายามที่จะสกัดกั้นลูกน้องไม่ให้แสดงออกหรือแย่งผลงานลูกน้องไปเสนอเสียเอง จะต้องถูกปลดออกทันที นอกจากนั้น พนักงานคนใดที่ได้รับมอบหมายงานไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่รับปากได้ จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นหรืออาจจะต้องถูกลดตำแหน่งลงตามความเหมาะสม

3) ยกเลิกการผลิตสินค้าที่จีอีไม่สามารถครองตลาดได้เป็นอันดับหนึ่งหรือสองออกทั้งหมด
เพื่อปรับองค์กรให้เล็กลงและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สินค้าใดที่ไม่ทำกำไร หรือมีกำไรแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคตก็ให้ตัดออกเสีย เมื่อคนในองค์กรมีจำนวนน้อยลง ไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน ทุกคนมีงานต้องทำ พนักงานก็จะมีความตื่นตัวและกระตือรือร้น ขยันทำงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สินค้าของ จีอี ติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ คือ แจ็ค เวลช์ จะเน้นที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ในที่นี้คือการรู้ซึ้งถึงความต้องการของลูกค้าว่าต้องการสินค้าแบบใด เพื่อแก้ไขปัญหาหรือสนองตอบต่อความต้องการตรงจุดไหน และสินค้าจะต้องมีความทันสมัยตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

3. ทักษะ 4 ประการที่ แจ็ค เวลช์ ปลูกฝังให้กับพนักงานที่จะก้าวขึ้นมาสู่ระดับผู้บริหาร

1) มีทักษะในการสื่อความ
พูดจาชัดเจน ตรงประเด็น และพูดเพื่อความสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย เน้นผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักและมีความยุติธรรม

2) ทักษะในการทำงานเป็นทีมสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

3) ทักษะในการบริหารทำงานอย่างรวดเร็ว เรียบง่าย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องได้ว่า ตนสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

4) ทักษะในการฟังฟังมากกว่าพูด และถ้าจะต้องพูดให้ "พูดทีละคำ ฟังทีละเสียง"



************************************************************************************************
เครดิตเว็บ ดร.บุญชัย : โกศลธนากุล