วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

สิงคโปร์แชมป์ PISA สุดยอดคุณภาพการศึกษาที่ไร้คู่แข่ง

โดย อแมนด้า ไวส์    
MGR Online  
20 ธันวาคม 2559 
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Behind Singapore’s PISA success and why others may not want to compete
By Amanda Wise
18/12/2016

รายได้ครัวเรือนอู้ฟู่และการเรียนพิเศษกับคุณครูระดับปรมาจารย์ คือปัจจัยสำคัญที่หนุนสิงคโปร์ได้ครองอันดับหนึ่งตารางจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของ 70 ชาติ

มิใช่เรื่องน่าประหลาดที่ประเทศปราดเปรื่องอย่างสิงคโปร์สามารถผงาดขึ้นครองจ่าฝูงบนตารางจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นามว่า “ปิซ่า” กระนั้นก็ตาม น่าพิจารณาเจาะลึกกันสักครา ว่าปัจจัยอันใดกันแน่ ที่ส่งผลให้ยุวชนคนสิงคโปร์มีระดับมาตรฐานการเรียนการสอนเลอเลิศได้ปานนั้น

การจัดอันดับ “ปิซ่า” หรือ PISA อันเป็นคำย่อจาก Programme for International Student Assessment (โครงการเพื่อการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ) ซึ่งประกาศผลกันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) ได้จัดวางให้สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 1 ของตารางการประเมินผลนักเรียนนานาชาติในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เหนือชั้นกว่าประเทศอื่นๆ และระบบเศรษฐกิจอื่นๆ มากกว่า 70 แห่งทั่วผืนปฐพี ขณะที่ตารางย่อยสำหรับกลุ่มประเทศโออีซีดีนั้น ประเทศชื่อชั้นหรูๆ อย่างออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอังกฤษไปปรากฏอยู่ในอันดับท้ายๆ

ความสำเร็จดังกล่าวจุดชนวนให้ต้องถามว่าสิงคโปร์ทำเยี่ยงใด จึงเก่งกาจกันปานนั้น และประเทศอื่นจะอยากเจริญรอยตามล่ะหรือ

เคล็ดลับความสำเร็จที่ต้องเอ่ยถึงก่อนเลยคือ การที่เมืองลอดช่องแห่งนี้ลงทุนหนักมากให้แก่ระบบการศึกษาของตน ผู้ที่จะมาเป็นคุณครูได้ ต้องเก่งที่สุดและยอดเยี่ยมที่สุด พร้อมกันนั้น สิงคโปร์ได้พัฒนาแนวทางครุศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงในกลุ่มแขนงวิชาสายแข็ง นามว่า STEM หรือก็คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ อาทิ แนวทางการศึกษาคณิตศาสตร์แบบรอบรู้เชี่ยวชาญ หรือก็คือแนว Maths Mastery ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่นักเรียนจะศึกษาในแต่ละชั้นจนกระทั่งเก่งกาจเชี่ยวชาญก่อนจะเลื่อนขึ้นสู่ชั้นถัดไป แนวทางนี้ประสบความสำเร็จสุดๆ ในสิงคโปร์และจีน ทำให้อังกฤษนำไปทดลองใช้เมื่อปี 2015 และผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่อยู่ในแนวทางนี้เก่งกว่านักเรียนในแนวทางอื่นๆ

โดยวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ชาวลอดช่องนับเป็นชาติที่ปักใจไว้เหนียวแน่นมาก ว่าพวกตนจะต้องประสบความสำเร็จในการเรียนการสอน และประเทศนครรัฐแห่งนี้มีการเน้นย้ำในระดับชาติกันเลยทีเดียวว่าคนสิงคโปร์จะต้องมีความเป็นเลิศด้านการศึกษา

ที่ผ่านมา ความสำเร็จในการจัดอันดับ ปิซ่า ตลอดจนในตารางจัดอันดับสาขาอื่นๆ ของโลก ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างแบรนด์“สิงคโปร์”อันลือลั่นสนั่นพิภพ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คริสโตเฟอร์ กี นักวิชาการคนดังของสิงคโปร์เรียกว่า “การแข่งขันสะสมอาวุธทางปัญญา” กล่าวก็คือการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้แข่งขันกันสุดฝีมือ ถือเป็นบรรทัดฐานธรรมดาของสังคม

บทบาทของการกวดวิชาและสอนพิเศษ

ในการอภิปรายหลายๆ กรรม หลายๆ วาระ ภายในออสเตรเลียในหัวข้อประมาณว่า ทำไมชาวออสซี่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ดีเท่ากับชาวลอดช่อง ได้มีการมุ่งเน้นไปในจุดที่ว่าโรงเรียนในสิงคโปร์ทำอะไรกันบ้าง

กระนั้นก็ตาม การอภิปรายทั้งหลายทั้งปวงได้ละเลยปัจจัยสำคัญที่สร้างคุณูปการใหญ่หลวงแก่ความสำเร็จของประเทศนครรัฐแห่งนี้ คือ บทบาทของการกวดวิชาและสอนพิเศษ ตลอดจนอิทธิพลที่การกวดวิชาและสอนพิเศษมีต่อความสำเร็จโดยองค์รวมของเหล่านักเรียนเมืองลอดช่อง

ต่อไปนี้เป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจ:

• 60% ของนักเรียนวัยมัธยมปลาย และ 80% ของนักเรียนวัยประถม ได้รับการสอนพิเศษ-ได้เข้าเรียนกวดวิชา

• 40% ของนักเรียนชั้นเตรียมประถมมีคุณครูสอนพิเศษให้

• นักเรียนวัยเตรียมประถมได้เรียนพิเศษสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ขณะที่นักเรียนชั้นประถมได้เรียนพิเศษสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ใช่แล้วค่ะ ในจำนวนเด็กวัยประถม 10 คนในสิงคโปร์ จะมีอยู่ 8 คนที่ได้เรียนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแบบคุณครูสอนพิเศษ หรือแบบโรงเรียนกวดวิชา

เมื่อปี 1992 ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ ณ ระดับเพียง 30% สำหรับกรณีมัธยมปลาย และ 40% สำหรับระดับประถม โดยจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนใช้ไปกับการเรียนพิเศษจะทวีขึ้นเมื่อเรียนถึงชั้นปลายๆ ของระดับประถม ทั้งนี้ เด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางได้เข้าเรียนพิเศษนับเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะด้อยกว่านั้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งมีอยู่ว่า ภายในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนกวดวิชาเอกชนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ โดยที่ว่าในปี 2015 ศูนย์กวดวิชาที่จดทะเบียนมีจำนวน 850 แห่ง พุ่งเพิ่มจากระดับ 700 แห่งในปี 2012

ปัจจัยด้านรายได้ของครอบครัว

ตามผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนของสิงคโปร์ การสอนพิเศษของประเทศนครรัฐแห่งนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (772 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สูงมากสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 5.6 ล้านราย โดยตัวเลขนี้เทียบได้เป็นสองเท่าของตัวเลขค่าใช้จ่ายครัวเรือนเมื่อปี 2005 ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 650 ล้านดอลลาร์สิงโปร์

ทั้งนี้ 34%ของครัวเรือนที่มีบุตร จัดสรรงบค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษแก่ลูกๆ ในระดับ 500 – 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนต่อเด็ก 1 คน ขณะที่ อีก 16% จัดสรรงบค่าใช้จ่ายนี้แก่ลูกๆ ในระดับ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนต่อคน

ในการนี้ หากแบ่งระดับรายได้ของครัวเรือนเป็น 5 ช่วง ช่วงละ 20% จะพบว่าครอบครัวผู้มีรายได้ระดับ 20% ของก้นตาราง สามารถหาเลี้ยงชีพได้เพียงเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จึงอาจกล่าวได้ว่างบค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนพิเศษในระดับดังกล่าว ถือว่าเป็นเงินที่มหาศาล

หากคิดไปถึงข้อเท็จจริงว่าครอบครัวที่มีลูก 2-3 คน เราย่อมเห็นวี่แววของปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงเศรษฐกิจสังคมปรากฏอยู่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ความสำเร็จทางการศึกษาต้องพึ่งพิงกับการเรียนพิเศษ

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 2 ช่วงสุดท้ายของตาราง คือมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะมีเพียง 20%เท่านั้นที่ให้ลูกได้เรียนพิเศษ

ศูนย์กวดวิชา

ศูนย์การสอนพิเศษและโรงเรียนกวดวิชาทั้งปวงประกอบความหลากหลาย มีตั้งแต่ศูนย์ติววิชาใกล้บ้านสนนราคามิตรภาพ และศูนย์สอนพิเศษประจำชุมชน ไปจนถึงโรงเรียนกวดวิชา “ยี่ห้อดัง” ใหญ่ยักษ์ระดับชาติซึ่งมีสาขากระจายไปตามศูนย์การค้าชั้นนำทั่วเกาะสิงคโปร์

คุณภาพของการกวดวิชาที่นักเรียนได้รับจะเป็นไปตามความสามารถที่นักเรียนจะจ่ายไหว

มันเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาล

ยุทธศาสตร์การตลาดของโรงเรียนกวดวิชามักที่จะเน้นสร้างความวิตกกังวลในใจผู้ปกครองเด็ก ว่าเด็กจะล้มเหลวทางการศึกษา หากผู้ปกครองไม่ยอมควักกระเป๋าช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่เด็กๆ

ผู้ปกครองมากเลยร้องบ่นว่าโรงเรียน “สอนเกินตำรา” ความหมายก็คือ มุมมองว่าคุณครูในชั้นเรียนทึกทักว่าเด็กในห้องได้รับความรู้เพิ่มเติมจากโรงเรียนกวดวิชามาแล้ว และจึงสอนเกินระดับของหลักสูตร ดังนั้น จึงต้องตรองดูว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่เด็กส่วนน้อยที่ไม่มีโอกาสได้รับองค์ความรู้เพิ่มเสริมพิเศษ

ทำไมต้องเริ่มเรียนพิเศษตั้งกะชั้นเตรียมประถมและชั้นประถม

ในสิงคโปร์มีการสอบที่สำคัญต่ออนาคตของนักเรียนอย่างยิ่งยวด คือ การสอบ PSLE หรือการสอบจบจากชั้นประถม ซึ่งเป็นการสอบที่มีส่วนได้เสียดุเดือด เพราะผลการสอบมิใช่แค่การไปกำหนดว่านักเรียนจะได้เข้าโรงเรียนมัธยมแห่งใด หากยังไปกำหนดด้วยว่านักเรียนจะได้เรียนในโรงเรียนที่จะได้ช่องพิเศษเข้ามหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เมืองลอดช่องไม่ได้มีสิทธิอัตโนมัติที่จะฝากเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม “ประจำท้องถิ่น”

โรงเรียนมัธยมทั้งหลายจะเป็นฝ่ายเลือก โดยโรงเรียนมัธยมเกรดเอบวกจะได้เลือกเด็กที่มีผลสอบ PSLE สูงลิ่ว ทั้งนี้ โรงเรียนมัธยมจัดแบ่งได้ 4 เกรด และผลสอบดังกล่าวจะส่งให้นักเรียนได้เข้าเรียนลดหลั่นตามเกรด ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยมเกรด A นักเรียนจะได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยม ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยมระดับก้นตาราง ก็จะป้อนนักเรียนเข้าสู่สถาบันอาชีวศึกษาบ้าง โพลีเทคนิคบ้าง โดยจะต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อน

คุณพ่อคุณแม่ที่มีฐานะเป็นชนชั้นกลางจำนวนมากเชื่อว่า “การแข่งขัน” นั้นเริ่มตั้งแต่ต้นมือ

คุณพ่อคุณแม่จึงถูกคาดหวังให้กวดขันดูแลให้ลูกๆ วัยก่อนประถม ได้อ่านและเขียน อีกทั้งมีทักษะคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานก่อนที่เด็กจะเข้าโรงเรียน เด็กจะมีศักยภาพได้อย่างนั้น ย่อมต้องพึ่งพาบริการของโรงเรียนสอนพิเศษนั่นเอง

ขณะที่ผู้คนพากับชื่นชมมากมายในความสำเร็จของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ก็ยังมีคำถามที่ตรวจสอบบทบาทของบรรดาโรงเรียนกวดวิชาต่อรูปโฉมแนวโน้มของชีวิตวัยเด็ก และต่อการกระตุ้นความกังวลของคุณพ่อคุณแม่

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญมีอยู่ว่า โรงเรียนจะทึกทักว่าเด็กทุกคนได้เรียนพิเศษกับทั่วหน้าแล้ว และจึงทำการสอนเกินหลักสูตรเพราะถือว่าเด็กที่ได้เรียนพิเศษเป็นประชากรกลุ่มหลักในห้องเรียน

ผู้ปกครองมากรายในสิงคโปร์โอดครวญหนักหนากับสภาพแวดล้อมที่แข่งขันกันสาหัสสากรรจ์ได้ส่งผลเป็นแรงบีบคั้นให้เด็กต้องทุ่มเทเวลาแก่การกวดวิชาดุเดือดเลือดพล่าน พร้อมกับกระทบไปยังมิติต่างๆ ของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้เวลากับสมาชิกในครอบครัว การบั่นทอนโอกาสที่จะใช้ชีวิตวัยเด็ก การพัฒนามิตรภาพ ตลอดจนการได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม ในการนี้ มีจำนวนมากเลยที่รู้สึกว่าต้องยอมแลก เพราะพวกตนไม่มีทางเลือก

คนสิงคโปร์นั้นมีเงาของความวิตกหนักมากในเรื่องว่า กลัวจะต้องล้าหลัง กลัวจะเป็นผู้แพ้ ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระแวดระวังว่าการได้มาซึ่งความสำเร็จอันฉูดฉาดในด้านการศึกษานั้น ตั้งอยู่บนความเสียหายอันใดบ้าง

นี่มิใช่ว่าจะคัดค้านความสำเร็จของสิงคโปร์ แต่เป็นเรื่องของการตรวจสอบในประเด็นการกวดวิชานอกเวลาเรียน การเรียนการสอนในสิงคโปร์มีความเป็นเลิศในหลากหลายมิติ กระนั้นก็ตาม การเรียนพิเศษไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หากจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของการใช้ชีวิตด้วย

อแมนด้า ไวส์ รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแมคควอรี, ออสเตรเลีย

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ The Conversation (http://theconversation.com/)

ไม่มีความคิดเห็น: