วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

FinTech



คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ที่ในช่วงภาวะสุญญากาศทางการเมืองปัจจุบัน ได้ผันตัวมาทำงานที่ยังเรียกได้ว่า ช่วยเหลือประชาชนเหมือนงานการเมือง แต่เจาะเป้าตรงในเรื่อง “การเงิน” นั่นคือในบทบาทของประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย

ฟินเทคมาจากภาษาอังกฤษ Fin บวกกับTech ย่อจาก FINancial กับคำว่า TECHnology หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการเอื้อ ช่วยเหลือ และบริการทางการเงินแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เกินจะจินตนาการได้มากยิ่งขึ้น

ฟินเทคมีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว รูปแบบเดิมๆ ง่ายสุดที่ทุกคนรู้จักกันก็เช่น Mobile Banking อย่างกรณีนี้คือ การเอื้อให้ประชาชนใช้บริการธนาคารแบบทั่วๆ ไป ได้สะดวกขึ้น ช่วยเหลือสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปต่อคิวที่ธนาคาร และให้บริการออนไลน์เพียงแค่ปลายนิ้วกด ส่วนระบบความปลอดภัยก็ไม่ต้องเป็นห่วงครับ มีระบบรหัสหลายชั้นป้องกันอย่างดี

เรามาทำความเข้าใจกับ “ฟินเทค” กันมากยิ่งขึ้นว่า เขาเล็งเป้าจะให้บริการแก่ใครบ้าง ตอนนี้ 60% เป็นกลุ่มที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว 20% เป็นกลุ่มที่ใช้บริการธนาคารรัฐเป็นหลัก และอีก 20% คือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการพวกนี้เลย สรุปว่า ฟินเทคตั้งใจจะให้บริการทางการเงินแก่ทุกคนในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสมาคมฟินเทคฯ ก็จะเข้ามาดูแลตรงนี้

แล้วธนาคารล่ะ? รูปแบบของฟินเทค มีทั้งแบบทำงานท้าทายกับธนาคารแบบเก่าๆ แต่ในไทยส่วนนี้ยังไม่มีมากนัก จริงๆเรียกว่ายังไม่เกิดขึ้นเลย อาจชัดกว่า เพราะอย่างอังกฤษคือมี “ธนาคารออนไลน์” ที่ไม่มีสาขา ไม่มีสำนักงานให้คนเดินเข้าเลย แต่มีลูกค้ามากมายคอยใช้บริการและกำลังแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นฟินเทคที่ทำงานร่วมกันกับธนาคาร ตัวอย่างเช่น Refinn ที่ช่วยรีไฟแนนซ์บ้าน คอนโดฯ ให้คนเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้นในการได้แหล่งดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด สรุปโปรโมชั่น
ของทุกธนาคารไว้ในที่เดียว จุดนี้ก็ทำงานร่วมกับแบงก์ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีธนาคารหรือแผนกในธนาคารหลายรูปแบบที่กำลังกลายเป็นฟินเทคไปเสียเองอย่างเต็มรูปแบบ

โดยสรุปตรงนี้ก็คือว่า ผู้บริโภคหรือประชาชนก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรให้มาก เราเพียงแต่รอคอยและติดตามข่าวสารว่า จะได้ใช้บริการอะไรดีๆ ที่กำลังจะออกมาบ้าง

ภาครัฐเริ่มอะไรในจุดนี้บ้าง? ส่วนโดยตรงของรัฐพระเอกของวงการนี้เลยคือ แบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บริหารโดยคนรุ่นใหม่ มองไกล ทำงานฉับไวอย่างผู้ว่าฯ แบงก์ชาติดร.วิรไท สันติประภพ ตอนนี้เดินหน้าเต็มสูบกับการทำงานร่วมกันกับฟินเทคในหลายๆ โอกาส เป็น Regulator ที่ทันสมัยมากๆ อยากให้กระทรวงคมนาคมมาดูทัศนคติการทำงานของแบงก์ชาติบ้างจัง (กรณี Uberกับ Taxi ยังจมในวังวนปัญหากันต่อไป)

เป้าหมายหลักของสมาคมฟินเทค มี 4 ข้อด้วยกันก็คือ

1.ประชาชนต้องเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เชื่อไหมครับว่า จุดนี้เชื่อมโยงกับเรื่องความเท่าเทียมการลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยสำคัญหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ตัวหลักก็คือ ทุน! เมื่อประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินหรือทุนหรืออื่นๆ มากขึ้น โอกาสในการทำมาหากินย่อมมากขึ้นแน่นอน

2.ต้นทุนธุรกรรมลดลง พูดง่ายๆ คือ เวลาเราทำมาหากิน หรือทำเรื่องเงินๆทองๆ เราจะโดนเก็บค่าธรรมเนียมแทบทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ ฟินเทคทำให้ถูกลงได้ ตัวอย่างเช่น พร้อมเพย์ที่โอนเงินหากันฟรีที่ 5,000 บาท รีฟินน์ช่วยประหยัดเรื่องดอกเบี้ยบ้าน iTax ช่วยดูเรื่องการวางแผนภาษี ฯลฯ

3.เพิ่มการแข่งขันของเอกชนเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการจะถูกลง ใครจะแข่งกันแพงล่ะครับ ให้เอกชนเขาแข่งกันไป เราประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีที่สุด และราคาดีที่สุด แถมยังมีคุณภาพที่สุด ตอบโจทย์อีกด้วย

4.สมาคมฟินเทคฯ จะทำให้ ฟินเทคของไทยก้าวไกลไปแข่งขันกับฟินเทคโลกได้ในอนาคต สถิติที่คำนวณกันโดยบริษัทปรึกษาวิจัยทางการเงินบอกว่า จากโครงสร้างรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบของไทยนั้น ฟินเทคไทยสามารถแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตรงนี้มาได้สูงถึง 35% หรือเป็นหลักแสนล้านเลยทีเดียว

ในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคบริการทางการเงินนั้น ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกัน หากเราสังเกต จะพบว่า สมัยก่อนไปธนาคารที ต้องไปเขียนกระดาษ เข้าแถวรอที่แบงก์ เสียเวลา ต่อมาก็มี ATM บัตรให้กด ให้ฝากกันได้ จากนั้นก็มี Debit-Credit Card ให้รูดซื้อของ และมี internet banking จนกระทั่งมี Mobile Banking หรือทำธุรกรรมเสร็จสิ้นทั้งหมดในมือถือเครื่องเดียว

ส่วนพฤติกรรมของธนาคารก็ต้องปรับไปด้วยตามผู้บริโภคหรือประชาชน นั่นคือ การที่ธนาคารลดสาขามากกว่าเพิ่มเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเวลาเปิดปิดแบบต้องง้อประชาชนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารจำเป็นต้องไปเปิดในห้างและปิดดึกกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนมาทำธุรกรรมได้สะดวกมากขึ้น

คุณกรณ์ย้ำไว้ว่า สาเหตุทั้งหมดก็เพราะต้องการตอบโจทย์สิ่งที่เรียกว่า Pain Points ของการบริการทางการเงิน พูดง่ายๆคือ เราเคยเจ็บปวดอะไรบ้างจากบริการทางการเงินในอดีต ได้แก่ ช้ามาก คิวนาน เอกสารเยอะ ไม่อยากไปสาขาเพราะกลัวโดนบังคับซื้อประกัน ฯลฯ ส่วนเงินสด ก็มีความเสี่ยงถือเงินสดเยอะกลัวหาย กลัวโดนปล้น แถมเงินสดเป็นที่น่าสังเกตเรื่องการส่อถึงการทุจริตอีกต่างหากเพราะไร้หลักฐาน

เท่าที่ผมได้นั่งฟังคุณกรณ์สรุปประเด็นใจความรวมให้ฟังทั้งหมด คุณกรณ์ย้ำว่า เอเชียนี่แหละคือโอกาสที่จะเห็นแสงสว่างที่สุดสำหรับฟินเทค โดยสรุปได้ 7 สาเหตุหลักว่า ทำไม Fintech Asia ถึงจะพัฒนาได้เร็วกว่าที่อื่น

1.อัตราส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เนตผ่านมือถือของคนเอเชียสูงมากกว่าคนทวีปอื่น โดยเฉพาะ จีนและอาเซียน

2.คนชั้นกลางจะเข้าสู่เทรนด์ Urbanisation เยอะมากๆ โดยปี 2030 จะมีคนชั้นกลางกว่า 60% ของทั้งโลกอยู่ในเอเชีย

3.โครงสร้างตลาดเงินตลาดทุนของเอเชียยังอ่อน ส่งผลให้การเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ด้านนี้มีโอกาสมาก

4.คนเอเชียมีวัฒนธรรม รักความสะดวกสบาย และฟินเทคจะตอบโจทย์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

5.ปัจจุบันคนเอเชียกว่า 1,200 คน ยังไม่มีบัญชีธนาคาร เป็นโอกาสในการเข้าถึงบริการใหม่

6.กฎกติกาของเอเชียมีน้อย ควบคุมไม่เข้มงวดมาก เป็นช่องให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆได้มาก

7.จีนและอินเดีย ผลิตวิศวกรต่อปีเยอะมาก เป็นโอกาสให้มีนักพัฒนาฟินเทคเกิดขึ้นเยอะได้อีกมากทีเดียว

และในส่วนนี้ก็เป็นผลปรากฏให้เห็นแล้วตอนนี้ ไม่ต้องไปดูไหนไกลครับ ที่จีนแค่ Alibaba ที่มี AliPay หรือ Wechat ก็ครองตลาดออนไลน์แทบทั้งหมดของจีนเอาไว้แล้ว คนจีนมี 1,300 ล้านคน โดยประมาณแต่เข้าถึงตลาดออนไลน์กว่า 750 ล้านคน โดย 95% ก็ใช้งานผ่านมือถือออนไลน์ทั้งสิ้น ที่สำคัญคนจีนมาไทย เยอะมาก ล่าสุด 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนตอนนี้เพียง 5% เท่านั้นที่มีพาสปอร์ต เขาจะถาโถมเข้ามาเหมือนพายุ และแน่นอน เขาจะเข้ามาพร้อมกับความพร้อมกับการเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของไทยในอนาคตเช่นเดียวกัน

เป็นเรื่องที่น่าจับตา เป็นเรื่องที่สร้างโอกาสมากมายให้แก่ประเทศไทยของเรา

ต้องขอขอบคุณคุณกรณ์ที่ช่วยกรุณาเล่าสรุปเรื่องทั้งหมดให้ฟังครับ ผมจะมาคอยอัพเดทเรื่องราวของฟินเทคของประเทศไทยเราให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ นะครับ

ที่มา http://www.naewna.com/politic/columnist/29023

พ่อค้าความตายแห่งโลก จบแล้ว...อเมริกา


โดย ทับทิม พญาไท

จบแล้ว...อเมริกา!!!
พันเอกลอว์เรนซ์ วิลเคอร์สัน

เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาฯ ที่ผ่านมา อดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม “คอลิน พอเวลล์” (Colin Powell) ชื่อว่า “พันเอกลอว์เรนซ์ วิลเคอร์สัน” (Lawrence Wilkerson) ได้ไปให้สัมภาษณ์กับ “พอล เจย์” (Paul Jay) แห่งสำนักข่าว “Real News Network” ถึงแนวโน้มอนาคตของประเทศอภิมหาอำนาจสูงสุดอย่างอเมริกาไว้แบบน่าสนใจเอามากๆ ด้วยข้อสรุปที่ว่า “อเมริกานั้น...ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จักรวรรดิที่กำลังเสื่อม แต่เป็นจักรวรรดิที่กำลังอยู่ริมขอบเหวแห่งการล่มสลาย...”

เหตุที่ “พันเอกวิลเคอร์สัน” แกกล้า “ฟันธง” เอาไว้ในรูปนี้ก็คงไม่มีอะไรมาก คือมาจากมุมมองทางด้านการทหารอันเป็นสิ่งที่แกเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมนั่นเอง เพราะถึงแม้ “กองทัพสหรัฐฯ” นั้น จะยิ่งใหญ่เกรียงไกรเพียงใดก็ตาม ดำรงสถานะเป็น “พ่อค้าความตายแห่งโลก” (The Death Merchant of the World) ตามสำนวนที่แกให้คำนิยามเอาไว้ มีกองทัพประจำการถึง 2.1 ล้านคน 200,000 คนอยู่ในฐานทัพ 800 แห่งใน 177 ประเทศทั่วโลก แต่อดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการรัฐมนตรีกลาโหมรายนี้กลับเห็นว่า ความแข็งแกร่งทางทหารของสหรัฐฯ นั้น ค่อยๆ กลายมาเป็น “จุดอ่อน” อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ นั่นเอง ที่ได้ก่อให้เกิด “ศัตรู” ในหลายๆ แนวรบ จนเกินกว่าที่กองทัพสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้...

บัญชีรายชื่อของ “ศัตรู” ในแต่ละตัว ที่ฝ่ายการเมืองพยายามยัดเยียดให้กับกองทัพ ไม่ว่าไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย อิหร่าน โยงไปถึงฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน ตามด้วยเกาหลีเหนือ หรือแม้แต่ประเทศเล็กๆ อย่างซีเรีย เวเนซุเอลา ฯลฯ ก็ยังไม่มีข้อยกเว้น ภายใต้ภาวะเช่นนี้...ทำให้ในช่วงปีค.ศ. 2015 หน่วยงานด้านการคิดการประเมินสถานการณ์ของอเมริกา คือหน่วยงาน “Think-Thank Assessment” ถึงกับต้องสรุปเป็นเอกสารรายงานไปถึงคณะรัฐบาลว่า “กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะเปิดศึกพร้อมกันทั้ง 2 แนวรบ” แต่โดยข้อเท็จจริง...เมื่อมาถึง ณ ขณะนี้ กองทัพสหรัฐฯ ต้องแบกรับภารกิจในการเผชิญหน้ากับศัตรูไม่รู้กี่แนวรบต่อแนวรบ ล่าสุด...ก็เพิ่งกาหัวเกาหลีเหนือ ที่มี “บ้องข้าวหลามยักษ์” อยู่ในมือไปอีกจนได้...

ยิ่งในช่วงที่ “นายทรัมป์” ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีพร้อมคำขวัญ สโลแกน ว่า “จะทำให้อเมริกากลับคืนมาสู่ความยิ่งใหญ่” อีกครั้ง ก็เริ่มเป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วว่า “ความยิ่งใหญ่” ที่ว่า คงไม่ได้หมายถึงการหมกตัวอยู่ในกำแพงเม็กซิโก เปิดศึกสงครามการค้า พร้อมกับโดดเดี่ยวตัวเองอย่างที่ใครคิดๆกัน เพราะโดยตัวเลขงบประมาณราวๆ 3.65 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ “นายทรัมป์” แกเอามาเพิ่มให้กับกิจการทหารและความมั่นคงแบบขี้แตก ขี้แตน เอาเลยทีเดียว เฉพาะกลาโหมเพิ่มขึ้นไปอีก 9 เปอร์เซ็นต์ หรืออีก 54,000 ล้านดอลลาร์ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเพิ่มขึ้นไป 7 เปอร์เซ็นต์ โดยหันไปตัดงบสวัสดิการ งบการดูแลรักษาสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตของอเมริกันชนกันแทนที่...

พูดง่ายๆ ว่า...ดูจากการจัดสรรตัวเลขงบประมาณ ต้องเรียกว่า...ออกไปทาง “มันเอาเราแน่” คือมุ่งที่จะทำให้ “ความยิ่งใหญ่อีกครั้งของอเมริกา” ก็คือ “ความยิ่งใหญ่ทางทหาร” อีกเช่นเดิมนั่นเอง การขู่จีน ขู่เกาหลีเหนือ ไม่ยอมแสดงท่าทีใดๆ กับรัสเซีย เสริมทัพในซีเรีย ในยุโรปตะวันออก ฯลฯ ชักเป็นท่าทีที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็นั่นแหละ...โอกาสที่จะ “ผ่านงบประมาณ” ตามแนวคิดที่ว่า ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากต้องรวมเสียงวุฒิสภาฝ่ายพรรครีพับลิกันให้ได้ครบ 52 เสียง ยังต้องไปงอนง้อสมาชิกเดโมแครตอีก 8 เสียงเป็นอย่างน้อย ถึงจะคลอดงบประมาณตามแนวคิดดังกล่าวออกมาได้จริงๆ และถึงคลอดออกมาแล้ว ยังมีปัญหาต่อเนื่องต่อไปอีกว่า “การขาดดุลงบประมาณ” เพื่อบรรลุความเป็น “เครื่องจักรทางทหาร” หรือเป็น “พ่อค้าแห่งความตาย” เช่นนี้ จะทำให้ต้องออกเรี่ยวออกแรงขอ “ขยายเพดานหนี้” ของสหรัฐฯ ที่ทะลุชนเพดานมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนกลายเป็นอุปสรรคขวากหนามต่อการบริหาร จัดการของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลมาโดยตลอด ดังนั้น...ความพยายามขู่คำราม เปิดศึกไม่รู้กี่ด้านต่อกี่ด้าน ขณะที่ตัวเองกำลัง “บ่อจี๊” หรือกำลังเป็นหนี้ระดับสูงที่สุดในโลก จึงทำให้ข้อสรุปถึง “อนาคตของจักรวรรดิอเมริกา” ในทัศนะของ “พันเอกวิลเคอร์สัน” ถูกสรุปด้วยถ้อยคำแบบสั้นๆ ง่ายๆ แต่ชัดเจนแจ่มแจ๋ว เอามากๆ นั่นคือ...คำว่า “จบแล้ว...อเมริกา” ด้วยประการฉะนี้...

ที่มา http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000029810

วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง












โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เกิดวันที่ 14 มิถุนายน 1946 ในย่านควีนส์ มหานครนิวยอร์ก เขาเป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน มีชื่อเล่นว่า The Donald พ่อของเขา เฟรเดริก ทรัมป์ เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เป็นเจ้าของอาคารที่พักอาศัยสำหรับชนชั้นกลางหลายแห่ง ทั้งในย่านควีนส์ เกาะสแตเทน และบรุกลิน

ในวัย 13 ปี ทรัมป์ถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนทหาร New York Military Academy เพื่อปลูกฝังระเบียบวินัย ซึ่งระหว่างเรียน เขากลายเป็นดาวเด่นด้านกีฬา ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม ในปี 1964 ตามด้วย Wharton School of Finance and Commerce ในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในอีก 2 ปีต่อมา ทรัมป์จบปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1968 และได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม ก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของคุณพ่อหลังเรียนจบ

หนึ่งในผลงานการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกๆ ของทรัมป์คือ อาคารหลุดจำนองชื่อ Swifton Village ในซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ที่เขาใช้เงินลงทุนเพียง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวอาคารที่พักอาศัย 1,200 ยูนิตแห่งนั้นมีมูลค่าประเมินสูงถึง 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะขายต่อในมูลค่า 6.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 1971 ทรัมป์เริ่มมาลงหลักปักฐานที่แมนฮัตตัน และเปลี่ยนชื่อบริษัทของคุณพ่อเป็น The Trump Organization ซึ่งเรียกความสนใจต่อสาธารณชนได้เป็นอย่างดีจากอาคารและสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นที่เขาเป็นเจ้าของ

ในปี 1973 ทรัมป์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจับตามองในวัยเพียง 27 ปี เขาเป็นเจ้าของอาณาจักร The Trump Organization ที่มีอาคารที่พักอาศัยในครอบครองมากกว่า 14,000 ยูนิตทั่วทั้งย่านควีนส์ เกาะสแตเทน และบรุกลิน

ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ทรัมป์ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจ เมื่อรัฐบาลได้ตั้งข้อกล่าวหาว่าบริษัทของทรัมป์มีการกีดกันผู้เช่าจากเชื้อชาติของพวกเขา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ทรัมป์ออกมาปฏิเสธต่อสื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หลังการต่อสู้ทางกฎหมายถึง 2 ปี ที่สุดแล้วทรัมป์พ้นข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมข้อตกลงว่าบริษัทของเขาจะทำการปลูกฝังพนักงานใหม่ เพื่อขจัดการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติ

อาณาจักรธุรกิจของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 1982 ทรัมป์เปิดตัวอาคาร Trump Tower ที่มีมูลค่าสูงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบไปด้วย ที่อยู่อาศัยสุดหรู ร้านค้าชื่อดัง และแหล่งรวมคนดัง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นจุดสนใจระดับประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้เขายังเริ่มขยายการลงทุนในธุรกิจรีสอร์ต สนามกอล์ฟ คาสิโน รวมถึงธุรกิจย่อยๆ อีกหลายประเภท ทั้งก่อสร้าง สุขภาพและโรงพยาบาล บันเทิง สิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ดูแลนางแบบ บริการสินเชื่อ อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการศึกษา การท่องเที่ยว สายการบิน และการประกวดนางงามด้วย

ความร่ำรวย และมูลค่าทรัพย์สิน เป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีผู้ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับตัวทรัมป์ ในปี 2005 เขาฟ้องร้อง Timothy O’Brien ผู้เขียนหนังสือ TrumpNation: The Art of Being the Donald ที่ระบุในหนังสือว่า เขามีมูลค่าทรัพย์สินรวม 150-250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เจ้าตัวเปิดเผยต่อศาลขณะขึ้นให้การในปี 2007 ว่า มูลค่าทรัพย์สินรวมของเขามีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับตลาด ทัศนคติ และความรู้สึก แม้กระทั่งความรู้สึกของเขาเอง

ในปี 2015 ฟอร์บส์ได้ประมาณการว่ามูลค่าทรัพย์สินของทรัมป์น่าจะอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับ 405 ของมหาเศรษฐีระดับโลก ขณะที่ตัวทรัมป์เองระบุว่า ถ้าจะประเมินจริงๆ ต้องรวมมูลค่าแบรนด์ตัวตนของเขาเข้าไปด้วย ซึ่งน่าจะอยู่ที่ราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธุรกิจบันเทิงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของทรัมป์โด่งดังในระดับโลก เริ่มตั้งแต่การเป็นพิธีกรในรายการเรียลลิตี้ The Apprentice ทางช่อง NBC เปิดธุรกิจดูแลนางแบบที่ใช้ชื่อว่า Trump Model Management รวมทั้งยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดนางงามหลายเวที เช่น Miss Universe, Miss USA และ Miss Teen USA: Beauty Pageant

ด้านชีวิตสมรส ทรัมป์แต่งงานครั้งแรกในปี 1977 กับ Ivana Zelníčková นางแบบและตัวสำรองทีมชาติเช็ก ประเภทกีฬาสกี การแข่งขันโอลิมปิก ซึ่ง Ivana มีส่วนสำคัญในการบริหารธุรกิจ โดยได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายการออกแบบของบริษัท ก่อนจะหย่าร้างกันในปี 1991 ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน คือ Donald Trump Jr., Ivanka และ Eric

ในปี 1993 ทรัมป์แต่งงานครั้งที่ 2 กับ Marla Maples นักแสดงสาว ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 1 คนคือ Tiffany ก่อนจะหย่าร้างกันในปี 1999

ล่าสุดในปี 2005 ทรัมป์แต่งงานครั้งที่ 3 กับนางแบบสัญชาติสโลวีเนีย Melania Knauss ซึ่งแขกในงานแต่งงานครั้งนั้นรวมถึง ฮิลลารี คลินตัน และอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ด้วย ทั้งคู่ให้กำเนิดลูกชาย 1 คน คือ Barron ในปี 2006

ทางการเมือง ถึงจะเป็นตัวแทนตัวเต็งจากฝั่งพรรครีพับลิกัน และขึ้นชื่อในเรื่องหัวอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง แต่ทรัมป์เคยสังกัดอยู่พรรคเดโมแครตในช่วงปี 2001-2008 ก่อนจะย้ายมาสมัครเข้าพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการในปี 2009 และผันตัวมาเป็นนักการเมืองอิสระในปี 2011 กระทั่งกลับมาสังกัดพรรคเดิมอีกครั้ง เขาเคยถูกกลุ่มนักอนุรักษ์นิยมตั้งแง่ว่าไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตัวจริง ก่อนการเริ่มต้นแคมเปญหาเสียงในปี 2016
เขายังเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองมาก่อน และไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบัน Establishment (กลุ่มอำนาจทางการเมืองที่อยู่ในแวดวงมานาน) จากท่าทีและนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเขา

ทรัมป์ยังประกาศลงทุนทุ่มงบประมาณหาเสียงเองประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ แม้ว่าภายหลังจะมีสำนักข่าวหลายหัวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นจริงก็ตาม

ทั้งนี้ ทรัมป์ต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับทีมงานหาเสียงของตัวเองที่วางแผนและเดินเกมกันอย่างเข้มข้น อาทิ Steve Bannon หัวหน้าแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง (ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการหาเสียงมาก่อน), Kellyanne Conway ผู้จัดการด้านการหาเสียงเลือกตั้ง (อายุประสบการณ์ทางการเมือง 21 ปี) Hope Hicks ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารสาธารณะ (อายุประสบการณ์ทางการเมือง 4 ปี) Daniel Scavino ผู้อำนวยการฝ่ายโซเชียลมีเดีย และ Roger Stone ที่ปรึกษาอาวุโส (อายุประสบการณ์ทางการเมือง 44 ปี)








ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 โดยชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ด้วยวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุดและมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศ

แนวนโยบายของทรัมป์เน้นการเจราความสัมพันธ์สหรัฐ–จีนและความตกลงการค้าเสรีใหม่ เช่น นาฟตาและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองอย่างแข็งขัน การสร้างกำแพงใหม่ตามชายแดนสหรัฐ–เม็กซิโก จุดยืนอื่นของเขาได้แก่การมุ่งอิสระทางพลังงานขณะที่ค้านข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่น เช่น แผนพลังงานสะอาดและความตกลงปารีส ปฏิรูปกิจการทหารผ่านศึก แทนที่รัฐบัญญัติการบริบาลที่เสียได้ (Affordable Care Act) การเลิกมาตรฐานการศึกษาคอมมอนคอร์ (Common Core) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลดความยุ่งยากของประมวลรัษฎากร (ประมวลกฎหมายภาษี) ขณะที่ลดภาษีแก่ทุกคน และกำหนดภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่จ้างงานนอกประเทศ ทรัมป์ส่งเสริมแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงเสียส่วนใหญ่ ขณะที่เพิ่มรายจ่ายทางทหาร "การตรวจสอบภูมิหลังเต็มที่" ของคนเข้าเมืองมุสลิมเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอิสลามในประเทศ และการปฏิบัติทางทหารอย่างก้าวร้าวต่อ ISIS นักวิชาการและนักวิจารณ์อธิบายจุดยืนของทรัมป์ว่าเป็นประชานิยม ลัทธิคุ้มครองและชาตินิยม




ที่มา http://themomentum.co/momentum-follow-up-about-donald-trump
       https://th.wikipedia.org

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง “งาน” ในสายตาคนญี่ปุ่น

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies

เหลืออีกไม่กี่วัน สังคมญี่ปุ่นก็จะได้ต้อนรับ “ผู้ใหญ่มือใหม่” เมื่อนักเรียนนักศึกษาเรียนจบอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมีนาคมและเข้าสู่สังคมเต็มตัวตั้งแต่เดือนเมษายน กลายเป็น “ชะไกจิง” (社会人;shakaijin) หรือ “คนทำงาน” ที่จะต้องจ่ายภาษี โดยส่วนใหญ่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนผู้มีรายรับเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4 ล้านเยนเศษ และด้วยบรรยากาศแบบนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ขอชี้ชวนมาดูเรื่องราวว่าด้วยการงานของคนญี่ปุ่นกันอีกครั้ง คราวนี้ว่ากันเรื่องเหตุแห่งการหางานให้ได้ก่อนเรียนจบ กับอันดับรายได้ในอาชีพ



ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รีบเรียนให้จบและออกไปทำงานประจำ คนส่วนน้อยที่เลือกอาชีพอย่างเช่นทนายความหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย (ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกได้ เพราะมีตำแหน่งว่างน้อยมาก) ก็จะต้องยอมเสี่ยงเรียนหนังสือไปเรื่อยๆ ในกรณีของทนายความก็จนกว่าจะสอบผ่าน ได้ใบรับรองคุณสมบัติ หรือในกรณีของอาจารย์ ก็จนกว่าจะจบปริญญาเอก แต่เมื่อจบแล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะมีงานทำตามนั้น

ถามว่าระหว่างที่เรียนเพื่อไต่ระดับไปจนบรรลุเป้าหมายนั้น จะเอาอะไรกิน? พ่อแม่ญี่ปุ่นมักจะส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ดังนั้น เพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงในชีวิตช่วงที่สูงกว่าปริญญาตรีแต่ยังไม่มีงานทำ คนเรียนต้องหาเงินเอง อาจจะขอทุน หรือทำงานหารายได้พิเศษเพื่อส่งเสียตัวเอง นั่นหมายถึงความกล้าหาญพอสมควรในการทำอะไรที่แตกต่างจากคนญี่ปุ่นทั่วไป ซึ่งมักจะหวั่นเกรงความไร้หลักประกันและพยายามปิดช่องนั้น

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง “งาน” ในสายตาคนญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ ไม่สามารถทนต่อความไม่มั่นคงได้นาน รวมทั้งเรื่องงานด้วย งานคือกระจกสะท้อนความกลัวของคนญี่ปุ่นที่มีต่อความไม่มั่นคงในชีวิต ฟังดูอาจจะเหมือนเป็นเรื่องตื้นๆ อย่างที่คนไทยคิดกันทั่วไปว่าไม่มีงานก็ไม่มีเงิน แต่ในความเป็นจริง ลึกกว่านั้น และส่งผลต่อพฤติกรรมแทบทุกช่วงชีวิตของคนญี่ปุ่น (จนในที่สุดก็นำไปสู่วัฒนธรรมกลุ่ม) กล่าวคือ ด้วยความที่ทนความไม่มั่นคงไม่ค่อยได้ คนญี่ปุ่นจึงนำระบบเข้าไปใส่ในแทบจะทุกเรื่องเพื่อให้สิ่งต่างๆ มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม จะได้ยึดเหนี่ยวได้ง่ายขึ้น

เมื่อเด็กมัธยมปลายเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ ก็จะเคว้งคว้างหวั่นใจว่าจะไม่มีอะไรทำ เกิดความไม่มั่นคงทางใจ จึงต้องเข้าชมรม ซึ่งก็กลายเป็นระบบรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษา นักศึกษาญี่ปุ่นกว่าครึ่งมีกิจกรรมชมรม หากใครไม่ได้ทำกิจกรรม จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่เจ้าตัวจะรู้สึกไปเองว่าไม่มีพวก ซึ่งต่างกับของไทยโดยสิ้นเชิง เพราะในกรณีนักศึกษาไทย คนที่ทำกิจกรรมชมรมคือคนส่วนน้อย แต่คนญี่ปุ่นคิดว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวเองจะต้องมีสังกัด

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องออกไปหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ความคิดเรื่องการหลีกหนีความไม่มั่นคงก็ส่งผลอีก คนญี่ปุ่นจึงสร้างระบบการหางานให้ได้ก่อนเรียนจบ ซึ่งก็ดีต่อบริษัทด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็ตัดความกังวลเรื่องความฉุกละหุกออกไปได้ และรู้ล่วงหน้าว่าใครจะเข้ามารับช่วงทำงานต่อไป บริษัททั่วญี่ปุ่นก็พร้อมใจกันสนองจุดนี้ ด้วยการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ตั้งแต่นักศึกษายังเรียนไม่จบ และสัญญากันว่า ถ้าจบเมื่อไรก็มาทำงานที่บริษัทนี้ได้ ช่วงเวลาการหางานของนักศึกษาญี่ปุ่นคือ เมื่อเรียนจบชั้นปี 3 คาบเกี่ยวไปจนจบเทอมแรกของปี 4



นักศึกษาบางคนที่หางานไม่ได้ก่อนจะจบปี 4 ก็จะยอมเรียนซ้ำชั้นเป็นปีที่ 5 เพื่อจะได้หางานอีกเมื่อถึงฤดูกาล น้อยคนมากที่จะยอมจบโดยไม่มีงานใดๆ รองรับไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นจุดที่ต่างจากคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะรอให้เรียนจบบริบูรณ์แล้วค่อยหางาน และนักศึกษาจบใหม่ของไทยยอมอยู่ว่างๆ หลายเดือน โดยไม่จำเป็นต้องมีสังกัดก็ได้ และไม่รู้สึกว่าจะต้องมีอะไรมารองรับชีวิต

เมื่อเข้าทำงานแล้ว ทัศนคติของคนญี่ปุ่นเรื่องการทุ่มเทให้แก่งานก็อธิบายได้ด้วยความกลัวที่มีต่อความไม่มั่นคง คนญี่ปุ่นคิดเสมอว่าจะต้องมีที่ยึดเหนี่ยว ต้องเข้ากลุ่ม ต้องหาที่เกาะไว้ ต้องมีสังกัด หาไม่แล้วจะขาดความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมกลุ่ม ลองให้คนญี่ปุ่นแนะนำตัวดูเถิด คนคนนั้นจะบอกชื่อของตนและทุกครั้งก็จะพ่วงสังกัดเข้าไปด้วยว่าเป็นใครทำงานอยู่ที่ไหน ด้วยนัยนี้ ‘กลุ่ม’ หรือบริษัทคือสิ่งที่สนองตอบความต้องการของพนักงานไม่ใช่แค่เรื่องค่าจ้างเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มความต้องการทางใจให้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือให้ที่พักพิง ทำให้เกิดความมั่นคงทางใจ ฉะนั้นเมื่อทุ่มเททำงานให้บริษัท ก็หมายความว่ากำลังสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ตัวเองด้วย

ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนไทย บริษัทกับพนักงานไม่ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน และคนไทยมักเปลี่ยนงานบ่อยเพื่อไขว่คว้าเงินเดือนที่สูงขึ้น โดยไม่ได้รู้สึกว่าการย้ายที่ทำงานจะทำให้สูญเสียกลุ่มเดิม และการสร้างกลุ่มใหม่ในที่ทำงานใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคนไทย หรือบางคนยอมออกจากงานโดยที่ยังไม่ได้หางานใหม่เพียงเพราะเบื่อเจ้านาย สิ่งเหล่านี้ก็คงบอกได้ว่า คนไทยกลัวความไม่มั่นคงน้อยกว่าคนญี่ปุ่น ซึ่งจะเรียกว่าเป็น ‘คุณ’ สมบัติของคนไทยก็คงได้

รายได้ในอาชีพ

การเลือกอาชีพนั้นสำคัญต่อความเป็นอยู่แน่นอน และใครๆ ก็อยากทำอาชีพที่มีรายได้ดี แต่บางทีการตัดสินใจเลือกเส้นทางเหล่านั้น นอกจากจะต้องมีสติปัญญาพอสมควรแล้ว ก็จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอีกข้อหนึ่งคือ ต้องอดทนต่อความไม่มั่นคงในชีวิตได้นาน เพราะหลักประกันที่จะทำให้ได้มาซึ่งอาชีพบางอาชีพนั้นไม่มี เข้าข่ายอาชีพในฝัน แต่บางทีเป็นแค่ฝันเฟื่อง หรือฝันไว้ไกลแต่ไปไม่ถึง เพราะเงื่อนไขทางสังคมบีบคั้น

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง “งาน” ในสายตาคนญี่ปุ่น

พอเอ่ยถึงอาชีพ คนก็มักจะนึกถึงรายได้ และเมื่อมองถึงรายได้ ถ้าเป็นสังคมไทยก็มักจะส่งเสริม (เชิงกดดัน) ลูกหลานว่าต้องเรียนโน่นสินี่สิ โดยเฉพาะในยุคที่ไทยเร่งพัฒนาอย่างเต็มที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเป็นคณะยอดฮิต เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและได้เงินเดือนมากกว่าหลายๆ สาขา

ในกรณีคนญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การกดดันลูกหลานให้เลือกเรียนสิ่งที่จะนำไปสู่อาชีพที่มีรายได้สูงนั้นคงมีบ้าง แต่ก็น้อย พ่อแม่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยบังคับลูกว่าต้องเรียนอะไร แต่จะออกไปในแนวกดดันเรื่องสถาบันมากกว่า เพราะชื่อสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยคือใบเบิกทางสำคัญในสังคมญี่ปุ่น ส่วนการเรียนสายวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำเงินได้มากกว่าสายสังคมศาสตร์เสมอไป ดังจะเห็นได้จาก 10 อันดับอาชีพที่มีรายได้สูงสุด ซึ่งสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นเมื่อกลางปี 2558

หากไม่นับอาชีพเฉพาะบุคคลซึ่งมีความจำกัดมากๆ อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี (รายได้ปีละ 36.7 ล้านเยน) หรือนักกีฬาดาวเด่น หรือกรรมการผู้จัดการบริษัท หรือนักการเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่อาชีพประจำ สิบอันดับอาชีพที่มีรายได้สูงของคนญี่ปุ่น มีดังนี้ (คิดเป็นเงินบาทคร่าวๆ ได้ด้วยการหาร 3 ส่วนตัวเลขในวงเล็บคืออายุเฉลี่ยของคนในอาชีพนั้น)

1) นักบิน 15.3 ล้านเยน (44 ปี)

2) แพทย์ 10.98 ล้านเยน (40 ปี)

3) ทนายความ 10.95 ล้านเยน (35.6 ปี)

4) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย 10.86 ล้านเยน (57.5 ปี)

5) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย 8.57 ล้านเยน (47 ปี)

6) นักข่าว 8.23 ล้านเยน (38.8 ปี)

7) อาจารย์มหาวิทยาลัย (ผศ.) 7.39 ล้านเยน (43.7 ปี

8) ผู้ตรวจสอบบัญชี 7.17 ล้านเยน (40.7 ปี)

9) ผู้ตรวจรับรองการเสียภาษี (Certified Public Tax Accountant) 7.17 ล้านเยน (40.7 ปี)

10) ผู้ประเมินอสังหาริมทรัพย์ 7.11 ล้านเยน (46.7 ปี)

จากสิบอันดับแรก จะเห็นได้ว่าอาชีพทางสายสังคมศาสตร์ก็สร้างรายได้สูงเช่นกัน และเอาเข้าจริง การแบ่งสายวิทย์สายศิลป์ก็ไม่ได้มีผลไปเสียหมด เพราะหลายๆ อาชีพเป็นสิ่งที่อิงกับการสอบให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติพิเศษโดยไม่จำกัดความถนัดวิทย์ศิลป์ อย่างเช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้ตรวจรับรองการเสียภาษี ผู้ประเมินอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแต่มีรายได้สูง เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นคือ กว่าจะได้มาซึ่งคุณสมบัตินั้นยากมาก และในขณะที่คนอื่นอาจจะเริ่มอาชีพได้ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แต่คนที่มุ่งมั่นจะประกอบอาชีพเหล่านี้ กว่าจะเรียนจบและสอบผ่านจนได้เริ่มอาชีพจริงจัง ก็เมื่ออายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ อาชีพที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษามีรายได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกตำแหน่ง (ประจำ) จะเรียกว่านี่เป็นแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้วก็คงได้ เพราะในสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มคล้ายกัน นอกจากนี้ อาจารย์ระดับมัธยมของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อย ปีหนึ่งๆ ได้ 6.7 ล้านเยน (42.8 ปี) และอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งสูงกว่าทันตแพทย์ 6.53 ล้านเยน (38.2 ปี) ในอันดับที่ 14

สำหรับประเทศไทย อาชีพอาจารย์เป็นอย่างไร? ก็เป็นที่ถกเถียงกันมานานทั้งในด้านคุณภาพการสอนและคุณภาพชีวิตของคนสอนเอง เราถึงได้มีครูอาจารย์ที่ต้องออกไปหารายได้พิเศษนอกสถาบันการศึกษาหลักจนบางทีรายได้จากข้างนอกสูงกว่ารายได้ประจำ แต่ของญี่ปุ่น เรื่องแบบนี้ไม่เป็นประเด็นขึ้นมา เพราะ 1) งานสอนประจำยุ่งอยู่แล้ว 2) เงินเดือนที่ได้รับสมน้ำสมเนื้อกับงานที่ทำ และ 3) ต้นสังกัดมีกฎห้ามทำงานนอก

ใครจะเลือกเส้นทางอาชีพใดคงขึ้นอยู่กับว่าจะอดทนต่อความไม่มั่นคงในชีวิตในรูปแบบไหน บางคนช่วงแรกยอมหวั่นไหว แต่สบายช่วงหลังเพราะรายได้สูง แต่บางคนเลือกที่จะปิดช่องความหวั่นใจเสียตั้งแต่เนิ่นๆ และดำเนินชีวิตด้วยรายได้กลางๆ ไปตลอด ก็แล้วแต่จริตของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ สำหรับผู้ใหญ่มือใหม่ คือ ในปีแรกที่ทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง จะตื่นเต้นยิ้มร่า รู้สึกว่าเป็นอิสระจากพ่อแม่ และเหลือเงินถึงมือเยอะดี เพราะถูกหักแค่ภาษีเงินได้ แต่พอขึ้นปีถัดไปเท่านั้นแหละ อาจจะหน้าซีดตัวสั่น เพราะนอกจากภาษีเงินได้ ก็ยังต้องจ่ายภาษีท้องที่อีกด้วยซึ่งแพงมาก โดยคำนวณจากรายรับของปีก่อนหน้า และเมื่อนั้น คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นก็จะเริ่มรู้ว่าไม่มีชีวิตช่วงไหนสบายเท่าวัยเรียนอีกแล้ว

ที่มา http://manager.co.th/asp-bin/viewgallery.aspx?newsid=9600000028138&imageid=4472789