วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

FinTech



คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ที่ในช่วงภาวะสุญญากาศทางการเมืองปัจจุบัน ได้ผันตัวมาทำงานที่ยังเรียกได้ว่า ช่วยเหลือประชาชนเหมือนงานการเมือง แต่เจาะเป้าตรงในเรื่อง “การเงิน” นั่นคือในบทบาทของประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย

ฟินเทคมาจากภาษาอังกฤษ Fin บวกกับTech ย่อจาก FINancial กับคำว่า TECHnology หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการเอื้อ ช่วยเหลือ และบริการทางการเงินแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เกินจะจินตนาการได้มากยิ่งขึ้น

ฟินเทคมีอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว รูปแบบเดิมๆ ง่ายสุดที่ทุกคนรู้จักกันก็เช่น Mobile Banking อย่างกรณีนี้คือ การเอื้อให้ประชาชนใช้บริการธนาคารแบบทั่วๆ ไป ได้สะดวกขึ้น ช่วยเหลือสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปต่อคิวที่ธนาคาร และให้บริการออนไลน์เพียงแค่ปลายนิ้วกด ส่วนระบบความปลอดภัยก็ไม่ต้องเป็นห่วงครับ มีระบบรหัสหลายชั้นป้องกันอย่างดี

เรามาทำความเข้าใจกับ “ฟินเทค” กันมากยิ่งขึ้นว่า เขาเล็งเป้าจะให้บริการแก่ใครบ้าง ตอนนี้ 60% เป็นกลุ่มที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว 20% เป็นกลุ่มที่ใช้บริการธนาคารรัฐเป็นหลัก และอีก 20% คือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการพวกนี้เลย สรุปว่า ฟินเทคตั้งใจจะให้บริการทางการเงินแก่ทุกคนในประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสมาคมฟินเทคฯ ก็จะเข้ามาดูแลตรงนี้

แล้วธนาคารล่ะ? รูปแบบของฟินเทค มีทั้งแบบทำงานท้าทายกับธนาคารแบบเก่าๆ แต่ในไทยส่วนนี้ยังไม่มีมากนัก จริงๆเรียกว่ายังไม่เกิดขึ้นเลย อาจชัดกว่า เพราะอย่างอังกฤษคือมี “ธนาคารออนไลน์” ที่ไม่มีสาขา ไม่มีสำนักงานให้คนเดินเข้าเลย แต่มีลูกค้ามากมายคอยใช้บริการและกำลังแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นฟินเทคที่ทำงานร่วมกันกับธนาคาร ตัวอย่างเช่น Refinn ที่ช่วยรีไฟแนนซ์บ้าน คอนโดฯ ให้คนเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้นในการได้แหล่งดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด สรุปโปรโมชั่น
ของทุกธนาคารไว้ในที่เดียว จุดนี้ก็ทำงานร่วมกับแบงก์ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีธนาคารหรือแผนกในธนาคารหลายรูปแบบที่กำลังกลายเป็นฟินเทคไปเสียเองอย่างเต็มรูปแบบ

โดยสรุปตรงนี้ก็คือว่า ผู้บริโภคหรือประชาชนก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรให้มาก เราเพียงแต่รอคอยและติดตามข่าวสารว่า จะได้ใช้บริการอะไรดีๆ ที่กำลังจะออกมาบ้าง

ภาครัฐเริ่มอะไรในจุดนี้บ้าง? ส่วนโดยตรงของรัฐพระเอกของวงการนี้เลยคือ แบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บริหารโดยคนรุ่นใหม่ มองไกล ทำงานฉับไวอย่างผู้ว่าฯ แบงก์ชาติดร.วิรไท สันติประภพ ตอนนี้เดินหน้าเต็มสูบกับการทำงานร่วมกันกับฟินเทคในหลายๆ โอกาส เป็น Regulator ที่ทันสมัยมากๆ อยากให้กระทรวงคมนาคมมาดูทัศนคติการทำงานของแบงก์ชาติบ้างจัง (กรณี Uberกับ Taxi ยังจมในวังวนปัญหากันต่อไป)

เป้าหมายหลักของสมาคมฟินเทค มี 4 ข้อด้วยกันก็คือ

1.ประชาชนต้องเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เชื่อไหมครับว่า จุดนี้เชื่อมโยงกับเรื่องความเท่าเทียมการลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยสำคัญหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ตัวหลักก็คือ ทุน! เมื่อประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินหรือทุนหรืออื่นๆ มากขึ้น โอกาสในการทำมาหากินย่อมมากขึ้นแน่นอน

2.ต้นทุนธุรกรรมลดลง พูดง่ายๆ คือ เวลาเราทำมาหากิน หรือทำเรื่องเงินๆทองๆ เราจะโดนเก็บค่าธรรมเนียมแทบทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ ฟินเทคทำให้ถูกลงได้ ตัวอย่างเช่น พร้อมเพย์ที่โอนเงินหากันฟรีที่ 5,000 บาท รีฟินน์ช่วยประหยัดเรื่องดอกเบี้ยบ้าน iTax ช่วยดูเรื่องการวางแผนภาษี ฯลฯ

3.เพิ่มการแข่งขันของเอกชนเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการจะถูกลง ใครจะแข่งกันแพงล่ะครับ ให้เอกชนเขาแข่งกันไป เราประชาชนก็จะได้รับบริการที่ดีที่สุด และราคาดีที่สุด แถมยังมีคุณภาพที่สุด ตอบโจทย์อีกด้วย

4.สมาคมฟินเทคฯ จะทำให้ ฟินเทคของไทยก้าวไกลไปแข่งขันกับฟินเทคโลกได้ในอนาคต สถิติที่คำนวณกันโดยบริษัทปรึกษาวิจัยทางการเงินบอกว่า จากโครงสร้างรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบของไทยนั้น ฟินเทคไทยสามารถแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตรงนี้มาได้สูงถึง 35% หรือเป็นหลักแสนล้านเลยทีเดียว

ในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคบริการทางการเงินนั้น ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกัน หากเราสังเกต จะพบว่า สมัยก่อนไปธนาคารที ต้องไปเขียนกระดาษ เข้าแถวรอที่แบงก์ เสียเวลา ต่อมาก็มี ATM บัตรให้กด ให้ฝากกันได้ จากนั้นก็มี Debit-Credit Card ให้รูดซื้อของ และมี internet banking จนกระทั่งมี Mobile Banking หรือทำธุรกรรมเสร็จสิ้นทั้งหมดในมือถือเครื่องเดียว

ส่วนพฤติกรรมของธนาคารก็ต้องปรับไปด้วยตามผู้บริโภคหรือประชาชน นั่นคือ การที่ธนาคารลดสาขามากกว่าเพิ่มเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเวลาเปิดปิดแบบต้องง้อประชาชนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารจำเป็นต้องไปเปิดในห้างและปิดดึกกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนมาทำธุรกรรมได้สะดวกมากขึ้น

คุณกรณ์ย้ำไว้ว่า สาเหตุทั้งหมดก็เพราะต้องการตอบโจทย์สิ่งที่เรียกว่า Pain Points ของการบริการทางการเงิน พูดง่ายๆคือ เราเคยเจ็บปวดอะไรบ้างจากบริการทางการเงินในอดีต ได้แก่ ช้ามาก คิวนาน เอกสารเยอะ ไม่อยากไปสาขาเพราะกลัวโดนบังคับซื้อประกัน ฯลฯ ส่วนเงินสด ก็มีความเสี่ยงถือเงินสดเยอะกลัวหาย กลัวโดนปล้น แถมเงินสดเป็นที่น่าสังเกตเรื่องการส่อถึงการทุจริตอีกต่างหากเพราะไร้หลักฐาน

เท่าที่ผมได้นั่งฟังคุณกรณ์สรุปประเด็นใจความรวมให้ฟังทั้งหมด คุณกรณ์ย้ำว่า เอเชียนี่แหละคือโอกาสที่จะเห็นแสงสว่างที่สุดสำหรับฟินเทค โดยสรุปได้ 7 สาเหตุหลักว่า ทำไม Fintech Asia ถึงจะพัฒนาได้เร็วกว่าที่อื่น

1.อัตราส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เนตผ่านมือถือของคนเอเชียสูงมากกว่าคนทวีปอื่น โดยเฉพาะ จีนและอาเซียน

2.คนชั้นกลางจะเข้าสู่เทรนด์ Urbanisation เยอะมากๆ โดยปี 2030 จะมีคนชั้นกลางกว่า 60% ของทั้งโลกอยู่ในเอเชีย

3.โครงสร้างตลาดเงินตลาดทุนของเอเชียยังอ่อน ส่งผลให้การเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ด้านนี้มีโอกาสมาก

4.คนเอเชียมีวัฒนธรรม รักความสะดวกสบาย และฟินเทคจะตอบโจทย์เรื่องนี้โดยเฉพาะ

5.ปัจจุบันคนเอเชียกว่า 1,200 คน ยังไม่มีบัญชีธนาคาร เป็นโอกาสในการเข้าถึงบริการใหม่

6.กฎกติกาของเอเชียมีน้อย ควบคุมไม่เข้มงวดมาก เป็นช่องให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆได้มาก

7.จีนและอินเดีย ผลิตวิศวกรต่อปีเยอะมาก เป็นโอกาสให้มีนักพัฒนาฟินเทคเกิดขึ้นเยอะได้อีกมากทีเดียว

และในส่วนนี้ก็เป็นผลปรากฏให้เห็นแล้วตอนนี้ ไม่ต้องไปดูไหนไกลครับ ที่จีนแค่ Alibaba ที่มี AliPay หรือ Wechat ก็ครองตลาดออนไลน์แทบทั้งหมดของจีนเอาไว้แล้ว คนจีนมี 1,300 ล้านคน โดยประมาณแต่เข้าถึงตลาดออนไลน์กว่า 750 ล้านคน โดย 95% ก็ใช้งานผ่านมือถือออนไลน์ทั้งสิ้น ที่สำคัญคนจีนมาไทย เยอะมาก ล่าสุด 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนตอนนี้เพียง 5% เท่านั้นที่มีพาสปอร์ต เขาจะถาโถมเข้ามาเหมือนพายุ และแน่นอน เขาจะเข้ามาพร้อมกับความพร้อมกับการเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของไทยในอนาคตเช่นเดียวกัน

เป็นเรื่องที่น่าจับตา เป็นเรื่องที่สร้างโอกาสมากมายให้แก่ประเทศไทยของเรา

ต้องขอขอบคุณคุณกรณ์ที่ช่วยกรุณาเล่าสรุปเรื่องทั้งหมดให้ฟังครับ ผมจะมาคอยอัพเดทเรื่องราวของฟินเทคของประเทศไทยเราให้ได้อ่านกันเรื่อยๆ นะครับ

ที่มา http://www.naewna.com/politic/columnist/29023

ไม่มีความคิดเห็น: