วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Facebook History

Facebook History



On February 4, 2004, Mark Zuckerberg launched a social website called “The Facebook” from his dorm room at Harvard. Soon, what started as a private network for college students became a worldwide phenomenon, everyone from teens to grandmothers using it to catch up with friends and get their news. As Facebook is turning 14 this Sunday, here’s a look back at some of the milestones that helped shape the social media behemoth we know today.

The Facebook History Timeline illustrates important events, achievements, and releases in the history of the social networking platform, from the day the service was launched to its 14-year anniversary.

Released in February 2009, the “Like” button is probably one of the simplest Facebook features, but it’s come to be the one that defines it. This makes it a little surprising that Zuckerberg kept giving it a thumbs down when the concept was proposed, determining the team to consider it a “cursed project.” The idea of an approval button first came to life in 2007 under the form of the “Awesome” button, but it took almost two years until it was finally launched, as the CEO was worried it will overshadow the Comment and Share features.




Source: https://www.officetimeline.com/blog/facebook-history-timeline

Introvert

Introvert ตอนที่ 1: สมองต่าง บุคลิกต่าง

By ทีมซีเอ็ด 19/11/2018

ความในใจของคนที่ดูเงียบๆ รักสันโดษ ชอบอิสระ ทำอะไรคนเดียว อยากบอกให้คุณรู้

เอาล่ะครับ เรามาเริ่มกันอย่างนี้ก่อนดีกว่า

คือผู้เขียนสังเกตเห็นว่ายังมีคนจำนวนมากเลยทีเดียวที่ยังไม่เข้าใจว่า introvert คืออะไร แล้วทำไมผมถึงเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้น่ะหรอครับ นั่นก็เพราะว่าจริงๆแล้ว introvert เป็นรูปแบบหนึ่งของบุคคลิกภาพที่กินสัดส่วนประชากรมากถึง 1 ใน 4 เลยทีเดียว (จะว่ามากก็มาก แต่ก็ถือเป็นคนส่วนน้อยอยู่ดี)
ตัวอย่างคนดังที่เป็น Introvert ก็ได้แก่มหาเศรษฐีติดอันดับโลกและนักคิดผู้โด่งดังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น
Elon Musk ที่ชอบเก็บตัวอ่านหนังสือเงียบๆคนเดียวในห้องสมุดสมัยเด็กๆ

Bill Gates ที่เป็นต้นแบบของความเนิร์ดแห่งยุคสมัย

Isaac Newton ที่ตลอดชีวิตเก็บตัวเงียบแทบไม่สุงสิงกับใครแถมยังตายไปพร้อมกับพรหมจรรย์ที่รักษามาท้งชีวิต

Charles Darwin บิดาของทฤษฎีทางชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลผู้ค้นพบความลับของธรรมชาติที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ” ก็ยังชอบใช้เวลาเดินครุ่นคิดอย่างสัยโดษตามสวนรอบๆ บ้าน

ถึงแม้พวกเราจะมีน้อย แต่ก็พบว่ามี introvert จำนวนมากเลยทีเดียวที่เป็นนักอ่าน ผมจึงเลือกที่จะลองมาเล่าให้ฟังว่า อะไรคือ introvert การเข้าใจตัวเองนี้จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร และเราจะมาเริ่มจากคำถามพื้นฐานก่อนว่า…


Famous Introverts


Introvert คืออะไร ?

ในเช้าวันเสาร์อันแสนผ่อนคลาย หลังจากนอนเต็มอิ่มมาทั้งคืน

วันนี้เป็นวันว่างสุดแสนชิว คุณอยากจะใช้เวลาไปกับการทำอะไรครับ

อยากไปปาร์ตี้ คอนเสิร์ต ไปพบป่ะผู้คนใหม่ๆ ทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

หรือว่า…คุณอยากจะใช้เวลานี้ไปกับความสงบ สันโดษ อย่างการนั่งอ่านหนังสือ ไปนั่งร้านกาแฟ ทำงานอดิเรก นัดเจอเพื่อนฝูงกลุ่มเล็กๆ

ถ้าคำตอบของคุณเป็นข้อสอง

ก็เป็นไปได้มากทีเดียวว่าคุณน่าจะเป็น Introvert ล่ะครับ

เหรียญย่อมมีสองด้าน…และคำนี้ก็เป็นคำที่มีความหมายในเชิงเปรียบเทียบเหมือนกับสีขาวและดำ…Extrovert จึงเป็นคำที่มีควาหมายในทางตรงข้ามกับ Introvert นั่นเอง



ศัพท์ในทางจิตวิทยา
ถ้าเราทำการจัดกลุ่มคนหนึ่งร้อยคนตามระดับ
ความเป็น Introvert-Extrovert

ทางซ้าย—คนที่เป็น Extrovert สุดขั้ว ชอบเข้าสังคม

ทางขวา—คนที่เป็น Introvert สุดขั้ว ชอบสันโดษ

เราจะพบว่าคนส่วนมากทีเดียวจะอยู่ “ตรงกลาง”

หรือที่เราเรียกว่า “Ambivert” ซึ่งเป็นคนที่มีบุคคลิกสายกลาง

คำถามคืออะไรทำให้คนคนหนึ่งมี “บุคคลิกภาพที่แตกต่าง”

และเราจะรู้ได้ชัดเจนอย่างไรว่าเราเป็น Introvert หรือไม่




นิยาม Introvert ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ผมชอบที่สุด

ลองคิดดูเล่นๆ ว่าอะไรทำให้คนหนึ่งคนเลือกที่จะนั่งอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ เพียงลำพัง แต่อีกคนชอบที่จะออกไปปาร์ตี้ที่คราครํ่าไปด้วยผู้คนเยอะๆ
อะไรทำให้คนหนึ่งคนชอบถ่ายทอดความคิดโดยการเขียน แต่อีกคนกลับรู้สึกสะดวกใจที่จะใช้การพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก
อะไรทำให้หนึ่งคนเหนื่อยอ่อนเมื่อต้องพบปะมีปฎิสัมพันธ์กับคนเยอะๆ จนต้องหาเวลาไปชาร์ตพลังเพียงลำพัง แต่อีกคนกลับรู้สึกว่าอยู่กับตัวเองเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหงอยเหงาจนอยากจะไปพบเจอผู้คนที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น สดชื่น มีพลัง
นี่คือ “ความต่าง” ที่เราสังเกตุเห็นได้ในตัวเองและคนที่เรารู้จัก
การเข้าใจเบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราใจกว้างและไม่ด่วนตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป…
และทั้งหมดมันเริ่มมาจาก “สมอง”
สมองแตกต่าง พฤติกรรมจึงแตกต่าง

หากเราเอารูปสมองของมนุษย์มากางดู
มองเผินๆ เราจะเห็นโครงสร้างสมองเหมือนไอติมโคนซ้อนกันหลายๆ ชั้น
ส่วนโคน—เป็นก้านสมอง
ไอศครีมชั้นล่างๆ—เป็นสมองที่เก่าแก่ควบคุมระบบอัตโนมัติของร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ
ไอศครีมชั้นบนๆ—เป็นสมองที่เจริญงอกงามในมนุษย์ ใช้ในการคิดเชิงเหตุผล
ตั้งแต่ลืมตาตื่นเช้าจนเข้านอน
กี่คลื่นเสียง เฉดแสง ที่เข้าสู่การรับรู้ทางประสาทสัมผัส
จากสิ่งที่มากระทบตากระทบใจต่างๆ
จะถูกแปลงเป็น “กระแสประสาท” ไหลเวียนเข้าสู่สมอง
เพื่อความง่าย เราสามารถจินตนาการได้ว่า
สิ่งเร้าที่เรารับเข้ามาก็เหมือนกับคลื่นลมพายุ
สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน ไหลวน ถ่ายทอดเข้าไปในสมองของเราทุกคน
ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์เราจะมีข่ายใยประสาทที่มีชื่อเรียกยากๆว่า
Reticular Activating System (RAS) ซึ่งอยู่บริเวณ “โคนไอศครีม”
ซึ่งจะมีหน้าที่เปรียบดัง “สันเขื่อน” ที่จะทำหน้าที่คัดกรอง
“คลื่นลม” ที่มาจากมหาสมุทรภายนอก ให้อยู่ในปริมาณที่พอดีๆ
ซึ่งจุดนี้แหละครับที่สมองของคนที่เป็น Introvert หรือ Extrovert จะทำงานได้ไม่เท่ากัน…หรือพูดง่ายๆว่าคนเราถูกกระตุ้นด้วย “สิ่งเร้า”ภายนอกได้ยากง่ายต่างกัน
Extrovert—เขื่อนแข็งแกร่งทำให้มีระดับความไวต่อสิ่งกระตุ้นตํ่า

Introvert—เขื่อนบางเบาทำให้มีระดับความไวต่อสิ่งกระตุ้นสูง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่เป็น Introvert ถึงรู้สึก ‘หมดพลัง’ เมื่อต้องไปทำกิจกรรมที่ต้องเจอคนเยอะๆ…ซึ่งไม่ต่างจากเขื่อนง่อนแง่นที่ถูกพายุถล่มซํ้าเติม



Reticular Activating System (RAS)

บางทีแค่หนังสือดีๆ ซักเล่ม
เพื่อนสนิทสองสามคน
คำสนทนาที่มีความหมายกับคนรัก
การนั่งลูบพุงแมวน้อยน่ารักก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ Introvert มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งเร้าที่น่าตื่นเต้นรุนแรงจากภายนอก (ซึ่งอาจมากเกินไป)

ทั้งหมดที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่ากัน
เราสามารถมองสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยความเข้าใจ
มองด้วยสายตาของ ‘ธรรมชาติ’ ที่ไม่ได้ออกแบบให้คนเราเหมือนกัน
มันจึงเป็นความสวยงามบนความแตกต่างหลากหลายของ ‘เพื่อนมนุษย์’

ที่มา http://news.se-ed.com/?p=5613

Introvert ตอนที่ 2: พวกเราคืออินโทรเวิร์ท

Introvert ถูกกระตุ้นได้ง่ายจากสิ่งเร้า
Extrovert ถูกกระตุ้นได้ยากมากกว่า

นั่นทำให้บางคนพอใจที่จะใช้เวลาอยู่อย่างสงบเงียบในวันหยุด อยู่กับคนรัก ทำงานอดิเรกต่างๆ นอนเอนกายอ่านหนังสืออยู่เงียบๆคนเดียว ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมแบบนั้นขาดสิ่งกระตุ้น มันไม่เร้าใจมากพอ ขาดสีสัน และชอบที่จะออกไปพบปะผู้คนเพื่อ “รับพลังงาน” จากภายนอกเข้ามา
นี่คือความแตกต่างของ introvert และ extrovert



วันนี้เราเลยจะมาสำรวจกันว่าความยากง่ายของการถูกกระตุ้นส่งผลให้ introvert มีลักษณะอย่างไรบ้าง

1.อยู่กับคนเยอะๆ นานๆ แล้วเหนื่อย อินโทรเวิร์ท














เคยไหมครับที่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของทักษะการเข้าสังคม หรือไปขาดความมั่นใจอะไรมา แต่พอมี event ที่ต้องเจอคนเยอะๆ ทีไร พองานเลี้ยงเลิกราทีไรก็รู้สึกหมดแรงหมดพลัง อยากพักนิ่งๆคนเดียวไม่อยากเจอใครไปซักพักนึงเลยทีเดียว
ข้อนี้เป็นลักษณะหนึ่งที่บ่งบอกได้ดีทีเดียวว่าคุณคือ introvert ตัวจริงเสียงจริง เพราะคุณผู้อ่านรู้หรือไม่ครับว่าในเหตุการณ์เดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ระยะเวลาเท่ากัน หากคุณเป็น introvert คุณจะได้รับสิ่งกระตุ้นเข้ามามหาศาลมากกว่าเมื่อเทียบกับ extrovert
เชื่อไหมว่ามีบางคนเช่นกันที่ดูภายนอกเราต้องคิดว่าเขาต้องเป็น extrovert แน่ๆ เพราะทำกิจกรรมเก่ง สื่อสารได้ดี มีความกล้าแสดงออกและเป็นผู้นำ แต่พอได้รู้จักกันจริงๆ เขากลับเผยความจริงว่าเป็น introvertและหลังจากผ่านกิจกรรมเหล่านั้นไปเขาจะรู้สึกเหนื่อยอ่อนมากกว่าปกติ พอถึงเวลาว่างที่เป็นอิสระจริงๆ เขาจึงชอบที่จะใช้เวลาพักผ่อนอยู่คนเดียวมากกว่า
นั่นจึงนำเราไปสู่ลักษณะของ introvert ข้อต่อไปนั่นก็คือ

2.คุณเพลิดเพลิน รักและชอบใช้เวลาคนเดียว


หลายๆครั้งเหล่า introvert มักจะถูกเข้าใจผิดจาก extrovert ว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่าในเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ ทำไมถึงชอบนั่งกินข้าวคนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่เบื่อ ไม่เหงาบ้างหรือไง

ลองจินตนาการตามนะครับ…
หากคุณเป็น introvert คนหนึ่งที่หน้าที่การงานที่คุณทำอยู่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีปฎิสัมพันธ์กับผู้คนตลอดทั้งวัน พูดคุย ประชุม อภิปราย ระดมความคิด พอถึงเวลาว่างจริงๆ อย่างตอนพักกลางวันคุณยังอยากจะใช้เวลาเหล่านั้นอย่างลำพังบ้างหรือไม่

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อเราถามคนที่แตกต่างกันว่าเวลาว่างชอบทำอะไร…เราสามารถบอกได้กลายๆเลยว่าคนเหล่านั้นเป็น introvert หรือ extrovert

หากคำตอบมันเด้งออกมาเลยว่าเราชอบ Alone time ก็เป็นไปได้ว่าเราคือ introvert…แม้คนอื่นอาจไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นค่าของช่วงเวลาส่วนตัวเหล่านั้นก็อย่าลืมอธิบายให้เขาฟังด้วยล่ะว่ามันสำคัญกับเราอย่างไร…อย่าให้สังคมมาตัดสินเราว่าเราควรใช้เวลาว่างของเราอย่างไร

พวกเราล้วนแตกต่างและไม่จำเป็นต้องการให้ใครมาบอกว่าอะไรที่ดีกับตัวเรา…

3.มีเพื่อนน้อย แต่ที่มีค่อนข้างสนิท


มีหลายคนเข้าใจผิดว่า introvert ชอบที่จะอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใครไม่มีสังคม ทว่านั่นไกลจากความจริงค่อนข้างมากเลยล่ะครับ

เป็นเรื่องจริงที่ introvert มักมีแวดวงกลุ่มเพื่อน กลุ่มสังคมที่ไม่กว้างขวางเท่า extrovert แต่งานวิจัยบอกกับเราว่าถึงจะมีน้อยกว่าก็จริง แต่นั่นก็เป็นเพราะพวกเรามักจะคัด “คุณภาพมากกว่าปริมาณ”

นั่นทำให้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมักจะลึกซึ้งและค่อนข้างยืนยาว พูดได้ว่าถ้าได้เป็นเพื่อนกันแล้วก็เป็นกันจนลูกบวชเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองทำให้พวกเราชาว introvert ชอบที่จะแฮงเอาท์กับเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนท่ามกลางบรรยากาศที่โดนใจไม่อึกทึก มีเวลาได้พูดคุยกันอย่างลึกๆ เป็นความสัมพันธ์ที่อารมณ์คล้ายๆคนในครอบครัว

หากคุณเป็นคนมีเพื่อนน้อยแต่ที่มีสนิทมากๆ แสดงว่าคุณอาจเป็น introvert แล้วล่ะครับ

4.ถูกเร้าหรือเยอะๆ จะสติหลุดได้ง่ายๆ

เร้าหรือในที่นี้หมายถึงสิ่งเร้านะครับ…
อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่า introvert นั้นมีขีดความอดทนต่อสิ่งกระตุ้นต่ำกว่า extrovert นั่นหมายความว่ามันมีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการถูกกระตุ้นอยู่นั่นเอง

หากให้ introvert และ extrovert นั่งทำงานอยู่ในห้องสมุด extrovert อาจจะรู้สึกว่ามันเงียบเกินไปจนน่าเบื่อ ในขณะที่ introvert คิดว่ามันสงบเงียบกำลังดี

แต่พอเปลี่ยนสถานที่เป็นร้านกาแฟที่คราคร่ำไปด้วยคน extrovert อาจจะรู้สึกได้ถึงพลังงานที่ถ่ายทอดเข้ามาในขณะที่ introvert เริ่มไม่สามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ

ผลวิจัยเลยบอกกับเราว่า introvert มีแนวโน้มที่จะสติหลุด ขาดสมาธิ วอกแวกไปมาได้ง่ายกว่า extrovert เมื่ออยู่ในที่พลุกพล่าน เต็มไปด้วยสิ่งเร้าหรือผู้คน

ไม่แปลกเลยถ้าพบว่า introvert จะชอบไอเทมต่างๆที่มีคุณสมบัติในการกรองสิ่งเร้าให้เบาบางลงไม่ว่าเป็น การใส่หูฟังเวลาต้องการทำงาน คิดหรืออ่านหนังสือ การใส่แว่นตากรองแสง การใส่ที่อุดหูเวลานอน
สิ่งเหล่านี้คือการบ่งบอกอย่างเป็นรูปธรรม…สิ่งที่สะท้อนธรรมชาติของเรา

แล้วมันก็พ่วงแถมจุดแข็งของ introvert มาอีกนั่นก็คือ

5.ความช่างสังเกต
ในสถานการณ์เดียวกัน introvert มักจะรับ input ของข้อมูลขาเข้ามามากกว่าปกติเสมอ เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่มันทำให้เรากลายเป็นคนช่างสังเกตและเห็นดีเทลเล็กน้อยๆ มากกว่าปกติ

และไม่เพียงแต่การสังเกตสิ่งเร้าภายนอกเท่านั้นแต่โลกภายในที่กว้างใหญ่ของ introvert ก็เช่นกัน

6.โลกภายในที่กว้างขวาง ซับซ้อน และลึกซึ้ง

“คนที่พูดน้อยที่สุดในห้อง อาจเป็นคนที่กำลังคิดเยอะที่สุดในห้องเช่นกัน”

ผมจำไม่ได้แล้วว่าไปอ่านวลีนี้มาจากไหน แต่มันค่อนข้างอธิบายลักษณะของ introvert ได้ดีระดับหนึ่งเลย

ด้วยความที่ introvert มักจะเป็นคนที่มีลักษณะของการสำรวจตรวจสอบโลกภายในที่ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องของความคิด ความรู้สึก คุณค่าและความหมาย ของสิ่งต่างๆ

พวกเรามักจะเพลิดเพลินไปกับการครุ่นคิดถึง “ประสบการณ์ทางใจ” ค่อนข้างมาก และหลายๆ ครั้งก็มองว่าสิ่งที่เรารับรู้จากภายนอกเป็นเพียงสิ่งที่เข้ามาเติมเติมและกระตุ้นให้โลกภายในที่เข้มข้นของพวกเราได้หมุนวนไป

ทำให้ introvert หลายๆคนมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เกี่ยวข้องกับการทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองอย่าง การอ่านหนังสือในหัวข้อที่สนใจ การพูดคุยถกเถียงทางปรัชญาเพื่อหาคุณค่าและความหมายของชีวิต

หากมีหลายคนบอกว่าคุณเป็นคนที่ “คิดมาก” ก็มีความเป็นไปได้เยอะเลยที่คุณอาจเป็น introvert

หวังว่าทั้ง 6 ข้อเหล่านี้จะทำให้เพื่อนๆนักอ่านเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลมันเริ่มมาจากความแตกต่างของสมองที่ถูกหล่อหลอมผ่านวันเวลามาเป็นบุคคลิกภาพอย่างที่เราเป็นในที่สุด

พวกเราไม่ใช่คนขี้อาย…
พวกเราแค่เพลิดเพลินกับการได้ใช้เวลาลำพัง

พวกเราไม่ได้ปฎิเสธการเข้าสังคม
แค่เลือกเพื่อนที่จะคบ อาจไม่มากมาย แต่สนิทจริงๆ

เห็นพวกเราเงียบๆ
แต่ที่จริงรับรู้แทบทุกอย่าง

ถึงพวกเราจะพูดน้อยจนหลายครั้งทำให้ดูเหมือนน่าเบื่อ
แต่โลกภายในล้วนเต็มไปด้วยสีสันอันกว้างใหญ่

คิดว่าพวกเราเป็นคนส่วนน้อย
แต่ที่จริง Introvert มีมากถึงหนึ่งในสามของประชากร

ที่มา http://news.se-ed.com/?p=5622

The Introvert Advantage ตอนที่ 3: จุดแข็งของอินโทรเวิร์ท


ในบทความแรกเราพากันไปดูมาแล้วว่าความแตกต่างของสมองนั่นเองที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บางคนรักและเอ็นจอยการใช้เวลาแบบสันโดษมากกว่าคนทั่วไปเนื่องจากมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งก็จะนำมาซึ่งลักษณะต่างๆ ที่บ่งบอกความเป็น introvert ในบทความตอนที่สอง

สำหรับวันนี้เราจะมาสำรวจกันต่อว่า แล้วอะไรกันล่ะที่เป็นจุดแข็งของพวกเราชาว introvert

อะไรคือพลังของคนเงียบในโลกที่ไม่เคยหยุดพูดไปดูกันเลย

 1.ชาร์ตพลังงานได้เอง


อย่างที่กล่าวไปแล้วในบทความก่อนว่า introvert จะมีจุดอ่อนคือหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นเยอะๆ จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า over stimulation หรือการที่เราถูกกระตุ้นมากเกินไป จากเสียงดัง จากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่หยุดหย่อนทำให้เราอาจเสียสมาธิในการโฟกัสกับการเรียน การอ่าน การทำงาน ซึ่งก็แก้ได้ไม่ยากโดยการหาที่สงบซึ่งมีสิ่งเร้าน้อยกว่าทดแทน

แต่ข้อดีที่ได้แถมมาด้วยก็คือเวลาที่ introvert อยู่ที่สงบเงียบซึ่ง extrovrt หลายๆ คนมองว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับพวกเราชาว introvert กลับเป็นภาวะที่เรากำลังชาร์ตพลังงาน เป็นภาวะที่เรารู้สึกสงบผ่อนคลาย

เมื่อเหนื่อยอ่อนจากการงาน หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ เราไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อออกไปหากิจกรรมหรือผู้คน แค่สถานที่สงบเงียบให้ได้ผ่อนคลาย ครุ่นคิดและได้เป็นตัวเองก็เพียงพอแล้ว

ช่วงหลังมานี้มีแนวคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่ต้อง work hard play hard ต้องใช้ชีวิตให้สุด ต้องออกไปปาร์ตี้ ต้องสังสรรค์ เข้าสังคม เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้สุดไม่หยุดหย่อน…

แล้วถ้าความสุขของเราไม่ได้เป็นแบบนั้นล่ะ ถ้าความสุขของเราอาจเป็นหนังสือซักเล่ม ซีรีย์ที่ชื่นชอบซักตอน หรือการวิ่งออกกำลังกายคนเดียวในเช้าวันเสาร์ที่สดใส ก็จงภูมิใจในความเป็นตัวตนของเราที่ไม่ต้องทำตามใคร

เพียงมีความสงบในใจ…เราก็ชาร์ตพลังงานได้จนเต็ม ^^

2.เป็นนักคิดโดยธรรมชาติ



สิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของ Introvert มากๆ เลยก็คือการ “คิดมาก”
เมื่อประกอบกับนิสัยที่มักจะชอบทำกิจกรรมต่างๆในเวลาว่างโดยลำพังยิ่งหนุนนำให้การคิดของ introvert ยิ่งลึกและกว้างไกลมากยิ่งขึ้นไปอีก

ซึ่งช่วงเวลาเงียบสงบที่ Introvert เหล่านี้ใช้เปิดโอกาสให้ความฝัน จินตนาการ การวางแผนถึงอนาคตต่างๆเกิดขึ้นได้

คุณสมบัติเหล่านี้เองที่ทำให้ introvert กลายเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่งอันเกิดมาจากการฝึกคิดวิเคราะห์แง่มุมต่างๆมาอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว

3.เป็นผู้ฟังที่ดี
เนื่องจาก introvert เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างเงียบ พวกเขาเลยมักจะเป็นผู้สังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเป็นนักฟังที่ดีเมื่อได้สนทนากับใครก็ตาม…
Introvert มักเลือกที่จะประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมาให้ดีก่อนที่ตอบสนองออกไป มีการคิดก่อนที่จะพูดหรือทำอะไร

หากดูจากภายนอกภาพลักษณ์ของ introvert อาจดูขัดแย้งกับความเป็นผู้นำ แต่งานศึกษาจาก Harvard Business School พบว่า introvert ก็สามารถที่จะปรับวิธีการทำงานให้ทัดเทียมหรือแม้กระทั่งดีกว่าได้ในฐานะตำแหน่งของผู้นำ โดยเฉพาะเมื่อทีมงานมีคุณสมบัติริเริ่มสร้างสรรค์และชอบลงมือทำ ซึ่งจะสอดคล้องกับนิสัยของ introvert ที่จะน้อมรับฟััง คิดวิเคราห์และนำไอเดียมาพัฒนาต่อเพื่อบรรลุเป้าหมายได้

ในโลกที่ทุกคนเอาแต่พยายามส่งเสียงตะโกน
introvert กลับเลือกที่จะรับฟัง
และนำไปกลั่นกรอง คิดวิเคราะห์ จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจอย่างเฉียบคม

4.ความสันโดษนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์


มีงานศึกษาพบว่ากลุ่มคนที่ถือได้ว่าเป็นหัวกระทิของหลายๆวงการที่เรียกได้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์สูงมักจะเป็นคน introvert

หรือคนระดับประวัติศาสตร์ต้องจารึกอย่าง…

ในเวลาที่ต้องขบคิดปัญหายากๆซับซ้อน ไอสไตน์ จะมีเวลาพักเบรกเพื่อหันไปทำงานอย่างอื่นที่ใช้พลังสมองน้อยกว่า

อีกกรณีก็เป็นที่รู้กันว่าตอนไอแซก นิวตัน ยังเป็นเด็กๆ แม่ของเขาต้องคอยเอาอาหารเข้ามาเสริฟชายน้อยเพราะเขามักจะหมกมุ่นอยู่กับการขบคิดปัญหาต่างๆ จนลืมโลกรอบตัวไป

ชาลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการก็เป็นอีกคนที่ใช้เวลาอย่างลำพังเพื่อขบคิดในขณะที่เขาเดินไปตามทางเดินในสวนละแวกบ้านของเขา

เมื่อเราได้ใช้เวลาลำพัง เมื่อเราได้มีเวลาให้ความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ตกตะกอน สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราได้มองปัญหาในมุมใหม่
ทำสิ่งใหม่ได้ไม่เหมือนใคร และยากที่จะมีคนทำได้เหมือนพวกเราชาว introvert

5.สร้างแรงบันดาลใจได้เอง


เคยไหมที่แบบว่าคนรอบข้างยังต้องงงเวลาพวกเราชาว introvert ลุกขึ้นมาทำอะไร

ด้วยนิสัยที่มีโลกภายในกว้างใหญ่ไพศาล ซับซ้อน ลุ่มลึก และเต็มไปด้วยจินตนาการ 
ทำให้หลายๆ ครั้งเรามีแผนการ มีความฝัน มีความหวังที่เป็นเหตุผลในตัวเอง ซึ่งหลายๆครั้งเราก็ไม่ได้เอามันไปบอกใครหรอกว่าเราทำไปทำไม
วันดีคืนดีคนรู้จักของคุณอาจจะต้องงงเมื่อเห็นคุณที่น้ำหนักเกินมาตลอดลุกขึ้นมาขยันออกกำลังกายตอนหกโมงเช้าทุกวัน หรืออยู่ๆก็ไปซื้อสีน้ำมาหัดระบายสี หรือบางคนอาจนั่งร่างแผนการแต่งระเบียงห้องด้วยต้นไม้
ประเด็นก็คือพวกเราชาว introvert นั้นมีพรสวรรค์ในการลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างโดยไม่ต้องทำตามใคร เรามีแนวทางเป็นของตัวเอง หรือพูดง่ายๆว่าอินดี้นั่นเอง

สิ่งเหล่านี้คือความสามารถพิเศษในการจมจ่อม หลงไหล ใฝ่ฝัน ทุ่มเทไปกับการงานที่เรารักที่จะทำ
หลายครั้งมันมันยากที่คนอื่นจะเข้าใจแรงเบื้องหลังที่หนุนนำในสิ่งที่เราทำอยู่ แต่ก็ต้องระวงเหมือนกันตรงที่เรามีเหตุผลในตัวเองที่จะเริ่มต้นที่จะทำอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่แท้จริงก็ต้องการความต่อเนื่องเพื่อการยืนระยะอย่างยาวนานจนเกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้

ความเข้าใจในตัวเองอย่างลึกซึ้ง นั่นคือการรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรของ introvert เมื่อรวมกับแรงบันดาลใจในตัวที่เกิดขึ้นได้เอง หากเราฝึกฝนเพิ่มอีกนิดให้ตัวเองเป็นคนที่มีระเบียบวินัยและฝึกนิสัยแห่งการลงมือทำ

พวกเราชาว introvert จะเหมือนมีพลังพิเศษที่จะเปลี่ยนภาพฝันในสมองให้เป็นความจริงตรงน่าได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ที่มา: http://news.se-ed.com/?p=5625

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

วิกฤตเศรษฐกิจ แห่งทศวรรษ

ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

คำถามที่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ 2 ท่าน ได้แก่ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด และ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล และคอลัมนิสต์ชื่อดัง

 ได้ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องแบบเชิงสร้างสรรค์ เมื่อเดือนที่แล้ว คือ ดัชนีใดกันแน่ที่เป็นสัญญาณที่ดีที่สุดในการคาดการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยใช้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008 เป็นสนามทดลอง

โดยฝั่งเบอร์นันเก้ เชื่อว่าดัชนีที่แสดงความตื่นกลัว อย่าง การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน และการกระตุกตัวขึ้นของผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่มิใช่สินเชื่อบ้านที่ได้ทำ Securitized สามารถทำหน้าที่เป็นตัวคาดการณ์ที่ดีกว่าราคาบ้าน ราคาตลาดของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แบบ Subprime หรืออัตราการผิดนัดของสินเชื่อบ้าน ในการบอกถึงจังหวะและความรุนแรงของเศรษฐกิจถดถอยหรือแม้แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะที่ครุกแมน กลับเห็นต่าง โดยเน้นว่าผลกระทบจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์รวมของเศรษฐกิจสหรัฐต่างหากที่เป็นสาเหตุของ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ แห่งทศวรรษที่ผ่านมา

ครุกแมน ร่วมกับ ดีน เบเกอร์ ใช้ข้อมูลแบบลงลึกถึงขนาดระดับ accounting-based ทำการวิเคราะห์แบบระบบสมการเชิงโครงสร้างหรือ Structural Analysis เพื่อชี้ให้เห็นถึงจีดีพีที่หดตัวและชะลอลงและการว่างงานที่เคยสูงสุดเกือบ 10% ในช่วงเวลากว่า 7 ปีหลังวิกฤติการเงิน 2008 ว่ามาจากปัจจัยของตลาดอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ ครุกแมนทิ้งท้ายว่า กรอบวิธีการวิเคราะห์ของเบอร์นันเก้เป็นวิธีที่ละเอียดน้อยกว่า ซึ่งเรียกกันว่า Reduced-form โดยหาปัจจัยต่างๆ ในตลาดการเงินแล้วใช้ข้อมูลย้อนอดีต (Time-Series) เพื่อประมาณผลกระทบต่อจีดีพี ในทางกลับกัน ครุกแมนร่วมกับดีน เบเกอร์ ใช้ข้อมูลแบบลงลึกถึงขนาดระดับ accounting-based ทำการวิเคราะห์แบบระบบสมการเชิงโครงสร้างหรือ Structural Analysis ซึ่งครุกแมนมีบลั๊ฟว่า หากจะกล้าสรุปแบบที่ฟันธงว่าระบบการเงินที่กระตุกขึ้นมาแบบรุนแรงจนทำให้วิกฤติแบบลากยาวนั้น เบอร์นันเก้ต้องใช้วิธี Structural Analysis อย่างที่เขาทำ ซึ่งจะทำให้เห็นกลไกการเชื่อมโยงหรือ Transmission Mechanism ระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ครุกแมนมีทางลงให้กับความเห็นต่างของเขาและเบอร์นันเก้ว่าเขาเองศึกษาในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า ในขณะที่เบนศึกษาในช่วง 1-2 ปีแรก เลยทำให้ผลออกมาต่างกัน

ด้านเบอร์นันเก้ได้เขียนตอบกลับว่าหากพิจารณาให้ดี แม้ตัวเลขสินเชื่อบ้านและอสังหาริมทรัพย์ก่อนวิกฤติ จะไม่ได้ชี้ว่าจะมีวิกฤติการเงินเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทว่าเขาเคยออกบทวิจัยร่วมกับมาร์ค เกิร์ตเลอร์ และไซมอนด์ กิลไคร์สต์ ในปี 1999 ว่าการลดหนี้หรือ deleveraging ของงบดุลภาคครัวเรือน มีส่วนต่อวิกฤติเศรษฐกิจอย่างที่ครุกแมนเชื่อ ทว่าหากระบบการเงินสหรัฐไม่เข้าขั้นโคม่าในเดือน ก.ย.2008 วิกฤติซับไพร์มจะไม่เกิดขึ้นจากเพียงแค่จากความไม่สมดุลของตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือครุกแมนมองว่ารวมถึงตราสารหนี้ซับไพร์ม

ในประเด็นนี้ ผมขอออกความเห็นส่วนตัวว่า พื้นความรู้เดิมหรือความถนัดของทั้งคู่ มีผลต่อข้อสรุปของสาเหตุที่พวกเขาฟันธงว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในรอบที่ผ่านมา โดยผลงาน Signature ของเบอร์นันเก้ ไม่ใช่การศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุค 1980 อย่างที่หลายคนทราบกัน ทว่าผลงานชิ้นที่ใส่ ตัวกลางของระบบการเงิน หรือ Financial Intermediaries ลงไปในตัวแบบจำลองทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Financial Accelerator เป็นครั้งแรก เพื่อแสดงถึงผลกระทบของสถาบันการเงินต่อพลวัตทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดความแน่นอนต่อระบบเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเบอร์นันเก้ ซึ่งความเด่นตรงนี้ ทำให้เมื่อเกิดการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ในปี 2008 เบอร์นันเก้จึงอ่านเกมเพื่อที่จะหาทางแก้ไขเหตุการณ์ช่วงคับขันในเดือน ต.ค.2008 ได้แบบไม่เจ็บตัวเกินเหตุ

นอกจากนี้ ตัวเบอร์นันเก้เอง ในฐานะที่เป็นอดีตประธานเฟด มีแนวโน้มที่จะชี้ไปว่าดัชนีทางการเงินที่เกิดกระตุกขึ้นอย่างแรงในช่วงเดือน ก.ย. 2008 เป็นต้นเหตุของวิกฤติการเงินโลก 2008 เนื่องจากหากเขาเชื่อว่าวิกฤติเป็นผลมาจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก นั่นหมายความว่าเบอร์นันเก้เองละเลยสัญญาณดัชนีอสังหาริมทรัพย์ที่แม้จะไม่ชัดเจนว่าถึงขั้นจะเกิดวิกฤติ ทว่าหากมองดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆ ในภาพใหญ่แบบบูรณาการ ผมว่าก็พอจะอนุมานได้ว่าวิกฤติใหญ่กำลังรออยู่ตรงหน้า อย่างที่นูเรล รูบินีทำนายไว้แต่เขาก็ไม่รู้ช่วงเวลาที่ชัดเจน

หันมาฝากครุกแมนบ้าง หลายคนทราบดีว่าครุกแมนโดดเด่นจากผลงานการสร้างแบบจำลอง Currency Model รุ่นแรก ที่ชี้ถึงความไม่เสถียรของระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในระบบเศรษฐกิจเปิดแบบเสรี ที่นักเก็งกำไรพร้อมถล่มค่าเงินประเทศนั้น เนื่องจากสำรองเงินตราระหว่างประเทศมีจำกัด แต่หากใครเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของครุกแมน จะทราบว่าครุกแมนเป็นอัจฉริยะด้านการใช้เรขาคณิตในการพิสูจน์ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ และที่น้อยคนมากๆ จะทราบคือ ครุกแมนเก่งในวิชา Spatial Economics หรือเศรษฐศาตร์ที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมือง ซึ่งผมมองว่าแม้เขาจะห่างจากงานทางด้านนี้มานาน แต่ Sense ของครุกแมนในเรื่องนี้ยังดีมาก และนี่คือสาเหตุที่เขาและโรเบิร์ต ชิลเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล มองออกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐที่เขาเตือนมา 2-3 ปีก่อนวิกฤตซับไพร์ม ว่าเริ่มจะส่อเค้าว่าจะเป็นวิกฤต

โดยคำตอบของปริศนานี้ มีความสำคัญสุดๆ ต่อบริบทการวิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตเป็นอย่างมาก

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645949

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Learn Relearn Unlearn


อริญญา เถลิงศรี

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า โดยปกติคนไม่ชอบอยู่ในภาวะของ “ความไม่รู้” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่ในขณะเดียวกันคนเราก็ไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นแปลว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาวะของความไม่รู้ก็คือ การหมั่นเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่คนมักจะเข้าใจผิดอยู่เสมอ และดิฉันต้องการที่จะชี้แจง นั่นคือ การเรียนรู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่การใส่ข้อมูลความรู้เข้าไปแค่อย่างเดียว หากแต่การเรียนรู้ที่ถูกต้องประกอบไปด้วย การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ (Relearn) ทั้งนี้ขั้นตอน Unlearn และ Relearn มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะว่าเคล็ดลับของการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือความเต็มใจและยินดีที่จะยอมละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มา แล้วลองค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาทดแทน แม้ว่าวิธีการนั้นๆ จะเคยนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม

คำพูดที่ว่า “เจ้านายรู้ดีที่สุด” นั้นอาจใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์อีกต่อไปแล้ว เมื่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ท้าทายก็คือ เมื่อนายไม่ได้รู้ทุกเรื่องแล้วลูกน้องจะคาดหวังให้พวกเขาเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร

ทางออกคือผู้นำต้องพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง และรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับที่แลรี ฟิงค์ ผู้บริหารเครือ Black Rocks บริษัทที่บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ของโลกผู้ซึ่งได้รับตำแหน่ง CEO of the Decade จากนิตยสาร Financial Times ในปี 2554 กล่าวไว้ว่า “การทำตัวเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลาจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ เพราะมันทำให้พวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และยอมละทิ้งองค์ความรู้เก่าๆ ที่อาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว”

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่นี้ Learn หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือการหาความรู้เพิ่มเติมหรือการรับรู้ข้อมูลบางอย่าง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เราเกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

Unlearn คือการไม่ยึดติด ละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรายอมเปิดรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว โดย unlearn นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม unlearn ไม่ได้หมายความเพียงแค่การลืมสิ่งที่เคยรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธความเชื่อของตนที่เคยยึดถือปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ หรือเลิกยึดติดกับทฤษฎีที่ใช้กันมายาวนาน และก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องละทิ้งประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมด หรือบอกว่าวิธีการที่เราใช้มาในอดีตนั้นไม่สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงการกระตุ้นให้เราหมั่นเปิดรับแนวทางที่แตกต่างออกไปในการทำสิ่งต่างๆ

Relearn คือการเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เราได้รับจากมุมมองนั้นๆ นั่นแปลว่าคนเราสามารถเรียนรู้บางอย่างในแง่มุมใหม่ได้เสมอ และเราสามารถพัฒนาความรู้และทักษะของเราได้ตลอดเวลา

คำถามคือ เราจะสามารถสร้างกลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรในที่ทำงาน – หลักการง่ายๆ 5 ประการที่ดิฉันจะกล่าวถึงต่อไปนี้คือวิธีการเบื้องต้นที่ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรเลิกยึดติดกับสิ่งที่เคยรู้มาเพื่อก้าวไปสู่การเรียนรู้ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนแรก ระบุสิ่งที่ต้องละทิ้งและสิ่งที่จะนำมาใช้แทน – เมื่อคุณกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอน คุณต้องลองฝึกถามตัวเองว่ากรอบความคิดเก่าๆ เรื่องใดที่ใช้ไม่ได้แล้วและจะต้องใช้มุมมองความคิดแบบใดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้น

ขั้นที่สอง อธิบายเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง – โดยปกติ หากคนเราเข้าใจเหตุผลที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถเปิดใจและพร้อมที่จะเลิกนิสัยและวิธีการเก่าๆ ได้ดีกว่าการให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่รู้สาเหตุ

ขั้นที่สาม ให้ข้อมูลป้อนกลับ – เพราะคนเรามักไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรได้ดีหรือไม่ดี หรือมีอะไรที่ฉุดรั้งให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือไม่ การให้ข้อมูลป้อนกลับแบบ 360 องศาจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถให้มุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ เมื่อคนเราได้รับข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของตนเองอย่างชัดเจน เขาก็จะรู้ว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่ควร unlearn และตรงไหนบ้างที่ควร relearn

ขั้นที่สี่ ให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการโค้ช – การเปลี่ยนนิสัยของตนเองโดยที่ไม่มีผู้ช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การโค้ชจะช่วยให้คนเราเลิกนิสัยเก่าๆ และเริ่มปรับตัวเป็นคนใหม่ได้ง่ายขึ้นตามแนวทางที่วางไว้อย่างเป็นแบบแผน เพราะโค้ชจะสามารถชี้ให้เรามองเห็นนิสัยแย่ๆ ที่เป็นปัญหาต่อทั้งตนเอง เพื่อนร่วมงาน และองค์กร ได้อย่างชัดเจน

ขั้นตอนสุดท้าย เริ่มต้นที่ตนเอง – ปัญหาที่พบในผู้นำหลายคนคือ พวกเขาต้องการให้ลูกน้องได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวผู้นำเองกลับไม่สนใจที่จะทำเพราะคิดว่าการกระทำดังกล่าวให้ดีขึ้นเป็นเรื่องของลูกน้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผู้นำที่ดีต้องเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ตนเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและเพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นดำเนินรอยตาม

เรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้นำหลายคนคิดว่าเข้าใจอยู่แล้ว ความเชื่อเช่นนี้ควรที่จะถูก unlearn และ relearn ใหม่ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนรู้ใหม่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังรวมถึงการไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ ด้วย ดังที่นักเขียนชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “คนที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 จะไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่จะหมายถึงผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ ละทิ้งความรู้เดิม แล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่ได้”…

หมายเหตุ: อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป
ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2557

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

วิกฤติเศรษฐกิจโลก

โดย ศักดิ์
www.stock2morrow.com
3 April 2018


1) ความบ้าคลั่งดอกทิวลิบ ( The Tulip Mania ) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี ค.ศ  1636

2) ฟองสบู่หุ้นบริษัทเซ้าส์ซี ( The South Sea Bubble ) ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ 1720

3) การตกตํ่าครั้งใหญ่ ( The Great Depression ) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ 1929

4) วิกฤตการณ์พลังงานครั้งที่ 1 ( The First Oil Crisis ) ทั่วโลก ปี ค.ศ 1973

5) วันจันทร์ทมิฬ ( Black Monday ) ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ 1987

6) วิกฤติเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ 1989

7) วิกฤติต้มยํากุ้ง ประเทศไทย ปี ค.ศ 1997

8) ฟองสบู่ Dot Com ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ 2000 เมื่อ Fed Fund Rate ทําจุดสูงสุดในรอบนี้ที่ 6.50% เมื่อเดือน มีนาคม ปี ค.ศ 2000 ก่อนฟองสบู่จะแตก

9) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ 2008 เมื่อ Fed Fund Rate ทําจุดสูงสุดในรอบนี้ที่ 5.25% เมื่อเดือน มิถุนายน ปี ค.ศ 2006 ก่อนฟองสบุ่จะแตก เนื่องจากปัญหาหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ ( Subprime ) ของสหรัฐอเมริกา

10) วิกฤติหนี้สินยุโรป ปี ค.ศ 2011

11) ผู้โพสต์คาดว่าฟองสบู่ครั้งต่อไปน่าจะเกิดในปี ค.ศ 2021 เมื่อ Fed Fund Rate ขึ้นไปทําจุดสูงสุดในรอบนี้ที่ 4.25% เนื่องมาจากปัญหาหนี้สินของประเทศที่มีหนี้สินมากๆ เช่น ประเทศจีน เป็นต้น และ ผู้โพสต์ขอคาดการณ์ต่อไปว่า " ฟองสบู่แตกครั้งต่อไปจะเป็นฟองสบู่ที่รุนแรงที่สุดในโลก "

Source: https://www.stock2morrow.com/

วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

แก้ว 3 ดวงของบัฟเฟตต์

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
13 กุมภาพันธ์ 2561

การปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐและอีกหลายตลาดทั่วโลก (ยกเว้นตลาดหุ้นไทย) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นต้องถือว่ารุนแรงและน่ากลัวเนื่องจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ได้ปรับตัวลงมาถึง 2,326 จุดหรือลดลง 8.88% ในเวลาทำการเพียง 6 วัน จากวันที่ 2 ถึง 9 กุมภาพันธ์ 2018  แต่ถ้านับย้อนหลังไปถึงวันที่ 26 มกราคม 2018 ที่ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 26,617  จุด  การปรับตัวลงมารอบนี้ก็ลดลงมาถึง 10% ในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่ทำให้หุ้นตกนั้นน่าจะเกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำมากที่ดำรงมาประมาณ 10 ปีหลังจากวิกฤติซับไพร์มของอเมริกานั้นดูเหมือนว่าจะเริ่ม “กลับทิศ” ซึ่งทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นหวั่นเกรงว่าการปรับตัวของหุ้นที่ขึ้นต่อเนื่องมา 10 ปีอย่างรวดเร็วและมั่นคงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นอาจจะถึงเวลาสิ้นสุดลง   นักลงทุนซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์เทรดหุ้นทั้งหลายจึงเทขายหุ้นกันอย่างหนัก

แต่นักลงทุนคนหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้ขายหุ้นและ “เจ็บตัว” มากที่สุดคนหนึ่งก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์   ความเสียหายของเขาตกอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินบาทก็ประมาณไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ในเวลาเพียง 5-6 วันทำการ  อย่างไรก็ตาม  ความมั่งคั่งของเขาก็ยังอยู่ที่ประมาณ 84,000 ล้านเหรียญ ใกล้จุดสูงสุดในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์  ดังนั้น  เขาคงไม่สะเทือนอะไรนัก  น่าจะเรียกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้  นอกจากนั้น  ผมเองคิดว่าบัฟเฟตต์เองก็ไม่ได้เสียใจอะไรนัก  เพราะนี่ไม่ใช่การ “ขาดทุนจริง”  มันเป็นเพียง “ตัวเลข” ที่ลดลงซึ่งในที่สุดถ้าบริษัทที่เขาลงทุนยังดีเหมือนเดิม  ราคาหุ้นก็จะกลับขึ้นมาเอง   ว่าที่จริงบัฟเฟตต์อาจจะดีใจด้วยซ้ำ  เพราะเขามีเงินสดเหลืออยู่มาก  เพราะฉะนั้น  เขาก็จะสามารถเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่ถูกลงซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ในฐานะที่เป็นนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุน  “ตลอดชีวิต”  การที่หุ้นมีการปรับตัวขึ้นลงนั้นเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องรับกับมันให้ได้เป็นอย่างดี  เราไม่ต้องดีใจหรือเสียใจเพราะมันมักไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนไปจากความเป็นจริงที่ว่า  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  สำหรับแต่ละคนจะมีความมั่งคั่งมากน้อยเท่าไรในชีวิตนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับ  “ความสว่างไสวของดวงแก้ว 3 ดวงของแต่ละคน”  นั่นคือ  1)  จำนวนเงินต้นจากแหล่งอื่นที่นำมาลงทุน  2)  ผลตอบแทนระยะยาวแบบทบต้นของการลงทุนแต่ละปี  และ 3)  ระยะเวลาที่ลงทุน  ใครมีเงินต้นมาก  ได้ผลตอบแทนแบบทบต้นต่อปีสูง  และมีระยะเวลาการลงทุนนานเท่าไร  เขาก็จะรวยหรือมั่งคั่งมากขึ้นเท่านั้น

ผมลองตรวจสอบแบบหยาบ ๆ  จากข้อมูลการลงทุนของบัฟเฟตต์แล้วก็พบความจริงที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

บัฟเฟตต์เองน่าจะมีแก้วดวงแรกที่สว่างพอสมควรแต่ก็ไม่ได้สว่างมาก  จริงอยู่  ครอบครัวของบัฟเฟตต์ในช่วงที่เขาเริ่มลงทุนนั้นน่าจะเป็นคนมีฐานะพอสมควร  เพราะพ่อของเขานั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอเมริกาหลายสมัยและยังเป็นเจ้าของธุรกิจคือเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย  แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่เคยได้เงินจากพ่อ  เขาหาเงินเองมาตั้งแต่เด็กโดยการทำงานสารพัดรวมถึงการลงทุนทำธุรกิจเล็ก ๆ  หลายอย่าง    หลังจากเข้ามาลงทุนเป็นอาชีพโดยการรับบริหารเงินกองทุนนั้น  เขาก็ได้ส่วนแบ่งกำไรเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากทำผลงานได้ดี  โดยสรุป  ผมประมาณว่าเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของบัฟเฟตต์นั้นน่าจะอยู่ประมาณล้านเหรียญเศษ ๆ  ซึ่งในความคิดผมก็คือมากพอสมควรในยุค 60 ปีก่อน  พูดง่าย ๆ  ดวงแก้วดวงแรกของบัฟเฟตต์นั้น  ไม่ได้สว่างมากแต่ก็ไม่เลวทีเดียว  คนทั่วไปที่มีความสามารถสูงและประหยัดอดออมก็น่าจะสามารถทำได้

ดวงแก้วดวงที่สองหรือผลตอบแทนทบต้นต่อปีของการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นต้องถือว่าสว่างไสว “สุดยอด”  หาคนเทียบได้ยาก  อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตที่ผมพบว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ของการลงทุนนั่นก็คือ  ความสว่างไสวนั้นจะค่อย ๆ  ลดลงเมื่อพอร์ตหรือเม็ดเงินลงทุนโตขึ้น  สถิติผลตอบแทนการลงทุนในช่วงแรกของบัฟเฟตต์คือช่วงที่กองทุนยังจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนบัฟเฟตต์ตั้งแต่ปี 1957-1969 เป็นเวลา 13 ปีนั้น  บัฟเฟตต์ทำผลงานได้ถึงปีละ 29.5% แบบทบต้นซึ่งถือว่าเป็นผลงาน “สุดยอด”  อย่างไรก็ตาม  สถิตินี้ผมคิดว่า VI ไทยจำนวนไม่น้อยสามารถทำได้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่ปี 1970-1989 เป็นเวลา 20 ปีนั้น  เครื่องมือที่ใช้ในการลงทุนของบัฟเฟตต์ก็คือบริษัทเบิร์กไชร์แฮทเธอเวย์  บัฟเฟตต์สามารถลงทุนทั้งแบบเทคโอเวอร์ธุรกิจและซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และทำผลตอบแทน  “ยอดเยี่ยม”  ถึงปีละประมาณ 22% แบบทบต้น  นี่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานและด้วยเม็ดเงินจำนวนมากซึ่งผมคิดว่าจะหาคนที่สามารถทำได้ยากมาก  และในช่วงปลายยุคนี้ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็น  “ซุปตาร์” ของวงการลงทุน  เป็นทั้งเซียนและคนที่รวยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศและของโลก

ตั้งแต่ปี 1990 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 28 ปีนั้น  บัฟเฟตต์มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลและกลายเป็น “เซเล็บ”  ในแวดวงการลงทุนและในหมู่ประชาชนทั่วไปไม่มีใครไม่รู้จักบัฟเฟตต์  การเคลื่อนไหวต่าง ๆ  ของบัฟเฟตต์เป็นที่จับตามองของสื่อ  บทบาทของบัฟเฟตต์ก็คือการเป็น  “ผู้นำมากบารมีของนักธุรกิจและนักลงทุน”  อย่างไรก็ตามเขาก็ยังลงทุน “เต็มร้อย” แม้ด้วยวัยที่สูงถึง 85 ปีแล้ว  สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ผลงานของบัฟเฟตต์ก็ยังดีเยี่ยมที่ประมาณ 14.6%  ต่อปีแบบทบต้น  ตัวเลขนี้หลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนรายเล็กของเมืองไทยอาจจะมองว่าไม่สูง  แต่ความจริงก็คือมันสูงมากถ้ามองว่าเป็นผลตอบแทนระยะยาวเกือบ 30 ปีและด้วยพอร์ตขนาดมหึมา

ถ้ามองการเติบโตของเม็ดเงินในแต่ละช่วงของกองทุนของบัฟเฟตต์โดยคิดว่าเขามีเงินเริ่มต้น 1 ล้านเหรียญ  ในช่วงแรกความมั่งคั่งของเขาก็จะกลายเป็น 28.8 ล้าน  พอสิ้นสุดช่วงที่สอง  ก็จะกลายเป็น 1537.2 ล้าน  จนถึงปัจจุบันที่อยู่ในช่วงที่ 3 ก็กลายเป็น ประมาณ 70,000 ล้านเหรียญ   ถ้าคิดผลตอบแทนตลอดทั้ง 3 ช่วงเป็นเวลาประมาณ 61 ปี  ผลตอบแทนที่บัฟเฟตต์ทำได้ก็อยู่ที่ประมาณ 20% ต่อปีแบบทบต้นโดยที่ความผันผวนปีต่อปีที่รวมถึงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นแทบจะไม่มีผลอะไรต่อผลตอบแทนระยะยาวและความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์เลย

สิ่งสำคัญที่แทบจะไม่แพ้ผลตอบแทนต่อปีของการลงทุนหรือแก้วดวงที่ 2 ก็คือแก้วดวงที่ 3 หรือระยะเวลาของการลงทุน  บัฟเฟตต์ลงทุนต่อเนื่องมา 61 ปี  โดยที่มีช่วงสั้น ๆ  ประมาณ 2-3 ปีเท่านั้นที่เขา  “ออกจากตลาด” ไปเนื่องจากความกังวลเรื่อง  “ฟองสบู่” ของตลาดหุ้นและคิดว่าตนเองรวยพอแล้วและ “อาจจะมีสิ่งอื่นในชีวิตที่น่าทำกว่า”  ก็ต้องถือว่าบัฟเฟตต์นั้นมีแก้วดวงที่ 3 ที่สุกสว่างมากไม่แพ้แก้วดวงที่ 2  และด้วยแก้ว 3 ดวงที่สว่างไสวมากนี้เองที่ทำให้บัฟเฟตต์ร่ำรวยติดอันดับต้น ๆ  ของโลกมายาวนานกลายเป็น  ตำนานที่ยังมีชีวิตของนักลงทุนเอกของโลก

ประสบการณ์และชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้  แน่นอน  เราคงไม่รวยเท่าเขา  แต่ถ้าเรามีความตั้งใจ  ปรับแก้วทุกดวงของเราให้สว่างพอแม้แต่เพียงเศษเสี้ยวของบัฟเฟตต์แล้ว  ความสำเร็จและความมั่งคั่งก็รอเราอยู่  แม้ว่ามันจะต้องใช้เวลาแต่ถ้ามันเป็นเวลาที่มีความสุขเราก็ไม่ต้องเดือดร้อนกระวนกระวายแม้ว่าบางช่วงบางตอนหุ้นจะ  “ตกลงมาอย่างหนัก”  และทั้งหมดนี้ผมก็พูดเพื่อปลอบและเตือนใจให้ทุกคนทำตัวให้สบายในกรณีที่หุ้นตกหนัก  จำไว้ว่า  “แล้วมันก็จะผ่านไป”

Source: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643896

โลกยุค 5G

โลกยุค 5G จากยักษ์โทรคมนาคมญี่ปุ่น
โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เผยแพร่: 12 ก.พ. 2561 17:15:00 
WWW.manager.co.th

สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของภาคเอกชนและสำนักงาน กสทช. ได้จัดการสัมมนาประจำปี 2561 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G และประเทศไทย 4.0 ขึ้น โดยมีผู้บริหารของ NTT DOCOMO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ยุค 5G

อย่างที่เราทราบกันดีว่า 5G จะมีความเร็วสูงระดับกิกะบิตซึ่งเร็วกว่า 4G หลายสิบเท่าตัว แต่คุณสมบัติที่สร้างความแตกต่างอีก 2 ประการคือ ความหน่วงในการรับส่งข้อมูลต่ำมากในระดับหนึ่งส่วนพันวินาที ทำให้ประยุกต์ใช้กับการควบคุมทางไกลได้ฉับไว เช่น การกู้ภัย การควบคุมเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ หรือแม้แต่การแพทย์ทางไกล และอีกคุณสมบัติหนึ่งก็คือการรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้นับล้านๆ ชิ้นต่อตารางกิโลเมตร จึงสามารถรองรับยุค IoT (Internet of Things) ที่อุปกรณ์ของใช้ของมนุษย์ล้วนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

5G จึงเป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรมการสื่อสารซึ่งเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว

ปัจจุบันทิศทางของรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนไปมาก จากเดิมรายได้หลักมาจากการโทร.ออกรับสายในยุค 2G และเปลี่ยนมาเป็นรายได้จากการรับส่ง data ในยุค 3G และ 4G ตามลำดับ แต่แนวโน้มจำนวนคนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นช้าลงกว่าเดิม และทิศทางรายรับรวมเริ่มเป็นขาลง แม้คนจะใช้งาน data จากการ upload/download video กันมากขึ้นก็ตาม แต่สำหรับ NTT DOCOMO แล้ว ได้ปรับตัวล่วงหน้าโดยผสานธุรกิจ Smart Life ต่างๆ เข้ามาในบริการ เช่น การให้บริการเนื้อหารายการหรือการถ่ายทอดสด การให้บริการทางการเงินหรือการชำระเงิน การให้บริการเชื่อมต่อ IoT กับลูกค้าองค์กร การให้บริการสนับสนุนข้อมูลสุขภาพ การให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น และรายได้จาก Smart Life Domain นี้มีทิศทางเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้รวมของบริษัทพลิกกลับเป็นขาขึ้นได้

ทิศทางหลักของการให้บริการในยุค 5G จึงต้องมุ่งไปที่การสร้างพันธมิตร สร้างความร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ solution ใหม่ๆ สำหรับธุรกิจและสังคม รูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็น B2C (Business to Customer) หรือ B2B (Business to Business) เป็น B2B2C หรือแม้แต่ B2B2G (Government) เป็นต้น

ในปัจจุบัน NTT DOCOMO มีพันธมิตรแล้ว 394 องค์กรและจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

สิ่งที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์นี้คือ 'ข้อมูล' ในยุค IoT อุปกรณ์หลักคือตัวเซ็นเซอร์ ที่คอยตรวจวัดข้อมูลที่ต้องการ เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ หรือตรวจวัดสิ่งอื่นๆ แล้วส่งข้อมูลมาประมวลผล นอกจากจะแจ้งผลการประมวลไปที่ปลายทาง ซึ่งอาจจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือองค์กรพันธมิตรแล้ว ระบบนิเวศนี้ยังทำให้เรามี Big data ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อีกมากมาย

แต่เดิม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นลักษณะการสมัครบริการที่มีอายุตามสัญญาใช้บริการ เมื่อเลิกสัญญาจำนวนลูกค้าก็ลดลง และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ได้อีกต่อไป ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น e-commerce หรือ Social Network ต่างๆ กับสมาชิกของตน ที่แม้จะหยุดการใช้งาน แต่ถ้ายังไม่แจ้งออกจากการเป็นสมาชิก ก็ยังนับเป็นลูกค้าอยู่ จำนวนสมาชิกจึงมีทิศทางเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในภาพรวมได้ต่อไป

NTT DOCOMO จึงเปลี่ยนแนวคิดจาก subscriber มาเป็น member และได้พัฒนาระบบบัญชีสมาชิก +d account และมีการสะสมคะแนน +d point ทำให้ผู้ใช้งานเข้าสู่ +d market เพื่อเป็นระบบนิเวศใหม่ของธุรกิจ

5G ไม่ใช่เพียงการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และเครื่องจักรกับเครื่องจักร และไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต
5G ไม่ใช่เพียงการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และเครื่องจักรกับเครื่องจักร และไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแท็บเล็ต

องค์กรพันธมิตรก็จะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสมาชิกจะใช้บริการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงินหรือบริการรายการบันเทิงหรือบริการอื่นๆ ก็ยังทำผ่านระบบสมาชิกนี้ จึงมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสมาชิกในด้านต่างๆ ไว้ และสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อที่จะได้เสนอหรือพัฒนาบริการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นไป บริการในระบบนี้ ซึ่งรวมถึงบริการของ NTT DOCOMO และบริการขององค์กรพันธมิตร จึงเป็นระบบที่เกื้อหนุนทุกฝ่าย รูปแบบบริการ Smart Life Domain ก็จะทดแทนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเก่าที่มีแต่การโทร.ออกรับสายและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ในส่วนการให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการนั้นคงจะเกิดขึ้นไม่เกินปี พ.ศ. 2563 แต่เราจะเห็นการทดลองบริการ 5G ก่อนหน้านั้น ในมหกรรมกีฬาระดับโลกต่างๆ อย่างเช่น การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2561 ที่พย็องชังประเทศเกาหลี การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2562 ที่กรุงโตเกียว และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2563 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเราจะได้เห็น use case ของ 5G จริง ที่ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายในยุค IoT

ในด้านการถ่ายทอดรายการต่างๆ ก็จะมีความตระการตามากกว่าเดิม ไม่ใช่ในแง่ของความละเอียดของภาพอย่าง HD ไปสู่ 4K หรือ 8K เท่านั้น เพราะความละเอียดที่มากกว่า 8K ก็คงไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้กับสายตาของมนุษย์สักเท่าใด แต่จะมีการผสานกับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม

จะเห็นได้ว่า 5G ไม่ใช่เพียงการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร และเครื่องจักรกับเครื่องจักร และไม่ใช่แค่การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแทบเล็ต การประยุกต์ใช้ 5G จะทำให้การใช้งานโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นมหาศาล และสามารถเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตในสังคม โดยรูปแบบการให้บริการต้องมีการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างลงตัว อย่างเช่น บ้านหรืออาคารอัจฉริยะ เมืองอัจริยะ อุปกรณ์อัตโนมัติ หรือแม้แต่รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์ที่ควบคุมทางไกลผ่าน 5G หรือหุ่นยนต์ที่มี AI เป็นต้น

เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่างๆ มีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ไม่ว่าจะเป็น 2G 3G หรือ 4G ซึ่ง 4G ก็เปิดให้บริการในหลายประเทศมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว 5G จึงไม่ใช่เรื่องจินตนาการ และกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปี ประเทศไทยคงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการก้าวสู่ยุค 5G ไม่ว่าจะในด้านการลงทุนโครงข่ายและอุปกรณ์ใหม่ การเตรียมคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อบริการ ไม่ว่าจะเป็นย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ซึ่งในคลื่นย่านความถี่สูงมากอย่าง 27-28 GHz ที่เรียกว่า millimeter-wave อาจไม่จำเป็นต้องจัดการประมูลคลื่นความถี่

แต่ที่สำคัญที่สุดของการเตรียมตัว คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เกี่ยวระบบนิเวศของการให้บริการ ที่ต้องผสมผสานบริการอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ระบบการสื่อสารของเราตอบสนองทุกมิติชีวิตของผู้ใช้งาน และสังคมสามารถใช้ประโยชน์จาก 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การคิดเรื่อง 5G จึงต้องยกระดับจากการคิดแบบ Telecommunications Services ไปสู่การมองให้เห็น Platform และ Ecosystem ใหม่

5G จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะสนับสนุนประเทศไทย 4.0 ได้ตามหัวข้องานสัมนาที่สมาคมโทรคมนาคมทั้งสองประเทศได้ร่วมกันจัดขึ้น

วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พลังดูดดาวชาวโพ้นทะเล จีนขยาย 5 ปี วีซ่าลูกหลานชาติพันธุ์มังกร

พลังดูดดาวชาวโพ้นทะเล จีนขยาย 5 ปี วีซ่าลูกหลานชาติพันธุ์มังกร
เผยแพร่: 3 ก.พ. 2561 10:10:00   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล
https://mgronline.com/china/detail/9610000011137
 แผนภาพแสดงจำนวนประชากรจีนโพ้นทะเลที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก (ภาพจาก http://greaterpacificcapital.com)

แผนภาพแสดงจำนวนประชากรจีนโพ้นทะเลที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก (ภาพจาก http://greaterpacificcapital.com)

MGR Online / เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ (30 ม.ค.) - ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษจากประเทศจีน จะได้รับอนุญาตให้ยื่นขอวีซ่าเพื่ออนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา 5 ปี หรือเข้าออกประเทศหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว (Multiple Entry) หากพวกเขามีคุณสมบัติตามเกณฑ์

นโยบายฉบับใหม่ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้มีการปรับปรุงวีซ่า Multiple Entry โดยล่าสุด สำหรับกลุ่มนี้ ชาวต่างชาติที่สืบเชื้อสายมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จะสามารถขยายระยะเวลาการพำนัก หรือเข้าออกประเทศหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวได้ตั้งแต่ 3 - 5 ปี

ตามที่ทางการประกาศโดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่าจะดึงดูดผู้คนชาติพันธุ์จีนจำนวนมากในต่างประเทศเพื่อเข้ามาทำธุรกิจหรืออาศัยอยู่ในประเทศจีนได้

ตามคำจำกัดความอย่างเป็นทางการของจีน คนต่างด้าวที่มีถิ่นกำเนิดในจีน หมายถึงพลเมืองจีนเดิมที่ได้รับสัญชาติของต่างประเทศ หรือลูกหลานของอดีตพลเมืองจีน

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษคนหนึ่งเป็นพลเมืองจีน โดยไม่จำกัด จำนวนหรือลำดับของรุ่นสืบทอดเชื้อสาย เพียงสามารถพิสูจน์ชาติกำเนิดจีนก็เพียงพอ อาทิ เอกสารประจำตัวทางการ ที่พิสูจน์แหล่งกำเนิดของประเทศจีน

แนวคิดสิทธิพิเศษสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลนี้ เบื้องต้นหลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อช่วยกระตุ้นแรงงานเศรษฐกิจใหม่ๆ สร้างธุรกิจ หรือปรับสมดุลแรงงานจีนที่เริ่มปรับตัวลดต่ำตามโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่หากติดตามแนวคิดเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเข้าใจว่านโยบายชาวจีนโพ้นทะเล คือพลังสร้างชาติจีนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และได้รับการเน้นย้ำสำคัญ ในยุคสี จิ้นผิง อีกครั้ง

นโยบายชาวจีนโพ้นทะเล เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ผู้เชื่อว่าชาวจีนโพ้นทะเลมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีน มุมมองดังกล่าวไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ได้สร้างความเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับจีน ตลอดช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขามีอำนาจมากขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2555 China.org.cn. เคยเผยตัวเลขประชากรจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ในเอกสาร "Reforms urged to attract overseas Chinese" ว่ามีอยู่ทั่วโลกราว 50 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ประชากรจีนโพ้นทะเลมีสัดส่วนเป็นประชากรในประเทศสิงคโปร์ 75%, ในประเทศไทย 14%, มาเลเซีย 23%, อินโดนีเซีย และบรูไน ประเทศละ 10% เหล่านี้ คงสมกับคำเปรียบเปรยที่เคยมีผู้กล่าวเล่นๆ ว่า "หากคนเชื้อสายจีนทั่วโลกกระโดดพร้อมกัน พื้นโลกคงจะสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว"

เพียงเฉพาะเมืองท่าฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางใต้ของจีน บ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อพยพถิ่นฐานไปต่างประเทศ ก็เป็นมณฑลที่ สี จิ้นผิง เองมีความผูกพันมาก ด้วยทำงานนานถึง 17 ปี และเติบใหญ่จากพื้นที่นี้ เป็นรองนายกเทศมนตรีเมืองเซียะเหมินในปี 2528 ก่อนจะเป็นนายกเทศมนตรีเมืองฝูโจว เมืองเอกของฝูเจี้ยน โดยดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2545

ประมาณกันว่า ชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 2.5 ล้านชีวิต ที่กระจายอยู่ใน 50 กว่าประเทศและเขตแดนทั่วโลก เดินทางมาจากเมืองฝูโจว ท่าริมทะเลเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความภาคภูมิใจของมวลชนสายเลือดจีนอย่างล้นเหลือ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งวงการวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในวงการวิสาหกิจระดับโลก ตัวอย่างเช่น เจ้าพ่อการเงินและการคลัง หลินเส้าเหลียง (林绍良) เจ้าพ่อน้ำตาลโลก กัวเฮ่อเหนียน (郭鹤年) ราชาบุหรี่ ไช่หยวนฮุย (蔡元辉) และพ่อค้าไม้ผู้ยิ่งใหญ่ หวงซวงอัน (黄双安)

จวง กั่วถู วัย 64 ปี ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มณฑลฝูเจี้ยน ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน คือหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษา และวิจัยฯ ช่วยงานรัฐบาลกำหนดนโยบายการมีส่วนร่วมกับชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้น

ล่าสุดปีที่แล้ว จวง กั่วถู เคยให้สัมภาษณ์กับ นิคเคอิ (Nikkei) สื่อญี่ปุ่น เกี่ยวกับบทบาทของจีนโพ้นทะเลกับประเทศจีนในยุคสมัยผู้นำ สี จิ้นผิง ว่า ข้อมูลตัวเลขฯ ล่าสุด สำรวจพบจำนวนผู้อพยพชาวจีนรวมทั้งชาวจีนผู้เปลี่ยนสัญชาติ อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านคน จำนวนดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีผู้ศึกษาอยู่ในต่างประเทศมากขึ้น ในแง่ของประชากร 60 ล้านคนนี้ นับว่าใกล้เคียงกับประเทศหนึ่งๆ เลยทีเดียว จำนวนประชากรนี้หากเทียบลำดับเป็นประเทศ ก็อยู่ประมาณอันดับ 25 ของโลก

โดยรวมแล้วชาวจีนโพ้นทะเล ถือครองสินทรัพย์สินทรัพย์มากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ มีอิทธิพลทางสินทรัพย์เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วทีเดียว

ผู้อพยพชาวจีนที่ร่ำรวยที่สุดมาจากฝูเจี้ยน และโดยส่วนใหญ่ของมหาเศรษฐีในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ก็ล้วนอพยพมาจากฝูเจี้ยน

ประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ในประเทศไทย ก็อพยพจากเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับฝูเจี้ยน

ชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในเซียะเหมินและฝูโจว ดังนั้นสี จิ้นผิง จึงให้ความสำคัญกับชาวจีนโพ้นทะเลอย่างมาก

แม้กระทั่งเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนโยบายการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ในปีพ. ศ. 2521 ก็ให้ความสำคัญ อาศัยพลังมหาศาลของชาวจีนโพ้นทะเลช่วยสร้างชาติ ฟื้นฟูความบอบช้ำจากสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้นเขาจึงได้ริเริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในภูมิลำเนาถิ่นฐานของผู้อพยพ

ถ้าไม่ใช่ภูมิลำเนาฝูเจี้ยนของผู้อพยพชาวจีนนี้ การปฏิรูปและการเปิดเสรีจะต้องใช้เวลามากกว่าจะเกิดผล เพราะบริษัทต่างชาติ ชะลอการลงทุนในจีนตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2532 ในเวลานั้นมีเพียงผู้อพยพชาวจีนที่เป็นกำลังสำคัญ

สี จงชุน อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของประธาน เหมา เจ๋อตง และเป็นบิดาของสี จิ้นผิง คือนักการเมืองคนแรกที่ตระหนักถึงคุณค่าของผู้อพยพชาวจีน ในการประชุมในปีพ. ศ. 2527 ซึ่งรวบรวมผู้บริหารระดับสูงจากชนบทที่ดูแลเรื่องต่างๆ เขากล่าวว่าผู้อพยพชาวจีนมีความสามารถด้านการจัดการ ด้านการเงิน เทคโนโลยีและการจัดการธุรกิจ และเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีนต้องอาศัยบทบาทพวกเขา

โครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งทาง (เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับเอเชียและยุโรป) ประกอบด้วยเส้นทางบกและทางเดินเรือ เส้นทางบกมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เส้นทางการเดินเรือมีความสำคัญมาก ไม่เพียงในด้านความมั่นคง แต่ยังมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของผู้อพยพชาวจีน

สี จิ้นผิง เข้าใจถึงความสำคัญของชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ จึงริเริ่มที่จะรวมเส้นทางเดินเรือไว้ด้วย

แม้สหรัฐฯ เอง ก็กำลังมีจำนวนผู้อพยพชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพชาวจีน ประมาณ 4.6 ล้านคน คาดว่าจะขยายตัวเป็น 6 ล้านคน ภายใน 10 ปี และเป็น 10 ล้านคน ภายใน 20 ปี ซึ่งหมายความว่าชาวจีนโพ้นทะเล อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันนี้ ผู้อพยพหลายคนที่ทำงานในสหรัฐฯ ก็เป็นชาวฝูเจี้ยน ประมาณ 1 ล้านคน

จวง กั่วถู กล่าวว่า "ชาวจีนอพยพใหม่" (ผู้คนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่อันเป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปและการเปิดเสรี) จะสามารถประสานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ได้ดี แม้ในประวัติศาสตร์เองก็ตาม ซุนยัตเซน บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน ก็เป็นชาวจีนโพ้นทะเล ที่ครอบครัวอพยพไปฮาวาย

ผู้อพยพชาวจีนจำนวนมากในสหรัฐฯ รวมทั้งชาวไต้หวันทำงานในระดับสูงของรัฐบาลอเมริกัน และยังจะมีตำแหน่งอีกมากที่รออยู่ ซึ่งชาวเชื้อสายจีนไม่ว่าจะมาจากไต้หวันหรือแผ่นดินใหญ่ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดี คงไม่ต้องการจะเห็นความบาดหมางในความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน และคงจะช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคี

ถึงที่สุดแล้ว ผู้อพยพชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพราะหากมีเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรง จะส่งผลเป็นชนวนโดยตรงกับชีวิตชาวจีนอพยพในประเทศต่างๆ

"ผู้อพยพใหม่" มีลักษณะเฉพาะฯ ร่วมกัน 3 ประการ คือมีการศึกษาสูง มีฐานะร่ำรวย และช่วยสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ คุณลักษณะเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และภูมิภาคต่างๆ

โดยสรุปรวมแล้ว นัยยะสำคัญความสำเร็จของจีนทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับคนเชื้อชาติจีนในประเทศต่างๆ ด้วย เพราะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมและการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อฯ ในความเป็นหนึ่งเดียวอันมั่งคั่งยั่งยืนสมานฉันท์