วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เปลี่ยนชีวิตมือถือด้วย 3G

น้ำค้าง ไชยพุฒ
Positioning Magazine กันยายน 2551

ลองนั่งจินตนาการดูเล่นๆ ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า หากมือถือของคุณเล่นอินเทอร์เน็ตได้เร็วเท่าบรอดแบนด์ที่บ้าน คุณทั้งดาวน์โหลดเพลงเอ็มพีสามโดยใช้เวลาไม่เกิน 15 วินาที ดูทีวีได้โดยไม่กระตุก คุณจะรู้สึกอย่างไร

ลองจินตนาการต่ออีกสักนิดว่าในเวลาเดียวกันคุณยังสามารถเข้าเว็บไซต์โปรดผ่านมือถือ ทั้ง google, hi5 หรือแม้แต่ใช้บริการโปรแกรมแชตได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องนั่งรอจนเหงือกแห้ง คุณคิดว่าชีวิตคุณจะดีขึ้นไหม

คำถามเหล่านี้จะมีคำตอบในทันที เพราะหากไม่มีอะไรผิดพลาด ในอีกหนึ่งปีข้างหน้านับจากนี้คุณจะมีโอกาสได้เห็นสิ่งที่คุณจินตนาการไว้ได้อย่างครบถ้วนผ่านการให้บริการเครือข่าย “3G” ที่โอเปอเรเตอร์มือถือจะเปิดให้บริการนั่นเอง

มี 3G เน็ตบนมือถือก็ไม่เต่า

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามมาโดยตลอด เพื่อที่จะบอกผู้คนในสังคมไทยว่าเขาจะได้รับบริการที่มากมายบานตะไท ดีและเท่อย่างไรจากเครือข่ายมือถือ 3G แต่ก็เชื่อได้ว่าคนหมู่มากยังจินตนาการไม่ออกว่า 3G จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้อย่างไร บริการที่ว่าจะใหม่แปลกมากพอไปกว่าที่เห็นทุกวันนี้แค่ไหน ในเมื่อข้อมูลตัวเลขสถิติชี้ชัดว่า คนไทยส่วนมากยังใช้มือถือไปกับ “โทรเข้าและรับสาย” มากกว่าใช้ส่งข้อความภาพแนบเสียง ดาวน์โหลดเพลง หรือแม้แต่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ขณะที่ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองซีอีโอของดีแทค และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า สิ่งที่ 3G จะทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น เห็นจะเป็นเรื่องของ “ความเร็ว” โดยเฉพาะความเร็วของ “อินเทอร์เน็ต” ที่เมืองไทยยังประสบปัญหาอยู่มาก

ที่ผ่านมาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของโครงข่ายสาย ที่ผู้บริโภคต้องยกหูถามผู้ให้บริการว่าจะได้ลากสายผ่านหน้าบ้านของตนเองหรือยัง อาทิ ค่ายทรู และทีโอที ผูกติดกับหมายเลขในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ค่ายทีทีแอนด์ทีผูกติดกับตลาดต่างจังหวัด นอกจากนี้บางเส้นทางยังถูกแบ่งแยกเขตแดนของการให้บริการของแต่ละค่าย ความซับซ้อนและการผูกติดดังกล่าวทำให้ลูกค้าจำใจต้องเลือกผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งที่ว่า โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงเพราะจำเป็นต้องใช้งาน

แต่ปัญหาความเร็วที่แปรผันตามราคาค่างวดมักจะส่งผลให้ผู้บริโภคนั้นปวดหัวมาแต่ไหนแต่ไร แม้จะมีการให้บริการในความเร็วที่สูงถึง 2 เมกะบิตต่อวินาที เป็นขั้นพื้นฐาน โดยคิดราคาเริ่มต้นที่เฉลี่ย 590 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าภาษี ซึ่งเป็นราคามาตรฐานของตลาดไทยในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับว่า ความเร็วที่ได้ไม่เพียงแต่ไม่เต็มที่ แต่ยังถูกแบ่งกับผู้ใช้งานรายอื่น ณ ช่วงเวลานั้น พอๆ กับได้รับการควบคุมการใช้งานที่เกินขนาดจากผู้ให้บริการเสียเองด้วยซ้ำไป

อีกทั้ง หากประเมินตัวเลขราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 จะพบว่าปัจจุบันไทยมีประชากรอยู่ 63,038,247 คน หากนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกช่องทางทั้งอินเทอร์เน็ตคาเฟ่, ใช้โมเด็มในบ้าน หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตตำบล ทั้งสิ้นราว 15 ล้านราย จะพบว่าความหนาแน่นของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในไทย 4.2 % หรือคน 100 คน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ถึง 5 คน เท่านั้นเอง

เครือข่าย 3G จะไม่เพียงจะเข้ามาลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึง เพราะขอให้มีเพียงสถานีฐานหรือเสาโทรศัพท์ไปตั้ง คนก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทันที และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาที่สัญญาณโทรศัพท์จะครอบคลุม แต่ยังปลดล็อกปัญหาเรื่องความเร็วที่ไม่คงที่ ปัญหาเรื่องสัญญาที่ผูกติดระหว่างค่ายกับพื้นที่ให้บริการ เหมือนอย่างที่ผ่านมาอีกด้วย

และนี่คือสิ่งที่คนไทยไม่เคยจะล่วงรู้ แต่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหรือโอเปอเรเตอร์กลับรู้ดีกว่าใคร นับจากนี้เป็นต้นไป ถนนทุกสายของโอเปอเรเตอร์จึงไม่เน้นมุ่งหน้าไปยังการให้บริการที่เลิศหรู แต่ทุกคนต่างมุ่งไปหาการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย 3G แทบทั้งสิ้น

ความเร็วที่แตกต่างระหว่าง 2G และ 3G

ช่องทาง/ความเร็วในการรับส่งข้อมูล/ผลของความเร็ว
2G/10 กิโลบิต/วินาที/ใช้เวลา 31-41 นาทีในการดาวน์โหลดเพลง MP3 ความยาว 3 นาที
2.5G GPRS, EDGE)/ 64-144 กิโลบิต/วินาที/ใช้เวลา 6-9 นาทีในการดาวน์โหลดเพลง MP3 ความยาว 3 นาที
3G/144 กิโลบิต/วินาที - 2 เมกะไบต์/วินาที/เวลา 11 วินาที-1.5 นาทีในการดาวน์โหลดเพลง MP3 ความยาว 3 นาที

โมบายบรอดแบนด์

ว่ากันว่า เครือข่าย 3G ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์เพิ่มบทบาทและหน้าที่จากการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือมาเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ด้วยในเวลาเดียวกัน และนั่นหมายถึงการมองหาโมเดลและรูปแบบใหม่ทั้งรูปแบบของการให้บริการและค่าใช้จ่ายที่จะสะท้อนความเป็นจริงจากการขายอินเทอร์เน็ตผ่านซิมการ์ดของมือถือด้วย

ในทางเดียวกัน เทคโนโลยี 3G ส่งผลให้ผู้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือหรือที่เรียกกันว่า โมบายบรอดแบนด์ ได้ทันทีโดยผ่านซิมการ์ดที่ใช้โทรออกหรือรับสายปกติ หรือจะเสียบสายต่อเข้าคอมพิวเตอร์ และสื่ออื่นได้ทุกที่ที่มีสัญญาณมือถือ

นี่คือเทรนด์ “โมบิลิตี้” ที่โพลไม่ว่าจะสำนักไหน หรือผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีทุกรายต่างยกให้ว่ากำลังมา และกำลังเติบโตเต็มที่

การพกพาคอมพิวเตอร์ออกไปนอกบ้าน และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อทำงานนอกสถานที่ การสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แม้จะนั่งอยู่บนรถไฟฟ้าใต้ดิน อยู่บนรถโดยสาร ไม่เว้นแม้กระทั่งบนเครื่องบิน เป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังมองหา และดูเหมือนว่าโมบายบรอดแบนด์กำลังตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

ในงานสัมมนาหัวข้อ “วินโดวส์โมบาย โมบิลิตี้ เทคโนโลยี แอนด์ พีดีเอโฟน อินโนเวชั่น 2008? ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันมีคนไทยราว 15 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ในจำนวนนั้นมีเพียง 1.5 ล้านรายที่ทดลองใช้โมบายบรอดแบนด์จริงๆ แต่ตัวเลขนี้หาใช่หยุดนิ่ง แต่จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 ล้านรายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และผู้คนต่างบอกว่า สิ่งที่มีผลทำให้ตนเลือกโมบายบรอดแบนด์มาใช้ก็คือ จำนวนแบนด์วิธหรือความเร็วที่สูงขึ้น

มีการคาดการณ์กันว่าโมเดลของการให้บริการโมบายบรอดแบนด์ นั้นจะฉีกกฎโมเดลของการให้บริการ GPRS หรือ EDGE ซึ่งคิดเหมาจ่ายเป็นนาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ และเดือน แต่โอเปอเรเตอร์จะหันมาใช้โมเดลแบบเดียวกันกับอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วไป คือเลือกเหมาจ่ายแบบรายเดือนใช้ไม่อั้นในความเร็วเริ่มต้นที่ 2 เมกะบิตต่อวินาที และผู้ใช้สามารถเลือกใช้ผ่านซิมการ์ดของตนเหมือนกับใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน GPRS และ EDGE ดังเช่นก่อนหน้า และสามารถใช้ผ่านสื่ออุปกรณ์ทั้งมือถือ หรือคอมพิวเตอร์พกพาในการใช้งาน

หากแผนการทั้งหมดเป็นจริง นี่คือโอกาสของโมบายบรอดแบนด์ที่จะมาเป็นทางเลือกใหม่ ที่จะมาเขย่าตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หากค่ายทรู ทีโอที ทีทีแอนด์ที ไม่ระวังส่วนแบ่งตลาดอาจหลุดลอยได้ง่าย

ตัวเลขการขยายตัวของบรอดแบนด์ในไทย
2550 1.2 ล้าน
2551 1.9 ล้าน
2552 2.7 ล้าน

ที่มา : ไอดีซี
หมายเหตุ : หน่วยเป็น Account โดยที่ 1 Account สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หลายคน

สัดส่วนการใช้ GPRS ของ 3 โอเปอเรเตอร์หลัก
AIS 4,000,000 ราย
DTAC 2,900,000 ราย
TRUE Move 2,000,000 ราย

ที่มา : ไอดีซี


Did you know?

จากข้อมูลล่าสุดเชื่อว่า ทั่วโลกมีผู้ให้บริการ 3G แล้วราว 211 ราย ใน 95 ประเทศ