"ทำไม Paul Krugman ถึงได้รางวัลโนเบล"
ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551
คณะกรรมการรางวัลโนเบลไพรซ์ ได้ตัดสินให้ศาสตราจารย์ Paul Krugman ได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์สาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ ศาสตราจารย์ Paul Krugman เป็นใคร มีความสามารถอย่างไร และทำไมถึงได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
Paul Krugman เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นศาสตราจารย์สอนในมหาวิทยาลัย Princeton สาขาเศรษฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้นเขายังเป็นคอลัมนิสต์ เขียนบทความประจำให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ Paul Krugman เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การเงินระหว่างประเทศ หนังสือเรื่อง Theory and Policy: International Economics ที่เขาเขียนได้กลายเป็นตำราเรียนที่ใช้มากที่สุดเล่มหนึ่งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้นเขายังเขียนบทความในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระจายรายได้
คณะกรรมการโนเบลไพรซ์ให้เหตุผลถึงการเลือก Paul Krugman ว่า Paul Krugman ให้องค์ความรู้ใหม่กับสังคมในเรื่องผลกระทบของการผลิตที่ได้จากการประหยัดจากขนาด ที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศว่า แม้ในยุคปัจจุบันประเทศที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันก็ยังต้องทำการค้า ซื้อขายระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น สวีเดน ส่งออกรถยนต์ Volvo ให้เยอรมนี แต่เยอรมนีก็ส่งออกรถยนต์ BMW ให้สวีเดน เขาตั้งสมมุติฐานว่าผู้บริโภคชอบสินค้าที่หลากหลาย และความชอบเช่นนี้ทำให้ สินค้าที่มีเวอร์ชั่นแตกต่างกันดำรงอยู่ได้ แต่เนื่องจากหลักการประหยัดต่อขนาด บริษัทจึงไม่สามารถกระจายการผลิตรถยนต์ Volvo ไปทั่วโลกได้ ดังนั้นบริษัทจึงมีฐานการผลิตที่กระจุกตัวในไม่กี่ประเทศ ไม่จำเป็นต้องขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก ฐานการผลิตจะตั้งอยู่เพียงไม่กี่ภูมิภาคหรือไม่กี่เมืองเท่านั้นที่มีประชากรหนาแน่นและประชากรมีระดับรายได้ที่สูง จึงเห็นได้ว่าบางประเทศจะเน้นผลิตยี่ห้อสินค้าบางอย่างเท่านั้น ทฤษฎีของ Paul Krugman ได้รับการยอมรับและเป็นที่อ้างอิงของรูปแบบการค้าระหว่างประเทศในเวลาต่อมา ซึ่งหลักการนี้ได้รับชื่อว่า New trade theory
Paul Krugman เขียนบทความเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic geography) เขาตั้งสมมติฐานว่าการค้าระหว่างประเทศมีรูปแบบ (pattern) และพฤติกรรมไปตามเส้นผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น (increasing retunes to scale) ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ภูมิภาคเศรษฐกิจใดที่มีการผลิตมากก็จะยิ่งกำไรมากและสามารถดึงดูดการโยกย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศเข้ามาอีก ดังนั้นแล้วการผลิตจะไม่กระจายไปเท่าเทียมกันทั่วโลก แต่การผลิตจะกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ หรือไม่กี่ภูมิภาค หรือไม่กี่เมืองที่มีประชากรจำนวนมาก แน่นหนา และมีรายได้สูง
นอกจากนั้นในด้านการเงินระหว่างประเทศ Paul Krugman ยังได้เขียนงานเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินและทำนายว่าจะเกิดปัญหากับค่าเงินของประเทศในเอเชียในช่วงก่อนปี 1997
Paul Krugman ยังเขียนหนังสือที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนหลายเล่ม เขาเขียนเกี่ยวกับปัญหาการกระจายรายได้ของสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหามากขึ้น นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้สนับสนุนไอเดียที่ว่าเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะทำอะไรใหม่ๆ แต่เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นเพิ่มทุนสินค้าและแรงงานเข้าไป ซึ่งไม่ได้มีการเพิ่มผลิตภาพที่แท้จริง เขาทำนายว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะเติบโตช้าลง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ
หนังสือของ Paul Krugman ที่น่าสนใจ เช่น The Great Unraveling: Losing Our Way in The New Century และThe Conscience of a Liberal โดยเฉพาะหนังสือ The Great Unraveling เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาที่โจมตีนโยบายทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศของรัฐบาล
ประธานาธิบดี George Bush โดยเน้นที่การบริหารของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และดุลการค้าอันเกิดจากการใช้จ่ายภาครัฐ การลดภาษีที่ไม่เหมาะสม และการทำสงครามในอีรัก ซึ่งในระยะยาวแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่อาจรักษาเสถียรภาพได้ และจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 และเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม Paul Krugman เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Enron ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการทุจริต ฉ้อโกง หลอกลวง สาธารณชน และในเวลาต่อมาก็ล้มละลาย จนผู้บริหารหลายคนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งเป็นคดีดังทางธุรกิจที่ฉาวโฉ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาคดีหนึ่ง
http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=4982&user=chodechai