อุยกูร์-ซินเจียง : ชนชาวมุสลิมในจีน
จันทร์จุฑา สุขขี
ศุภชัย วรรณเลิศสกุล
พัฒนาการการก่อความไม่สงบในซินเจียง
1) ยุคก่อนสาธารณรัฐประชาชนจีน
ก. จุดเริ่มต้นของปัญหา (สมัยราชวงศ์ชิง)
ซินเจียงเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน
อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งถึง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร
พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารเพราะตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงปาร์มีและทะเลทรายทากลามากัน
การที่อยู่ใกล้กับประเทศในเอเชียกลางหลายประเทศ ทำให้ประชากรพื้นเมืองของ
ซินเจียงไม่ใช่ชาวจีนแต่เป็นคนเชื้อสายเติร์กที่เรียกตัวเองว่าชาว “อุยกูร์” (Uyghur)
หรือในภาษาจีนคือ เหวยอู๋เอ่อ เป็นชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลาม ซินเจียง
เป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมาตั้งแต่เมื่อสองพันปีก่อน การที่ซินเจียงเป็นจุดเชื่อมจีน
เข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ ทำให้ซินเจียงเจริญถึงขีดสุดในยุคที่การค้าบนเส้นทาง
สายไหมรุ่งเรือง ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาผ่านพ่อค้ามุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ครั้น
ถึงศตวรรษที่ 10 ชาวอุยกูร์ทั้งหลายก็กลายเป็นมุสลิมสำนักคิดซูฟีทั้งสิ้น นครการค้า
อย่างนครคาชการ์กลายเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงยิ่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเป็น
ศูนย์กลางของอารยธรรมอิสลามในแถบนี้ จนถึงช่วงศตวรรษที่ 14 บรรดาสุลต่าน
แห่งนครทั้งหลายในแถบนี้ก็เรียกดินแดนของพวกเขาอย่างรวมๆ ว่าเตอร์กิสถาน
ตะวันออก
ดินแดนแถบนี้ตกเป็นของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
ในเวลานั้นชาวฮั่นและ
ชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะมหาจักรพรรดิจีนมีนโยบายที่จะปกครองชาว
มุสลิมอย่างผ่อนปรน และให้ชาวมุสลิมปกครองกันเองและให้เสรีภาพเต็มที่ในการ
นับถือศาสนา แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 18 จีนและรัสเซียแข่งขันกันแผ่อิทธิพลในเอเชียกลาง จีนจึงมีนโยบายเพิ่มความเข้มข้นในการปกครองซินเจียง ราชสำนักชิงมีนโยบาย
ต่อชาวมุสลิมที่ต่อต้านคือการปราบปรามอย่างเฉียบขาด ทำให้ชาวมุสลิมล้มตายไปเป็น
จำนวนมาก ความเกลียดชังก็ยิ่งเพิ่ม นโยบายนี้จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และยิ่งใช้
ก็ยิ่งกระพือปัญหาให้ลุกลามมากขึ้น
ใน ค.ศ. 1755 ราชสำนักชิงได้ส่งกองทหารเข้ามายึดและปกครองดินแดนใน
แถบนี้ โดยยึดเมืองคาชการ์ (Kashgar) หรือ คาซือ (喀什) ในภาษาจีนกลาง เมือง
การค้าใหญ่ทางตะวันตกสุดของซินเจียงนับแต่อดีตซึ่งเป็นจุดพักและแหล่งการค้าสำคัญ
ของเส้นทางสายไหม
เมื่ออิทธิพลของอังกฤษแผ่เข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียกลางในศตวรรษที่ 19
จีนก็ยิ่งต้องแสดงความเป็นเจ้าของซินเจียงเพื่อทัดทานกับการล่าอาณานิคมของอังกฤษ
ดังนั้น เส้นเขตแดนระหว่างประเทศจึงถูกเขียนขึ้นล้อมอาณาจักรจีน แต่ในขณะเดียวกัน
ก็ตัดขาดชาวมุสลิมในซินเจียงกับมุสลิมในเอเชียกลาง อำนาจปกครองก็ถูกรวบไป
รวมศูนย์อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซินเจียงกลายเป็นเพียงดินแดนชายขอบของอาณาจักรจีน
อันไพศาล อารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากอารยธรรมของจีนซึ่ง
เป็นศูนย์กลาง ซินเจียงค่อยๆ หมดความสำคัญในฐานะดินแดนการค้าลง แล้วเศรษฐกิจ
ก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นเพียงดินแดนที่ยากจน
นอกจากนี้จีนได้ส่งขุนนางจีนไป
ปกครองซินเจียงแทนการให้มุสลิมปกครอง ขุนนางที่ถูกส่งไปมักเป็นขุนนางโฉดที่
ถูกลงโทษให้ไปลำบากในแดนไกล แต่การที่อยู่ไกลเมืองหลวงมากเปิดช่องให้ขุนนาง
เหล่านี้กดขี่ประชาชน ขูดรีด ทุจริต และไม่เคารพต่อประเพณีมุสลิม สร้างความ
เดือดร้อนให้แก่ชาวมุสลิมอย่างมาก จุดนี้เป็นมูลเหตุที่ทำให้มุสลิมเกลียดชังรัฐบาลจีน
และก่อเหตุสู้รบต่อต้านทางการนับครั้งไม่ถ้วน ดังเช่นในช่วง ค.ศ. 1864-1877
ได้เกิดการก่อกบฏโดยมุสลิมในซินเจียง กล่าวคือ เมื่อได้ยินข่าวความพ่ายแพ้ของ
มุสลิมในสั่นซี (Shanxi) และกานซู่ใน ค.ศ. 1862 มุสลิมที่อยู่ในดินแดนทาง
ตะวันตกเฉียงเหนือถัดไป อันได้แก่ คาชเกเรียกับซงกาเรียทางใต้และทางเหนือของ
เทือกเขาเทียนซาน ซึ่งผู้คนพลเมืองส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่นับถือศาสนาอิสลามเชื้อสาย
อุยกูร์ทั้งสิ้นก็เริ่มเกิดความรู้สึกหดหู่ ในขณะเดียวกันยังได้ทวีความโกรธแค้นที่สะสม
มาจากการกดขี่ที่มีอยู่แต่เดิม ดังนั้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1863 จึงได้เกิดการลุกขึ้นสู้
ที่อีลี่ (Ily) แต่ก็ถูกกองกำลังของรัฐบาลแมนจูปราบปรามได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น
ได้มีการลุกขึ้นสู้ต่อต้านรัฐบาลในอีกหลายพื้นที่ของซินเจียงในช่วงปีเดียวกันจนกระทั่งกลาง ค.ศ. 1864 รัฐบาลแมนจูก็ไม่สามารถที่จะควบคุมเหตุการณ์ในซินเจียงได้
เนื่องจากต้องต่อสู้กับกองกำลังถึง 3 กลุ่มในเวลาใกล้เคียงกัน กลุ่มแรกอยู่ทาง
ตะวันออกของซินเจียงใกล้กับอุรุมชี (Urumqi) กลุ่มที่สองอยู่ซินเจียงตะวันตกใกล้กับ
อีลี่ และกลุ่มที่สามตั้งอยู่ซินเจียงใต้ใกล้กับเมืองคาชการ์
ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1860 ยะกู๊บ เบ๊ก (Yakub Baig) ผู้เป็นอดีต
นายพลของกองทัพโคกันด์และได้ตั้งกองกำลังก่อการกบฏขึ้นใน ค.ศ. 1864 ก็สามารถ
เชื่อมโยงกองกำลังเคลื่อนไหวทั้ง 3 กลุ่มเข้าด้วยกัน ยะกู๊บ เบ๊ก ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มี
ความสามารถได้ใช้เวลาในช่วง ค.ศ. 1864-1870 ในการก่อตั้งและสร้างความเข้มแข็ง
ให้กับกลุ่ม หลังจากนั้นก็ยกกำลังเข้ายึดเมืองต่างๆ ทางใต้ของเทือกเขาเทียนซานไว้ได้
หมด จนใน ค.ศ. 1873 มีอำนาจเหนือบริเวณที่แอ่งทาริม (Tarim) ทั้งหมด
กองทหารของยะกู๊บ เบ๊ก สามารถเข้ายึดอุรุมชี (เมืองเอกของซินเจียงในปัจจุบัน) ได้
รัฐบาลแมนจูไม่ยอมทิ้งดินแดนแห่งนี้ไป เพราะถือว่าดินแดนดังกล่าวเป็นพรมแดนด้าน
ตะวันตกของมองโกเลีย ซึ่งเป็นอันตรายต่ออาณาจักรจีน ขณะเดียวกันความยุ่งยากก็
ยังจะมีต่อไปอีก เพราะมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษและรัสเซียจับจ้องอยู่ มิหนำซ้ำ
ยังรับรองรัฐบาลยะกู๊บ เบ๊กด้วย
โดยทางอังกฤษนั้นต้องการให้มีรัฐกันชนสำหรับ
อาณาจักรอินเดียซึ่งเป็นเมืองขึ้นอันยิ่งใหญ่ของตน ฝ่ายรัสเซียก็ต้องการแผ่ขยาย
อิทธิพลและเขตแดนลงมาเรื่อยๆ จนใน ค.ศ.1871 รัสเซียก็ยึดดินแดนจีนบริเวณอีลี่
และเมืองคุลด์จาของจีนไว้ได้ และเพื่อถ่วงดุลอำนาจของรัสเซีย อังกฤษได้ส่งอาวุธจาก
อินเดียไปให้ยะกู๊บ เบ๊กด้วย อย่างไรก็ดี แผนการทั้งหมดของอังกฤษและรัสเซียต้อง
ล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง เนื่องจากกองทัพปราบกบฏของจ่อจงถางได้รุกคืบหน้าเข้ามาใน
อาณาจักรของยะกู๊บ เบ๊กอย่างไม่หยุดยั้ง โดยภายหลังจากการพิชิตกบฏมุสลิมในสั่นซี
และกานซู่ได้แล้ว ก็เข้ายึดครองในบริเวณฮามีอันเป็นแหล่งโอเอซิส แล้วมุ่งหน้าสู่
เตอร์กิสถานตะวันออก แต่ภายหลังจากที่ยะกู๊บ เบ๊กเสียชีวิตลง อาณาจักรของยะกู๊บ
เบ๊กก็สลายลงไปด้วยใน ค.ศ. 1878 ส่งผลให้กองทัพจ่อจงถางเข้ายึดครองดินแดน
ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ ยังผลให้ทางราชสำนักแมนจูได้มีอำนาจปกครองดินแดนบริเวณนี้
โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดราชสำนักแมนจูสมัยพระนางซูสีไทเฮาก็ได้พิจารณาข้อเสนอ
ของจ่อจงถางในการสถาปนาเตอร์กิสถานจีน ซึ่งได้แก่ดินแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
ของอาณาจักรทั้งหมดนี้เป็นมณฑล โดยใช้ชื่อว่า “ซินเจียง” (ดินแดนใหม่) ใน ค.ศ.
1884
ข. การขยายปัญหา (สมัยสาธารณรัฐ)
ภายหลังจากจีนเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่
ระบอบสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1911-1949) จีนก็ต้องเผชิญกับความสับสนวุ่นวายอย่าง
แสนสาหัส เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาการเมืองภายใน เนื่องจาก ดร. ซุนยัตเซ็น
ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีอำนาจปกครองจีนในเวลานั้นไม่สามารถควบคุมขุนศึกตาม
หัวเมืองต่างๆ ได้ จึงทำให้เกิดการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันทั่วทุกหนแห่ง ขณะเดียวกัน
ก็เกิดขบวนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ได้ขยายอิทธิพลไปทั่วประเทศ เมื่อ
ดร. ซุนยัตเซ็น เสียชีวิตใน ค.ศ. 1925 นายพลเจียงไคเช็คได้ครองอำนาจสืบแทน
แม้ว่าเจียงไคเช็คจะสามารถปราบปรามบรรดาขุนศึกได้ แต่ก็ต้องต่อสู้กับพรรค
คอมมิวนิสต์ ทำให้การเมืองจีนต้องตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ.
1927 และภาวะกลียุคดังกล่าวถูกซ้ำเติมให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น เมื่อจีนต้องประสบ
กับภัยจากการรุกรานของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1937 จนถึง ค.ศ. 1945
ดังนั้น ในช่วงสมัยสาธารณรัฐจึงเป็นช่วงที่รัฐบาลที่ปักกิ่งละเลยการปกครอง
และควบคุมซินเจียงอย่างมาก จนกระทั่งในทศวรรษที่ 1940 ชนกลุ่มน้อยมุสลิมใน
ซินเจียงรวมตัวกันภายใต้การนำของชาวคาซัคนามว่า “อุสมาน” (Osman) บุคคลผู้นี้
พร้อมทั้งพรรคพวกชาวคาซัค อุยกูร์ และมองโกลได้ก่อการจลาจลขึ้น และสามารถยึด
ดินแดนในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของซินเจียงได้สำเร็จ โดยในเดือนมกราคม ค.ศ.1945
ได้มีการตั้ง “สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก” (Eastern Turkestan Republic)
ขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่นครคาชการ์ และหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐอิสระขึ้น ทำให้รัฐบาล
จีนภายใต้การนำของเจียงไคเช็คไม่พอใจ จึงได้ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทหาร ส่งผลให้
เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง จนในที่สุดได้นำมาซึ่งการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่าง
กันใน ค.ศ. 1946 ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋งก็ได้หันมาผ่อนปรนท่าทีกับมุสลิมในซินเจียง
โดยได้พยายามหว่านล้อมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้กลับมารวมอยู่กับจีนอยู่หลายครั้ง
เนื่องจากต้องการให้เป็นพันธมิตรร่วมเพื่ออาศัยเป็นฐานกำลัง แต่การหว่านล้อมก็ไม่
ประสบผลสำเร็จ เหตุเพราะในขณะนั้นพรรคก๊กมินตั๋งกำลังติดพันอยู่กับการทำสงคราม
กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ต้องใช้เวลาไปกับการสู้รบมากกว่า
2) ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน
• ทศวรรษที่ 1950
หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง การเมืองจีนยังคงอยู่ในภาวะ
อุยกูร์-ซินเจียง : ชนชาวมุสลิมในจีน
สงครามกลางเมือง จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋งใน
ค.ศ. 1949 แล้วสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949
พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองจีนก็ได้ผนวกดินแดนซินเจียงกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ
จีนดังเดิม โดยในช่วงต้นปี 1951 ทางการจีนได้จับตัวนายอุสมานผู้นำของกลุ่มที่ทำ
การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนและประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม การประหารชีวิต
นายอุสมานผู้นำของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นอิสระไม่ได้ทำให้ความเคลื่อนไหวใน
การแบ่งแยกดินแดนนั้นสิ้นสุดลงแต่อย่างใด รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในยุคแรกพยายาม
แก้ปัญหาโดยใช้นโยบายควบคุมชาวมุสลิมอย่างเข้มงวด พิธีกรรมทางศาสนาถือเป็นสิ่ง
งมงายและกลายเป็นสิ่งต้องห้าม มัสยิดถูกทำลายหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ กล่าว
กันว่ามีการสังหารมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลหลายแสนคน1
แต่ผลของนโยบายดังกล่าว
กลับไม่ก่อให้เกิดความสงบราบคาบตามที่รัฐคาดหวัง นโยบายต่อต้านศาสนาของจีน
คอมมิวนิสต์กลับยิ่งทำให้เกิดขบวนการติดอาวุธกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมากมาย จนรัฐบาลจีน
ต้องหาทางลดแรงกดดันด้วยการประกาศให้ซินเจียงเป็น “เขตปกครองตนเองชนชาติ
อุยกูร์ซินเจียง” (Xinjiang Uyghur Autonomous Region-XUAR) ใน ค.ศ.
1955 และตั้งนครอุรุมชีเป็นศูนย์กลาง2
แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงใช้ความเด็ดขาดในการ
ปกครองและควบคุมมุสลิมอย่างเข้มงวด ปัญหาในซินเจียงจึงไม่หมดไป
• ทศวรรษที่ 1960-1970
ช่วงเวลานี้การเมืองจีนสับสนวุ่นวายอย่างมาก ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960
เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และมีความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ผู้นำของพรรค
คอมมิวนิสต์ ต่อมาก็เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วง ค.ศ. 1966-1976 หลังจากที่
เหมาเจ๋อตงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงแก่อสัญกรรม และแก๊งสี่คนซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำ
คนสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมถูกจับกุมคุมขัง
การปฏิวัติวัฒนธรรม หมายถึง กลุ่มผู้บูชาเหมาเจ๋อตงที่เรียกตัวเองว่า “ยาม
พิทักษ์แดง” (Red Guard) ได้ทำการรณรงค์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อให้มีการ
ต่อต้านอุดมการณ์แบบศักดินาและนายทุน ทำลายนิสัยเก่า ความคิดเก่า ประเพณีเก่า
และวัฒนธรรมเก่า แล้วสร้างสังคมนิยมบริสุทธิ์ขึ้นมาแทน กลุ่ม “ยามพิทักษ์แดง”
ได้จับกุมและเข่นฆ่าคนจำนวนมากที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านการปฏิวัติ
และบุกทำลายศาสนสถานต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งบรรดามัสยิดทั้งหลายในซินเจียงก็
ถูกเผาทำลายหรือปิดทิ้งร้างไว้ มีคำสั่งห้ามสอนและเรียนศาสนาอิสลาม หรือภาษา
อุยกูร์-ซินเจียง : ชนชาวมุสลิมในจีน
อาหรับอย่างเด็ดขาด ส่วนพวกอิหม่ามก็ถูกจับไปประหารนับพันราย ที่ไม่ถูกประหารก็
ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน บ้างก็รักษาตัวรอดด้วยการละเว้นการสอนศาสนาและการเป็น
ผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจ
ในระหว่างที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นนั้น ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยตัดสินใจ
ละทิ้งถิ่นฐานอพยพไปต่างประเทศทั้งไปสู่เอเชียกลาง ปากีสถาน ส่วนผู้ที่มั่งคั่งหรือ
เป็นบุคคลสำคัญของซินเจียงก็เดินทางลี้ภัยยังตุรกีและประเทศต่างๆ ในยุโรป
• ทศวรรษที่ 1980
รัฐบาลจีนในยุคนี้พบว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและ
ทรัพย์สิน การปราบปรามกดขี่ทำให้ประชาชนในซินเจียงเห็นรัฐบาลเป็นศัตรูที่ต้อง
เข่นฆ่าแทนที่จะเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่เขาต้องเคารพเชื่อฟัง ดังนั้นใน ค.ศ. 1983 รัฐบาลจีน
จึงหันไปยกเลิกกฎต่างๆ ที่เข้มงวดจัด แล้วหันไปทำนุบำรุงมัสยิดที่ถูกปิดร้าง ส่งเสริม
การตั้งสมาคมชาวมุสลิม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา3
แต่กระนั้นชาวมุสลิม
ในซินเจียงก็ยังมองจีนไม่สู้ดี เพราะพวกเขาเห็นว่าผู้นำศาสนาที่จีนส่งเสริมนั้น มีแต่
พวกที่ฝักใฝ่อิทธิพลทางการเมืองกับตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่ผู้ที่ชุมชน
มุสลิมเคารพนับถือ
สถานการณ์ในปัจจุบัน
1. ภาพรวมของมุสลิมในจีน
ใน ค.ศ. 2006 จีนมีประชากรที่เป็นมุสลิมหรือที่นับถือศาสนาอิสลาม
ประมาณ 22.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 1,300 ล้านคน ชาวจีนมุสลิม
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามบริเวณต่างๆ ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย
(Ningxia Hui Autonomous Region-NHAR) เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์
ซินเจียง (Xinjiang Uyghur Autonomous Region-XUAR) มณฑลกานซู่
(Gansu) มณฑลเหอหนาน (Henan) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) มณฑลชิงไห่
(Qinghai) มณฑลซานตง (Shandong) มณฑลหยุนหนาน (Yunnan)
มณฑลอานฮุย (Anhui) มณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) มณฑลเฮยหลงเจียง
(Heilongjiang) มณฑลจี๋หลิน (Jilin) มณฑลซานซี (Shanxi) และในมหานคร
สำคัญคือ เทียนจิน (Tianjin) รวมทั้งในเมืองหลวงคือกรุงปักกิ่ง (Beijing) มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่มาก
ทั้งนี้ มุสลิมในจีนไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนาส่วนน้อย แต่ยังเป็น
กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยด้วย เพราะมุสลิมในจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ชาวจีนฮั่น
(Han) ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยนั้นได้แก่ หุย
(Hui) อุยกูร์ (Uyghur) คาซัค (Kazak) คีร์กิซ (Kirgis) ซาลาร์ (Salar) ทาจิก
(Tajik) อุซเบค (Osbek) ทาร์ทาร์ (Tartar) โบนาน (Bonan) และตงเซียง
(Dongxiang)
อนึ่ง ในหลายพื้นที่ของจีนประสบความสำเร็จอย่างดีในการอยู่ร่วมกับมุสลิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย โดยชาวจีนฮั่นและชาวหุยซึ่ง
เป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่เป็นมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ชาวหุยสามารถ
รักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้ และปฏิบัติศาสนกิจตามแนวทางศาสนาอิสลามได้โดย
เสรี โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาชาติพันธุ์ การก่อความไม่สงบ หรือความ
พยายามในการแบ่งแยกดินแดน
2. สถานภาพของซินเจียง
ในปัจจุบันซินเจียงมีฐานะเป็นหนึ่งในบรรดา “เขตปกครองตนเองของชนส่วน
น้อย” (Ethnic Autonomous Region) 5 แห่งของจีน4
มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ
ว่า “เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง” (Xinjiang Uyghur Autonomous
Region : XUAR) ทั้งนี้เพราะในซินเจียงมีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่มากที่สุด
จากการทำสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 2000 ปรากฏว่าซินเจียงมีประชากร
ทั้งสิ้นประมาณ 19.25 ล้านคน5
ในจำนวนนี้เป็นมุสลิมร้อยละ 54.96 ซึ่งประกอบด้วย
ชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวอุยกูร์ร้อยละ 42.21 ชาวคาซัคร้อยละ 6.74
ชาวหุยร้อยละ 4.55 ชาวตงเซียงร้อยละ 0.30 ชาวทาจิกร้อยละ 0.21 ชาวอุซเบค
ร้อยละ 0.066 และชาวซาลาร์ร้อยละ 0.026
แม้ว่าประชากรมุสลิมยังเป็นชนส่วนใหญ่ของซินเจียง แต่สัดส่วนประชากร
มุสลิมนั้นลดลงมากเมื่อเทียบกับสถิติ ในช่วงทศวรรษที่ 1940-1980 กล่าวคือ ช่วง
ค.ศ. 1949 ซึ่งมีมุสลิมอาศัยในซินเจียงร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด 3.73
ล้านคน และช่วง ค.ศ. 1953 ร้อยละ 84.9 ของประชากรทั้งหมด 4.87 ล้านคน
ช่วง ค.ศ. 1964 ร้อยละ 67.1 ของประชากรทั้งหมด 7.44 ล้านคน ช่วง ค.ศ. 1982
ร้อยละ 59.6 ของประชากรทั้งหมด 13.08 ล้านคน7
และช่วง ค.ศ. 1990 ร้อยละ 59.4 ของประชากรทั้งหมด 15.15 ล้านคน8
ตารางแสดงสัดส่วนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในซินเจียง ค.ศ. 2000
กลุ่มชาติพันธุ์ ร้อยละของประชากรทั้งหมด
อุยกูร์ 42.21
ฮั่น 40.58
คาซัค 6.74
หุย 4.55
อื่นๆ 5.92
ก. ลักษณะการปกครองท้องถิ่นของซินเจียง
ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง ตั้งแต่ ค.ศ. 1955 เป็นชาว
อุยกูร์ทั้งหมด ผู้ว่าการฯ คนปัจจุบัน คือ นายอิสมาอิล ทิลิวัลดี (Ismail Tiliwaldi)
นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกหมุนเวียนของคณะกรรมการกลางของพรรค
คอมมิวนิสต์จีน (Alternate member of the CPC Central Committee) ซึ่งเป็น
องค์กรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองการปกครองจีน
ในด้านการปกครองท้องถิ่น ทางการจีนได้จัดการปกครองท้องถิ่นซินเจียงโดย
แบ่งเป็น 14 จังหวัด (Prefecture) ในจำนวนนี้เป็นจังหวัดธรรมดา 7 จังหวัด9
เป็นจังหวัดที่มีฐานะเป็นนคร (Prefect-level city) 2 นคร10 และเป็นจังหวัด
ปกครองตนเอง (Autonomous Prefecture หรือ 自治州) 5 แห่ง11
ทั้งซินเจียงแบ่งเป็นอำเภอ (County) 99 อำเภอ หรือแบ่งเป็นตำบล
(Township) 1,009 ตำบล จังหวัดที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ได้แก่
เทอร์ปัน (Turpan) มีประชากรเป็นชาวมุสลิมร้อยละ 70 อัคซู (Aksu) ร้อยละ
71.9 คิซิลซู (Kizilsu Kirghiz Autonomous Prefecture) ร้อยละ 93.6 คาชการ์
(Kashgar) ร้อยละ 90.8 อีลี่ (Ili Kazakh Autonomous Prefecture) ร้อยละ
55.6 และโฮทัน (Hotan) ร้อยละ 96.412
ข. บทบาททางการเมืองของมุสลิมในซินเจียง
ในส่วนของการเมืองระดับชาติ มุสลิมในซินเจียงซึ่งอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยยัง
มีบทบาทในการบริหารระดับชาติน้อยมาก ทั้งนี้จนถึง ค.ศ. 2007 มีผู้แทนมุสลิมจาก
ซินเจียงเพียง 1 ราย ที่ได้เป็นสมาชิกของที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National
People’s Congress-NPC) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 2,927 คน นอกจากนี้ มีผู้แทน
มุสลิมจากซินเจียงเพียง 4 ราย ที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมสภาที่ปรึกษาการเมือง
ประชาชนแห่งชาติจีน (Chinese People’s Political Consultative ConferenceCPPCC)
ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 2,289 คน
ในส่วนของการเมืองในซินเจียง มีผู้แทนชนกลุ่มน้อยมุสลิม 21 ราย เป็นสมาชิก
สภาประชาชนแห่งซินเจียงซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 500 ราย และมีผู้แทนชนกลุ่มน้อย
มุสลิม 27 ราย เป็นสมาชิกของที่ประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนของซินเจียง
ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 500 ราย13
3. การก่อความไม่สงบในซินเจียงระหว่าง ค.ศ. 1990-2006
ตั้งแต่ ค.ศ. 1990-2006 สำนักข่าวของทางการจีนระบุว่ามีสถิติเหตุการณ์
ความไม่สงบทั้งสิ้น 260 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 160 คน และผู้บาดเจ็บ 440 คน14 ทั้งนี้
ในระหว่าง ค.ศ. 2003-2006 ปัญหาการก่อความไม่สงบโดยชนกลุ่มน้อยมุสลิมใน
ซินเจียงลดลงอย่างน่าพอใจ แม้ว่าการทำลายสิ่งของของทางการยังมีอยู่บ้าง แต่การวาง
ระเบิดหรือโจมตีสถานที่ราชการนั้นไม่มีปรากฏ
นับว่าสถานการณ์ความไม่สงบในซินเจียงลดน้อยลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับใน
อดีต เช่น ในระหว่าง ค.ศ 1967-1968 มีสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในซินเจียงสูงถึง
1,300 ครั้ง15 และทุกครั้งเป็นการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่
และปัญหาการแบ่งแยกดินแดนถือเป็นประเด็นสำคัญในกรณีนี้
ตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นปีที่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึง
ทศวรรษที่ 1960 มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์หลายขบวนการที่ต่อสู้กับทางการจีนเพื่อฟื้นฟูการก่อตั้งรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (The East Turkestan Republic) ซึ่งเคยมีการสถาปนาขึ้นในช่วงสั้นๆ ระหว่าง ค.ศ. 1933-1949 โดยมี
เมืองหลวงอยู่ที่คาชการ์ ขบวนการเหล่านี้มีฐานที่มั่นอยู่ในต่างประเทศ แล้วเข้าทำการ
ก่อความไม่สงบในซินเจียงโดยลักลอบเข้าทางแนวชายแดนระหว่างจีนกับประเทศ
เพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการง่ายเนื่องจากซินเจียงมีดินแดนที่ติดต่อกับหลายประเทศ กล่าวคือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมองโกเลีย ชายแดนภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ
และตะวันตกติดกับรัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ปากีสถาน อินเดีย
และอัฟกานิสถาน
เมื่อทางการจีนดำเนินนโยบายปราบปรามอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ 1970
พร้อมไปกับการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ขบวนการเหล่านั้นก็ยุติ
บทบาทลงไปเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ตาม ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ที่ก่อ
ความไม่สงบในซินเจียงระหว่างทศวรรษที่ 1990 และยังคงดำเนินเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
มีทั้งหมด 2 ขบวนการ ดังนี้
1) ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (The East Turkestan
Islamic Movement-ETIM) ก่อตั้งโดย Hasan Mahsum หรือมีฉายาว่า AbuMuhammad
al-Turkes tani และ Ashan Sumut ขบวนการนี้มีเครือข่ายทั้งในจีน
ตุรกี อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ทางการสหรัฐฯ และทางการจีนกล่าวว่ามีเครือข่าย
โยงใยกับขบวนการอัลกออิดะฮ์ (Al Qaeda) โดยได้รับการฝึกจากขบวนการ
อัลกออิดะฮ์ในอัฟกานิสถาน
ขบวนการนี้ใช้วิธีการรุนแรงในการปฏิบัติการ เช่น
การวางระเบิด การโจมตีด้วยอาวุธหนัก และการลอบสังหาร
อนึ่ง หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ทางการสหรัฐฯ ประกาศยึด
ทรัพย์สินของขบวนการนี้ที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯ และใน ค.ศ. 2002 จีนประสบความ
สำเร็จในการเจรจาให้สหรัฐฯ ที่กำลังต้องการปราบการก่อการร้ายทั่วโลก สนับสนุนให้
องค์การสหประชาชาติขึ้นบัญชี ETIM เป็นขบวนการก่อการร้ายสากล16
2) องค์การปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan
Liberation Organization) แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับฐานที่มั่นที่แน่ชัด
แต่ขบวนการนี้ก่อตั้งในตุรกี และดำเนินการก่อการร้ายในต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาว
จีนในซินเจียง และประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง รวมทั้งปากีสถาน แม้ว่าสหรัฐฯ
จะปฏิเสธการขึ้นบัญชี ETLO เป็นขบวนการก่อการร้ายสากลตามคำขอของจีนใน
ค.ศ. 2003 แต่คีร์กีซสถาน17 และคาซัคสถาน18 ขึ้นบัญชีว่า ETLO เป็นขบวนการก่อการร้ายและเกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมหลายครั้ง
4. ปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหา
จีนต้องเผชิญปัญหาความไม่สงบในซินเจียงอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่
1990 ถึง ค.ศ. 2001 ก็เนื่องมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ดังต่อไปนี้
ปัจจัยภายนอก : กรณีการได้เอกราชของประเทศในเอเชียกลาง
ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนชาวมุสลิมในเอเชียกลางกำลังเรียกร้องเพื่อแยก
ตัวเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาการเมืองภายในอย่างสาหัส
และกำลังล่มสลายลง การเรียกร้องของดินแดนเหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. 1991 ดินแดนเหล่านั้นก็กลายเป็นรัฐเอกราช
ใหม่ ได้แก่ ป ระเทศคาซัคสถ าน คีร์กีซสถ าน ท าจิกิสถ าน อุซเบกิสถ าน
อาเซอร์ไบจาน ประเทศเหล่านี้มีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา
และวัฒนธรรมกับชนส่วนน้อยมุสลิมในซินเจียงมากกว่าจีน การเป็นเอกราชของ
ประเทศเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวมุสลิมในซินเจียงต้องการแยกตัวจากจีน19 โดยรื้อฟื้น
เหตุผลทางประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งต่อมาทำให้มีการ
รวมตัวเป็นกลุ่มติดอาวุธในซินเจียง และทำการต่อสู้กับทางการจีนหนักขึ้น โดยได้รับ
การสนับสนุนจากประชาชนชาวมุสลิมในซินเจียง
นักวิชาการจีนกล่าวว่าความรู้สึกต้องการเอกราชของมุสลิมในซินเจียงนั้นเป็นไป
อย่างเข้มข้นกว่าชาวพุทธในทิเบตอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะศาสนาพุทธมีคำสอน
ให้เชื่อว่าสิ่งที่เกิดเป็นผลจากกรรมเก่า ทำให้ยอมรับสิ่งที่เกิดในปัจจุบันได้ง่ายกว่า20
ปัจจัยภายใน : กรณีปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างภาคตะวันออกกับ
ภาคตะวันตก และความเกลียดชังที่สะสมมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
ในค.ศ. 1979 จีนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการปฏิรูปเศรษฐกิจใน
ประเทศ ด้วยการนำเอาระบบตลาดมาใช้และเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ความสำเร็จ
ดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เติบโตและมี
เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว กับมณฑลตอนในของประเทศที่ยังยากจนและล้าหลัง
การที่จีนนำเอาเศรษฐกิจแบบตลาดเข้าไปใช้ในประเทศทำให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเคลื่อน
ตัวได้อย่างเสรี ยิ่งทำให้จีนทำการจัดสรรและกระจายปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียม
กันได้ยากยิ่งขึ้น ความไม่เท่าเทียมเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความรู้สึกแปลกแยกเป็นอื่น
ให้กับชาติพันธุ์ส่วนน้อย เมื่อรวมกับความไม่พอใจทางการจีนที่สั่งสมมานานในประวัติศาสตร์ก็ยิ่งทำให้ความตึงเครียดมีมากขึ้น21 จนถึงจุดที่ทำให้การก่อความไม่สงบ
กลับมารุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้การดำเนินมาตรการรุนแรงและกดดันของทางการจีนใน
การแก้ปัญหาระหว่าง ค.ศ. 1990-2001 เป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งที่กระตุ้นให้ความ
เกลียดชังที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมมีต่อทางการจีนและชาวฮั่นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่าง
รวดเร็ว
อย่างไรก็ดี หลัง ค.ศ. 2002 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 สถิติ
ปัญหาการก่อการร้ายโดยชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียงลดลงอย่างน่าพอใจ แม้ว่าการ
ทำลายสิ่งของของทางการยังมีอยู่บ้าง แต่การวางเพลิงหรือโจมตีสถานที่ราชการนั้นไม่มี
ปรากฏ รวมทั้งการสังหารชาวฮั่นหรือชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐก็ลดลง
อย่างมาก
นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีน
ในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1990 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2007) จีนดำเนินนโยบายต่อ
ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียง 2 นโยบาย คือ “นโยบายจู่โจมให้หนัก” กับ “นโยบาย
จัดการแบบผสมผสานหลายด้าน” ควบคู่กันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือการ
อยู่ร่วมกันอย่างสันติและก้าวหน้าระหว่างกับมุสลิมในซินเจียงกับชาวจีนฮั่น ซึ่งเป็น
ชนส่วนใหญ่ของประเทศ
1) ลักษณะของนโยบาย แนวทางปฏิบัติและผลที่เกิดขึ้น
นโยบายที่ใช้แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียงตั้งแต่ ค.ศ. 1990-2007
มีข้อพิจารณาสำคัญอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ รัฐบาลจีนใช้นโยบายสองแบบ
คือ “นโยบายจู่โจมให้หนัก” กับ “นโยบายจัดการแบบผสมผสานหลายด้าน” ซึ่งแต่ละ
นโยบายมีรายละเอียดดังนี้
• นโยบายจู่โจมให้หนัก (Strike Hard Policy)
เป็นนโยบายเด็ดขาด ที่เน้น
การใช้เครื่องมือทางการทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความมั่นคง
นโยบายนี้มีการใช้โดยรัฐบาลจีนมาอย่างยาวนานแล้ว ความหมายเดิมของนโยบายนี้
หมายถึงการปราบปรามอาชญากรรมอย่างหนัก โดยกวาดล้างและลงโทษอย่างรุนแรง
ต่อมาถูกนำไปใช้ในการปราบปรามชาติพันธุ์ส่วนน้อย จึงหมายถึง “นโยบายการจัดการ
กับผู้ก่อความไม่สงบอย่างหนักและเด็ดขาด โดยใช้กำลังตำรวจและกำลังทหารเข้าจัดการควบคุมสถานการณ์” โดยมีหลักตามกฎหมายปราบปรามอาชญากรรมของจีน 3
ประการ22 คือ 1) ใช้กำลังเข้าปราบปราม 2) ลงโทษอย่างรุนแรง 3) โทษสูงสุดคือ
การประหาร นโยบายนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับชนกลุ่มน้อยในทิเบตใน ค.ศ. 1983
ต่อมาทางการจีนได้นำนโยบายนี้มาใช้ในซินเจียงตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ภายหลังมีการเพิ่ม
ความเข้มข้นใน ค.ศ. 1997 และต่อมาใน ค.ศ 2001 มีการตีความใหม่ เพื่อให้มี
ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
• นโยบายจัดการแบบผสมผสานหลายด้าน (Comprehensive Management)
หมายถึง นโยบายที่หวังผลทางการเมืองโดยใช้เครื่องมือและมาตรการในหลายด้าน
ร่วมกัน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น จีนเคยใช้นโยบายนี้
เพื่อหล่อหลอมประชาชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคต้นๆ ของการสถาปนา
สาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “นโยบายปรับทัศนะทาง
การเมืองให้ถูกต้องโดยจัดการแบบผสมผสานหลายด้าน” (Comprehensive Political
Rectification)23 โดยเป็นนโยบายที่ถูกประกาศใช้ในซินเจียงอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.
1991 เป็นต้นมา
2) การแบ่งระยะเวลาของนโยบาย
แม้ว่านโยบายของทางการจีนในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียง
ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 จนถึงปัจจุบัน (เดือนมีนาคม ค.ศ. 2007) จะเป็นนโยบายแบบ
ควบคู่กันสองนโยบาย แต่นโยบายที่ใช้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ซึ่งนโยบายใน
แต่ละช่วงมีมาตรการในการดำเนินการแตกต่างกันไม่น้อย เพราะจีนใช้วิธีการคิดแบบ
ปรัชญามาร์กซิสต์ที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” หรือหมายถึงการปรับนโยบายและ
ตีความนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา
ดังนั้นนโยบายในแต่ละช่วงจึงถูกปรับเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด นโยบาย 3
ช่วงเวลาดังกล่าวสามารถแบ่งได้ดังนี้
๏ นโยบายแนวเด็ดขาดและบีบคั้นกดดัน (ค.ศ. 1991-1996) ๏
ทางการจีนได้ใช้นโยบายทั้งสอง คือ “นโยบายจู่โจมให้หนัก” กับ “นโยบาย
จัดการแบบผสมผสานหลายด้าน” โดยตีความว่าหมายถึงการดำเนินนโยบายด้วย
แนวทางเด็ดขาด และบีบคั้นกดดันอย่างรุนแรงในการแก้ปัญหาการก่อการความไม่สงบ
โดยชนกลุ่มน้อยมุสลิม
4) ผลของการแก้ไขปัญหา
ผลจากการปรับนโยบายของทางการจีนได้ส่งผลดีต่อสถานการณ์อย่างมาก
โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือกับต่างประเทศนั้น ทำให้กลุ่มติดอาวุธที่ก่อความไม่
สงบหรือก่อการร้ายอ่อนแอลงเพราะขาดความสนับสนุนและที่พักพิง ตัวอย่างที่สำคัญ
ที่สุดคือ ความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถานนำไปสู่ผลสำเร็จในการร่วมกันปราบปราม
การก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรมใน ค.ศ. 2003 กล่าวคือ สามารถร่วมกันทำลายฐาน
ฝึกปฏิบัติการของ ETIM ในเขตแดนปากีสถานได้สำเร็จ และ Hasan Mahsum
ผู้นำของ ETIM ได้ถูกทหารปากีสถานสังหารจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 200387
และหลังจากนั้นยังมีการร่วมกันทลายฐานฝึกปฏิบัติการตามแนวชายแดนได้อีกหลายแห่ง
การที่จีนเปลี่ยนเป้าหมายการปราบปรามไปสู่ “สามสิ่งชั่วร้าย” และหลีกเลี่ยง
การพาดพิงถึงศาสนา ทำให้จีนได้รับความเห็นใจจากบางประเทศในโลกมุสลิมในการ
ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่ก่อความไม่สงบ/ก่อการร้าย เช่น แอลเบเนียยินยอมส่ง
ผู้ก่อการร้าย 5 รายที่สหรัฐฯ ส่งมาลี้ภัยในแอลเบเนียตั้งแต่ ค.ศ. 2001 ให้กับทางการ
จีนใน ค.ศ. 200688
การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้การ
กระจายเจริญสู่ประชาชนเป็นไปมากขึ้น
โดยใน ค.ศ. 2006 ซินเจียงมีเงินลงทุนจาก
ต่างประเทศ 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีกิจการที่เป็นของต่างชาติ 1,539 กิจการ
มูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้า 5.17
พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงานให้ประชาชนได้หลายแสนอัตรา89
การที่จีนเห็นว่าอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียงมี
พลังและศักยภาพที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศได้
โดยนำไปใช้ในการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับเอเชียกลางและประเทศในโลก
มุสลิมอื่นๆ รวมทั้งนำไปใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในซินเจียง โบราณสถาน
และมัสยิดเก่าแก่อันงดงาม กลายเป็นสิ่งดึงดูดมุสลิมจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวและ
แสวงบุญในซินเจียง เมื่อเป็นเช่นนั้นมุสลิมจึงมีส่วนร่วมในการสร้างและแบ่งปันความ
เจริญ อันทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างมาก90 ที่สำคัญคือการส่งเสริมการใช้
ภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลข่าวสารข้อมูลต่างๆ เป็นภาษาถิ่น ทำให้ความรู้
และข้อมูลข่าวสารต่างๆ เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น มีความเห็นที่ควรเป็นมากขึ้น
และตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อโดยกลุ่มติดอาวุธที่ก่อความไม่สงบ/ก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน และกลุ่มที่มีแนวคิดตกขอบ (extremist) ได้ยากขึ้น ซึ่งนับ
ตั้งแต่ ค.ศ. 2003-2007 ยังไม่มีสถานการณ์ที่รุนแรงหรือการก่อจลาจลโดยมุสลิมใน
ซินเจียงที่ปรากฏเป็นข่าวระดับชาติแต่ประการใด
สรุป
จากบทเรียนของการแก้ปัญหาความไม่สงบในซินเจียงของรัฐบาลจีนจะเห็นได้
ว่า นโยบายที่เน้นการปราบปรามและตอบโต้ด้วยความรุนแรงเป็นหลักในช่วง ค.ศ.
1991-1996 นั้น เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะยิ่งเป็นการสร้าง
ความรู้สึกในทางลบต่อทางการ และนำไปสู่การต่อต้านที่รุนแรงขึ้น แม้ว่าจีนจะมีการ
ปรับนโยบายในช่วง ค.ศ. 1997-2001 โดยเน้นการผสมผสานการปราบปรามอย่าง
เด็ดขาดและบีบคั้นชาวมุสลิมอย่างหนัก ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การไม่ใส่ใจ
ความเป็นอยู่และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน จึงเป็นนโยบายที่ไม่อาจแก้ปัญหา
ได้อย่างตรงจุด และยิ่งเพิ่มประเด็นความขัดแย้งให้ขยายจากเรื่องการเมืองไปสู่เรื่อง
เศรษฐกิจด้วย
สำหรับในช่วง ค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2007) จีนหันไปใช้นโยบาย
ที่เน้นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธแทนการบีบบังคับชาวมุสลิม และส่งเสริมอัตลักษณ์
ของชาวมุสลิม เป็นการแก้ปัญหาที่ส่งผลดีมากกว่านโยบายอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต
เนื่องจากช่วยให้มุสลิมมีความสุขในการเป็นประชาชนของจีนเป็นครั้งแรก และหัน
มาร่วมมือกับทางการจีนในการพัฒนาพื้นที่ซินเจียง จีนยังได้รับประโยชน์จากการใช้
อัตลักษณ์ของคนเหล่านี้ผูกสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางอีกด้วย
อนึ่ง พึงสังเกตว่า การอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไข
ปัญหานั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้จีนสามารถแก้ไขปัญหาในซินเจียงอย่างได้ผล
ที่มา จุลสารความมั่นคงศึกษา, เมษายน 2553
วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
วิกฤตการณ์ของตลาดหุ้นไทย 2522-ปัจจุบัน
วิกฤตการณ์ของตลาดหุ้นไทย (2522-ปัจจุบัน)
วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย (ชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้นคือ The Securities Exchange of Thailand) ได้เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็น ทางการครั้งแรกและได้ทำการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น "The Stock Exchange of Thailand" (SET) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534
ปี 2522-กลางปี 2525 วิกฤตเศรษฐกิจ/วิกฤตราคาน้ำมัน
ในช่วงต้นปี 2522 ได้เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มโอเปคได้ขึ้นราคาน้ำมันถึง 30% นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดดุล บัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาก ภาวะเงินตึงตัวทวีความรุนแรงการลงทุนภาคเอกชนซบเซาอย่างหนัก การขาดดุลการค้ายังเป็นผลให้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงจนถึงระดับวิกฤติ ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องตัดสินใจลดค่าเงินบาทลง 9% เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2524
ในช่วงต้นปี 2522 ยังได้เกิดวิกฤตการณ์ "ราชาเงินทุน" ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน วิกฤติที่รุมเร้าทั้งภายในและภายนอกทำให้ตลาดหุ้นซบเซายาวนานถึง 4 ปี ปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งปีหดหายไปอย่างรวดเร็วจาก 22,533 ล้านบาท ในปี 2522 เหลือเพียง 2,898 ล้านบาท ในปี 2524 นักเล่นหุ้นทุกคนอยู่ในอาการที่สิ้นหวัง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำจากระดับ 259.82 จุด เมื่อต้นปี 2522 เหลือ 149.40 จุด ณ ปลายปี ในปี 2523 ดัชนียังคงตกต่ำต่อเนื่องปิดที่ 124.67 จุด และลดลงเหลือ 106.62 จุดเมื่อปลายปี 2524 คิดเป็นการปรับตัวลงเกือบ 60%
ปี 2526-2528 วิกฤตทรัสต์ล้ม/ลดค่าเงินบาท
หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ข่าวสถาบันการเงินมีฐานะง่อนแง่นก็เกิดขึ้นมาตลอด เริ่มจากข่าวการสั่งถอนใบอนุญาตราชาเงินทุนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2522 หลังจากนั้นตลาดหุ้นก็ไม่ว่างเว้นจากข่าวการสั่งปิดทรัสต์ แชร์ล้ม แบงก์มีฐานะการเงินอ่อนแอ รวมแล้ววิกฤตการณ์ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทำให้บริษัทต่างๆ ถูกถอนใบอนุญาตในช่วงปี 2526-2528 มากถึง 20 บริษัท และในเดือนพฤศจิกายน 2527 ได้มีการประกาศลดค่าเงินบาทลงอีก 17.3% ตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2526-2528 ทรงตัวยาวนานถึง 3 ปีเต็มๆ ดัชนีในปี 2526 ปิดที่ 134.47 จุด มีปริมาณการซื้อขายทั้งปี 9,323 ล้านบาท ในปี 2527 ดัชนีปิดที่ระดับ 142.29 จุด วอลุ่มการซื้อขายทั้งปีกระเตื้องขึ้นเป็น 10,595 ล้านบาท และในปี 2528 ดัชนีปิดที่ 134.95 จุด มีวอลุ่มทั้งปี 15,333 ล้านบาท
ปี 2530 เหตุการณ์"Black Monday"
วิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดของตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ เหตุการณ์ "วันจันทร์ทมิฬ" (Black Monday) วันที่ 19 ตุลาคม 2530 ส่งผลให้ตลาดหุ้นในตลาดสำคัญๆ ของโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และรวดเร็ว วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีจุดกำเนิดที่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาดิ่งลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 508.32 จุด หรือคิดเป็น 22.60% มาปิดตลาดที่ระดับ 1,738.74 จุด เพียงวันเดียว ความมั่งคั่งของคนอเมริกันหายไปประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดหุ้นไทยในวันนั้น ดัชนีปรับตัวลดลง 36.64 จุด หรือ 8% จากระดับ 459.01 จุด ในวันที่ 19 ต.ค.2530 มาปิดต่ำสุดที่ 243.97 จุด ในวันที่ 11 ธ.ค. 2530 ตลาดหุ้นไทยซบเซาอยู่ประมาณ 2 เดือน ปรับตัวลดลงประมาณ 46% ก่อนที่จะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะมีการจัดตั้งกองทุนร่วมพัฒนา (อายุโครงการ 6 ปี) มูลค่า 1,000 ล้านบาท เริ่มเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2530(1987)
ปี 2533 สงครามอ่าวเปอร์เซีย
เมื่อตลาดหุ้นไทยกลับมาบูมในปี 2531-2532 ในปีถัดมา 2533 ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างมาก คือเหตุการณ์อิรักบุกเข้ายึดครองคูเวต เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ซึ่งก่อให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปซื้อขายสูงสุดที่ระดับ 1,143.75 จุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 แต่เพียง 3 สัปดาห์ ดัชนีดิ่งลงมากถึง 39% ต่ำสุดที่ระดับ 695.81 จุดก่อนที่จะกระเตื้องดีขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นไทยต้องตกอยู่ในพะวังและความไม่ชัดเจนของสงครามถึง 3 เดือนเต็ม กว่าที่ดัชนีจะทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 544.30 จุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2533 คิดเป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีทั้งสิ้น 598 จุด หรือ 52% (จุดสูงสุด-จุดต่ำสุด)
ปี 2535 เหตุการณ์"พฤษภาทมิฬ"
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยต้องสะดุดตัวเองอย่างแรง เหตุการณ์นี้สืบต่อมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รสช.เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ตลาดหุ้นตกไปทันที 40.63 จุด และวันถัดมาตกลงอีก 57.40 จุด จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น ครั้งนี้เกิดเหตุการณ์เสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนจำนวนมาก ตลาดหุ้นตอบรับทางลบอย่างรุนแรง ดัชนีตกลงทันที 65 จุดเหลือเพียง 667.84 จุด ก่อนจะดีดกลับ 61 จุดในวันที่ 21 พ.ค. 2535
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบตลาดหุ้นก็ตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก วอลุ่มเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 7,337 ล้านบาท ในไตรมาสแรกเหลือเพียง 4,871 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนกันยายน 2535 ในช่วงนี้เองก็ปรากฏชื่อของ "เสี่ยสอง" หรือนายสอง วัชรศรีโรจน์ เข้ามาทำเงินจากวิกฤตการณ์ตลาดหุ้น และตลาดกลับมาคึกคักจนลืมอดีตเหตุการณ์นองเลือดลงอย่างสิ้นเชิง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ดำเนินการกล่าวโทษเสี่ยสอง กับพวกในข้อหาปั่นหุ้นธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ทันทีที่ตลาดหุ้นเริ่มมีอาการซวนเซ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 กระทรวงการคลังก็ประกาศจัดตั้งกองทุน 5,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากธนาคารกรุงไทยเข้ามาพยุงหุ้น และยังขอความร่วมมือจากโบรกเกอร์ 40 รายลงขันจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นอีก 10,000 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้น
ปี 2540 ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ก่อนที่จะประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างไม่โงหัวขึ้นเลย เป็นการตีตั๋ว "ขาลง" ขาเดียว มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 จากระดับ 1,410.33 จุด ดิ่งลงมาตลอดต่ำสุดที่ระดับ 457.97 จุด ในเดือนมิถุนายน 2540 ลดลง 953 จุด หรือ 67% ภายในระยะเวลา 17 เดือน นับเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นการตกต่ำที่หนักหน่วงยาวนาน ต่างจากวิกฤตการณ์ทุกครั้งที่ตกต่ำเพียงไม่กี่เดือนก็มักจะฟื้นตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย
เริ่มจากปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน จนผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่น ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก แบงก์ชาติสู้จนเงินหมดหน้าตัก ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จึงตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแบบ Managed Float รวมทั้งต้องประกาศปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร ตลาดหุ้นตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ดัชนีดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 207 จุดในเดือนกัยยายน 2541 เป็นช่วงขาลงยาวนานที่สุดถึง 33 เดือน นับแต่ต้นปี 2539 ดัชนีปรับตัวลดลง 1,203 จุด คิดการปรับตัวลดลง 85% มูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) ลดลงจาก 3,969,804 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 759,451 ล้านบาท ความมั่งคั่งของคนไทยหายวับไปต่อหน้าต่อตา 3,210,353 ล้านบาท
ปี 2544 เหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐ
เหตุการณ์บึ้มสหรัฐครั้งนั้น สร้างความเสียหายค่อนข้างมาก แม้ว่าเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา แต่วิถีความเสียหายกลับแผ่ไปทั่ว มาร์เก็ตแค็ปของตลาดหุ้นไทย 6 วันทำการ (11-20 ก.ย.2544) สูญไปแล้วกว่า 2.51 แสนล้านบาท เป็นความเสียหายชนิดเฉียบพลันอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมในสหรัฐตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 330 จุด มีมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแค็ป) อยู่ที่ 1.607 ล้านล้านบาท หลังเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ระดับ 266 จุด คิดเป็นการปรับตัวลดลงประมาณ 19% ตลาดหุ้นซึมอยู่นานกว่า 2 เดือน ก่อนจะดีดตัวกลับ และเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่
ปี 2549 มาตรการแบ็งค์ชาติ 108 จุด
เป็นเหตุการณ์แบ็งค์ชาติออกมาตรการสะกัดกั้นเงินบาทแข็ง เป็นผลจากความกังวลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% สำหรับการนำเข้า เงินทุนระยะสั้น การประกาศออกมาในเย็นวันที่ 18 ธค 2549 หลังตลาดหุ้นปิดแบ็งค์ชาติประกาศออกมาตรการ 30% หุ้นปิด ลบ 5.74 จุด จากนั้นเช้าวันที่ 19 ธค 2549 ตลาดเปิดหุ้นดิ่งทันที ลบกว่า100จุด ก่อนจะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที และทำการซื้อขายต่อราวเที่ยงกว่าๆ ตลาดปิดภาคเช้า ลบ 83 จุด ในภาคบ่ายตลาดรูดลงไปมากสุดถึง -142.63 จุด และปิดตลาดที่ระดับ 622.14 ลดลง 108.41 จุด หรือ 14.84% ซึ่งดัชนีปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี นับจากระดับ 621.57 เมื่อ 28 ต.ค.47 ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมามาก โดยต้องหยุดพักซื้อขายชั่วคราว 30 นาทีระหว่าง 11.29-11.59 น. เนื่องจากดัชนีปรับลงถึงระดับ 10% ณ. วันนั้นวันเดียวเงินในตลาดหุ้นลดลงกว่า 5แสนล้านบาท
ปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์รุนแรงใกล้ตัวและลามมาเร็วกว่าที่คาดกันไว้มาก จากโลกซีกอเมริกาลุกลามไปสู่ยุโรป เข้าถึงเอเชีย และวิ่งต่อไปยังตะวันออกกลาง เรียกว่าวินาทีนี้ทุกส่วนของโลกโดนพิษวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กันถ้วนหน้า ความเชื่อมโยงถึงกันเหมือนดังปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดเงินและกระทบถึงตลาดทุน ซึ่งในวันนั้นเข้าขั้นวิกฤติหนักไม่แพ้การล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่งในต่างชาติ อันมีต้นเหตุจากปัญหาซัพไพร์ม
ความจริงนักลงทุนต่างชาติจับสัญญาณได้ถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2551 ต่างชาติเริ่มเทขายหุ้นในภูมิภาคเอเชียทิ้ง เพื่อนำเงินกลับไปพยุงบริษัทแม่ที่ใกล้ล้มละลาย บางส่วนก็นำไปเติมสภาพคล่องกรณีที่เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด เพราะความวิตกกังวลในปัญหา เรียกได้ว่าทำทุกวิธีทางเพื่อความอยู่รอด แต่ในท้ายแล้วการเทขายหุ้นออกไปก็ยังไม่สามารถรั้งชีวิตบางบริษัทได้จนต้องปล่อยให้ล้มละลายไป ความแรงของการเทขายยังมีอย่างต่อเนื่องเพราะความวิตกจากนักลงทุน
โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 51 ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเนื่องด้วยดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากดัชนีราคาปิดวันทำการก่อนหน้า 43.29 จุด คิดเป็น 10.00% อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 ของข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์
การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องประกาศใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ เพื่อพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเดือนต.ค.ปีนั้นถึง 2 ครั้ง หลังดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรง 10% ในวันเดียว ปี 2551 เป็นปีที่มีข่าวหนาหู และปรากฏเป็นจริงที่สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล้มระเนระนาด ต้องเพิ่มทุน ถูกเทกโอเวอร์ และล้มละลาย จนมาถึง “เลแมน บราเดอร์ส” และ “เอไอจี” ตลาดหุ้นของไทยได้ซึมซับรับพิษไปอย่างเบ็ดเสร็จมาแตะในระดับต่ำสุด 380.05 จุด ในวันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน ทั้งที่ในต้นปีเดียวกันนั้น ณ วันที่ 2 มกราคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 842.97 จุด เป็นดัชนีที่ลดลงต่ำพอๆ กับปี 2532และเป็นดัชนีที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ที่มา http://www.stock2morrow.com/archive/index.php/t-5202.html
วิกฤตตลาดหุ้นจีน
มองข้ามวิกฤตกรีซดีไหม จีนต่างหากของจริง จับตา"ฟองสบู่แตก เสี่ยงลามทั้งโลก พิษปชช.กู้เงินมาเล่นหุ้น"!
วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาวิกฤตเงินกู้และสถานการณ์ขัดแย้งของกรีซและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดอีกฟากหนึ่งนั้นในภูมิภาคเอเชียกลับมีสถานการณ์ที่ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆเมื่อในช่วงที่ผ่านมาปรากฎข่าวที่เกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเริ่มเผชิญปัญหาหนักอย่างต่อเนื่องและยังมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อออกไป
สถานการณ์นี้ทำให้เกจิผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้เริ่มออกมาเตือนแล้วว่าความเคลื่อนไหวนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่โลกควรจับตาโดยหากส่งผลกระทบต่อโลกเมื่อไหร่วิกฤตกรีซที่หลายคนกำลังให้ความสนใจกันอยู่จะไม่มีทางเทียบได้เลยหากประเมินถึงความจริงที่ว่า จีนคือชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก และมีจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นปัจจัยพื้นฐาน!
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งที่ทั่วโลกควรให้ความสนใจอย่างแท้จริงตอนนี้ คือ ตลาดหุ้นจีน หาใช่วิกฤตเงินกู้ของกรีซ ที่จริงๆ แล้วมีจีดีพีเพียงเล็กน้อยเทียบได้เท่ากับแค่เศรษฐกิจของคาซัคสถาน อัลจีเรีย หรือกาตาร์เท่านั้น ขณะที่จีดีพีของจีน มีมูลค่าสูงเป็น"อันดับ 1"ของโลก จากการบริโภคของประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคน โดยภาวะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ ภาวะฟองสบู่ ที่หลายฝ่ายกำลังกังวลหนักกว่ามีสิทธิจะแตกระเบิด และมันจะแพร่ผลกระทบไปทั่วโลก และจะฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งไปตาม ๆ กัน จากผลกระทบของความเป็นยักษ์ใหญ่ผู้บริโภคของจีน
สถานการณ์นั่นคือ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนได้เกิดพฤติกรรมกระตุ้นตลาดและการเก็งกำไรกันอย่างผิด ๆ โดยปรากฎว่า ประชาชนได้แห่"กู้เงิน"เพื่อซื้อหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้และตลาดเซิ่นเจิ้น ในช่วงที่รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนแห่เข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน และปรากฎว่า ภาวะแห่ซื้อหุ้นดังกล่าวได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและราคาหุ้นเพิ่มสูงอย่างมาก เพราะความคึกคักของตลาดที่มาจากแรงซื้อ(ผิดๆ)ของนักลงทุน ซึ่งก็คือประชาชนจีน ทำให้ตลาดหุ้นกลายเป็นอยู่ในภาวะฟองสบู่ ที่เติบโตอย่างล่อแหลม
ก่อนที่เมื่อเดือนที่แล้ว จะปรากฎสัญญาณร้ายขึ้น เมื่อตลาดหุ้นจีนเริ่มตก และทำให้ประชาชนหรือนักลงทุนทั้งหลายต่างรีบเทขายหุ้นของตัวเอง เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนหนี้ที่กู้มาซื้อหุ้นเล่น และภาวะแห่เทขายหุ้นทิ้งดังกล่าวขยายตัวบานปลายฉุดให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดิ่งตกอย่างหนัก ขณะที่ว่ากันว่าการที่บรรดาโบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์จีนตั้งคงตั้งหน้าตั้งตากระตุ้นการขายหุ้นให้แก่ประชาชนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ดังกล่าวขึ้น
โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกหากคิดตามมูลค่าของบริษัทได้ตกฮวบถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย.เข้าสู่ภาวะหุ้นหมี ส่วนตลาดเซิ่นเจิ้นที่มีขนาดเล็กกว่า ปรากฎว่าตกหนักเช่นกันและยังหนักกว่า หรือ 31 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเดียวกัน ภาวะหุ้นตกนี้ถือว่าสวนทางเมื่อช่วงต้นปีที่ตลาดหุ้นจีนกำลังเพิ่มมูลค่าของตลาดอย่างมหาศาล ขณะที่ภาวะฟองสบู่มีเค้าว่าจะแย่หนักขึ้นหากนักลงทุนตื่นตระหนกเพราะตระหนักว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทต่าง ๆ
นายไมเคิล เพ็นโต้ ประธานและผู่ก่อตั้งหน่วยบริหารพอร์ตลงทุน"เพ็นโต"บอกว่า การขยายตัวของตลาดหุ้นจีน ไม่ได้ถูกสนับสนุนจากแรงซื้อพื้นฐานที่ถูกต้อง แต่มาจากการกู้ยืมอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ขณะที่นายไล่ หม่า ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิค บิสสิเนส ของสหราชอาณาจักร บอกว่า เขาวิตกว่า รัฐบาลจีนอาจเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทใหญ่เพื่อให้มูลค่าหุ้นบริษัทเหล่านี้อยู่ในระดับสูงแต่ปล่อยทิ้งไม่สนใจบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าโดยที่ผ่านมาภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดการหลั่งไหลของเงินทุนที่เข้าสนับสนุนบริษัทของรัฐที่มีขนาดใหญ่
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจจีนทรุดเพราะฟองสบู่แตกจะกระทบต่อโลกภายนอกนั้นก็เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และปี 2000โดยปัจจุบันจีนซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปและสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจจีนทรุด ก็ย่อมกระทบสองชาติคู่ค้าหลักนี้ไปด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต่างก็มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ปรากฎว่าธนาคารของสหรัฐฯเข้าไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างมากมาย หรือมากกว่ากรีซถึง 10 เท่า
โดยแรงสะเทือนแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ปฎิกิริยาของตลาดหุ้นเอเชียจะพากันร่วงดิ่งตกก่อนใครเพื่อน หากจีนยังไม่สามารถยับยั้งภาวะ"เลือดไหลออก"นี้ได้ นอกจากนี้ อีกประการหนึ่ง ก็คือ จีนเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้าอุปโภคหลายใหญ่ของโลก หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบ จีนก็จะลดปริมาณการบริโภคดังกล่าว ซึ่งนั่นจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดนอกประเทศ และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกด้วย
ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาล่าสุดของจีนขณะนี้เพื่อพยุงตลาดก็คือ 1.การให้ธนาคารกลางอัดฉีดเงินทุนเข้าไปยังตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น ไฟแนนซ์ แต่หากลงทุนผิดพลาดหรือขาดทุน นักลงทุนก็จะต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่คืนอย่างรวดเร็ว 2.บริษัทโบรกเก่อร 21 บริษัทรับปากที่จะใช้เงินกว่า 1,930 ล้านดอลลาร์ ช่วยกันซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด โดยมีเป้าหมายจะดันให้ดัชนีของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ทะลุ 4,500 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนมิ.ย. ก่อนหุ้นดิ่งตก
3.บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ 28 บริษัท ได้ระงับการเข้าตลาดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์และนิ่งและมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้การเข้าตลาดของกลุ่มผลักดันให้ตลาดหุ้นจีน ปั่นป่วนขึ้นไปอีก จากการแห่ซื้อหุ้นจดทะเบียนของบริษัทน้องใหม่เหล่านี้
คงต้องจับตากันว่า มาตรการเหล่านี้จะสามารถฉุดให้จีนพ้นจากวิกฤตฟองสบู่แตกได้หรือไม่ และเชื่อว่านับแต่นี้ไปหลายฝ่ายต้องจับตาดูจีนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองได้อย่างรอดปลอดภัยได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน!
ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1436412642
วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้น VI
วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้น VI
ประวัติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้น VI ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และไม่ฟุ้งเฟ้อ
คนเล่นหุ้นที่รวยที่สุดในโลก ...
วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีชื่อเต็มว่า วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 1930 (ค.ศ. 1930) ที่เมืองโอแมฮา ในรัฐเนแบรสกา พ่อของเขาชื่อโฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ เป็นวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน และยังเป็น Stock Broker อีกด้วย ส่วนมารดาของเขามีชื่อว่าไลล่า บัฟเฟตต์ เขามีพี่น้องอยู่ 2 คน คือดอริส และเบอร์ตี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบหมกมุ่นกับตัวเลขตั้งแต่อายุยังน้อย และมีความจำอันดีเลิศ เขาสามารถจดจำจำนวนประชากรของเมืองใหญ่ในสหรัฐได้อย่างมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนที่เขาอายุ 6 ขวบ เขาได้จ่ายเงิน 25 เซนต์ซื้อโค๊กจำนวน 6 แพ็ค และนำมาขาย ในราคา กระป๋องละ หนึ่งเหรียญ และเมื่ออายุ 11 ขวบ เขาทำหน้าที่เป็นเด็กจดกระดานในบริษัทหุ้นของพ่อของเขา และในปีเดียวกันนั้น เขาเริ่มซื้อหุ้นเป็นครั้งแรก ด้วยเงินอันน้อยนิด เขาสามารถซื้อได้แค่ 3 หุ้น หุ้น Cities Service Preferred ในราคาหุ้นละ 38 เหรียญ เมื่อซื้อแล้วราคาได้ตกมา 27 เหรียญ แต่เมื่อหุ้นกลับขึ้นมาอีกที เขาก็ขายไปที่ 40 เหรียญ นั่นเป็นการทำกำไรครั้งแรกในชีวิต ของเขา ได้มาเน็ต ๆ แค่ 5 เหรียญ หลังจากนั้นต่อมาไม่ทราบว่าใช้เวลานานนานเท่าไร หุ้นนั้นทะยานไปถึงหุ้นละ 200 เหรียญ
นอกจากการเล่นหุ้นแล้ว เขายังทำงานพิเศษอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเร่ขายของเคาะประตูตามบ้าน ส่งหนังสือพิมพ์ จนเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี เขาสามารถเก็บหอมรอมริบได้ เงินจำนวนถึง 1200 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียวในสมัยนั้น และเขาได้ทำเงินก้อนนี้ไปซื้อที่ดินราว ๆ 100 ไร่ เพื่อให้คนเช่าทำการเกษตร
ต่อมาเขาได้เข้าเรียนระดับมัธยมที่ Woodrow Wilson High School ในกรุงวอชิงตันดีซี และเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยการเงินวอร์ตัน ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระหว่างปี 1947 – 1949 แต่จากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้มีความสนใจด้านการลงทุนเพราะได้แรงบันดาลใจจากการ อ่านหนังสือของ Benjamin Graham ที่มีชื่อว่า The Intelligent Investor หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ของ value investors และเขาก็ได้รับความรู้มากมายจากหนังสือเล่มนี้
เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้เรียนหนังสือกับปรมาจารย์ในใจเขาคือ Benjamin Graham และเขาได้รับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1951
หลังจากเรียนจบ เขาก็กลับบ้านเกิดและเข้าทำงานเป็นเซลล์แมนในบริษัทของพ่อตัวเอง ระหว่างปี 1951 – 1954 พอมาปี 1954 – 1956 เขาก็ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงของบริษัท Graham-Newman Corp. ที่กรุงนิวยอร์ก
ในปี 1957 เขากลับมาถิ่นเกิดอีกครั้ง และเริ่มก่อตั้งบริษัทลงทุนที่มีชื่อว่า Buffett Partnership, Ltd. มีนักธุรกิจมากมายใส่เงินร่วมทุน จุดประสงค์ของเขาก็คือต้องการเอาชนะดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งเขาก็ทำได้ผลในปี 1969 อัตรากำไรที่บริษัทเขาทำได้นั้นสูงถึง 29.5 % เปรียบเทียบกับดัชนีดาวโจนส์ แค่ 7.4 % เท่านั้น
ในปี 1962 เขาได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทสิ่งทอ Berkshire Hathaway ในราคาไม่ถึง 8 เหรียญต่อหุ้น เขาได้ขายโรงทอผ้าทิ้งไป แปลงโฉมบริษัทเป็น Holding Company และนี่เองที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของบริษัทที่ต่อมายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และในขณะเดียวกันเขาก็ได้แต่งงานกับ ซูซาน ทอมป์สันในปี ค.ศ. 1952 และมีลูก 3 คน คือซูซี่ โฮเวิร์ด และปีเตอร์ แต่ชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ต้องแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1977 โดยที่ไม่มีการหย่าร้าง และภรรยาของเขาก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2004
ชีวิตส่วนตัวของเขาเรียบง่ายและสมถะมาก เขายังคงขับรถเก่าๆ ไปทำงาน บ้านที่อยู่ก็บ้านเก่า และเขาก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมในเมืองโอมาฮา เนบราสกา ซึ่งเป็นบ้านที่เขาซื้อมาด้วยราคา 31,500 เหรียญ เมื่อปี ค.ศ. 1958 หรือตั้งแต่ 49 ปีที่แล้ว อาหารที่กินประจำยังเป็นแมคโดนัลด์กับโค้ก ซึ่งเขากินวันละหลายๆ กระป๋องประมาณ 15 กระป๋องต่อวัน เนื่องจากเป็นสินค้าของกิจการที่เขาลงทุนอยู่ มูลค่าหุ้นของเขาเป็นล้านล้านบาท แต่เขากลับจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองเพียงปีละ 1-2 แสนดอลลาร์เท่านั้นเอง และไม่เคยขายหุ้นของตัวเองเลยตลอดชีวิต เขาขับรถเก่ายี่ห้อ Lincoln Town ไปทำงานเอง ไม่มีเลขาหน้าห้อง บนโต๊ะทำงานไม่เคยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ดูราคาหุ้น ชอบใช้ชีวิตในแบบเดิมๆ และคิดถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก และยังชอบเล่นไพ่บริดจ์กับบิลล์ เกตส์ อยู่เสมอๆ
เงินที่เขาหาได้ เขาเอามาใช้น้อยมาก ความสุขของเขาอยู่ที่การลงทุน เขาไม่ต้องการเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ไม่ให้ผลตอบแทนหรือให้ผลตอบแทนน้อย เขาคิดว่าเงินถ้าอยู่กับเขาแล้วจะโตเร็วมากและมีประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากนัก แต่ในที่สุดเขาก็บริจาคเงินให้กับมูลนิธิบิล –มิรินดา เกตส์เพื่อนของเขา เขาถือเป็นแบบอย่างของคนที่รู้จักความพอดีในการใช้ชีวิต รู้และสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า จุดความพอดีของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ที่จะปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง
ความร่ำรวยส่วนใหญ่ของเขานั้นสั่งสมในบริษัทเบิร์กเชียร์แฮทเวย์ ซึ่งมีผลกำไรหลากหลายนับจากธุรกิจการประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและการเช่าเครื่องบิน และบริษัทเบอร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาไม่มีสินค้าอะไรเลย ไม่มีการขายสินค้า ไม่มีการผลิตการบริการใดๆ รายได้จำนวนมากมายมหาศาล ทั้งหมดมาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับฉายาว่าเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก เขาสามารถเพิ่มราคาหุ้นกองทุน Berkshire ของเขาถึง 3600 เท่า และเน้นย้ำเฉพาะการลงทุนแบบ Value Investor เท่านั้น
หุ้นของเบอร์กไชร์นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่แปลกประหลาด นอกจากไม่มีการผลิตสินค้าและบริการใดๆ เลย ซื้อขายหุ้นอย่างเดียว ยังเป็นหุ้นที่ไม่เคยมีการจ่ายปันผลมาหลายสิบปี ทั้งๆ ที่มีกำไรมหาศาลทุกปี ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ ราคาหุ้นของเบอร์กไชร์ทะลุหลักล้านบาทไปแล้ว คนที่ถือหุ้นบริษัทเขาตั้งแต่วันแรก ก็ยังถือมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเชื่อในตัวบัฟเฟตต์มากๆ หุ้นบริษัทเขาจึงมีสภาพคล่องต่ำมาก ซึ่งเป็นผลดีกับกิจการ เนื่องจากจะไม่มีคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันมาป่วนราคา บริษัทของเขาจะเลือกลงทุนในหุ้นในกิจการที่เยี่ยมยอดเพียงไม่กี่ตัว โดยซื้อเมื่อตอนราคาถูกและยุติธรรม แล้วเก็บไว้ให้นานที่สุด หรือเก็บไปตลอดชีวิตเลย
สำหรับพอร์ทการลงทุนของเขาจะมีแต่กิจการที่ดีของโลก เช่น บริษัทโค้ก ยิลเลท ดิสนีย์แลนด์ เป็นต้น หุ้นที่เขาจะซื้อ จะต้องมีพื้นฐานกิจการที่ดี และเขาจะต้องรู้จักและเข้าใจว่ากิจการสามารถสร้างรายได้มาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หุ้นกลุ่มไฮเทค จะไม่ได้รับความสนใจจากเขาเลย แม้แต่ไมโครซอฟต์ เพราะเขาบอกว่า ถ้าเขาไม่รู้ว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร เขาก็จะไม่ซื้อหุ้นบริษัทนั้น ซึ่งหุ้นไฮเทคจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก จึงไม่อยู่ในข่ายลงทุน
สิ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือในการลงทุน นอกจากคุณค่าของกิจการแล้วคือ ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก ฉะนั้นการบริหารงานของบัฟเฟตต์จึงทำอย่างโปร่งใส และยึดถือประโยชน์ของทุกคนเป็นที่ตั้ง เขาไม่เคยเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการบริจาคเงินของบริษัท
หลักการเลือกลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์:
1. เป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ไม่ซับซ้อน กิจการประเภทง่ายๆ ไม่วุ่นวายนี้ จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคนิคบุคคลากรพิเศษมากมายนัก
2. เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมแข็งแกร่ง เช่นมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีการบริการเป็นพิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้
3. สามารถคาดเดาได้ คือสามารถคาดเดาผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการที่ไม่ซับซ้อนของธุรกิจนี่เอง
4. ผลตอบแทนจากส่วนของเงินลงทุนสูง (ROE) อย่างน้อย 12 %
5. มีกระแสเงินสดที่ดี
6. มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ธุรกิจที่ดี มีธรรมชาติของธุรกิจที่ดี
จากการศึกษาวอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ
1) ธุรกิจเครื่องดื่ม เช่น โค้ก
2) กลุ่มการเงินที่เกี่ยวกับรายย่อย เช่น บริษัทอเมริกันเอ็กเพรส
3) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
4) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารของแคลิฟอร์เนีย
5) หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์
กรณีหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วอร์เรน บัฟเฟต เข้าลงทุนเมื่อ 1974 จำนวน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ 30 ปีผ่านไปได้ผลตอบแทน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 15% ที่ผ่านมาเขามีหนังสือออกมาสามเล่มด้วยกัน คือ 101 เหตุผลที่คุณจะเป็นเจ้าของกิจการ เล่มที่ 2 ชื่อ บัฟเฟตต์ ซีอีโอ แต่ด้วยเนื้อหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มขึ้น ทำให้ ต้องมีเล่มที่สาม ซึ่งใช้ชื่อว่า “WARREN BUFFETT WEALTH” หรือ วอร์เรน บัฟเฟต ผู้มั่งคั่ง สำหรับหนังสือเล่มที่ 3 นี้จะใช้ภาษาเขียนที่เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น มีการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งเนื้อหาได้มาจากการศึกษาเกี่ยวกับนายวอร์เรน บัฟเฟต และบริษัทของเขา ตลอดจนได้มีการสอบถามจากผู้ใกล้ชิดของเขา และล่าสุดชื่อ The New Buffetology ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า ลงทุนอย่าง...วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งรายละเอียดในหนังสือนั้นที่สำคัญคือ The Warren Buffett Way ที่เป็นเหมือนกลยุทธ์การลงทุนพื้นฐานสไตล์บัฟเฟตต์
อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวที่สร้างความโด่งดังให้แก่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มากที่สุดในชีวิตของเขาก็คือการที่เขายกทรัพย์สินถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณสามหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญ ให้แก่มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยสองสามีภรรยาเกตส์เพื่อนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังผลให้มูลนิธินี้กลายเป็นมูลนิธิที่ร่ำรวยที่สุดในโลก นับว่าเป็นการรวมตัวทางการเงินเพื่อทำการกุศลยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ บิล เกตส์ และเมอลินดา ภริยา บอกว่า มูลนิธิหวังจะใช้ของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้ไปใช้วิจัยหาวัคซีนสยบโรคเอดส์ ร่วมกับอีก 20 โรคร้ายแรง ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละไม่รู้กี่ล้าน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มียารักษา
เงินจำนวนนี้ถือเป็นเงินบริจาคที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกที่เคยมีมา เงินนี้วอร์เรน บัฟเฟตต์หามาเองเกือบทั้งสิ้นตลอดชีวิตการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน โลก และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และไม่ฟุ้งเฟ้อ เขาเชื่อว่าเงินที่เขาได้มานั้น เขาต้องการที่จะทำในสิ่งที่มีประโยชน์และทำให้เขารู้สึกภูมิใจ และเขายังคาดหวังว่า การตัดสินใจบริจาคทรัพย์สมบัติครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างแก่บรรดาเศรษฐีทั้งหลายให้ทำบุญสร้างกุศล โดยการบริจาคให้มูลนิธิต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องแข่งกันตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ ส่วนการที่เขาบริจาคให้กับมูลนิธิของบิล เกตส์ เพราะเชื่อมั่นในนโยบายช่วยเหลือคนด้อยโอกาสจริง ๆ
บัฟเฟตต์พูดอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมากเขากล่าวไว้ว่า
“ผมรู้สึกอยู่เสมอว่าควรจะตอบแทนสังคม และครอบครัวของผมก็เห็นด้วยกับผม
คำถามก็คือว่า จะตอบแทนอย่างไร” และ“ผมไม่ใช่คนที่ปรารถนาในความมั่นคั่งอย่างราชา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางเลือกหนึ่งยังมีคนอีกจำนวน 6,000 ล้านคน ยังจนกว่าที่เรามีอยู่มาก”
บทสัมภาษณ์เขาน่าสนใจมาก เศรษฐีจากหุ้นคนนี้บอกว่า เขาซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี และเสียใจที่เขาซื้อช้าไป แต่กระนั้นก็ตาม เขาไม่เสียใจที่ใช้เงินออมที่ได้จากงานส่งหนังสือพิมพ์ ซื้อฟาร์มเล็ก ๆ เมื่อเขามีอายุ 14 ปี
ปัจจุบันถึงจะรวยแค่ไหนก็ยังอยู่ในบ้านหลังเล็กเดิมซึ่งมี 3 ห้องนอน ที่ซื้อมาหลังจากแต่งงานเมื่อห้าสิบปีก่อน เขาบอกว่าทุกสิ่งที่เขาต้องการมีอยู่ในบ้านหลังนี้ครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องซื้อใหม่
สำหรับรถยนต์นั้น เขาขับเองไปทุกแห่งหน โดยไม่มีคนขับหรือผู้รักษาความปลอดภัยไปด้วยเลย ยิ่งกว่านั้นเขาไม่มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเหมือนมหาเศรษฐีทั้งหลาย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของบริษัทเครื่องบินเจ็ตที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ก็ตาม
เมื่อมีเวลาว่างเขาไม่ไปสังสรรค์กับเพื่อนมหาเศรษฐีไฮโซ งานอดิเรกของเขาเมื่อกลับถึงบ้านคือทำข้าวโพดคั่วเอง และกินไปนั่งดูโทรทัศน์ไป เพราะนี่คือความสุขของเขา
ชาย คนนี้ปัจจุบันอายุ 77 ปี เป็นผู้บริหารในบริษัทต่าง ๆ ได้เงินเดือนรวมกันประมาณปีละ 3.6 ล้านบาท แต่ทุกวันนี้ มีเงินทองและทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และเคยครองแชมป์เป็นมหาเศรษฐีเป็นอันดับ 2 ของโลกนานถึง 4 ปีติดต่อกัน ก่อนจะตกลงมาเป็นอันดับ 3 ในปัจจุบัน
วอร์เรนต์ บัฟเฟท รู้จักคำว่ากำไรครั้งแรก เมื่อขายน้ำอัดลมโค๊กขวดละ 5 เซ็นต์ จากต้นทุนเพียงขวดละกว่า 4 เซ็นต์ ซื้อหุ้นบริษัทแรก เมื่ออายุ 11 ปี ขายได้กำไรครั้งแรกในชีวิตถึงหุ้นละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ซื้อที่ดิน หรือ ฟาร์ม ครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยเงินสะสมจากการส่งหนังสือพิมพ์
ปี 2486 วอร์เรน บัฟเฟท อายุ 13 ปี ได้รับเงินคืนภาษีเป็นครั้งแรกในชีวิต 35 เหรียญสหรัฐ จากงานขายจักรยาน อายุ 15 ปี ใช้เงิน 25 เหรียญสหรัฐ ลงทุนกับเพื่อนในชั้นมัธยมปลาย ซื้อตู้เกมส์พินบอลล์มือ 2 ให้บริการในร้านตัดผมชาย 3 เดือนต่อมา บัฟเฟทและเพื่อน มีตู้เกมส์พินบอลล์ถึง 3 เครื่องให้บริการถึง 3 แห่ง อายุครบ 20 ปี เข้าเรียนที่ โคลัมเบีย บิสสิเนส สกูล มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อต้องการเรียนกับ 2 นักวิเคราะห์หุ้นชื่อดัง เบนจามิน กราแฮม และ เดวิด ด๊อดด์
1 ปี ต่อมา จบการศึกษาจากโคลัมเบีย บิสสิเนส สกูลเสนอตัวทำงานฟรีกับ นักวิเคราะห์หุ้นชื่อดัง เบนจามิน กราแฮม แต่ถูกปฏิเสธ เริ่มซื้อหุ้นเล็กน้อยกับบริษัทผลิตน้ำมัน เท็กซาโก้ แต่ล้มเหลว เข้าทำงานเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น ได้โอกาสสอนหนังสือให้นักศึกษาภาคค่ำมีอายุเฉลี่ยแก่กว่า วอร์เรน บัฟเฟทในขณะนั้นถึง 2 เท่า ที่มหาวิทยาลัยเนบราสก้า ปีที่ 22 แต่งงานครั้งแรกกับ ซูซาน ทอมสัน
ปี 2497 เบนจามิน กราแฮม กลับเสนองานให้ วอร์เรน บัฟเฟท ด้วยค่าตอบแทนปีละ 12,000 เหรียญสหรัฐ เพียง 2 ปีต่อมา เบนจามิน กราแฮม เกษียณตัวเอง และปิดธุรกิจหลักทรัพย์ วอร์เรน บัฟเฟท กลับไปเมืองโอมาฮา ตัดสินใจตั้งธุรกิจการลงทุน ของตัวเองใช้ชื่อว่า บัฟเฟท แอสโซซิเอท ลิมิเทด วอร์เรน บัฟเฟท มีเงินเก็บจาก 9,800 มาเป็น 140,000 เหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยมาถึง 6 ปี
ปี 2505 มีอายุครบ 32 ปี วอเรนต์ บัฟเฟท รู้จักบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ เป็นครั้งแรก ซึ่งทำธุรกิจสิ่งทอ ตัดสินใจซื้อหุ้นมากถึง 49% ในราคาเสนอขายต่ำกว่าหุ้นละ 8 เหรียญสหรัฐ
จากนั้น 3 ปี วอร์เรนต์ บัฟเฟท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ ปี 2512 เมื่ออายุได้ 39 ปี วอร์เรน บัฟเฟท ปิดบริษัทของตัวเองที่มีชื่อว่า บัฟเฟท แอสโซซิเอท ลิมิเทด และคืนผลตอบแทนทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้น เพียง 1 ปีต่อมา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์
อายุ 43 ปี ตัดสินใจซื้อหุ้นในหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ในปี 2522 เข้าซื้อหุ้นธุรกิจสื่อเพิ่มเติมจากบริษัท เอบีซี เฉพาะในปีนั้น ราคาหุ้นบริษัทเอบีซีซื้อขายพุ่งขึ้นถึงหุ้นละ 290 เหรียญสหรัฐ วอร์เรน บัฟเฟท มีสินทรัพย์สูงถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนในตำแหน่งประธานบริษัทเพียงปีละ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ และในปี 2522 ราคาหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ ซื้อขายต้นปีที่หุ้นละ 775 เหรียญสหรัฐ พุ่งขึ้นถึง 1,310 เหรียญสหรัฐต่อหุ้นในสิ้นปี ส่ง วอร์เรน บัฟเฟท ขึ้นแท่น 400 อันดับมหาเศรษฐีโลกเป็นครั้งแรก จัดโดยนิตยสารฟอร์บส
ปี 2531 เข้าซื้อหุ้น 7% ของบริษัท โคคา โคล่า มูลค่ามากถึง 1.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ ข้ามมาถึงปี 2545 ในวัย 72 ปี วอร์เรน บัฟเฟท ซื้อตราสารเงินเหรียญสหรัฐล่วงหน้าสูงถึง1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2549 ได้ผลตอบแทนจากตราสารดังกล่าว มากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่ออายุได้ 75 ปี ประกาศบริจาคเงินมูลค่ามากถึง 80% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ หรือว่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ 5 มูลนิธิในสหรัฐ เดือน เมษายน ปี 2550 เข้าซื้อหุ้นมากกว่า 10% ของบริษัท เบอร์ลิงตั้น นอร์ทเทิร์น ซานตา เฟ มูลค่า 3,200 ล้านบาท ราคาหุ้นพุ่งขึ้นทันที 1.3%
เดือนมิถุนายน ปี 2549 วอร์เรน บัฟเฟท เขย่าวงการพฤติกรรมมหาเศรษฐีโลก ด้วยการตัดสินใจบริจาคเงินมากถึง 80% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด ให้กับ 5 มูลนิธิแม้วินาทีนี้ในเดือนเมษายน ปี 2550 วอร์เรน บัฟเฟท ไม่สามารถรักษาตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกต่อไปได้ หลายคนมองว่าคงเป็นช่วงสั้น ๆ ที่สูญเสียอันดับให้กับ เจ้าพ่อสื่อสารแดนเม็กซิโก อย่าง คาร์ลอส สลิม เฮลิว แต่สำหรับตำนาน และความเป็นบัฟเฟท กลับมีเสน่ห์ที่ยังต้องค้นหากันต่อไป แม้แต่อารมณ์ขันของคุณปู่วัย 77 ปีคนนี้
วอร์เรนต์ บัฟเฟท กลับใช้ชีวิตในหลายด้าน ที่หักมุมความคิดของคนหลายคน แม้แต่ บ้านของมหาเศรษฐีวัย 77 ปี กลับตั้งอยู่ชานเมืองห่างจากมหานครนิวยอร์กถึง 1,250 ไมล์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือไว้ติดตัว ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน อาหารง่าย ๆคือ แฮมเบอร์เกอร์ และโค้ก 2 อย่างที่ วอเรนต์ บัฟเฟท ถือหุ้นในบริษัททั้ง 2 อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความเป็นคนที่ติดดิน แต่กลับสร้างอาณาจักรการลงทุนกับหุ้นที่มีคุณค่า ในความหมายของวอร์เรน บัฟเฟทชายชราวัย 77 ปี ขับรถที่ได้มาจากการประมูล ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการคนขับรถไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน หรือวันหยุด
ชีวิตพอเพียงของมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก Warren Buffet วอร์เรน บัพเฟตต์
ชีวิตพอเพียงของมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก Warren Buffet วอร์เรน บัพเฟตต์ แปลโดย Wilai Trakulsin
มีรายการสัมภาษณ์หนึ่งชั่วโมงของสถานีโทรทัศน์ CNBC สัมภาษณ์ วอร์เรน บัพเฟตต์ มหาเศรษฐีอันดับสองของโลก (รองจากบิล เกตส์) ซึ่งบริจาคเงินให้การกุศล 31,000 ล้านดอลล่าร์
ต่อไปนี้คือแง่มุมบางส่วนที่น่าสนใจยิ่งจากชีวิตของเขา:
1) เขาเริ่มซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ขวบ และปัจจุบันบอกว่ารู้สึกเสียใจที่เริ่มช้าไป!
2) เขาซื้อไร่เล็กๆ เมื่ออายุ 14 โดยใช้เงินเก็บจากการส่งหนังสือพิมพ์
3) เขายังอาศัยอยู่ในบ้านเล็กหลังเดิมขนาด 3 ห้องนอน กลางเมืองโอมาฮา ที่ซื้อไว้หลังแต่งงานเมื่อ 50 ปีก่อน เขาบอกว่ามีทุกสิ่งที่ต้องการในบ้านหลังนี้บ้านเขาไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม
4) เขาขับรถไปไหนมาไหนต้วยตนเอง ไม่มีคนขับรถหรือคนคุ้มกัน
5) เขาไม่เคยเดินทางด้ วยเครื่องบินส่วนตัว แม้จะเป็นเจ้าของบริษัทขายเครื่องบินส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
6) บริษัท เบิร์กไช แฮทะเวย์ ของเขามีบริษัทในเครือ 63 บริษัท เขาเขียนจดหมายถึงซี.โอของบริษัทเหล่านี้เพียงปีละฉบับเดียว เพื่อให้เป้าหมายประจำปีเขาไม่เคยนัดประชุมหรือโทรคุยกับซี.โอเหล่านี้เป็น ประจำ
7) เขาให้กฎแก่ ซี.โอ เพียงสองข้อ
กฎข้อ 1 อย่าทำให้เงินของผู้ถือหุ้นเสียหาย
กฎข้อ 2 อย่าลืมกฎข้อ 1
8 ) เขาไม่สมาคมกับพวกไฮโซการพักผ่อนเมื่อกลับบ้าน คือทำข้าวโพดคั่วกินและดูโทรทัศน์
9) บิล เกตส์ คนที่รวยที่สุดในโลก เพิ่งพบเขาเป็นครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน บิล เกตส์คิดว่าตนเองไม่มีอะไรเหมือนวอร์เรน บัพเฟตต์เลย จึงให้เวลานัดไว้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อบิลเกดส์ได้พบบัฟเฟตต์จริงๆ ปรากฏว่าคุยกันนานถึงสิบชั่วโมง และบิล เกตส์กลายเป็นผู้มีศรัทธาในตัววอร์เรน บัพเฟตต์
10) วอร์ เรน บัพเฟตต์ ไม่ใช้มือถือ และไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน
11) เขาแนะนำเยาวชนคนหนุ่มสาวว่า: จงหลีกห่างจากบัตรเครดิตและลงทุนในตัวคุณเองที่สุดของชีวิต คือ มีปัจจัย๔ อย่างเพียงพอนั่นเอง
มหาเศรษฐีหรือยาจก กินข้าวแล้วก็อิ่ม1มื้อ เท่ากัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก มีเสื้อผ้ากี่ชุด ก็ใส่ได้ทีละชุดเท่ากัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก มีบ้านหลังใหญ่แค่ไหน
พื้นที่ที่ใช้จริงๆ ก็เหมือนกันคือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เหมือนกัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก จะมียารักษาโรคดีแค่ไหนยื้อชีวิตไปได้นานเพียงไร
สุดท้ายก็ต้องตาย เหมือนกัน..
.....มองทะลุวัตถุนิยม และเห็นความหมายที่แท้จริงของชีวิต
ที่มา : http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=14424&page=1
ประวัติ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้น VI ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และไม่ฟุ้งเฟ้อ
คนเล่นหุ้นที่รวยที่สุดในโลก ...
วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีชื่อเต็มว่า วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 1930 (ค.ศ. 1930) ที่เมืองโอแมฮา ในรัฐเนแบรสกา พ่อของเขาชื่อโฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ เป็นวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน และยังเป็น Stock Broker อีกด้วย ส่วนมารดาของเขามีชื่อว่าไลล่า บัฟเฟตต์ เขามีพี่น้องอยู่ 2 คน คือดอริส และเบอร์ตี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบหมกมุ่นกับตัวเลขตั้งแต่อายุยังน้อย และมีความจำอันดีเลิศ เขาสามารถจดจำจำนวนประชากรของเมืองใหญ่ในสหรัฐได้อย่างมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนที่เขาอายุ 6 ขวบ เขาได้จ่ายเงิน 25 เซนต์ซื้อโค๊กจำนวน 6 แพ็ค และนำมาขาย ในราคา กระป๋องละ หนึ่งเหรียญ และเมื่ออายุ 11 ขวบ เขาทำหน้าที่เป็นเด็กจดกระดานในบริษัทหุ้นของพ่อของเขา และในปีเดียวกันนั้น เขาเริ่มซื้อหุ้นเป็นครั้งแรก ด้วยเงินอันน้อยนิด เขาสามารถซื้อได้แค่ 3 หุ้น หุ้น Cities Service Preferred ในราคาหุ้นละ 38 เหรียญ เมื่อซื้อแล้วราคาได้ตกมา 27 เหรียญ แต่เมื่อหุ้นกลับขึ้นมาอีกที เขาก็ขายไปที่ 40 เหรียญ นั่นเป็นการทำกำไรครั้งแรกในชีวิต ของเขา ได้มาเน็ต ๆ แค่ 5 เหรียญ หลังจากนั้นต่อมาไม่ทราบว่าใช้เวลานานนานเท่าไร หุ้นนั้นทะยานไปถึงหุ้นละ 200 เหรียญ
นอกจากการเล่นหุ้นแล้ว เขายังทำงานพิเศษอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเร่ขายของเคาะประตูตามบ้าน ส่งหนังสือพิมพ์ จนเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี เขาสามารถเก็บหอมรอมริบได้ เงินจำนวนถึง 1200 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียวในสมัยนั้น และเขาได้ทำเงินก้อนนี้ไปซื้อที่ดินราว ๆ 100 ไร่ เพื่อให้คนเช่าทำการเกษตร
ต่อมาเขาได้เข้าเรียนระดับมัธยมที่ Woodrow Wilson High School ในกรุงวอชิงตันดีซี และเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยการเงินวอร์ตัน ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระหว่างปี 1947 – 1949 แต่จากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้มีความสนใจด้านการลงทุนเพราะได้แรงบันดาลใจจากการ อ่านหนังสือของ Benjamin Graham ที่มีชื่อว่า The Intelligent Investor หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ของ value investors และเขาก็ได้รับความรู้มากมายจากหนังสือเล่มนี้
เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้เรียนหนังสือกับปรมาจารย์ในใจเขาคือ Benjamin Graham และเขาได้รับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1951
หลังจากเรียนจบ เขาก็กลับบ้านเกิดและเข้าทำงานเป็นเซลล์แมนในบริษัทของพ่อตัวเอง ระหว่างปี 1951 – 1954 พอมาปี 1954 – 1956 เขาก็ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงของบริษัท Graham-Newman Corp. ที่กรุงนิวยอร์ก
ในปี 1957 เขากลับมาถิ่นเกิดอีกครั้ง และเริ่มก่อตั้งบริษัทลงทุนที่มีชื่อว่า Buffett Partnership, Ltd. มีนักธุรกิจมากมายใส่เงินร่วมทุน จุดประสงค์ของเขาก็คือต้องการเอาชนะดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งเขาก็ทำได้ผลในปี 1969 อัตรากำไรที่บริษัทเขาทำได้นั้นสูงถึง 29.5 % เปรียบเทียบกับดัชนีดาวโจนส์ แค่ 7.4 % เท่านั้น
ในปี 1962 เขาได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทสิ่งทอ Berkshire Hathaway ในราคาไม่ถึง 8 เหรียญต่อหุ้น เขาได้ขายโรงทอผ้าทิ้งไป แปลงโฉมบริษัทเป็น Holding Company และนี่เองที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของบริษัทที่ต่อมายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และในขณะเดียวกันเขาก็ได้แต่งงานกับ ซูซาน ทอมป์สันในปี ค.ศ. 1952 และมีลูก 3 คน คือซูซี่ โฮเวิร์ด และปีเตอร์ แต่ชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ต้องแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1977 โดยที่ไม่มีการหย่าร้าง และภรรยาของเขาก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2004
ชีวิตส่วนตัวของเขาเรียบง่ายและสมถะมาก เขายังคงขับรถเก่าๆ ไปทำงาน บ้านที่อยู่ก็บ้านเก่า และเขาก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมในเมืองโอมาฮา เนบราสกา ซึ่งเป็นบ้านที่เขาซื้อมาด้วยราคา 31,500 เหรียญ เมื่อปี ค.ศ. 1958 หรือตั้งแต่ 49 ปีที่แล้ว อาหารที่กินประจำยังเป็นแมคโดนัลด์กับโค้ก ซึ่งเขากินวันละหลายๆ กระป๋องประมาณ 15 กระป๋องต่อวัน เนื่องจากเป็นสินค้าของกิจการที่เขาลงทุนอยู่ มูลค่าหุ้นของเขาเป็นล้านล้านบาท แต่เขากลับจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองเพียงปีละ 1-2 แสนดอลลาร์เท่านั้นเอง และไม่เคยขายหุ้นของตัวเองเลยตลอดชีวิต เขาขับรถเก่ายี่ห้อ Lincoln Town ไปทำงานเอง ไม่มีเลขาหน้าห้อง บนโต๊ะทำงานไม่เคยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ดูราคาหุ้น ชอบใช้ชีวิตในแบบเดิมๆ และคิดถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก และยังชอบเล่นไพ่บริดจ์กับบิลล์ เกตส์ อยู่เสมอๆ
เงินที่เขาหาได้ เขาเอามาใช้น้อยมาก ความสุขของเขาอยู่ที่การลงทุน เขาไม่ต้องการเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ไม่ให้ผลตอบแทนหรือให้ผลตอบแทนน้อย เขาคิดว่าเงินถ้าอยู่กับเขาแล้วจะโตเร็วมากและมีประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากนัก แต่ในที่สุดเขาก็บริจาคเงินให้กับมูลนิธิบิล –มิรินดา เกตส์เพื่อนของเขา เขาถือเป็นแบบอย่างของคนที่รู้จักความพอดีในการใช้ชีวิต รู้และสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า จุดความพอดีของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ที่จะปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง
ความร่ำรวยส่วนใหญ่ของเขานั้นสั่งสมในบริษัทเบิร์กเชียร์แฮทเวย์ ซึ่งมีผลกำไรหลากหลายนับจากธุรกิจการประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและการเช่าเครื่องบิน และบริษัทเบอร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาไม่มีสินค้าอะไรเลย ไม่มีการขายสินค้า ไม่มีการผลิตการบริการใดๆ รายได้จำนวนมากมายมหาศาล ทั้งหมดมาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับฉายาว่าเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก เขาสามารถเพิ่มราคาหุ้นกองทุน Berkshire ของเขาถึง 3600 เท่า และเน้นย้ำเฉพาะการลงทุนแบบ Value Investor เท่านั้น
หุ้นของเบอร์กไชร์นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่แปลกประหลาด นอกจากไม่มีการผลิตสินค้าและบริการใดๆ เลย ซื้อขายหุ้นอย่างเดียว ยังเป็นหุ้นที่ไม่เคยมีการจ่ายปันผลมาหลายสิบปี ทั้งๆ ที่มีกำไรมหาศาลทุกปี ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ ราคาหุ้นของเบอร์กไชร์ทะลุหลักล้านบาทไปแล้ว คนที่ถือหุ้นบริษัทเขาตั้งแต่วันแรก ก็ยังถือมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเชื่อในตัวบัฟเฟตต์มากๆ หุ้นบริษัทเขาจึงมีสภาพคล่องต่ำมาก ซึ่งเป็นผลดีกับกิจการ เนื่องจากจะไม่มีคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันมาป่วนราคา บริษัทของเขาจะเลือกลงทุนในหุ้นในกิจการที่เยี่ยมยอดเพียงไม่กี่ตัว โดยซื้อเมื่อตอนราคาถูกและยุติธรรม แล้วเก็บไว้ให้นานที่สุด หรือเก็บไปตลอดชีวิตเลย
สำหรับพอร์ทการลงทุนของเขาจะมีแต่กิจการที่ดีของโลก เช่น บริษัทโค้ก ยิลเลท ดิสนีย์แลนด์ เป็นต้น หุ้นที่เขาจะซื้อ จะต้องมีพื้นฐานกิจการที่ดี และเขาจะต้องรู้จักและเข้าใจว่ากิจการสามารถสร้างรายได้มาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หุ้นกลุ่มไฮเทค จะไม่ได้รับความสนใจจากเขาเลย แม้แต่ไมโครซอฟต์ เพราะเขาบอกว่า ถ้าเขาไม่รู้ว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร เขาก็จะไม่ซื้อหุ้นบริษัทนั้น ซึ่งหุ้นไฮเทคจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก จึงไม่อยู่ในข่ายลงทุน
สิ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือในการลงทุน นอกจากคุณค่าของกิจการแล้วคือ ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก ฉะนั้นการบริหารงานของบัฟเฟตต์จึงทำอย่างโปร่งใส และยึดถือประโยชน์ของทุกคนเป็นที่ตั้ง เขาไม่เคยเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการบริจาคเงินของบริษัท
หลักการเลือกลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์:
1. เป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ไม่ซับซ้อน กิจการประเภทง่ายๆ ไม่วุ่นวายนี้ จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคนิคบุคคลากรพิเศษมากมายนัก
2. เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมแข็งแกร่ง เช่นมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีการบริการเป็นพิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้
3. สามารถคาดเดาได้ คือสามารถคาดเดาผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการที่ไม่ซับซ้อนของธุรกิจนี่เอง
4. ผลตอบแทนจากส่วนของเงินลงทุนสูง (ROE) อย่างน้อย 12 %
5. มีกระแสเงินสดที่ดี
6. มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ธุรกิจที่ดี มีธรรมชาติของธุรกิจที่ดี
จากการศึกษาวอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ
1) ธุรกิจเครื่องดื่ม เช่น โค้ก
2) กลุ่มการเงินที่เกี่ยวกับรายย่อย เช่น บริษัทอเมริกันเอ็กเพรส
3) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
4) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารของแคลิฟอร์เนีย
5) หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์
กรณีหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วอร์เรน บัฟเฟต เข้าลงทุนเมื่อ 1974 จำนวน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ 30 ปีผ่านไปได้ผลตอบแทน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 15% ที่ผ่านมาเขามีหนังสือออกมาสามเล่มด้วยกัน คือ 101 เหตุผลที่คุณจะเป็นเจ้าของกิจการ เล่มที่ 2 ชื่อ บัฟเฟตต์ ซีอีโอ แต่ด้วยเนื้อหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มขึ้น ทำให้ ต้องมีเล่มที่สาม ซึ่งใช้ชื่อว่า “WARREN BUFFETT WEALTH” หรือ วอร์เรน บัฟเฟต ผู้มั่งคั่ง สำหรับหนังสือเล่มที่ 3 นี้จะใช้ภาษาเขียนที่เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น มีการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งเนื้อหาได้มาจากการศึกษาเกี่ยวกับนายวอร์เรน บัฟเฟต และบริษัทของเขา ตลอดจนได้มีการสอบถามจากผู้ใกล้ชิดของเขา และล่าสุดชื่อ The New Buffetology ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า ลงทุนอย่าง...วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งรายละเอียดในหนังสือนั้นที่สำคัญคือ The Warren Buffett Way ที่เป็นเหมือนกลยุทธ์การลงทุนพื้นฐานสไตล์บัฟเฟตต์
อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวที่สร้างความโด่งดังให้แก่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มากที่สุดในชีวิตของเขาก็คือการที่เขายกทรัพย์สินถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณสามหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญ ให้แก่มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยสองสามีภรรยาเกตส์เพื่อนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังผลให้มูลนิธินี้กลายเป็นมูลนิธิที่ร่ำรวยที่สุดในโลก นับว่าเป็นการรวมตัวทางการเงินเพื่อทำการกุศลยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ บิล เกตส์ และเมอลินดา ภริยา บอกว่า มูลนิธิหวังจะใช้ของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้ไปใช้วิจัยหาวัคซีนสยบโรคเอดส์ ร่วมกับอีก 20 โรคร้ายแรง ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละไม่รู้กี่ล้าน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มียารักษา
เงินจำนวนนี้ถือเป็นเงินบริจาคที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกที่เคยมีมา เงินนี้วอร์เรน บัฟเฟตต์หามาเองเกือบทั้งสิ้นตลอดชีวิตการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน โลก และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และไม่ฟุ้งเฟ้อ เขาเชื่อว่าเงินที่เขาได้มานั้น เขาต้องการที่จะทำในสิ่งที่มีประโยชน์และทำให้เขารู้สึกภูมิใจ และเขายังคาดหวังว่า การตัดสินใจบริจาคทรัพย์สมบัติครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างแก่บรรดาเศรษฐีทั้งหลายให้ทำบุญสร้างกุศล โดยการบริจาคให้มูลนิธิต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องแข่งกันตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ ส่วนการที่เขาบริจาคให้กับมูลนิธิของบิล เกตส์ เพราะเชื่อมั่นในนโยบายช่วยเหลือคนด้อยโอกาสจริง ๆ
บัฟเฟตต์พูดอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมากเขากล่าวไว้ว่า
“ผมรู้สึกอยู่เสมอว่าควรจะตอบแทนสังคม และครอบครัวของผมก็เห็นด้วยกับผม
คำถามก็คือว่า จะตอบแทนอย่างไร” และ“ผมไม่ใช่คนที่ปรารถนาในความมั่นคั่งอย่างราชา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางเลือกหนึ่งยังมีคนอีกจำนวน 6,000 ล้านคน ยังจนกว่าที่เรามีอยู่มาก”
บทสัมภาษณ์เขาน่าสนใจมาก เศรษฐีจากหุ้นคนนี้บอกว่า เขาซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี และเสียใจที่เขาซื้อช้าไป แต่กระนั้นก็ตาม เขาไม่เสียใจที่ใช้เงินออมที่ได้จากงานส่งหนังสือพิมพ์ ซื้อฟาร์มเล็ก ๆ เมื่อเขามีอายุ 14 ปี
ปัจจุบันถึงจะรวยแค่ไหนก็ยังอยู่ในบ้านหลังเล็กเดิมซึ่งมี 3 ห้องนอน ที่ซื้อมาหลังจากแต่งงานเมื่อห้าสิบปีก่อน เขาบอกว่าทุกสิ่งที่เขาต้องการมีอยู่ในบ้านหลังนี้ครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องซื้อใหม่
สำหรับรถยนต์นั้น เขาขับเองไปทุกแห่งหน โดยไม่มีคนขับหรือผู้รักษาความปลอดภัยไปด้วยเลย ยิ่งกว่านั้นเขาไม่มีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเหมือนมหาเศรษฐีทั้งหลาย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของบริษัทเครื่องบินเจ็ตที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ก็ตาม
เมื่อมีเวลาว่างเขาไม่ไปสังสรรค์กับเพื่อนมหาเศรษฐีไฮโซ งานอดิเรกของเขาเมื่อกลับถึงบ้านคือทำข้าวโพดคั่วเอง และกินไปนั่งดูโทรทัศน์ไป เพราะนี่คือความสุขของเขา
ชาย คนนี้ปัจจุบันอายุ 77 ปี เป็นผู้บริหารในบริษัทต่าง ๆ ได้เงินเดือนรวมกันประมาณปีละ 3.6 ล้านบาท แต่ทุกวันนี้ มีเงินทองและทรัพย์สินส่วนตัวมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และเคยครองแชมป์เป็นมหาเศรษฐีเป็นอันดับ 2 ของโลกนานถึง 4 ปีติดต่อกัน ก่อนจะตกลงมาเป็นอันดับ 3 ในปัจจุบัน
วอร์เรนต์ บัฟเฟท รู้จักคำว่ากำไรครั้งแรก เมื่อขายน้ำอัดลมโค๊กขวดละ 5 เซ็นต์ จากต้นทุนเพียงขวดละกว่า 4 เซ็นต์ ซื้อหุ้นบริษัทแรก เมื่ออายุ 11 ปี ขายได้กำไรครั้งแรกในชีวิตถึงหุ้นละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ซื้อที่ดิน หรือ ฟาร์ม ครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยเงินสะสมจากการส่งหนังสือพิมพ์
ปี 2486 วอร์เรน บัฟเฟท อายุ 13 ปี ได้รับเงินคืนภาษีเป็นครั้งแรกในชีวิต 35 เหรียญสหรัฐ จากงานขายจักรยาน อายุ 15 ปี ใช้เงิน 25 เหรียญสหรัฐ ลงทุนกับเพื่อนในชั้นมัธยมปลาย ซื้อตู้เกมส์พินบอลล์มือ 2 ให้บริการในร้านตัดผมชาย 3 เดือนต่อมา บัฟเฟทและเพื่อน มีตู้เกมส์พินบอลล์ถึง 3 เครื่องให้บริการถึง 3 แห่ง อายุครบ 20 ปี เข้าเรียนที่ โคลัมเบีย บิสสิเนส สกูล มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อต้องการเรียนกับ 2 นักวิเคราะห์หุ้นชื่อดัง เบนจามิน กราแฮม และ เดวิด ด๊อดด์
1 ปี ต่อมา จบการศึกษาจากโคลัมเบีย บิสสิเนส สกูลเสนอตัวทำงานฟรีกับ นักวิเคราะห์หุ้นชื่อดัง เบนจามิน กราแฮม แต่ถูกปฏิเสธ เริ่มซื้อหุ้นเล็กน้อยกับบริษัทผลิตน้ำมัน เท็กซาโก้ แต่ล้มเหลว เข้าทำงานเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น ได้โอกาสสอนหนังสือให้นักศึกษาภาคค่ำมีอายุเฉลี่ยแก่กว่า วอร์เรน บัฟเฟทในขณะนั้นถึง 2 เท่า ที่มหาวิทยาลัยเนบราสก้า ปีที่ 22 แต่งงานครั้งแรกกับ ซูซาน ทอมสัน
ปี 2497 เบนจามิน กราแฮม กลับเสนองานให้ วอร์เรน บัฟเฟท ด้วยค่าตอบแทนปีละ 12,000 เหรียญสหรัฐ เพียง 2 ปีต่อมา เบนจามิน กราแฮม เกษียณตัวเอง และปิดธุรกิจหลักทรัพย์ วอร์เรน บัฟเฟท กลับไปเมืองโอมาฮา ตัดสินใจตั้งธุรกิจการลงทุน ของตัวเองใช้ชื่อว่า บัฟเฟท แอสโซซิเอท ลิมิเทด วอร์เรน บัฟเฟท มีเงินเก็บจาก 9,800 มาเป็น 140,000 เหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยมาถึง 6 ปี
ปี 2505 มีอายุครบ 32 ปี วอเรนต์ บัฟเฟท รู้จักบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ เป็นครั้งแรก ซึ่งทำธุรกิจสิ่งทอ ตัดสินใจซื้อหุ้นมากถึง 49% ในราคาเสนอขายต่ำกว่าหุ้นละ 8 เหรียญสหรัฐ
จากนั้น 3 ปี วอร์เรนต์ บัฟเฟท กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ ปี 2512 เมื่ออายุได้ 39 ปี วอร์เรน บัฟเฟท ปิดบริษัทของตัวเองที่มีชื่อว่า บัฟเฟท แอสโซซิเอท ลิมิเทด และคืนผลตอบแทนทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้น เพียง 1 ปีต่อมา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์
อายุ 43 ปี ตัดสินใจซื้อหุ้นในหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ในปี 2522 เข้าซื้อหุ้นธุรกิจสื่อเพิ่มเติมจากบริษัท เอบีซี เฉพาะในปีนั้น ราคาหุ้นบริษัทเอบีซีซื้อขายพุ่งขึ้นถึงหุ้นละ 290 เหรียญสหรัฐ วอร์เรน บัฟเฟท มีสินทรัพย์สูงถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนในตำแหน่งประธานบริษัทเพียงปีละ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ และในปี 2522 ราคาหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาททะเวย์ ซื้อขายต้นปีที่หุ้นละ 775 เหรียญสหรัฐ พุ่งขึ้นถึง 1,310 เหรียญสหรัฐต่อหุ้นในสิ้นปี ส่ง วอร์เรน บัฟเฟท ขึ้นแท่น 400 อันดับมหาเศรษฐีโลกเป็นครั้งแรก จัดโดยนิตยสารฟอร์บส
ปี 2531 เข้าซื้อหุ้น 7% ของบริษัท โคคา โคล่า มูลค่ามากถึง 1.02 พันล้านเหรียญสหรัฐ ข้ามมาถึงปี 2545 ในวัย 72 ปี วอร์เรน บัฟเฟท ซื้อตราสารเงินเหรียญสหรัฐล่วงหน้าสูงถึง1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2549 ได้ผลตอบแทนจากตราสารดังกล่าว มากกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่ออายุได้ 75 ปี ประกาศบริจาคเงินมูลค่ามากถึง 80% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ หรือว่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ 5 มูลนิธิในสหรัฐ เดือน เมษายน ปี 2550 เข้าซื้อหุ้นมากกว่า 10% ของบริษัท เบอร์ลิงตั้น นอร์ทเทิร์น ซานตา เฟ มูลค่า 3,200 ล้านบาท ราคาหุ้นพุ่งขึ้นทันที 1.3%
เดือนมิถุนายน ปี 2549 วอร์เรน บัฟเฟท เขย่าวงการพฤติกรรมมหาเศรษฐีโลก ด้วยการตัดสินใจบริจาคเงินมากถึง 80% ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด ให้กับ 5 มูลนิธิแม้วินาทีนี้ในเดือนเมษายน ปี 2550 วอร์เรน บัฟเฟท ไม่สามารถรักษาตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกต่อไปได้ หลายคนมองว่าคงเป็นช่วงสั้น ๆ ที่สูญเสียอันดับให้กับ เจ้าพ่อสื่อสารแดนเม็กซิโก อย่าง คาร์ลอส สลิม เฮลิว แต่สำหรับตำนาน และความเป็นบัฟเฟท กลับมีเสน่ห์ที่ยังต้องค้นหากันต่อไป แม้แต่อารมณ์ขันของคุณปู่วัย 77 ปีคนนี้
วอร์เรนต์ บัฟเฟท กลับใช้ชีวิตในหลายด้าน ที่หักมุมความคิดของคนหลายคน แม้แต่ บ้านของมหาเศรษฐีวัย 77 ปี กลับตั้งอยู่ชานเมืองห่างจากมหานครนิวยอร์กถึง 1,250 ไมล์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือไว้ติดตัว ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน อาหารง่าย ๆคือ แฮมเบอร์เกอร์ และโค้ก 2 อย่างที่ วอเรนต์ บัฟเฟท ถือหุ้นในบริษัททั้ง 2 อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความเป็นคนที่ติดดิน แต่กลับสร้างอาณาจักรการลงทุนกับหุ้นที่มีคุณค่า ในความหมายของวอร์เรน บัฟเฟทชายชราวัย 77 ปี ขับรถที่ได้มาจากการประมูล ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการคนขับรถไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน หรือวันหยุด
ชีวิตพอเพียงของมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก Warren Buffet วอร์เรน บัพเฟตต์
ชีวิตพอเพียงของมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก Warren Buffet วอร์เรน บัพเฟตต์ แปลโดย Wilai Trakulsin
มีรายการสัมภาษณ์หนึ่งชั่วโมงของสถานีโทรทัศน์ CNBC สัมภาษณ์ วอร์เรน บัพเฟตต์ มหาเศรษฐีอันดับสองของโลก (รองจากบิล เกตส์) ซึ่งบริจาคเงินให้การกุศล 31,000 ล้านดอลล่าร์
ต่อไปนี้คือแง่มุมบางส่วนที่น่าสนใจยิ่งจากชีวิตของเขา:
1) เขาเริ่มซื้อหุ้นครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ขวบ และปัจจุบันบอกว่ารู้สึกเสียใจที่เริ่มช้าไป!
2) เขาซื้อไร่เล็กๆ เมื่ออายุ 14 โดยใช้เงินเก็บจากการส่งหนังสือพิมพ์
3) เขายังอาศัยอยู่ในบ้านเล็กหลังเดิมขนาด 3 ห้องนอน กลางเมืองโอมาฮา ที่ซื้อไว้หลังแต่งงานเมื่อ 50 ปีก่อน เขาบอกว่ามีทุกสิ่งที่ต้องการในบ้านหลังนี้บ้านเขาไม่มีรั้วหรือกำแพงล้อม
4) เขาขับรถไปไหนมาไหนต้วยตนเอง ไม่มีคนขับรถหรือคนคุ้มกัน
5) เขาไม่เคยเดินทางด้ วยเครื่องบินส่วนตัว แม้จะเป็นเจ้าของบริษัทขายเครื่องบินส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
6) บริษัท เบิร์กไช แฮทะเวย์ ของเขามีบริษัทในเครือ 63 บริษัท เขาเขียนจดหมายถึงซี.โอของบริษัทเหล่านี้เพียงปีละฉบับเดียว เพื่อให้เป้าหมายประจำปีเขาไม่เคยนัดประชุมหรือโทรคุยกับซี.โอเหล่านี้เป็น ประจำ
7) เขาให้กฎแก่ ซี.โอ เพียงสองข้อ
กฎข้อ 1 อย่าทำให้เงินของผู้ถือหุ้นเสียหาย
กฎข้อ 2 อย่าลืมกฎข้อ 1
8 ) เขาไม่สมาคมกับพวกไฮโซการพักผ่อนเมื่อกลับบ้าน คือทำข้าวโพดคั่วกินและดูโทรทัศน์
9) บิล เกตส์ คนที่รวยที่สุดในโลก เพิ่งพบเขาเป็นครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน บิล เกตส์คิดว่าตนเองไม่มีอะไรเหมือนวอร์เรน บัพเฟตต์เลย จึงให้เวลานัดไว้เพียงครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อบิลเกดส์ได้พบบัฟเฟตต์จริงๆ ปรากฏว่าคุยกันนานถึงสิบชั่วโมง และบิล เกตส์กลายเป็นผู้มีศรัทธาในตัววอร์เรน บัพเฟตต์
10) วอร์ เรน บัพเฟตต์ ไม่ใช้มือถือ และไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน
11) เขาแนะนำเยาวชนคนหนุ่มสาวว่า: จงหลีกห่างจากบัตรเครดิตและลงทุนในตัวคุณเองที่สุดของชีวิต คือ มีปัจจัย๔ อย่างเพียงพอนั่นเอง
มหาเศรษฐีหรือยาจก กินข้าวแล้วก็อิ่ม1มื้อ เท่ากัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก มีเสื้อผ้ากี่ชุด ก็ใส่ได้ทีละชุดเท่ากัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก มีบ้านหลังใหญ่แค่ไหน
พื้นที่ที่ใช้จริงๆ ก็เหมือนกันคือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เหมือนกัน
มหาเศรษฐีหรือยาจก จะมียารักษาโรคดีแค่ไหนยื้อชีวิตไปได้นานเพียงไร
สุดท้ายก็ต้องตาย เหมือนกัน..
.....มองทะลุวัตถุนิยม และเห็นความหมายที่แท้จริงของชีวิต
ที่มา : http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=14424&page=1
กรีซ:กรณีศึกษาวิกฤตหนี้สินและภาวะประชานิยมที่กระทบต่อนิเวศวิทยามนุษย์
กรณีศึกษาเกี่ยวกับประเทศกรีซนั้น เป็นผลมาจากแนวคิดในเรื่องของนโยบายประชานิยมที่ซึมลึกเข้าไปสู่ทุกอณูของสังคมในอันเป็นผลทำให้ประชาชนในชาติ เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิถีชีวิตและค่านิยมที่สะท้อนถึงความต้องการนโยบายเหล่านี้มากกว่าที่จะเลือกในแนวทางที่ช่วยพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศจนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจในที่สุด สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเลวร้ายเช่นนี้ก็คือ นักการเมือง ภายใต้การแข่งขันเอาแพ้-เอาชนะ ของพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ในประเทศกรีซ คือ พรรคที่มีแนวออกไปทางสังคมนิยมที่เรียกว่า PASOK กับพรรคประชาธิปไตยใหม่ ND ต่อเนื่อง ยาวนาน เป็นทศวรรษๆ ทำให้มีการแข่งขันโดยอาศัยนโยบายประชานิยมมาจูงใจให้ประชาชนเลือกฝ่ายตน ดังจะเห็นได้จากในขณะที่ฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะมาจากการให้สัญญาว่า จะเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ลดภาษีและยกเว้นภาษีสำหรับใครก็ตามที่คิดจะซื้อรถยนต์คันใหม่ สัญญาที่จะให้เงินก้อนโตแก่ผู้เกษียณก่อนวัย และเพิ่มค่าจ้างขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังขาดดุลงบประมาณมหาศาล ฯลฯ อีกพรรคหนึ่งก็จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้สัญญาว่า จะเพิ่มค่าจ้าง ค่าแรง ตามแบบฉบับของตัวเองเช่นกัน แถมยังจะให้ชาวกรีซได้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ดีที่สุดในยุโรป ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงเป็นสองเท่าของงบประมาณที่เคยตั้งเอาไว้...ฯลฯ ส่งผลให้ ประชาชนชาวกรีซ...เสพติดกับการได้ค่าจ้างงานสูงกว่าความเป็นจริง...เสพติดกับการได้สวัสดิการที่ดีๆ จากรัฐ เสพติดกับการกู้ยืมเงินอย่างง่ายๆ แม้ว่าจะไม่มีปัญญาใช้คืน และเสพติดกับความมักง่ายที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ซึ่งแต่ละพรรคแข่งกันหยิบยื่นให้มากว่า 30 ปี เรียกว่า ถ้าหากพรรคไหนไม่งัดนโยบายประชานิยม ลด-แลก-แจก-แถม ออกมาโฆษณาให้หนักๆ เข้าไว้ มักจะต้องแพ้เลือกตั้งไปซะทุกที ส่วนประเภทที่พร้อมจะ เกทับ เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทโดยทันที ใครจบปริญญาตรีรับไปเลย 15,000 ใครมีข้าวเปลือกเอามาจำนำเกวียนละ 15,000 แถมมีบัตรเครดิตเอาไว้ให้รูดปรื๊ดๆ ได้อีกด้วย ครัวเรือนไหนที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาทไม่ต้องใช้หนี้ไปอีก 3 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรี แถมแจกคอมพิวเตอร์ให้เด็กชั้นประถมทุกคนทั่วประเทศอีกต่างหาก ฯลฯ จุดนี้เองย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในฐานะผู้บริโภคนโยบายโดยรัฐบาลเป็นผู้ผลิตแนวคิดและนโยบายป้อนสู่ประชาชน จึงอาจกล่าวได้ว่าหากผู้บริโภคนโยบายได้เสพติดนโยบายประชานิยมแล้ว ย่อมนำไปสู่ภาวะต่อๆมา ด้วยเหตุที่ประชาชนเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องตอบสนองด้วยนโยบายประชานิยมเพื่อสนองตอบ ความโลภ ความอยากได้ ความกระหายวัตถุ ที่ทั้งรัฐบาลและประชาชน ได้ร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันในลักษณะเช่นนี้นี่เอง สุดท้าย อำนาจอธิปไตย ของปวงชนชาวกรีซ ก็จึงถูกเปลี่ยนมือไปสู่เจ้าหนี้เงินกู้ทั้งหลาย ที่หันมาลงแส้เฆี่ยนหลังรัฐบาลและประชาชน อย่างอำมหิต โหดร้าย ชนิดน้ำตาตก เลือดตกยางออก ไปทั่วทั้งแผ่นดิน ด้วยมาตรการภาษี มาตรการรัดเข็มขัด รวมทั้งการนำเอาทรัพย์สินของรัฐ ของประชาชน ออกไปเปิดหลังรถกระบะเร่ขาย ฯลฯ ส่งผลให้ประชาชนชาวกรีซนับหมื่นนับแสน ต้องออกมาก่อการจลาจล เผาบ้าน เผาเมือง หรือเผาประเทศตัวเอง จนเมืองใหญ่ๆ หลายต่อหลายเมืองเป็นอัมพาตไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น มาดูกันว่าพัฒนาการของสาเหตุของวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างไร
สาเหตุและพัฒนาการของวิกฤต
สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจกรีซนั้น สาเหตุแรกมาจาก การขาดดุลภาครัฐของรัฐบาล โดยในปีพ.ศ. 2552 การขาดดุลการคลังของกรีซอยู่ที่ 12.7% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึงประมาณ 4 เท่าตัว (เพดานของ The Stability and Growth Pact (SGP) โดยกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ระดับไม่เกิน 3% ของ GDP) จากการขาดดุลภาครัฐของรัฐบาลนั้นส่งผลให้หนี้ของภาครัฐของกรีซเพิ่มสูงขึ้นถึง 112.6% ของ GDPในปีพ.ศ.2552 ซึ่งสูงกว่าระดับที่เหมาะสมที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ถึงประมาณเกือบ 2 เท่าตัว (เพดานของ The Stability and Growth Pact (SGP) ซึ่งกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ระดับไม่เกิน 60% ของ GDP) หากพิจารณาจากตัวเลขทั้งสองนี้นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม Eurozone (กลุ่มที่ใช้เงินยูโร 16 ประเทศ จากสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ)
ภาพที่ 1. กรีซขาดดุลการคลังและดุลชำระเงินมาอย่างยาวนานทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง
ที่มา : European Commission (AMECO Database)
ที่มา : European Commission (AMECO Database)
นอกจากนี้กรีซก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับที่สูงมาก จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยู่ที่ประมาณ 14% ของ GDP โดยสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกรีซมีความเปราะบางมาก ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการส่งออกไม่ได้ และการที่รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว โดยหลังจากที่กรีซใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ตลาดการเงินโลก ทำให้กรีซสามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้น เพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเงินยูโร โดยตั้งแต่กรีซได้เป็นสมาชิกยูโรโซน รัฐบาลกรีซก็ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการสูงๆ มีโครงการต่างๆ มากมาย เพราะหาเงินได้ง่ายๆ ด้วยการก่อหนี้ ค่าใช้จ่ายภาครัฐจึงสูงมาก ในขณะที่ รายได้จากการเก็บภาษีนั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากคนกรีซโดยเฉพาะชนชั้นกลางมักจะหลีกเลี่ยงภาษี แต่เลือกที่จะรับผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมอย่างเต็มที่ ซึ่งหากนโยบายคลังไม่สามารถใช้ในการควบคุมการใช้จ่ายและงบประมาณได้ นโยบายการคลังก็จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมปริมาณเงินให้เหมาะสมกับภาวะผ่านกลไกต่างๆ ที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะการปรับลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก หากแต่ในข้อเท็จจริง เมื่อเกิดเหตุการณ์ค่าเงินยูโรแข็งค่าเกิดขึ้น ทำให้ความสามารถในการส่งออกลดลง แต่กรีซไม่สามารถทำอะไรกับค่าเงินได้ เพราะเป็นเงินสกุลร่วมที่ใช้ร่วมกัน 16 ชาติ อีกทั้งยังทำให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของกรีซไม่คล่องตัวเท่าที่ควร จริงๆ แล้ว เมื่อเศรษฐกิจทรุดตัวลง ค่าเงินควรจะอ่อน แต่เมื่อผูกกับยูโรซึ่งแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ประมาณ 15% ในปี 2552ทำให้ดูเหมือนว่าค่าเงินของประเทศกรีซแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น ประกอบกับฐานะการคลังของประเทศซึ่งย่ำแย่ตั้งแต่ใช้เงินถึง 9,000 – 12,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 2547 และมีการขาดดุลงบประมาณ 3.2% ของจีดีพีมาตั้งแต่ปีนั้นยิ่งทำให้เศรษฐกิจกรีซทรุดตัวมากขึ้น ด้วยภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการนำเงินมาอัดฉีดนโยบายประชานิยมต่างๆ ก็ส่งผลอย่างรุนแรงต่อดุลการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ทำให้รัฐบาลมีภาระจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นและเมื่อค่าเงินแข็งขึ้น การนำเข้าสินค้าของกรีซก็เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศมีการแข่งขันอย่างดุเดือดขึ้น อีกทั้งกรีซมีรายได้จากการบริการเดินเรือและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมีแรงงานถึง 60% อยู่ในภาคบริการ เมื่อเศรษฐกิจโลกทรุดตัว การค้าโลกลดลงเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมเดินเรือจึงถูกกระทบ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมาก็ถูกกระทบด้วยความหวาดกลัวเรื่องการก่อการร้าย โรคซาร์ส หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ 2009 (หวัดหมู)อีกด้วย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้การชำระหนี้ของกรีซ ก่อจะต้องมีการหารายได้โดยผ่านกลไกของนโยบายการคลังอีกทางหนึ่งคือ การขายพันธบัตรเพื่อระดมทุน หากแต่การเลือกถือครองพันธบัตรของนักลงทุนนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอง โดยการซื้อพันธบัตรที่ออก หรือว่าค้ำประกันโดยทางการของชาติเหล่านี้ โดยมีความกังวลว่า เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลกรีซ อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะขาดสภาพคล่องและเกิดงบประมาณขาดดุลขึ้นโดยมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ อีกทั้งกรีซยังมีหนี้ระยะสั้นครบกำหนดที่จะต้องชำระอีกประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านยูโร จนทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินสกุลหลัก หรือยูโรโซนซึ่งมีอยู่ 16 ชาติ ต้องหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการขาดความเชื่อมั่นนี้เองส่งผลต่อการปรับระดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับต่างๆโดยที่ ในช่วงเดือนธันวาคม 2552 สถาบันจัดอันกับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่ง คือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เอสแอนด์พี และมูดี้ส์ ได้ประกาศลดเครดิตหรืออันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง โดยที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ และเอสแอนด์พี ปรับลดจาก A- ลงเหลือ BBB+ และมูดี้ส์ปรับลดจาก A1 เป็น A2 และล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอสแอนด์พี ขู่ว่าอาจปรับลดอันดับเครดิตลงอีก 1 – 2 ขั้นภายในเดือนมีนาคม ในขณะที่มูดี้ส์ ขู่ว่าอาจปรับลดอันดับเครดิตลงอีก 1 – 2 ขั้นภายใน 2 – 3 เดือนข้างหน้า หากกรีซไม่สามารถแก้ปัญหาด้านงบประมาณคลัง และปัญหาหนี้ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน หากกรีซสามารถดำเนินการตามแผนการลดยอดขาดดุลงบประมาณได้สำเสร็จ มูดี้ส์ก็อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตของกรีซซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A2
ภาพที่ 2. อันดับเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาล PIIGS ของ S&P
ที่มา : ประมวลโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
การการถูกลดอันดับเครดิตของกรีซนั้นจะส่งผลกระทบในระยะยาวหรือในอนาคตของกรีซ เพราะตามกฎของอียู ประเทศสมาชิกที่อันดับเครดิตต่ำกว่า A จะไม่สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นการค้ำประกันเงินกู้ได้อีกต่อไป กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ของกรีซ จะไม่สามารถใช้พันธบัตรของรัฐบาลที่ถืออยู่มาเป็นเครดิตในการค้ำประกันเงินกู้จากตลาดทุนในยุโรปหรือที่อื่นได้ ทำให้มีค่าไม่ต่างอะไรไปจากเศษกระดาษ
แนวทางแก้ไขที่กรีซถูกควบคุมให้ใช้
ภาพที่ 2. อันดับเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาล PIIGS ของ S&P
ที่มา : ประมวลโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
การการถูกลดอันดับเครดิตของกรีซนั้นจะส่งผลกระทบในระยะยาวหรือในอนาคตของกรีซ เพราะตามกฎของอียู ประเทศสมาชิกที่อันดับเครดิตต่ำกว่า A จะไม่สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นการค้ำประกันเงินกู้ได้อีกต่อไป กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ของกรีซ จะไม่สามารถใช้พันธบัตรของรัฐบาลที่ถืออยู่มาเป็นเครดิตในการค้ำประกันเงินกู้จากตลาดทุนในยุโรปหรือที่อื่นได้ ทำให้มีค่าไม่ต่างอะไรไปจากเศษกระดาษ
แนวทางแก้ไขที่กรีซถูกควบคุมให้ใช้
เมื่อเกิดสภาพหนี้สินล้นพ้นตัวเช่นนี้ หากประเทศต่างๆข้างเคียงมีความปรารถนาดีอย่างจริงจังที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สภาพการณ์ต่างๆอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไม่ยากนัก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงๆ มิใช่เช่นนั้น (ความจริงแล้วปัญหาในกรีซปัจจุบันก็ไม่แตกต่างจากปัญหาหนี้สินและการเงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเลย) เริ่มด้วยการนำเสนอปัญหา ปัญหาหนี้สินในกรีซถูกนำเสนอในภาพที่เป้นความผิดพลาดของประชาชน ข่าวต่างๆนำเสนอภาพคล้ายกับว่า ความผิดส่วนใหญ่เป็นของประชาชนชาวกรีซ โดยเข้าใจว่า ชาวกรีซเป็นคนเกียจคร้าน คดโกง (คงมีบ้าง เหมือนเช่นในทุกๆประเทศ) แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่รัฐบาลกรีซต่างๆที่ผ่านมา ดำเนินการโดยปราศจากความรับผิดชอบ ที่เหมาะสม รัฐบาลพยายามที่จะยัดเยียดเงินให้กับประชาชน เน้นให้เกิดสังคมการบริโภคสุดโต่ง แทนที่จะสนับสนุนการใช้ชีวิตเหมาะสม (หรือที่ถูกต้องคือ “อย่างพอเพียง”) ไม่ยอมทำงานอย่างจริงจังที่จะเร่งรัดการเก็บภาษี ทั้งยังเป็นฝ่ายที่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย เมื่อภาพแรกออกมาเช่นนั้น ภาพต่อไปก็เป็นเรื่องของความพยายามที่รัฐบาลต่างๆในประเทศยูโรและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นชัดว่า รัฐบาลประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศเจ้าหนี้ได้เข้ามาเพื่อที่จะต้องการ “กอบโกย” ผลประโยชน์ต่างๆของประเทศ มิใช่เพียง “ต้นทุนพร้อมกำไร” อย่างเหมาะสม
สหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ออกมาตรการให้ความร่วมมือฉุกเฉิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อสกัดวิกฤตหนี้ไม่ให้ลุกลามออกไป และหนุนเสถียรภาพค่าเงินยูโร ที่สำคัญธนาคารยุโรป (ECB) ได้เข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนจากตลาดเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของตราสารหนี้ของประเทศสมาชิกที่กำลังประสบปัญหา
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่มยูโรและ IMF เสนอแนะสรุปได้ว่าเป็น “shock therapy” ซึ่งวิธีการหลักๆ สรุปได้ดังนี้
ในมาตรการ 7.5 แสนล้านยูโร แบ่งออกได้ 3 ส่วน ส่วนแรก 6 หมื่นล้านยูโร เป็นมาตรการเดิม โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้ออกตราสารหนี้ค้ำประกันประเทศสมาชิก 27 ประเทศ มาให้ประเทศที่มีปัญหาทางการเงินได้กู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าไปกู้เอง ส่วนที่สอง 4.4 แสนล้านยูโรเพิ่มเติมจากส่วนแรก มาจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ อายุ 3 ปี และค้ำประกันโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ส่วนที่สาม 2.5 แสนล้านยูโร มาจาก IMF ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า IMF ให้ความช่วยเหลือถึง 1 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมด ที่สำคัญคือหลังจากการประกาศให้เงินกู้ช่วยวิกฤตแล้ว ธนาคารกลางแห่งยุโรป หรือ EBC ยังได้ออกแถลงการณ์ว่า พร้อมจะเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่ออกในประเทศเขตยูโรโซนเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและสภาพคล่องให้กลับตลาดเงิน พร้อม ๆ กันนั้น ธนาคารสหรัฐอเมริกา ยังได้ประกาศพร้อมจับมือกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ ในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ธนาคารเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก แม้หลายฝ่ายจะเห็นว่าอาจเป็นผลระยะสั้นเท่านั้น
ในส่วนของในประเทศรัฐบาลกรีซได้จัดร่างงบประมาณประจำปี 2554 ไว้ดังนี้
1.ร่างกฎหมายงบประมาณปี 2554 ได้ถูกจัดทำขึ้นและรัฐบาลกรีซได้วางแผนที่จะบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักการบริหารงบประมาณประจาปี โดยทั่วไปสรุปได้ดังนี้
- การกำหนดเพดานสูงสุดของค่าใช้จ่าย
- เพิ่มช่องว่างในการกู้ยืม
- การจัดตั้งทุนสำรองเพื่อความไม่แน่นอน
- การเสนอหลักเกณฑ์เพื่อใช้งบประมาณเพิ่มเติมในกรณีการใช้จ่ายของรัฐสูงกว่าเงินทุนสำรอง
- จัดทำกระบวนการเพื่อควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามพันธะกรณี
- กำหนดหลักเกณฑ์การรายงานการบริหารจัดการงบประมาณเป็นรายเดือน รายไตรมาส และ รายงานประจำทุก 2 ปี
2.การปรับลดงบประมาณแผ่นดินในปี 2554 จะปรับลดลงให้ได้ 2% ของ GDP คือจาก 9.4 %ในปี 2553 เป็น7.4% หรือลดลงประมาณ 5 พันล้านยูโร ซึ่งมีขนาดการปรับลดที่ใหญ่กว่าโปรแกรมนโยบายเศรษฐกิจเดิม และเพื่อสนับสนุนการปรับลดงบประมาณดังกล่าวให้เป็นไปตามเป้าหมาย รัฐบาลจะต้องเพิ่มความพยายามอย่างมากในการออกมาตรการใหม่ๆเพิ่มเติมจากเดิมที่ออกมาใช้เมื่อพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมาตรการเพิ่มเติมจะรวมถึงการมุ่งเน้นในด้านงบประมาณรัฐวิสาหกิจ การควบคุมการใช้จ่ายด้านสุขภาพและอนามัย วิธีการตรวจสอบประโยชน์ที่ครอบครัวจะได้รับ การลดค่าใช้จ่ายด้านกองทัพ และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการถ่ายโอน รวมทั้งการดำเนินการทั้งในด้านรายจ่ายและด้านรายได้ การต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษี และการบริหารทรัพย์สินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
3. มาตรการฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนโครงการนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณปี 2554 ในปี 2554รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เคร่งครัดต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะลดการขาดดุลให้ได้ต่ำกว่า 3% ของ GDP ในปี 2557 และการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีอัตราการเจริญเติบโตเป็นบวกให้ได้ในสิ้นปี 2554 รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการป้องกันเพื่อให้ภาคการเงินมีความมั่นคงและเสถียรภาพ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลสังคมนิยมภายใต้การนำของ นาย Papandreou ได้จัดทำข้อเสนอ (ภายใต้การชี้นำของกลุ่มประเทศยูโรและ IMF) เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกู้จำนวน 110 พันล้านยูโรหรือประมาณ 146.2 พันล้านดอลล่าสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อการปรับปรุงประเทศครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา) ในช่วงเวลาสามปี (2010-2012) โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือน พฤษภาคม (May 2010) พร้อมๆกับการขอรับเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ รัฐบาลกรีซยอมที่จะปรับปรุงกิจการต่างๆของประเทศหลายประการตามสัญญารัฐบาลจึงได้ดาเนินการเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเข้มงวดด้านการคลังต่อไป สรุปได้ดังนี้
3.1 มาตรการด้านรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจาเป็นจะต้องดาเนินมาตรการเพื่อปรับปรุงผลประกอบการทางการเงินให้มีสถานะที่ดีขึ้น และการบริหารทางการเงินมีความโปร่งใสและสามารถชี้แจงได้ รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดด้านค่าใช้จ่ายแรงงานของพนักงาน ได้แก่
- ให้กระทรวงการคลังควบคุมการให้คาแนะนาทางการเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ SOE (State owned enterprise)
- กำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องยื่นบัญชีการเงินซึ่งตรวจรับรองโดยผู้ได้รับอนุญาตตรวจบัญชีต่อ กระทรวงการคลังเป็นรายไตรมาส
- การตัดลดค่าจ้างลง 10%
- กำหนดเพดานสูงสุดอัตราค่าจ้าง และค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มพิเศษ (10% ของค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างในระดับบริษัท)
3.2 มาตรการด้านภาษี
- เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) จากการขาย จากเดิมเก็บ ๑๑% เป็น ๑๓%
- ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ให้แก่โรงแรมและที่พักอาศัยในการรับรองแขกจากเดิม ๑๑%เป็น ๖.๕% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวและเภสัชกรรม
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเก็บภาษีสรรพสามิตสาหรับสินค้ายาสูบ
4.ด้านทรัพยากรบุคคลในหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาลยังคงนโยบายควบคุมปริมาณ และการเคลื่อนย้ายพนักงานในหน่วยงานภาครัฐ โดย
- กำหนดระเบียบให้มีการจ้างพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน1 คน ต่อพนักงานที่เกษียณอายุจานวน 5คนในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่น
- ลดการจ้างงานประเภทที่มีสัญญาจ้างแบบ Fix term contracts ในปี 2554 ลง 15% จากปี2553
5.ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งกรีซ(Agricultural Bank of Greece- ATE) เพื่อปกป้องความมั่นคงและยั่งยืนของธนาคารซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รัฐบาลกรีซได้ออกมาตรการเข้มงวด ได้แก่ การตัดลดเงินเดือนค่าจ้างพนักงานในทุกระดับลง 10% และยกเลิกการให้เงินพิเศษต่างๆ ยกเลิกแผนการจ้างงานใหม่
ผลกระทบต่อสังคมและนิเวศวิทยามนุษย์
หลังจากการได้รับเงินกู้จำนวนมหาศาลและดำเนินการตามข้อตกลงแล้ว (เงินกู้จาก ECB – European Central Bank หรือที่รู้จักกันในยุโรปในชื่อ Troika ส่งมาค่อนข้างช้ากว่าที่ควรจะเป็น และอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงสูงถึง ร้อยละ 5 ต่อปี) รัฐบาลกรีซจึงได้เดินหน้าขบวนการฟื้นฟูประเทศชาติ ภาพลักษณ์ที่ปรากฏคือ รัฐบาลประเทศต่างๆในกลุ่มยูโร นำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือรัฐบาลกรีซ (ซึ่งวิธีการก็คือ การให้คำรับรองว่า รัฐบาลประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรจะให้ความช่วยเหลือกรีซ ในกรณีที่กรีซไม่สามารถแสวงหาเงินกู้จากตลาดเงินกู้สากลได้ โดยความช่วยเหลือจะจัดสรรตามมูลค่า GDP และจำนวนประชากรของประเทศ) ภาพลักษณ์ต่อไป ก็คือ รัฐบาลกรีซได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบาลที่ดี มีความสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ แต่สภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวกรีซกลับเป็นตรงกันข้าม ยกเรื่องการเดินขบวน ก่อหวอดที่สร้างความเสียหายในเมืองต่างๆ (รวบรวมนำเสนอในเว็บhttp://www.boston.com/bigpicture/2011/06/greece_still_in_crisis.html) ประชาชนกลุ่มรากหญ้าถูกจับติดคุกจำนวนมาก เศรษฐีมหาเศรษฐีชาวกรีซหลายคนยังคงสุขสบายเหมือนเดิม (เพราะค่าเงินยูโรยังคงเหมือนเดิม) สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงประมาณหนึ่งปีหลังจากการยอมรับขบวนการฟื้นฟูประเทศสรุปได้ดังนี้
จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 7.7 ของจำนวนแรงงานพร้อมทำงานในประเทศ ที่ปี ค.ศ. 2008 ไปเป็นร้อยละ 9.5 ที่ปี ค.ศ. 2009 และเพิ่มขึ้นไปถึง กว่าร้อยละ 16.2 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2011
เงินเดือนข้าราชการและข้าราชการเกษียณถูกตัดไป 15% ในทุกๆตำแหน่ง
ผลประโยชน์ทั้งหมดในรูปของเงินโบนัส เงินสะสม เงินประกัน ถูกตัดออกทั้งหมด
เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินกู้ส่วนใหญ่ของประเทศกลับไปตกอยู่ที่ธนาคารขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้ธนาคารเหล่านั้นล้ม ช่วยให้ธนาคารเหล่านั้นสามารถชดใช้หนี้สินได้ ขณะเดียวกันก็ปรับลดอัตราเงินกู้ ให้กับภาคเอกชน และขายกิจการต่างๆออกไป ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถที่จะรวบรวมเงินจากแหล่งต่างๆมาใช้หนี้สินประเทศต่อไป ขบวนการเช่นนี้ทำให้เห็นชัดว่า เศรษฐี/มหาเศรษฐีชาวกรีซแทบจะไม่เกิดความสูญเสียใดๆ และยังดูเหมือนได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการล่มสลายทางการเงินครั้งนี้ด้วย
ความยุ่งยากต่างๆไปเกิดกับผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลในประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำที่ประมาณ 590 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 24,000 บาท ที่อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 42 บาทต่อยูโร) คงระดับเดิมนี้มากว่า 3 ปี แต่เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณ 9.3% ที่ปี 2010 ดังนั้นที่อัตราค่าแรงเดิมนี้ แต่มูลค่าของมันลดลงจากเดิม ถึงประมาณ 10% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปี 2011 ไม่ต่ำกว่า 6% มูลค่าของค่าแรงจำนวนนี้ยิ่งจะลดลงจากเดิมลงไปอีก
สภาพการณ์ทั่วไปในกรีซเริ่มสร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรอีกครั้ง เนื่องจากการต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงขึ้น ฉะนั้นในการพบปะกันล่าสุดของกลุ่มประเทศยูโรที่ Brussels ได้มีข้อตกลงที่สำคัญ ได้แก่ การลดวงเงินหนี้ของกรีซต่อกลุ่มประเทศยูโรลงประมาณ 20% นอกจากนี้ยังกังวลถึงผลกระทบด้านการเงินที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต (ซึ่งนอกเหนือขอบเขตของการจัดทำบทความนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากบทความในหนังสือพิมพ์ด้านการเงินต่างๆ)
ฉะนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อต่อสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศตามสัญญาเงินกู้ฉบับแรกของรัฐบาลกรีซ ไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ แต่กลับทำลายเศรษฐกิจของประเทศให้ย่อยยับลงไปอีก และยังทำลายชีวิตของประชาชนชาวกรีซนับล้านๆคน จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกถึง 250,000 คน และธุรกิจ/อุตสาหกรรม SME ต้องปิดไปประมาณ 62,000 แห่ง นอกจากนี้ผลกระทบของการตัดงบประมาณลงอย่างมหาศาล กำลังส่งผลกระทบโดยตรงกับ กิจการบริการทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการของประเทศ เช่น กิจการขนส่งสาธารณะในบางภูมิภาค จะต้องลดการบริการลงกว่า 40% ทั้งๆที่เก็บอัตราค่าโดยสารสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ค่าไฟฟ้าและประปาเพิ่มสูงขึ้น กิจการ รัฐวิสาหกิจต่างๆของรัฐต้องขายหุ้นส่วนหนึ่งออกไปให้เอกชนเข้ามาร่วมดูแล (เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ) ระบบการศึกษาของประเทศถูกจำกัดงบประมาณลงอย่างมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการศึกษาทุกระดับเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลโดยตรงให้คนหนุ่มคนสาวไม่สามารถศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก ผลกระทบต่างๆเหล่านี้ส่อชัดเจนว่า กรีซต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถตั้งหลักได้ และสามารถย้อนกลับมาพัฒนาประเทศตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม
การใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลอย่างไม่รู้จักมัธยัสถ์ตั้งแต่เริ่มต้นในขบวนการพัฒนาของประเทศ พร้อมทั้งการที่ไม่เข้าใจขบวนการพัฒนาที่ถูกต้องเหมาะสม การเน้นที่จะเอาใจกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ การแข่งขันกันระหว่างรัฐบาลต่างๆที่จะจัดทำโครงการประชานิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับประเทศชาติในอนาคตที่แท้จริง จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับคนรุ่นต่อไป การใช้จ่ายต่างๆในปัจจุบันที่ต้องกู้เงินมาใช้ เท่ากับใช้จ่ายเงินในอนาคต ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือเงินของลูกหลานและของคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้โดยมุ่งหวังว่า คนรุ่นใหม่จะเก่งกว่าคนรุ่นปัจจุบัน สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า สามารถหารายได้มามากขึ้น เพื่อให้สามารถคืนเงินกู้จำนวนที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่กู้สร้างหนี้เอาไว้ แต่ท่านทั้งหลายมั่นใจแล้วหรือว่า คนรุ่นใหม่จะสามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะหากไม่เป็นเช่นที่คาด ก็เท่ากับ คนรุ่นเราสร้างหนี้สินเพื่อทำลายชาติและประชาชนคนรุ่นใหม่เสียเอง ท้ายที่สุดประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็อาจจะต้องยอมที่จะสูญเสียในหลายๆสิ่งซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมและอัตลักษณ์ วัฒนธรรม จารีต ประเพณี วิถีชีวิตอันดีงามของพวกเขา อาจถูกแทนที่ด้วยทุนนิยมสามานย์ ที่หวังครอบครองประเทศเหล่านี้มากกว่าช่วยเหลือและฟื้นฟูก็เป็นได้ กรีซอาจจะมีอารยธรรมที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนเวลาไปสร้างใหม่ไม่ได้ หากแต่ทุนนิยมที่เข้ามากอบโกยอาจจะเปลี่ยนแปลงให้สิ่งเหล่านี้เป็นความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ มากกว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันต่อไป และด้วยงบประมาณที่ถูกควบคุมเช่นนี้การศึกษาที่ลดลง และแคบลง ก็จะทำให้แนวคิดของประชาชนกลุ่มใหม่ย่อมแตกต่างและไร้ซึ่งสำนึกในความเป็นชาติด้วยการถูกปลูกฝังอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดทุนนิยมครอบโลกเช่นนี้ คงไม่ต่างอะไรกับการตัดตอนกระบวนการสืบทอดความเป็นชาติของตนเอง ไม่ต่างอะไรกับการ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านเลยทีเดียว” เมื่อพวกเขาเหล่านั้นเติบโตมาโดยไม่ได้เห็นในสิ่งซึ่งเรียกว่า อัตลักษณ์แล้ว พวกเขาจะมีความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติได้อย่างไร สิ่งนี้น่ากลัวยิ่งกว่าสงครามในสนามรบเสียอีก ประชาชนที่เคยเป็นเกษตรกรหรือเหล่าผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ก็จะต้องหันมายอมรับในอำนาจของทุนต่างชาติที่เข้ามาครอบงำและนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและการเงินที่ผูกขาด ประชากรก็จะละทิ้งถิ่นฐานและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อตอบสนองการกอบโกยของเหล่าเจ้าหนี้มากขึ้น รวมถึงส่วนหนึ่งตอบสนองนโยบายประชานิยมเพื่อมอมเมาประชาชนต่อไปเช่นกัน สิ่งนี้เองจะยิ่งทำให้ประเทศนี้สูยเสียทั้งในเรื่องอัตลักษณ์ สมดุลธรรมชาติที่เป็นจุดขายของประเทศในกลุ่มเมดิเตอเรเนียน ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการแก้ไขหรืออาจทำไม่ได้เลยก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
http://www.thaipost.net/news/080711/41398
พลภัทร ดีสวัสดิ์มงคล. รายงานผลวิจัยเรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจกรีซ”. 2 มีนาคม 2553.
พลภัทร ดีสวัสดิ์มงคล. รายงานผลการศึกษาและติดตามสถานการณ์ “วิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรป”.
19 พฤษภาคม 2553.
มันทนา เลิศชัยทวี. “บทเรียนจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ”. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2553.
พลภัทร ดีสวัสดิ์มงคล. รายงานผลการศึกษาและติดตามสถานการณ์ “วิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรป”.
19 พฤษภาคม 2553.
มันทนา เลิศชัยทวี. “บทเรียนจากวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ”. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2553.
Source: http://popularity49.blogspot.com/2011/12/blog-post_22.html
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)