วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ท้าทายทฤษฎี 2 สูง วันที่ "นายห้าง ซี.พี." ถูกลูบคม (ประชาชาติธุรกิจ)
พฤหัสบดี 31 กรกฎาคม 2008 - 9:29

2 มิ.ย. ณ โรงแรมดุสิตธานี เจ้าสัว ซี.พี. "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ทฤษฎี 2 สูง ทางเลือกสุดท้าย ทางรอดประเทศ ?" ท่ามกลางรัฐมนตรีของรัฐบาลสมัคร เทคโนแครต นักธุรกิจ และชนชั้นนำในเมืองจำนวนมาก เจ้าสัว ซี.พี.ยืนยันว่า ยุคนี้คือยุคทองของภาคเกษตร แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือต้องทำให้เกิด 2 สูง โดยหมายถึงการปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นตามกลไกตลาด และรัฐต้องเพิ่มรายได้หรือเพิ่มเงินค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น โดยเริ่มจากเงินเดือนราชการ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ"อย่ากังวลว่าจะทำให้เงินเฟ้อ เพราะการปล่อยให้สินค้าราคาสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนเกิดประหยัดโดยอัตโนมัติ และสุดท้ายราคาสินค้าก็จะลงมาเอง สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการมีเงินแต่ไม่มีของจะซื้อ แม้จะให้เงินเดือนแพง แต่หากไม่มีสินค้าจะซื้อจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า ซึ่งแนวทางนี้ดีกว่าการใช้ทฤษฎี 2 ต่ำอย่างที่ผ่านมา ซึ่งรัฐเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำและประชาชนยังมีรายได้ต่ำ มีแต่จะยิ่งทำให้คนขี้เกียจและประเทศชาติไม่พัฒนาขึ้น" นายธนินท์กล่าวผ่านไป 1 เดือน (24 กรกฎาคม) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "1 ล้านไร่ มิติใหม่ที่ราชพัสดุ" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอนหนึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่า "วันนี้ค่าครองชีพขึ้นสูง นายห้าง ซี.พี.ก็บอกว่าให้ผมขึ้นเงินเดือน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ แล้วผมจะเอาเงินที่ไหนมาขึ้นเงินเดือน แล้วมาบอกว่าให้กู้เงินมาขึ้นเงินเดือน อย่างนี้ตายเลย คงทำไม่ได้" จริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัว ซี.พี.ถูกนายห้างอีกคนท้าทายอย่างนิ่มนวลและเป็นมิตร เจ้าสัวคนนั้นคือ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เจ้าของทฤษฎี 2 อ่อน โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายห้างสหพัฒน์เสนอว่า ภาวะที่คนไทยได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้น จึงขอนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยทฤษฎีสองอ่อน กล่าวคือ ใช้นโยบายเงินบาทอ่อน เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมหรือปรับลดลงอีก และหากนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ควบคู่กับนโยบายสองสูง ปรับราคาสินค้าเกษตร และเงินเดือนให้สูงตามข้อเสนอของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอนภายในสองเดือนเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก หากเงินบาทอ่อนค่าการส่งออกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มรากหญ้าได้เป็นอย่างดี ส่วนอัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ลดต้นทุนการดำเนินงานของภาคเอกชน เพิ่มรายได้จากภาคท่องเที่ยว รวมทั้งสกัดกั้นไม่ให้มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทสิ่งที่นักธุรกิจเป็นห่วงขณะนี้คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล หากปรับดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ และใช้บาทแข็งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอย แต่หากใช้ทฤษฎีสองอ่อน รวมทั้งมีการปรับรายได้ให้สอดคล้องเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้น"ผมเป็นห่วงการปรับดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ผมเข้าใจว่าคงใช้ตำราคนละเล่ม หากใช้แบบนี้เมื่อ 40 ปีทำได้ แต่ปัจจุบันเงินทุนมีการไหลเข้าออกตลอดเวลา ขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยจะมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรซึ่งไม่ดีกับเศรษฐกิจ เงินบาทแข็ง รายได้กลุ่มรากหญ้าไม่ดี ทุกอย่างจะกระทบไปหมด" ขณะที่ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล่นบทเอาใจ 2 นายห้างโดยการผสมผสาน 2 สูง 2 อ่อน แบบเป็นมิตรว่า "ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ที่เสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้ทฤษฎี 2 อ่อน คือเงินบาทอ่อน กับอัตราดอกเบี้ยหากไม่ปรับลงให้ อ่อนกว่านี้ก็ไม่ควรเพิ่มขึ้น สามารถทำ ควบคู่กับทฤษฎี 2 สูงของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ คือเพิ่มรายได้แรงงานให้สูง และให้สินค้าสูงตามกลไกตลาด" แต่นอกวงนายห้างและเจ้าสัว บรรดาปราชญ์ชาวบ้านอย่าง นายป้อมเพชร กาพึง ปราชญ์ท้องถิ่นเมืองพะเยา บ้านต๋อมดง ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา กลับมองต่างมุม โดยนายป้อมเพชรฟันธงว่า "ทฤษฎี 2 สูง นับเป็นเรื่องดีสำหรับกลุ่มเกษตรที่มุ่งทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำการเกษตรตามกระแส ซึ่งต้องเท้าความว่าบ้านเมืองเราเป็นเมืองเกษตรกรรมทำกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด แต่เกษตรสมัยก่อนนั้นเป็นเกษตรทำเพื่อกิน แลกเปลี่ยน การขายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำกันในสมัยก่อน เรามักได้ยินคำว่าพริกอยู่เรือนเหนือ เกลืออยู่เรือนใต้ ผมว่ามันเป็นความงดงาม มันแสดงถึงความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน""ช่วงหลังโลกมันเจริญขึ้น การทำการเกษตรก็เปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ต้องทำเพื่อเงินทองนำเงินมาพัฒนาประเทศ เกษตรกรเราก็หลงจนกลายเป็นเบี้ยล่าง แต่ก่อนบ้านเราปุ๋ยยาไม่มีใครรู้จัก ตอนหลังมันกลายเป็นเกษตรกรรมเพื่อการค้า ปลูกอะไรบ้างแล้วขายได้ เน้นเพียงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ช่วงหลังเราก็ถูกคนข้างนอกบงการ กลายเป็นทาสของนายทุน ทุกอย่างต้องซื้อ ทั้งเมล็ดพันธุ์ น้ำมัน ต้นทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต"นายป้อมเพชรกล่าวต่อว่า มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ออกมามากมาย แต่ต้องมีการลงทุน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เจ้าของนากลายเป็นผู้จัดการนา โดยมีผู้ร่วมลงทุนหลายรายเข้ามา เช่น ธ.ก.ส.หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ญี่ปุ่นส่งรถไถนา เยอรมนีส่งยาฆ่าแมลง เกาหลีส่งปุ๋ยเคมี และอีกอย่างที่ตามมาคือ ความเสี่ยง ซึ่งเกษตรกรต้องแบกรับไว้เต็มๆ ทุกวันนี้การเกษตรมันเป็นการลงทุน มันมีความเสี่ยง เช่น ถ้าเกิดภัยธรรมชาติ ฝนแล้ง น้ำท่วม เกษตรกรต้องแบกรับเอง ผู้จัดการนาก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินมากขึ้นทุกปี ไม่รู้ว่าเกษตรกรจะมีทางรอดอย่างไร มีทางหลุดหนี้สินอย่างไร "เกษตรกรมากกว่า 90% ติดหนี้สินและไม่มีทางออก ทั้งยังมาถึงเรื่องสุขภาพ คนเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะอาหารมาจากผลผลิตการเกษตร แล้วถ้ามีสารเคมี ก็จะเกิดการสะสมสารเคมี กลายเป็นพิษภัยต่อร่างกาย เมื่อ 10 ปีก่อนคนเข้าโรงพยาบาลพะเยา 500-600 คน แต่เดี๋ยวนี้ 800-1,200 คน พวกนี้ก็มาจากเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม""ทางรอดไม่ใช่การวิ่งเหมือนสิ่งที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่าง ซี.พี.บอก เราต้องสร้างทางเลือก ต้องสร้างเกษตรที่เป็นทางเลือก เป็นอิสระ อย่างเช่นเกษตรอินทรีย์ อย่างตอนนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของผมสามารถขายได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงนายหน้า เวลาขายของไม่ต้องไปถึงตลาดก็มีคนมาถามซื้อ คือถ้ามาในแนวเกษตรทางเลือก เราจะเป็นอิสระจากกลุ่มทุน ไม่ต้องเป็นทาสของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ในเวลานี้ต้องลงนาทีก็ต้องหาทุน" (www.prachatai.com)ความเห็นที่แตกต่างระหว่างเจ้าสัว ซี.พี.กับปราชญ์ชาวบ้าน อาจเป็นไปตาม "ทฤษฎี 2 นครา" ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เชื่อว่า ชนชั้นนำในเมืองกับคนในชนบท มองโลกไม่เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: