จับกระแส : สุทธิพันธ์ ภู่ระหงษ์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551
วันพรุ่งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคงหนีไม่พ้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนี้ไป แม้จะมีเสียงต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยอ้างว่า เป็นน้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็ตาม
แต่หลายๆ คนก็หวังว่า ความรุนแรงทางการเมือง น่าจะลดดีกรีลงมา อานิสงส์จะส่งถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามานานคงจะดีขึ้น ประชาชนมีความมั่นใจต่อการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันมากขึ้น เม็ดเงิน 1 บาท ที่ออกจากกระเป๋ามาใช้จ่าย ตามหลักทวีคูณแล้ว จะหมุนไปได้ 12 รอบ ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจกลุ่มต่างๆ เดินหน้าต่อไป หลังจากที่สะดุดหยุดพักเครื่องมานาน
มองมาที่ตลาดหุ้นบ้านเรา นอกจากจะขึ้นและลงตามอุณหภูมิทางการเมืองแล้ว ยังขึ้นและลงตามอารมณ์ของนักลงทุนด้วย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่หากนับตั้งแต่ต้นปี ได้ขายหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดขายในระยะเวลาอันใกล้
ปัญหาของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเรานั้น นอกจากจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในแล้ว เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ซวนเซมานานนับปี เพราะพิษสงจากซับไพร์ม ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ ยังเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้ต่างชาติพากันเทขายหุ้นในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย เพื่อไปอุดตัวเลขสีแดงในบัญชีบ้านเกิดด้วย
กรณีล่าสุด บริษัทเลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลก ที่ประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนในซับไพร์ม ซึ่งถึงวันนี้ ยังหาเจ้าของใหม่ไม่ได้ และต้องล้มละลายในที่สุดนั้น เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า วิกฤติซับไพร์มในตลาดสหรัฐอเมริกา รุนแรงกว่าปัญหาการเมืองในบ้านเราหลายเท่านัก และเป็นสัญญาณเตือนภัยต่อเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว
ปฏิกิริยาของธนาคารทั่วโลกหลังการล้มละลายของ เลแมน บราเดอร์ส คือ ธนาคาร 10 แห่งทั่วโลก ลงขันรายละ 7,000 ล้านดอลลาร์ รวม 70,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน และกองทุนต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจจะประสบปัญหาสภาพคล่องฉุกเฉิน จากวิกฤติซับไพร์ม บ่งชี้ให้เห็นว่า องค์กรชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก ยังไม่วางใจต่อปัญหาซับไพร์ม
หากจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ของนายเบน เบอร์นันเก้ ได้ผนึกกับธนาคารกลางพันธมิตรชาติใหญ่ โดยเฉพาะยุโรป ได้อัดฉีดเม็ดเงินใหม่นับแสนล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธนาคารของประเทศตัวเองมาแล้ว แต่ก็ทำได้แค่เพียงบรรเทาปัญหาเท่านั้น
เมื่อตลาดหุ้นถูกปัจจัยลบกดดันรอบด้าน นักวิเคราะห์ประเมินโอกาสดัชนีหุ้นในปีนี้ จะกลับมาวิ่งเล่นเหนือแนวเส้น 700 จุด ค่อนข้างยากเต็มที มีแต่จะเร่งเวลาปีนี้ให้หมดไปเร็วๆ และไปเริ่มใหม่กันปีหน้า
ปัญหาของไทยในตอนนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองเท่านั้น เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจ ที่จะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่ารออยู่ตรงหน้า และหวังว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะเอาจริงเอาจัง หามาตรการรับมือกับภัยทางเศรษฐกิจ ที่กำลังจะมาเยือนได้อย่างทันท่วงที และเท่าทัน แม้หลายกระแสบอกว่า ครม.สมชาย 1 จะเป็นแค่ ครม.เฉพาะกิจ ที่เข้ามาเพื่อปูทางไปสู่การยุบสภาภายใน 3 -6 เดือนข้างหน้าก็ตาม
ธปท.ชี้ภัย "เลแมน" ต่างชาติขนเงินออก
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551
แบงก์ชาติ ชี้ "เลแมน" ล้มละลายส่งผลกระทบเงินทุนไหลออกต่อเนื่องจากต้นปี เหตุนักลงทุนถอนเงินกลับสหรัฐ ช่วยพยุงฐานะสถาบันการเงินสหรัฐ ส่วนผลกระทบแบงก์ไทยมีไม่มาก เหตุแบงก์ไทยทั้งระบบปล่อยสินเชื่อ และลงทุนในสินทรัพย์ของเลแมน แค่ 4,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก หากเทียบกับสินทรัพย์ของแบงก์ทั้งหมด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐ ประสบปัญหาการเงินจนถึงขั้นที่อาจจะต้องยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สิน ตามกฎหมายล้มละลาย ว่าหากความกังวลถึงปัญหาสินทรัพย์ในสหรัฐ ยังมีต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างประเทศ จะผ่องถ่ายเงินลงทุน ที่ลงทุนอยู่ในเอเชียกลับไปสหรัฐ เพื่อนำเงินไปช่วยซื้อสินทรัพย์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินออก จากเอเชีย เกิดขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องติดตามผลกระทบต่อสภาพคล่อง ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ในช่วงที่ตลาดเงินต่างประเทศยังอยู่ในช่วงการปรับตัวซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ผลกระทบจากตลาดการเงิน ก็อาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจต่างประเทศ ทำให้กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อด้วย ซึ่งหากรวมผลกระทบทั้งจากการที่นักลงทุนขนเงินกลับไปสหรัฐ และผลกระทบการปล่อยสินเชื่อ อาจจะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงด้วย
รายงานข่าวระบุว่าตั้งแต่ต้นปีนี้นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเงินไปชดเชยการขายทุนจากซับไพร์ม ทั้งนี้ในส่วนตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงวานนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิไปแล้ว 116,692.29 ล้านบาท
"หากประเมินผลกระทบจากการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการล้มละลายของบริษัทเลแมน บราเดอร์สต่อระบบการเงินสหรัฐนั้นคาดว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตที่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากตลาดการเงินได้คาดการณ์เกี่ยวกับฐานะธนาคารไว้แล้ว รวมทั้งได้ปรับตัวล่วงหน้า เห็นได้จากการที่ราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ ก็พิจารณาแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบวงกว้าง โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้มีการเปิดสาขาธนาคารเลแมน บราเดอร์ส ดังนั้นผลต่อระบบการเงินคงมีเฉพาะธุรกรรมที่เกิดในตลาดการเงินเท่านั้น" ดร.บัณฑิต กล่าว
ดร.บัณฑิต กล่าวว่าสถาบันการเงินไทยยังมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับกับปัญหาการเงินที่เกิดในสหรัฐ ได้เนื่องจากสถาบันการเงินไทยลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศไม่มาก โดยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่งลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมรวมจำนวน 102,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด และในส่วนของการทำธุรกรรมกับบริษัทเลแมน บราเดอร์สนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยปล่อยสินเชื่อและลงทุนในตราสารที่ออกโดยบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส คิดเป็นมูลค่า 4,300 ล้านบาทน้อยกว่าการลงทุนในตราสารซีดีโอ
นอกจากเงินปล่อยสินเชื่อและเงินลงทุนในตราสารที่ออกโดยเลแมน บราเดอร์ส แล้ว ดร.บัณฑิต กล่าวว่าธนาคารพาณิชย์ไทยทำธุรกรรมที่อยู่นอกงบการเงิน เช่น ธุรกรรมอนุพันธ์กับบริษัทเลแมน บราเดอร์ส คิดเป็นมูลค่าตามสัญญา 5,300 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมประเภท สวอปอัตราดอกเบี้ย (cross currency interest rate swap) ทำให้มูลค่าจริงที่จะต้องชำระต่ำกว่าระดับ 5,300 ล้านบาทอย่างมากซึ่งคาดว่าไม่น่าจะถึงหลักร้อยล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อและลงทุนในตราสารที่ออกโดยเลแมน บราเดอร์ส ของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น เป็นธุรกรรมที่กระจายอยู่ในธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ซึ่ง ธปท.ไม่เปิดเผยจำนวนที่ชัดเจน
นอกจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสัดส่วนน้อยแล้ว ดร.บัณฑิต กล่าวว่าสาเหตุที่ระบบสถาบันการเงินไทย ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเงินของสหรัฐ ยังมาจากการที่สภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ มาจากการระดมเงินฝากภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของสินเชื่อ ไม่ได้กู้เงินมาจากต่างประเทศ ทำให้โอกาสที่จะได้รับผลกระทบ จากปัญหาสภาพคล่องในต่างประเทศมีน้อย
อีกทั้ง การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งทั้งอัตราการทำกำไร สัดส่วนเอ็นพีแอลที่ลดลงต่อเนื่อง การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเพียงพอ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ในฐานะที่สามารถรองรับกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบของธนาคารพบว่า ที่ผ่านมา ธนาคารไม่มีการปล่อยกู้และลงทุนในตราสารของบริษัทดังกล่าว แต่อาจจะมีการลงทุนในส่วนของซีดีโอเล็กน้อย 10-20 ชื่อ ซึ่งผลกระทบอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมาไม่ถึงการลงทุนของธนาคาร โดยธนาคารกรุงไทย ลงทุนในซีดีโอ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารตั้งสำรองไปแล้วประมาณ 70%ของมูลค่าซีดีโอที่ไปลงทุน
ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าขั้นวิกฤติรุนแรงเหนือความคาดหมาย และปัญหาของบริษัทเลแมน สะท้อนว่าในขณะนี้ ยังไม่เห็นจุดต่ำสุดของปัญหา ซึ่งเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาถึงครึ่งปีหน้าถึงจะเริ่มฟื้นตัว หรือจะต้องติดตามว่า จะมีสถาบันการเงินรายใหม่ประสบปัญหาอีกหรือไม่ โดยคาดว่าจะเห็นจุดต่ำสุดของปัญหาในสิ้นปีนี้
สำหรับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในระยะสั้นจะเป็นเรื่องของการตื่นตระหนกในข่าวที่ออกมา ทำให้ปฏิกิริยาของตลาดเงินทั่วโลกรุนแรงมาก แต่ในระยะยาวเชื่อว่า จะกระทบกับการค้าการลงทุน และการเคลื่อนย้ายของเงินทุนหลังจากนี้ว่าจะไหลไปทางใด ทั้งการไหลกลับเข้าสหรัฐหรือไหลเข้าภูมิภาคใดต่อไป ส่วนผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยเชื่อว่าจะมีไม่มากนัก เพราะหลายสถาบันที่เข้ามาลงทุนก็มีการเพิ่มทุนไปเรียบร้อยแล้ว
"ปัญหาของเลแมน ลือกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะหนักมากขนาดนี้ ทำให้คาดว่าปัญหาคงไม่จบง่าย ๆ และเฟดก็คงลดดอกเบี้ย ส่วนปัญหาสภาพคล่องก็อาจจะมีการดึงกลับบ้าง เพราะแม้ทางการจะไม่เข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็มีประเด็นว่าจะต้องช่วยเหลือสถาบันการเงินอีก 2 แห่งด้วย โดย ภาพรวมคงกระทบเศรษฐกิจโลกโดยรวม และความมั่นใจของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจไทยเอง คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในไตรมาส 3 เป็นต้นไป"