โอเปอเรเตอร์ ภาคประชาชน ห่วงเรื่องประมูล 3 จี หวั่นมีการฮั้วราคาสูงสู้ทุนนอกไม่ไหว ประธานกทช.การันตีราคาประมูล 3 จีไม่ทำให้โอเปอเรเตอร์ล่มจมแน่ ฝากทำความเข้าใจผู้ใช้ไม่ต้องห่วงถูกมัดมือใช้ 3จี เผยมีสิทธิเลือกใช้ 2 จี หรือ 3 จีได้ตามความต้องการ ยันค่าประมูลคลื่น 3 จีส่งเข้ารัฐทุกบาททุกสตางค์ นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปิดเผยว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชนทั่วไปเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (TMT หรือ 3 G and beyond) 2 ครั้ง ซึ่งจัดในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องวิธีการให้ใบอนุญาต ด้วยการประมูลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นห่วงการให้ใบอนุญาตด้วยวิธีการประมูล จะเกิดการฮั้วกันระหว่างผู้ประกอบการเกิดขึ้น หรือผู้ประกอบการในประเทศอาจจะไม่มีเงินลงทุนสู้ผู้ประกอบการต่างชาติได้ นอกจากนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่าทำไมถึงเลือกวิธีการประมูล และทำไม ใช้วิธีการจัดสรรความถี่ให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ 3 รายเช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่น ทำแต่วิธี นี้จะต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ถึงจะสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงว่าผู้ประกอบการไทยไม่สามารถสู้ทุนต่างชาติ ได้หาก กทช.เปิดให้ต่างชาติเข้ามาขอใบอนุญาต 3 จีนั้น เชื่อว่าตามข้อกำหนดที่ระบุให้ผู้ประกอบการลงทุน 3 จีให้ครอบคลุม 90 % พื้นที่ของประเทศ ทั้งหมดนั้นเชื่อว่าจะเป็นตัวบีบให้ต่างชาติหาพันธมิตรผู้ประกอบการเดิมในประเทศร่วมลงทุนเนื่องจากในกรอบระยะเวลาดังกล่าวผู้ประกอบการจะไม่สามารถลงทุนเครือข่ายได้ครอบคลุม 90 % ตามที่กำหนด โดยกรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศสวีเดน มีผู้ประกอบรายหนึ่งถอนตัวจากการทำ 3 จีเนื่องจากไม่สามารถลงทุน 3 จีได้ทันตามกำหนด พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. กล่าวว่า สำหรับกรณีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการประมูลใบอนุญาต 3 จีมีผู้ประกอบการและภาคประชาชนต่างเป็นห่วงว่าจะออกมาสูงเกินไป กทช.ขอยื่นยันว่าค่าธรรมเนียมที่ออกมาจะเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลมากที่สุด "ข้อกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสูงเกินไปนั้น เราขอรับรองตรงนี้ว่าจะไม่สูงจนส่งผลให้ผู้ประกอบการล่มจมอย่างแน่นอน เราจะพิจารณาอย่างระเอียดรอบคอบ ด้วยความสมเหตุสมผลภายใต้สถานการณ์ของประเทศไทย" อย่างไรก็ดี กทช. อยากบอกไปถึงภาคประชาชนว่าหากมีการเปิดให้บริการ 3 จีในประเทศไม่ว่าจะเป็น 3 จีบนความถี่มาตรฐาน 2.1 GHz หรือ 3 จีบนคลื่นความถี่เดิม 850MHz -900 MHz ประชาชนจะไม่ถูกบังคับให้ใช้งานเพียงเทคโนโลยี 3 จีเท่านั้น แต่ยังจะสามารถเลือกใช้บริการ 2 จีได้ตามความต้องการ โดยบริการ 3 จีจะเป็นบริการทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีที่มีความเร็วสูง เช่น ภาคธุรกิจ นักธุรกิจ เป็นต้น สำหรับรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีนั้น กทช. จะส่งให้กับกระทรวงการคลังทั้งหมด เนื่องจากรายได้ดังกล่าวเกิดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของ ประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากดำเนินการ 3 จี ของ กทช.ที่เกิดขึ้นนั้น ภาครัฐจะจ่ายคืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความกรุณาของภาครัฐ http://www.manager.co.th/Telecom/ViewNews.aspx?NewsID=9510000109129 |
|