นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยเปิดซื้อขายมาเมื่อต้นปี 2551 ถึงวันที่ 22 ม.ค. ดัชนีลดลงต่อเนื่องทุกวันรวมแล้วถึง 13%
เป็นการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ 30,062.34 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากผลกระทบด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ
แม้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมองว่าตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพมากกว่าอีกหลายตลาดหุ้น เพราะถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่นับตั้งแต่ต้นปี 2551 ดัชนีหุ้นลดลง 20-24% ของไทยจึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษอะไรมาดูแล
แต่หากมองจากสถานการณ์ขณะนี้ ก็ไม่น่าไว้วางใจเสียทีเดียว
เพราะปัญหาซับไพรม์ ที่พ่นพิษใส่เศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่เดือนก.ค.2550 จนป่านนี้ยังไม่มีวี่แววว่าคลื่นลมจะสงบ โบรกเกอร์และนักลงทุนทั่วโลกคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปอีกนานอย่างน้อย 6 เดือนนับจากวันนี้
หรือบางรายคาดว่าจะลากยาวไปถึงปี 2552 !!!
แม้ก่อนหน้านี้เมื่อ 18 ม.ค. ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษีเงินได้ให้ประชาชนด้วยล่าสุดวันที่ 22 ม.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหนเดียว 0.75% จาก 4.25% เหลือ 3.5%
เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งเดียวที่มากที่สุดในรอบ 26 ปี และลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงทันทีเหลือ 4% และยังมีแนวโน้มว่าการประชุมเฟดวันที่ 29-30 ม.ค.นี้ เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง แต่มาตรการและยาแรงเหล่านี้ยังไม่สามารถปลุกความมั่นใจได้ สะท้อนให้เห็นได้จากหุ้นตลาดวอลสตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลก ยังพร้อมใจกันร่วงกราวรูดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เพราะวิตกว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ที่กำลังลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งร้ายแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้
เค้าลางของวิกฤตหนนี้ถูกขนามนามว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสเพราะมีต้นตอมาจากสหรัฐ ดินแดนต้นตอของแฮมเบอร์เกอร์
เศรษฐกิจสหรัฐถือเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัว เพราะมีขนาดถึงหนึ่งในสี่ ของเศรษฐกิจทั้งโลก
หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดการชะลอตัวก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกนายโดมินิค สเตราสส์-คานห์ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะน่าวิตกมาก นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มขาดความมั่นใจ และไม่เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาลสหรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เม็ดเงิน 145,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำกว่าที่คาดไว้
เมื่อเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐจริง เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกจะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องได้รับผลกระทบลุกลามเป็นโดมิโน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง นายสเตราสส์-คานห์ กล่าว
ถ้าเป็นจริงก็หมายความว่าประเทศไทยคงหลีกหนีไม่พ้นเช่นกัน
ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเด่นชัด 2 ด้าน คือ ผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งออก เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย หากการส่งออกไปสหรัฐลดลง อาจทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินไว้ที่ 4.5-5% ลดลงตาม เพราะปัจจุบันภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด
สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐในปี 2550 จากสถิติไทยมีการส่งออกไปยังสหรัฐมีมูลค่ารวม19,216 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง 1.20% เมื่อเทียบกับปี 2549 การนำเข้ามีมูลค่ารวม 9,506 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง0.85% แต่ไทยยังเป็นฝ่ายที่เกินดุลการค้าสหรัฐรวม 9,710 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบันสหรัฐกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และสหภาพยุโรป โดยประเทศในกลุ่มอาเซียนครองส่วนแบ่งการส่งออกจากไทยสูงสุด 16.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 25,152 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.2% รองลงมา ได้แก่ สมาชิกสหภาพยุโรปครอง ส่วนแบ่งตลาด 12.8% หรือคิดเป็น 19,502 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.6% และสหรัฐครองส่วนแบ่ง 12.6% ตามลำดับ สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐมากเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มูลค่า 3,387 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.36% รองลงมา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่า 1,477 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง9.22% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 1,044 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวลดลง 5.89%ผลกระทบด้านที่ 2 คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้นในย่านเอเชีย เมื่อนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในย่านเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมหาศาล
ย้อนกลับไปดูข้อมูลนับจากต้นเดือนพ.ย.2550 ถึงวันที่ 22 ม.ค.2551 พบว่าต่างชาติขายสุทธิมากถึง 83,821.38 ล้านบาท โดยมีนักลงทุนรายย่อยชาวไทยเป็นผู้ซื้อสุทธิ 56,536 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมและนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ27,285.37 ล้านบาทนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนจนถึงกลางปี52 ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติที่เทขายหุ้นไทยออกไปจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีก เพราะขณะนี้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นปีลดลงถึง 13-14% เป็นราคาที่ต่ำพอสมควร ขณะที่พื้นฐานของหุ้นยังดี จึงมั่นใจว่าต่างชาติจะกลับเข้ามาช้อนซื้อใหม่ นายปกรณ์กล่าว
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เห็นว่า ปัญหาซับไพรม์ยังมีความยืดเยื้อ และไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ขณะนี้ต่างชาติเทขายหุ้นทั่วโลกและย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ ซึ่งยังไม่รู้จะนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแนวทางแก้ไขของสหรัฐว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้หรือไม่
ขณะที่นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองว่านักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสที่จะขายทำกำไรในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะจากการลงทุนในช่วง 3 ปี (2548-2550) ต่างชาติลงทุน 300,000-400,000 ล้านบาท และขายหุ้นออกมาตั้งแต่เดือนก.ค. ซึ่งเกิดปัญหาซับไพรม์จนถึงปัจจุบัน 110,000 ล้านบาท
และยังจะขายได้อีก
และหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลุดระดับ 710-680 จุด อาจเกิดภาวะสั่นคลอน นี่คือโจทย์เศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ต้องเร่งเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ และปลุกความเชื่อมั่นของนักลงทุนคืนมา ไม่ว่าหน้าตาของรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจจะสวยงามหรือขี้เหร่แค่ไหน ถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือที่มีอนาคตของประเทศไทยเป็นเดิมพันแนวทางการแก้ไข เศรษฐกิจของสหรัฐนั้น มีสาเหตุหลักอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก คือปัญหาซับไพร์ม โดยอย่างที่ทราบกันว่าเกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่ขาดความรอบคอบ ดังนั้นสหรัฐจึงควรมีมาตรการในการปล่อยกู้สินเชื่อเหล่านี้ที่เข้มงวดและรอบคอบขึ้น ปัญหาใหญ่นี้ทำให้ประธานาธิบดีบุช ต้องออกมาประกาศใช้นโยบายแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าแสนล้าน เพิ่มเงินในมือประชาชน อันเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในที่สุด แต่แล้วกลับไม่เป็นผล นอกจากเศรษฐกิจจะไม่กระดิกกระเดี้ยแล้ว ยังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ซะอ่วมเลย ประการที่สอง คือ การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากสภาพที่สะบักสะบอมของสหรัฐ ทำไม่มีนักลงทุนกล้าที่จะเสี่ยงเอาเงินไปลงทุนมากนัก ทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลงไปอีก ดังนั้นสหรัฐควรออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่าสหรัฐจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตนี้ออกมาได้ หากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นและลงทุนมากขึ้น ความแข็งแรงของสหรัฐก็จะมีมากขึ้นกว่านี้ และหากมีการลงทุนมากในระดับหนึ่ง จะช่วยกระตุ้นการจ้างงาน อันจะมีผลกระทบกระตุ้นให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้นนอกจากนี้ยังมีทางออกที่สหรัฐใช้ในการแก้วิกฤตครั้งนี้ก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของสหรัฐอ่อนลง อันเป็นการtrade – off เพื่อให้ดุลบัญชีการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นดีขึ้น ไม่ขาดดุลต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเช่นนี้ และเป็นการทำให้ประชาชนสหรัฐลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลงได้อีกด้วยหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งของสหรัฐจะเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด เพราะนอกจากจะทำให้สหรัฐเองรอดพ้นจากวิกฤตแล้ว ชาติอื่นรวมถึงไทยด้วยก็จะรอดเช่นกัน