วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

เลแมน บราเดอร์ เมื่อยักษ์ล้ม 

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีข่าวไหนดังไปกว่าข่าว เลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับสี่ของโลก ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และเอไอจี กลุ่มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และรัฐบาลของสหรัฐต้องให้เงินกู้ฉุกเฉิน 85,000 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 2 ปี อัตราดอกเบี้ยประมาณ 11.4% ต่อปี โดยแลกกับการให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้น 79.9%

ทำไม่รัฐบาลสหรัฐ ต้องเข้ามาอุ้มเอไอจี ในขณะที่ไม่อุ้มเลแมน รัฐให้เหตุผลว่า เพราะเอไอจีเกี่ยวพันกับตลาดการเงินมาก นักวิเคราะห์กล่าวว่า ไม่มีธนาคารใหญ่ขนาดใหญ่รายใด ที่ไม่มีธุรกรรมกับเอไอจี

นอกจากนี้ เอไอจียังเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดของทรัพย์สินใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยมีทรัพย์สินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ มีพนักงานกว่า 116,000 คนใน 130 ประเทศทั่วโลก สรุปคือเกี่ยวข้องกับทั้งสถาบันการเงิน และประชาชนจำนวนมาก และจะเป็นปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินทั่วโลก ในขณะที่เลแมน เกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกัน และประชาชน เฉพาะผู้ที่เป็นผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน

สภาพของระบบสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาในตอนนี้ไม่แตกต่างอะไรกับเมืองไทยเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ผู้ลงทุนและผู้เอาประกันต่างก็ตื่นตระหนกตกใจ กลัวว่าเงินลงทุนหรือเงินประกันที่อยู่กับสถาบันการเงินเหล่านี้จะสูญไป หากรัฐไม่เข้าไปอุ้ม ผลร้ายต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็จะยิ่งขยายวงกว้างขึ้น

ก่อนหน้าที่รัฐบาลสหรัฐจะตัดสินใจเข้าไปอุ้มเอไอจี J.P. Morgan Chase และ Goldman Sachs ได้ตกลงจะหาเงิน 75,000 ล้านดอลลาร์มาให้ เอไอจีแล้ว แต่พอตลาดการเงินเกิดตึงขึ้นมา ทั้งสองบริษัทก็รู้ว่าไม่สามารถจะระดมเงินมาให้เอไอจีได้ทัน รัฐบาลจึงต้องเข้ามาอุ้มเอไอจีแทน

การเข้ามาอุ้มเอไอจีของรัฐบาลสหรัฐ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่า นำเงินภาษีของประชาชนไปช่วยบริษัทเอกชน แต่ประธานาธิบดีบุชก็กล่าวยืนยันในวันพฤหัสบดีว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบสถาบันการเงิน ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

ทรัพย์สินของเอไอจีไม่ได้เลวร้าย ทรัพย์สินดีๆ ยังมีอยู่มากมาย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเหมือนที่เกิดในไทยเมื่อ 11 ปีก่อนคือการขาดสภาพคล่อง ทำให้กองทุนฟื้นฟูต้องเข้ามาอัดฉีดสภาพคล่องให้ แลกกับทรัพย์สินจำนวนมาก

ที่เอไอจีขาดสภาพคล่องก็เนื่องจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเนื่องจากเอไอจีมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับหนี้ซับไพร์ม และมีการเข้าไปประกันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผ่านธุรกรรม Credit Default Swap จึงทำให้ขาดทุน ทำให้เอไอจีต้องหาเงิน 14,500 ล้านดอลลาร์ ในช่วงข้ามคืนเพื่อจ่ายคืนผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหนี้ เนื่องจากสัญญากู้ หรือธุรกรรม ที่ทำไว้บางสัญญา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงื่อนไขอันดับความน่าเชื่อถือ เมื่ออันดับตกก็ต้องคืนหนี้หรือยกเลิกธุรกรรมก่อนกำหนด

ว่ากันว่าความร้ายแรงของปัญหานี้คล้ายกับสมัย Great Depression ที่ดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อ 2-3 เดือนก่อน หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ที่เคยหวังกันว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวในปี 2010 ก็อาจจะยากขึ้น

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินอันเกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาหนี้เกรดสองหรือ ซับไพร์ม แล้ว เหตุการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ หลายๆ อย่างเกิดจากธุรกรรมใหม่ๆ ที่วาณิชธนากรคิดขึ้น เช่นกรณีการนำหนี้มากองรวมกันแล้วจัดกลุ่มใหม่ตามความเสี่ยงแล้วนำออกขาย แบบ ซีดีโอ (Collateralized Debt Obligation) ที่มีบางส่วนเป็นสินเชื่อซับไพร์ม และมาครั้งนี้ เกิดจาก Credit Default Swap

Credit Default Swap คือการแลกเปลี่ยนความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารจะเป็นผู้จ่ายเงินต้นคืนให้กับผู้ซื้อประกันความเสี่ยงนี้ตามหน้าตั๋ว ในกรณีที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ประมาณว่าตลาดนี้มีขนาด 62 ล้านล้านดอลลาร์ เริ่มขึ้นประมาณสิบปีเศษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยธนาคารไม่ให้เสียหายจากหนี้เสีย โดยมีบุคคลที่สามเข้ามาสอดรับความเสี่ยงนี้ เช่น เอไอจีและเลแมน และภายหลังก็มีการซื้อขายสัญญา Credit Default Swap โดยไม่ต้องมีตราสารหนี้หนุนหลัง

ตลาดของ Credit Default Swap เป็นตลาดที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกันเอง หรือที่เรียกว่า โอทีซี (Over-The-Counter: OTC) ดังนั้นจึงประมาณยากว่า มีธุรกรรมค้างอยู่จำนวนเท่าใด เท่าที่ทราบจากของเอไอจีที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ เอไอจีมีการขายประกันให้กับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีมูลค่าประมาณ 441,000 ล้านดอลลาร์ และมีส่วนที่เป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับซับไพร์มประมาณ 57,800 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะกลายเป็นศูนย์นะคะ

สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาของยักษ์ล้มอย่างแท้จริง เพราะการล้มละลายของเลแมนครั้งนี้เป็นการล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เลแมนบราเดอร์ส ซึ่งก่อตั้งมา 158 ปี มีพนักงานทั่วโลกรวม 25,000 คน ต้องทยอยขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชี

http://www.bangkokbiznews.com/2008/09/22/news_27275525.php?news_id=27275525