วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

3จี รู้จักกันจริงไหม (กรุงเทพธุรกิจ)
    ผู้บันทึก: Sirich4 on วันอังคาร 16 กันยายน 2008 - 8:31
ในช่วงระยะหลังนี้ เราพูดถึง เทคโนโลยี “3จี” กันอย่างกว้างขวาง แท้จริงแล้ว 3จี มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และประเด็นสำคัญคือ เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะก้าวจาก 2จี ไปสู่ 3จี ลองดูบทวิเคราะห์จากกูรูกันหน่อย

ทำไมต้องเป็น 3จี แล้วระบบ 2จี ที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไร 

ปัจจุบันนี้ เราใช้เทคโนโลยี 2จี ซึ่งบางคนก็บอกว่า 2.5, 2.7 หรือ 2.8จี การจะก้าวไปสู่ 3จี ที่ดูเหมือนจะอยู่แค่เอื้อม แต่ไปไม่ถึงสักทีนั้น หากถามว่าเราพร้อมแล้วหรือยัง ความพร้อมนี้ไม่สามารถมาจากหน่วยใดหน่วยหนึ่งในระบบ แต่ต้องมาจากทุกส่วนเกี่ยวเนื่องกันหมด ไม่ว่าจะเป็น Network Provider, Operator, Terminal/ Equipment Vendor, Content, Media ที่สำคัญคือ End users ว่ามีความต้องการใช้งานที่มากกว่าความสามารถของ 2จี ในปัจจุบันนี้แล้วหรือยัง 


3จี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในวงการโทรคมนาคม จุดเริ่มต้นคือเน็ตเวิร์คที่แข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยหลายประการ 2จี ที่ใช้ทุกวันนี้ ไม่เพียงพอต่อรูปแบบเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น สลับซับซ้อนมากขึ้น หรือมีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น แม้ว่าผู้ให้บริการคอนเทนท์ทุกวันนี้ ต้องการจะพัฒนาการดูหนังฟังเพลง นำเสนอข่าวสาร กราฟฟิก ฯลฯ ให้เต็มรูปแบบมัลติมีเดียมากเพียงใด แต่ก็ต้องลดคุณสมบัติลง เพราะบางบริการเน็ตเวิร์ครองรับไม่ได้ จึงต้องออกแบบมาให้ไม่ซับซ้อนมากเกินไป และผู้ใช้งานภายใต้ระบบ 2จ สามารถเปิดใช้งานได้ในระดับหนึ่ง 


2จี เพียงพอแล้วหรือไม่สำหรับการใช้งานในปัจจุบัน 

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป หากใช้งานแค่รับส่งอีเมล ดูภาพที่มีความละเอียดไม่มากนัก 2จี ก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อใดที่ต้องแนบไฟล์วิดีโอคลิป หรือไฟล์งานออกแบบที่มีขนาดใหญ่ ผู้รับก็จะไม่สามารถดาวน์โหลดได้จากโทรศัพท์มือถือ พีดีเอ หรืออุปกรณ์สื่อสารไร้สายอื่นๆ หรือหากทำได้ก็ใช้เวลานาน ดังนั้น เพื่อจะให้รับได้เต็มที่ ก็ต้องใช้ผ่านระบบ พื้นฐานที่มีความเสถียรมากกว่า รับไฟล์ใหญ่ได้ดีกว่า ดูภาพเคลื่อนไหวได้ไม่สะดุด แต่ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการสื่อสารที่ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ มักจะเดินทาง ทำงาน ท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการเงิน ข่าว ความบันเทิงได้อย่างไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ทำให้ต้องการระบบ และอุปกรณ์สื่อสารที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ 3จี เหล่านี้จะผลักดันให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และ 3จี จะส่งเสริมให้ชีวิต ไร้สายนั้น เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 


การพัฒนาไปพร้อมๆ กันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เริ่มตั้งแต่การวางระบบเครือข่าย ติดตั้งอุปกรณ์ เนื้อหาข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องการ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกันในอุตสาหกรรม รวมไปถึงมีเดียหรืออุปกรณ์สื่ออิเล็คทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น กล้อง เครื่องพิมพ์ โทรทัศน์ จอแสดงผล เป็นต้น ต้องมีความสามารถที่รองรับระบบ 3จี ได้ และที่สำคัญ คือแนวทางการส่งเสริมการตลาด กิจกรรมโปรโมชั่น และการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย เหล่านี้จะขับเคลื่อนความต้องการและความเข้าใจ 3จี ในกลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เทคโนโลยี 3จี นั้นจะเพิ่มโอกาศทั้งด้านธุรกิจ และการพัฒนา รูปแบบในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งทางภาครัฐ เอกชน และ ประชาชนทั่วไป 


หลักสำคัญของ 3จี คือ ความครอบคลุมของสัญญาณ และประสิทธิภาพเมื่อใช้งานนอกสถานที่ (Coverage + Mobility) โดยเฉพาะการให้บริการบรอดแบรนด์ไร้สาย (Wireless Broadband) คือส่วนผสมที่ช่วยให้ 3จี เกิดขึ้นได้ ผู้ให้บริการโครงข่ายที่ได้เปรียบคือผู้ที่บริการในลักษณะ End to End Solutions ซึ่ง การให้บริการบรอดแบรนด์ไร้สายนี้จะมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการให้บริการในช่วง ปลายทางของระบบเครือข่าย (Last mile) ที่ระบบอื่นๆ ให้บริการไม่ทั่วถึง 


3จี ส่งผลอย่างไรต่อผู้ใช้ที่เป็นบุคคลทั่วไป 

ในฐานะของผู้ใช้ “3จี” จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน มากกว่าการใช้งานในระบบ 2จี เช่น การตรวจรักษาอาการทางการแพทย์เบื้องต้นในระบบทางไกล (Remote Medical service), การรับชมภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ต่างๆ ตามความต้องการ (Video on demand), การติดตามเฝ้าระวังภัยในสถานที่ต่างๆ (Online-monitoring), การติดต่อสื่อสารภายในเฉพาะกลุ่ม (Web community online) แม้แต่เกมออนไลน์ หรือการอัพโหลดวิดีโอคลิป สามารถทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สิ่งใดที่ทำได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วไป ก็ย่อมสามารถทำได้บนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารไร้สายใดๆ ได้เช่นเดียวกัน นี่เป็นแนวโน้มของชีวิตสมัยใหม่ 


สำหรับเนื้อหาข้อมูลข่าวสารสาระและบันเทิง (Content) ในปัจจุบัน มีให้เลือกมากมาย ซึ่งถ้าเชื่อมต่อผ่าน Fix line หรือ ADSL ย่อมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อยู่แล้ว เพียงแต่ 3จี ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อ เข้าถึงข้อมูลได้อิสระมากยิ่งขึ้น (Mobility) ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม 3จี จะดีกว่า 2จี หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ Quality of Experience คือเมื่อใช้งานแล้วสามารถเข้าถึงคอนเทนท์ได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว ไม่มีติดขัดไม่กระตุก ย่อมสร้างความประทับใจและทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน 3จี 


3จี ส่งผลอย่างไรต่อองค์กร 

ด้วยความโดดเด่นของ 3จี คือสามารถส่งข้อมูล+เสียงไปพร้อมกันได้ดี บริษัทหรือองค์กรต่างๆ สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น การประชุมทางไกลที่สามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Teleconference, Video Conference), หรือ การทำโมบายล์ ออฟฟิศ และ การติดต่อประสานงานที่กระชับรวดเร็ว หรือ การส่งไฟล์ขนาดใหญ่ ที่สามารถเปิดอ่านได้บนมือถือ จึงทำให้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น 


นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาบริการต่างๆ ขององค์กร ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบการตลาดที่แปลกใหม่ ดึงดูดใจและหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการโดยร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมกันและกัน เพื่อให้บริการที่แปลกใหม่ และสะดวกยิ่งขึ้นแก่ผู้ใช้ เช่น การดาวน์โหลดเพลง การช้อปปิ้งผ่านมือถือ การติดตามสอดส่องเฝ้าระวังความปลอดภัยภายในบ้าน เรียลไทม์ (Online Monitoring) 


เทคโนโลยีที่เหนือกว่า 3จี คืออะไร 

ถัดจากเทคโนโลยี 3จี ซึ่งขณะนี้ อยู่ในเทคโนโลยีอยู่ในช่วงเอชเอสพีเอ คือเอชเอสพีเอ+ หรือ และถัดไป คือ 4จี ซึ่งแตกต่างกันที่ “Throughput” หรือความสามารถในการส่งข้อมูลที่มากขึ้นต่อช่วงเวลาหนึ่ง ส่งได้เร็วมากขึ้นในระยะเวลาที่สั้นมากขึ้น ขณะนี้ ในโลกปัจจุบันเราอยู่ในยุคของเอชเอสพีเอ ในแง่ของผู้ให้บริการ การจะอัพเกรดไปยังเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ต้องพิจารณาระบบและอุปกรณ์ในเครือข่ายที่มีอยู่ (Existing network) อุปกรณ์เดิมบางอย่างไม่เอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ 3จี หรือ 4จี หรือทำได้ก็ไม่ดีพอ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการลงทุนเครือข่ายในอนาคต 


ยังมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า 4จี หรือไม่ แล้วจำเป็นหรือไม่สำหรับบ้านเรา 

4จี หรือแอลทีอี (Long Term Evolution) เน้น Throughput; uplink, downlink เป็น 100 Mbps หากจะดาวน์โหลดภาพยนตร์ในระบบดีวีดีก็ทำได้ในระยะเวลาไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์การใช้งานที่ดีก่อนจาก 3จี เพื่อพัฒนารูปแบบการใช่งานของผู้บริโภค ตอนนี้เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการใช้งานในระบบ 4จี จะต่างจาก 3จี อย่างไร ในแง่ความหลากหลายของบริการ หรือ ความต้องการของตลาดและผู้ใช้งานจริง แน่นอนว่าประสิทธิภาพในด้านความเร็วจะดีกว่ามาก แต่ดีเกินความจำเป็นหรือไม่ ตอนนี้เรายังตอบไม่ได้ ความต้องการการใช้งานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต เมื่อผ่านยุคของ 3จี ถึงตอนนั้นเราอาจจะพอเห็นความต้องการอย่างชัดเจนแล้ว เช่น อาจจะมีคอนเทนท์ที่แปลกใหม่ และเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องการประสิทธิภาพเครือข่ายในระดับสูงกว่า 3จี ก็เป็นได้ 

ปัจจัยที่จะผลักดันตลาดให้ 3จี เกิดและประสบความสำเร็จ 

1. ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ตลาดทั้งในด้านเทคโนโลยีและบริการ ให้ประชาชนรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Educate market) 

2. พัฒนาระบบเครือข่ายให้มีความพร้อม สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ครอบคลุมและรวดเร็ว (Network Availability) 

3. มีการพัฒนาเนื้อหาข้อมูลทั้งสาระความรู้ ข่าวสาร และบันเทิงที่ดึงดูดความสนใจ (Content Provider) 

4. การให้บริการจะต้องไม่ซับซ้อน และค่าบริการต้องไม่สูงเกินไป จึงจะผลักดันตลาดได้ 

5. รัฐบาลต้องผลักดัน โดยให้กฎระเบียบเปิดกว้าง เอื้อต่อการลงทุนและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (Government Support) 

6. ความแพร่หลายและความหลากหลายของ Terminal หรือ อุปกรณ์สื่อสาร (Handset) เช่น มีทุกระดับราคา มีหลายรุ่นให้เลือก คนทั่วไปสามารถซื้อได้ ราคาย่อมเยา (Affordable, Accessible) 


นายพิสิษฐ์ กล่าวในที่สุดว่า 3จี ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นเส้นทางแห่งการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ได้หมายถึง “ดีกว่า” แต่รองรับการใช้งานที่ “ซับซ้อนกว่า” ตามยุคสมัยและความต้องการของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ (Tele Communication network) เมื่อ 3จี เข้ามา ย่อมกระตุ้นการใช้งานและพัฒนาไปพร้อมๆ กันทั้งระบบของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ให้บริการระบบเครือข่าย ผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการคอนเท้นต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารที่เกี่ยวเนื่อง ซัพพลายเออร์ เวนเดอร์