วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

ตลาดใหญ่วัยชรา เปิดโอกาสสินค้าใช้ง่าย-ไฮเทค
ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีความต้องการเฉพาะด้านอันเป็นผลพวงมาจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นไปตามตัวเลขวัยที่สูงขึ้น รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บและความเสื่อมบางอย่างที่มักจะตามมาพร้อมกับวัย เช่น ความสามารถในการจำที่ลดลง สายตาเสื่อม และความสามารถในการได้ยินลดลง เป็นต้น กระนั้นก็ตาม นับว่ายังโชคดีที่เทคโนโลยีในยุคนี้สามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ชีวิตของผู้บริโภคหลังวัย 60 มีความสะดวกสบายมากขึ้นได้ 



นายโจเซฟ เอฟ. คอฟลิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เอจแล็บ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตส์ หรือ เอ็มไอที ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "ตลาดใหม่คือกลุ่มผู้สูงวัย" ทั้งนี้กลุ่มคนในเจเนอเรชันที่เรียกว่า "เบบี้บูมเมอร์" ซึ่งปัจจุบันมีอายุตั้งแต่ 60 - 70 ปีขึ้นไป เป็นตลาดที่ต้องการความเยาว์วัย นั่นหมายถึงพวกเขาต้องการเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตมีความแข็งแรง กระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวา เป็นอิสระ ช่วยเหลือตัวเองได้ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 



เนื่องจากคนวัยนี้มักจะมีลูกๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงพ้นภาระการเลี้ยงดู และไม่มีภาระค่าการศึกษาของลูกๆ อีก จึงมีเงินเหลือที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อตัวเอง บ้างก็มีเงินเก็บและอยู่ในฐานะที่เรียกว่ารวย ในคนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมากที่สามารถและยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มความสุขและความสะดวกสบาย 



ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคสูงวัย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าไฮเทคหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาให้คนสูงวัยใช้เป็นพิเศษ แต่ยังสามารถเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่คนทั่วไปในวงกว้างสามารถใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ยกตัวอย่าง บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีสินค้าเครื่องเสียงส่วนตัวในระบบดิจิตอลขนาดพกพาตระกูล "ไอพ้อด" ออกมาให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย ทั้งรูปทรงสินค้ายังดูดีมีสไตล์ ถูกใจคนหลากหลายเจเนอเรชัน ร้านค้าของแอปเปิลยังออกแบบให้ดูสะอาดตา สว่าง และทันสมัย แม้คนสูงวัยก็ยังอยากจะเดินเข้าร้านเพราะรู้สึกว่าเข้าไปแล้ว ดูกระชุ่มกระชวยและไม่ตกสมัย 



ในอุตสาหกรรมรถยนต์ก็เช่นกัน ทุกวันนี้บริษัทผู้ผลิตไม่ได้มุ่งออกแบบและผลิตรถยนต์ออกมาให้คนสูงวัยใช้เป็นรุ่นๆ ไป หากแต่เน้นออกแบบและผลิตรถที่สามารถใช้ได้ดีไม่ว่าผู้ขับขี่จะอยู่ในวัยใดก็ตาม ยกตัวอย่าง ภายในห้องโดยสารของรถยนต์ฮอนด้ารุ่น "เอเลเมนท์" ปุ่มต่างๆ ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ ทำให้คนขับไม่ว่าจะแก่หรือหนุ่มสาว ก็สามารถจับใช้ได้อย่างถนัดถนี่ โฆษกของฮอนด้ากล่าวว่า อันที่จริงบริษัทไม่ได้ตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้คนสูงวัยใช้งานปุ่มต่างๆ ได้ถนัด แต่ตั้งใจให้วัยรุ่นที่ชอบกิจกรรมผจญภัย เช่น สกี สามารถใส่ถุงมือเล่นสกีขับขี่รถได้อย่างปลอดภัย แต่คุณสมบัติดังกล่าวก็กลับเป็นแรงดึงดูดใจให้คนสูงวัยชอบรถรุ่นนี้เช่นกัน 



นาย เอียโร ลานซู วิศวกรบริษัทฟอร์ดฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัจจัยการออกแบบในเชิงสรีรศาสตร์ของมนุษย์ เผยว่า แนวโน้มที่สำคัญในอนาคตสำหรับวงการรถยนต์ก็คือ รถยนต์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย เช่น ผู้ขับขี่สามารถเลือกสีและอุปกรณ์บนแผงหน้าปัดได้ตามต้องการ เพื่อให้อ่านมาตรวัดและสัญลักษณ์ต่างๆ บนแผงหน้าปัดได้ง่ายขึ้น 



นอกจากนี้เขายังเห็นว่า เทคโนโลยีหลายอย่างสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ขับขี่ทุกกลุ่มเพศวัย ตัวอย่างเช่น ระบบตรวจเช็กมุมอับสายตา ระบบเตือนเมื่อรถเปลี่ยนเลน และระบบลดเพิ่มความเร็วโดยอัตโนมัติตามสภาพที่เหมาะสม เช่นหากรถเข้าใกล้คันหน้ามากเกินไป ระบบก็จะปรับลดความเร็วของรถลงโดยอัตโนมัติ ระบบไฮเทคเหล่านี้ วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวสามารถใช้ได้ และขณะเดียวกันก็เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ที่สูงอายุด้วย 



และภาพต่อไปนี้ก็คือตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ดีกับผู้คนทั่วไป และดีเป็นพิเศษสำหรับผู้สูงวัย 1) แผงหน้าปัดฮอนด้า รุ่น "เอเลเมนท์" ปุ่มต่างๆ ใหญ่สะใจ 2) โทรศัพท์จิทเทอร์บัก ผลิตโดยบริษัท ซัมซุงฯ ตัวเลขและปุ่มต่างๆ มีขนาดใหญ่พิเศษ อ่านได้สบายตา และมีปุ่มสำหรับหมายเลขฉุกเฉิน ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว ทั้งยังมีบริการพิเศษสามารถขอให้โอเปอเรเตอร์ช่วยต่อสายให้ 3) หมดปัญหาลืมกุญแจเมื่อใช้ตัวล็อก "ควิกเซ็ต" ที่ใช้วิธีสแกนลายนิ้วมือเพื่อเปิดล็อก แทนการใช้ลูกกุญแจไข 4) หุ่นยนต์ "ลูจ" ทำความสะอาดรางน้ำ ท่อน้ำ แทนคน ทำให้ไม่ต้องปีนขึ้นไปให้เมื่อยและเสี่ยงตก ผู้ผลิตคือ บริษัท ไอโรบ็อตฯ 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2353 31 ส.ค.  - 03 ก.ย. 2551