หากเราลองมองกลับไปถึงศึกษาวัฏจักรของเศรษฐกิจสหรัฐ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จะพบว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) แล้ว จะต้องใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นบวกติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่ทั้งนี้ระยะเวลาและรูปแบบของการฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับต้นตอปัญหาที่กดดันเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา
ตัวอย่างเช่น ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาฟองสบู่แตกในหุ้นกลุ่มไฮเทค (Dot.Com Bubble) ในช่วงปี พ.ศ. 2543 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5-6 ไตรมาส (โดยเริ่มจากไตรมาส 2/2543จนถึงไตรมาส 3/2544) ก่อนจะฟื้นตัวกลับมามีอัตราการขยายตัวเหนือ 0.00 % ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2544
นอกจากนี้เหตุการณ์ในอดีตยังชี้ว่า ปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์เคยเป็นชนวนที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐ มาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 โดยทั้ง 2 ครั้งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์สถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย (Savings and Loan Associations) หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่า S&L Crisis
ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 นั้น เศรษฐกิจสหรัฐ ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในอัตราตัวเลข 2 หลัก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤตน้ำมันในช่วงปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ในขณะที่การคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ฐานะทางการเงินของสถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ที่มักระดมเงินทุนระยะสั้น แล้วไปปล่อยกู้ระยะยาวในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งมักจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบคงที่) วิกฤต S&L ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็น ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2526
ต่อมาช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ผลพวงจากวิกฤต S&L กลับมาสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจสหรัฐ อีกครั้ง พร้อมๆกับการเกิดสงครามอิรัก ผลกระทบจากทั้งสองเหตุการณ์ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ ให้ชะลอตัวลง ซึ่งเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า ภาวะถดถอยในรอบนี้ น่าจะจัดเป็นภาวะถดถอยทางเทคนิค คือเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวลง (ติดลบ) ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นเศรษฐกิจสหรัฐ ใช้เวลาน้อยกว่าการเกิดวิกฤตครั้งแรกในการฟื้นตัวกลับมา
และถ้าหากพิจารณาถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ใน 3 ช่วงเวลาที่กล่าวมา โดยเรียงลำดับจากภาวะถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 และภาวะถดถอยช่วงปีค.ศ. 2000-2001 (ยุคฟองสบู่ด็อตคอม)จะพบว่า เฟดตอบรับกับเหตุการณ์ภาวะถดถอยทั้ง 3 ช่วงด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกัน นั้นคือ ในภาวะถดถอยช่วงต้นทศวรรษ 1980 (วิกฤตน้ำมัน + วิกฤต S&L) โดยเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 4.75 % คือจากระดับ 13.00 % ในเดือนพฤศจิกายน 2524 ลงสู่ระดับ 8.25 % ในเดือนธันวาคม 2527
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึง ต้นทศวรรษ 1990 (สงครามอิรัก + วิกฤต S&L) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้น 6.81 % จากระดับ 9.81 % ในเดือนพฤษภาคม 2532 สู่ระดับ 3.00 % ในเดือนกันยายน 2535 เป็นที่น่าสังเกตว่า จำนวนครั้งของการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ มากกว่าจำนวนครั้งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเศรษฐกิจถดถอยต้นทศวรรษ 1980ราว 2 เท่า
ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจช่วงค.ศ.2000-2001 (ฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี) โดยเฟดได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้น5.50 % จากระดับ 6.50 % ในเดือนพฤษภาคม 2543 สู่ระดับ 1.00 % ในเดือนมิถุนายน 2546
ส่วนการรับมือกับเศรษฐกิจที่ส่อเค้าถดถอยตรั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงมากถึง 0.75 % ในการประชุมที่จัดขึ้นอย่างฉุกเฉิน ติดตามมาด้วยการปรับลดอีกครั้ง 0.50 % ในการประชุมตามกำหนดการปกติ(29-30 มกราคม) การปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ครั้ง รวม 1.25 % ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดปรับลงอย่างรวดเร็วจาก4.25 %หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 มาอยู่ที่ 3.00 % ในขณะนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.00 % ทั้งยังเป็นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน
และถ้าเรานับรวมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงปลายปี 2550 (กันยายน ตุลาคม และธันวาคม 2550)เป็นต้นมาจะพบว่า เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วทั้งสิ้น 2.25 % ในรอบ 5 เดือน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2551) แม้กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะสามารถหลีกเลี่ยงหรือหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้ ข้อมูลตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสหรัฐฯในไตรมาส 4/2550 ยังสะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ขยายตัวเพียง 0.6 % ต่อปี ซึ่งลดลงจากการขยายตัว 4.9 % ในไตรมาสก่อนหน้า นี่อาจส่งสัญญาณถึงอาการเริ่มต้นของภาวะถดถอย
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแต่ละช่วงเวลามีความซับซ้อนและมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยภาวะถดถอยที่เกิดจากวิกฤตสถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย(S&L)ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเวลายาวนานมากที่สุด
แล้วต้นตอของปัญหาเหล่านี้ คืออะไร?
เมื่อเราพิจารณาถึงสาเหตุของวิกฤต S&L ในช่วงต้นและปลายทศวรรษ 1980 มาเปรียบเทียบกับวิกฤตซับไพรม์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันบางประการ คือต่างมีสาเหตุอยู่ที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ เข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ดังสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านตัวเลขการหดตัวลงของยอดขายบ้าน โดยในช่วงวิกฤต S&L ต้นทศวรรษ 1980 ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ หดตัวลงถึง 28 เดือนติดต่อกัน (เดือนพฤศจิกายน 2521 –เดือนกุมภาพันธ์ 2524) ขณะที่วิกฤตซับไพรม์รอบนี้ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ หดตัวลงแล้ว 25 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 เป็นต้นมา และยังคงมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากตลาดยังคงรอเวลาที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดต่อไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ความคล้ายคลึงของปัญหาวิกฤตซับไพรม์ในรอบนี้กับปัญหาของวิกฤต S&L ในอดีต ยังได้แก่ผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากความไม่มีเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีต่อการลดลงอย่างเห็นได้ชัดของการใช้จ่ายของผู้บริโภคภาคเอกชน
แต่ก็จะเห็นว่าในครั้งนี้ ส่งผลกระทบที่ขยายวงกว้างมากกว่า!!!
แต่ก็ยังมีความแตกต่างระหว่างวิกฤตการณ์ทั้ง 2 รอบอยู่ที่ ในวิกฤต S&L นั้น สถาบันการเงินประเภท Savings and Loansเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็คือ สถาบันการเงินประเภทดังกล่าวหลายแห่งต้องทยอยปิดตัวลง
ในขณะที่วิกฤตซับไพรม์รอบปัจจุบัน ความเสียหายทางการเงินไม่เพียงเกิดขึ้นกับบริษัทผู้ปล่อยกู้จำนองในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังขยายวงกระทบไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งหมายความรวมถึงธนาคารชั้นนำ นักลงทุนสถาบัน และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ถือครองตราสารที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพอีกด้วย
และสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปอีกหากตลาดการเงินยังคงขาดเสถียรภาพเนื่องจากความเชื่อมั่นยังไม่กลับคืนมา และทำให้สถาบันการเงินชั้นนำที่กำลังเผชิญปัญหาต้องผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของตนเองให้กับลูกหนี้พร้อมๆ กับการควบคุมการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีมาตรฐานที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดวิกฤตซับไพรม์รอบนี้ก็อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเข้าสู่ "ภาวะชะลอตัว/ถดถอย" ซึ่งก็จะสะท้อนให้เห็นว่า เฟดอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปอีกเช่นกัน ทั้งนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Fed Funds Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 30 มกราคม 2551 สะท้อนตัวเลขคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจลดลงไปสู่ระดับ 2.25 % ภายในกลางปีนี้
เราก็คงต้องจับตาดูตลาดอสังหาฯของสหรัฐต่อไป เนื่องจากว่า สาเหตุของวิกฤตนั้น มาจากปัญหาของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ถึงความไม่มีเสถียรภาพของตลาดอสังหาฯในสหรัฐ (ซึ่งได้ลุกลามไปยังตลาดสินเชื่อทั่วโลก และล่าสุดกำลังส่งกระทบต่อไปยังอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันตราสารหนี้) เพราะปัญหาในตลาดอสังหาฯ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ
ในขณะที่ความเสียหายทางการเงินที่ทยอยปรากฏออกมาในงบดุลของสถาบันการเงิน ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และอาจทำให้สถาบันการเงินต้องทำการคุมเข้มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคในรูปแบบอื่นๆ(นอกเหนือไปจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย)
และในที่สุด ความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากปัญหาดังกล่าวมาทั้งหมดได้ส่งผลกระทบกลับไปยังการบริโภคของภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และนโยบายการคลังของรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เอนเอียงไปในเชิงที่ผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมตามปกติและแบบฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองทางเศรษฐกิจในเชิงลบของธนาคารกลางสหรัฐได้อย่างชัดเจน
ในขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งได้รับการสนันสนุนจากประธานาธิบดีบุช ที่ได้รับความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาด้วยคะแนนที่ท่วมท้น อาจต้องเผชิญความล่าช้าในการพิจารณาโดยวุฒิสภาในขั้นตอนถัดไป ซึ่งจะทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมืองก่อน แทนที่จะถูกเร่งประกาศออกมาให้เป็นข่าวดีของผู้บริโภคสหรัฐ
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการคืนเงินภาษียังถูกวิจารณ์โดยนายพอล ครุกแมนว่า แผนการดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการคืนเงินภาษีดังกล่าว (ผู้มีรายได้น้อยกว่า 75,000 เหรียญสหรัฐ) อาจเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้กำลังประสบกับความเดือดร้อนทางการเงิน ฉะนั้นเงินภาษีที่ได้รับคืนไปอาจถูกนำไปเก็บเป็นเงินออม และจ่ายหนี้มากกว่าจะถูกนำมาจับจ่ายใช้สอย
และถ้าหากพิจารณากันให้ดี จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตลาดสหรัฐที่ถือได้ว่า มีขนาดเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 4 ของโลก อาจเข้าสู่ช่วงตกต่ำยาวนานและอาจส่งผลให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดยังคงดำเนินต่อไป
แม้ว่าหลายฝ่ายจะทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้ถึงขนาดของผลที่จะเกิดขึ้นและที่จะส่งผลต่อสหรัฐและต่อโลกได้ตริงๆซักที
ถึงอย่างไร เราก็ทำได้แค่ต้องติดตามตอนต่อไปจริงๆ อย่างไรก็ตามเราควรที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้ผลนั้นกระทบกับเราให้น้อยที่สุด