วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551



การล่มสลายของเลแมน บราเดอร์สและเอไอจี
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

22 กันยายน พ.ศ. 2551 00:10:00

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : การล้มละลายของวาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐ เลแมน บราเดอร์ส พร้อมกับการเข้ายึดกิจการของอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) โดยรัฐบาลสหรัฐ และความเสี่ยงที่บริษัทเงินทุนวอชิงตันมิวชวล อาจจะถูกปิดตัวลง ล้วนแต่เป็นการสะท้อนว่า ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐนั้นมีความรุนแรงและแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางเกินความคาดหมายของทางการสหรัฐเป็นอย่างมาก ทำให้เชื่อได้ว่าจะยังมีปัญหาในอนาคตอีกมากไปจนถึงกลางปีหน้า และจะเป็นภาระที่ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อย่างมาก แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบโดยตรงจะไม่มีมากนัก เพราะมีสถาบันการเงินที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินสหรัฐน้อยมาก อาทิเช่น กรณีเลแมนนั้นมีธุรกรรมร่วมกับสถาบันการเงินไทยเพียง 4,000 ล้านบาท และแม้จะมีการลงทุนและปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอีก 50,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่น่าจะหาผู้ซื้อมาทดแทนได้โดยง่าย

ในส่วนของเอไอจีสหรัฐกับบริษัทประกันภัยเอไอเอในประเทศไทย ก็เป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเอไอจีถือหุ้นเอไอเอส่วนหนึ่งจึงมีส่วนเพียงการได้รับเงินปันผลจากเอไอเอ และในส่วนของธุรกิจการประกันภัยในประเทศไทยก็เป็นธุรกิจที่มั่นคงและมีเงินทุนเกินกว่าเกณฑ์ของทางการอยู่มาก ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ยอมปล่อยกู้ให้กับเอไอจีแล้ว 85,000 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 2 ปี และรัฐบาลได้เข้าไปควบคุมกิจการเอไอจี เพื่อขายสินทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อชดใช้หนี้สินและความเสียหาย จึงจะทำให้ธุรกิจหลัก คือ การประกันภัยไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนแต่อย่างใด

แต่ประเทศไทยย่อมจะได้รับผลกระทบในทางอ้อมใน 2 ด้าน คือ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังลามมาที่เศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจเอเชียโดยรวม โดย เมอร์ริล ลินช์ เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวประมาณ 2% ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และไตรมาส 1 ของปีหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นอาจขยายตัวเพียง 1.0-1.5% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สำหรับเอเชียนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 7-8% โดยมีจีนเป็นแกนนำ แต่เศรษฐกิจจีนเองก็เสี่ยงที่อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดเอาไว้เดิมที่ 9-10% (โดยอาจขยายตัว 8-9%) ทำให้ธนาคารกลางของจีนรีบลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไป 0.27% ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนมิได้คาดการณ์มาก่อน การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกย่อมจะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออกของไทยตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวสูงถึง 23% (เมื่อคำนวณเป็นเงินดอลลาร์) แต่ในปีหน้า คงจะขยายตัวได้เพียง 10-15%

ผลกระทบทางอ้อมอีกด้านหนึ่ง คือ การปรับลดลงของสภาพคล่องทางการเงินของโลก ทั้งนี้ เพราะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินต่างๆ พัฒนาตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยมิได้ควบคุมความเสี่ยง เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินและนักลงทุนสามารถดูแลและกระจายความเสี่ยงกันเองได้ การเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ และหลายประเทศในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ (อาทิเช่น อังกฤษ สเปน อิตาลี ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแอฟริกาใต้) เป็นพื้นฐานให้สถาบันการเงินออกตราสารและอนุพันธ์ประเภทต่างๆ มามากมาย คิดเป็นมูลค่าหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ แต่เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง (ราคาบ้านในสหรัฐลดลง 15%) ก็ทำให้ตราสารและอนุพันธ์ต่างๆ ที่อาศัยอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและประเมินว่าเป็นตราสารและอนุพันธ์ที่มีคุณภาพสูงระดับเอ 3 ตัว หรือเทียบเท่ากับตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐกลายเป็นตราสารและอนุพันธ์ด้อยคุณภาพ ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ เนื่องจากไม่มีผู้ต้องการซื้อ

ดังนั้น สถาบันการเงินต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารและอนุพันธ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เลแมนและเอไอจีจึงมีปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทำให้สถาบันการเงินอื่นๆ ไม่กล้าทำธุรกรรมร่วมหรือปล่อยกู้ให้ จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทุนไม่พอจนบางบริษัทต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย หรือบางบริษัทก็ต้องหาผู้มาซื้อกิจการ อาทิเช่น เมอร์ริล ลินช์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำเช่นเดียวกับเลแมน ซึ่งไหวตัวทัน รีบเจรจากับแบงก์ออฟอเมริกาให้เข้าควบรวมกิจการของเมอร์ริล ลินช์ ทั้งหมดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ซึ่งปัญหาการลดลงของสภาพคล่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องร่วมกันอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินโลกเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐนั้นจะยังปะทุขึ้นมาอีกในอนาคต และจะเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงกับธนาคารกลางสหรัฐและรัฐบาลสหรัฐ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ การจะต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้กับแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สถาบันปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ปล่อยกู้และค้ำประกันเงินกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์มากถึง 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะเมื่อราคาบ้านในสหรัฐปรับลดลง 15% (และอาจปรับลดลงอีก 10%) ก็เชื่อได้ว่าแฟนนีและเฟรดดีจะต้องได้รับความเสียหายจากปัญหาหนี้เสียอีกมาก สมมติว่าทรัพย์สินของสถาบันการเงินทั้งสองเสียหาย 5% ก็หมายความว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มทุนเพื่อชดใช้ความเสียหายกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์ เพราะทุนของแฟนนีกับเฟรดดีนั้น ขณะนี้ อาจลดลงเหลือไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

สรุปได้ว่าปัญหาหลักของสถาบันการเงินที่เผชิญกับวิกฤติทางการเงิน ทำให้ต้องล้มละลายเป็นเพราะสถาบันการเงินดังกล่าว ดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง โดยลงทุนอย่างขาดความระมัดระวังและกู้เงินมาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยมีทุนของตนอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะมั่นใจเกินไปและอยากได้กำไรสูง จะเห็นได้ว่าบริษัทแบร์สเติร์นส์ เลแมน เอไอจี และเมอร์ริล ลินช์นั้น ล้วนแต่มีสินทรัพย์ต่อทุนประมาณ 20-30 เท่า หรือลงทุน 1 บาท และกู้เงินมา 29 บาท เพื่อใช้ในการลงทุน ทำให้เมื่อมีปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทุนก็จะหมดลงได้อย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาสภาพคล่องได้โดยง่าย ยังมีสถาบันการเงินของสหรัฐที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่อีก จึงไม่ควรแปลกใจหากมีสถาบันการเงินของสหรัฐล้มละลายอีกหลายแห่งใน 6-12 เดือนข้างหน้า

http://www.bangkokbiznews.com/2008/09/22/news_296068.php